19 ก.ค. 2022 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่มือใหม่ควรรู้!!
หลายคนที่ติดตามฟังข่าวการลงทุนหรือเคยฟังนักวิเคราะห์พูด น่าจะเคยคุ้นหูกับที่เค้าบอกกันว่า ตลาดรอประกาศตัวเลขเศรษฐกิจอันนู้นอันนี้ ซึ่งตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจมีอยู่ค่อนข้างเยอะ และในหลายประเทศก็ใช้แตกต่างกัน
วันนี้เราเลยมาสรุป “ตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ” แบบให้เข้าใจง่ายๆ
ตัวบ่งชี้หรือสัญญาณทางเศรษฐกิจ (Economic Indicator) จะช่วยให้เราวิเคราะห์และพยากรณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในอนาคตได้ นักลงทุนบางคนจึงรอดูข้อมูล รอดูสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อน จึงค่อยตัดสินใจหาจังหวะลงทุน
ต้องบอกก่อนว่า ตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจ ถือเป็นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของนักลงทุนสไตล์ VI และ MI ดังนั้นนักลงทุนสาย Technical อาจจะแค่รู้ข้อมูลเบื้องต้นเพื่อตามดูสถานการณ์การลงทุนก็เพียงพอแล้ว
ตัวบ่งชี้หรือสัญญาณทางเศรษฐกิจ (Economic Indicator)
1. GDP (Gross Domestic Product)
ดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ บอกถึงการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยตัวเลข GDP จะประกาศเป็นรายไตรมาส และต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูล ทำให้ตัวเลขไม่อัพเดท Realtime ประกาศล้าช้าประมาณ 1 เดือน
ถ้า GDP เป็นบวก = เศรษฐกิจภาพรวมมีการเติบโตขึ้น
ถ้า GDP เป็นบวก แต่บวกน้อยลง = เศรษฐกิจเติบโต แต่เติบโตในระดับที่ช้าลง
ถ้า GDP ติดลบ = เศรษฐกิจภาพรวมมีการหดตัว หรือชะลอตัว
2. ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ย่อมาจาก Consumer Price Index เป็นตัวเลขที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อหามาบริโภคเป็นประจำ ส่วนใหญ่คนนิยมใช้ดัชนี CPI ในการวัดระดับเงินเฟ้อ
ถ้า CPI มีค่าบวกและเพิ่มสูงขึ้น = ภาวะเงินเฟ้อ
ถ้า CPI มีค่าลบติดกันยาวนาน = ภาวะเงินฝืด
โดยระบบเศรษฐกิจที่ดี ควรจะมีระดับเงินเฟ้ออ่อนๆ ที่ 2-3%
3. อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate)
ตัวเลขสัดส่วนประชากรในวัยทำงานที่ไม่มีงานทำ หารด้วย ประชากรในวัยทำงานทั้งหมดของประเทศนั้น
ถ้า อัตราการว่างงานสูง = เศรษฐกิจเติบโตไม่เต็มที่ หรือหดตัว
ถ้า อัตราการว่างงานต่ำ = คนมีงานทำ เศรษฐกิจกำลังขยายตัวได้
4. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI)
ย่อมาจาก Purchasing Manager Index เป็นตัวเลขจากการสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในบริษัทเอกชน เกี่ยวกับประเด็นสภาพทางธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งมีการจัดทำเป็นประจำทุกเดือน จึงสามารถสะท้อนความเป็นไปของเศรษฐกิจได้เร็วกว่าใช้เลข GDP
ถ้า PMI มากกว่า 50 = เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัว
ถ้า PMI เท่ากับ 50 = คงที่ หรือไม่เปลี่ยนแปลง
ถ้า PMI น้อยกว่า 50 = เศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัว
5. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI)
ย่อมาจาก Consumer Confidence Index เป็นตัวเลขจากการสำรวจความเห็นของผู้บริโภค เกี่ยวกับมุมมองต่อการบริโภค จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งมีการจัดทำเป็นประจำทุกเดือนเช่นเดียวกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ แต่มุมมองความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็ว จึงใช้คาดการณ์อนาคตในระยะสั้นเท่านั้น
ถ้า CCI มากกว่า 50 = ผู้บริโภคเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจมากขึ้น และมีแนวโน้มจะบริโภคมากขึ้น
ถ้า CCI เท่ากับ 50 = ผู้บริโภคเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจทรงตัวจากเดือนก่อน
ถ้า CCI น้อยกว่า 50 = ผู้บริโภคเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจน้อยลง และมีแนวโน้มจะบริโภคน้อยลง
ติดตาม Cashury ผ่านช่องทางอื่นๆ ได้ที่
โฆษณา