19 ก.ค. 2022 เวลา 10:46 • ท่องเที่ยว
ปราสาทบันทายฉมา .. มหากาพย์แห่งกาลเวลา (2)
เราเดินตามทางเดินสะพานไม้เข้ามาด้านใน เรื่อยๆ ..
ผ่านรูปสลักนางกินรี และครุฑ ซึ่งตั้งวางในแนวทางเดิน
มณฑลที่สอง เป็นปราสาทสามหลัง ที่มีใบหน้าของพระโพธิสัตว์ชัยวรมันปรากฏอยู่สมบูรณ์ดี ปราสาทตรงกลาง ไม่มีรูปหน้าบุคคล
ปราสาทที่เห็นค่อนข้างจะทรุดโทรมลงด้วยกาลเวลา .. แต่เมื่อได้มองรูปสลักพระพักตร์ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ อยู่บนยอดปรางค์ต่างๆ และใบหน้าพร้อมรอยยิ้มแบบบายนที่เราคุ้นเคย .. ที่แม้จะจะเหลือให้ชมอยู่แค่ 2-3หน้าเท่านั้น เนื่องจากได้พังลงมาหมดแล้ว … แต่ สายตาของพรหมพักตร์ที่มองทอดลงมา ดูลึกลับน่าเกรงขาม มหัศจรรย์จริงๆค่ะ
มีโอกาสได้เข้าไปด้านในของปราสาทประธาน .. ภาพสลักหินหน้าบันชั้นในของปราสาทประธานนั้นยังคงงดงาม อาจจะเป็นภาพของพระเจ้าชัยวรทันที่ 7 กำลังแสดงท่ากราบนมัสการแบบอัษฎางคประดิษฐ์ แก่พระพุทธรูปนาคปรกของแผ่นดิน .. พระพุทธรูปนาคปรกองค์นี้มีลักษณะเหมือนมนุษย์ จึงเรียกว่า “พระมานุษิพุทธเจ้า”
ด้านหน้ามีเหล่าเทพยดาและเทพธิดารายล้อม .. อาจจะหมายถึงพระราชโอรสที่ขึ้นครองราชย์ต่อเป็นพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 ในท่ากราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ตามแบบอย่างการสาธุการอัญชลีในคติวชินญาณตันตระ
ภาพสลักหินบนปรางประธาน .. คล้ายกับภาพด้านในมาก
ภาะสลึดหินรูปนางอัปสรา … มีให้เห็นตามมุมอาคารต่างๆ
บนสันกำแพงและสันหลังคาประดับ "บราลี" สลักเป็นรูปพระพุทธเจ้าในซุ้มเรือนแก้ว อันเป็นคติที่นิยมในสมัยนั้น
ศาสนาฮินดูที่ยังคงผสมผสานอยู่ใน ศาสนาพุทธแบบวัชรยานตันตระของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้น เป็นฮินดูแบบ “ไวษณพนิกาย” ที่บูชาพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นใหญ่ .. เราจึงเห็นภาพสลักเรื่องราวเทพปกรณัมของพระนารายณ์ มหากาพย์รามายณะ ร่วมอยู่กับเรื่องราวของพระพุทธศาสนาในปราสาทเทวาลัยที่สร้างในสมัยนี้
... ซึ่งอาจจะเนื่องมาจาก ไวษณพนิกายได้เปลี่ยนแปลงนำเอา "พระพุทธเจ้า" มารวมเป็นอวตารหนึ่งของ “นารายณ์สิบปาง” การบูชาพระนารายณ์เป็นเสมือนการบูชาพระพุทธเจ้าทางหนึ่ง นิกายนี้จึงเข้ากันได้ดีกับพุทธศาสนาวัชรยานตันตระ มากกว่าไศวะนิกายที่ดูจะไม่มีจุดร่วมใด ๆ แต่อย่างไรนั้น เทพปกรณัมของพระศิวะก็ยังมีภาพสลักปรากฏอยู่บ้างในบางส่วนของปราสาทที่สร้างขึ้นในยุคนี้ แต่ก็เป็นส่วนน้อยมาก
ภาพบุคคลบนหน้าบัน ซึ่งน่าจะเป็นภาพของทศกัณฐ์ ผู้มี 10 เศียร 20 กรในมาหกาพย์เรื่องรามเกียรติ์ มีกุมภกรรณเฝ้าอยู่ด้านข้าง
ยอดปราสาทที่ถล่มมากองถมกันจนไม่เห็นเป็นรูปร่าง ... แต่เราก็ยังคงพอมองเห็นความยิ่งใหญ่ของอดีตได้ จากกองหินที่ทับถมกัน .. ระเบียงคดและโคปุระ หลังคาก็ถล่มลงมาเป็นกองหินระเกะระกะ หน้าบันหลายแห่งก็พังลงมา หลายส่วนก็ดูเหมือนว่าจะยังสร้างไม่เสร็จเช่นเดียวกับปราสาทหินในยุคร่วมสมัย
ยอดของปราสาทหลายหลังยังคงปรากฏในเห็นใบหน้าของพระพุทธเจ้าอวโลกิเตศวร ที่หันหน้าไปทุกทิศทาง .. ปราสาทเหล่านี้ สร้างในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ยุคเดียวกับปราสาทนครธม) ที่คาดว่าเป็นการสร้างให้บุตรชาย คือ เจ้าชายศรีนทรกุมาร เมื่อครั้งมีชัยในการทำศึก
ว่ากันว่า .. ขุนศึกทั้งสี่คนที่เสียชีวิตในศึกนี้ ก็ได้นำมาฝังไว้ที่นี่ด้วยค่ะ แต่ไม่รู้ว่าที่จุดไหนแน่นอน
เราเดินไปตามสะพานทางเดินไม้ .. บางครั้งหยุดชื่นชมกับความอลังการของแนวปราสาทหิน และประติมากรรมรูปสลัก รูปนางอัปสรทรวดทรงองค์เอวอ้อนแอ้น รวมถึงความยวนใจที่เหมือนกับจะเผยออกมาจากรอยยิ้มที่มุมปากของเธอ สมกับเป็นนางในของสวรรค์ ที่แตกต่างจากเหล่านางอัปสรในเปลวแดดของนครวัด
ปราสาทวัชรยานตันตระ .. เป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้าสูงสุดมหาไวโรจนะและพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร แทนความหมายด้วยรูปสลักใบหน้าของผู้ที่อำนาจสูงสุดแห่งโลกในเวลานั้น คือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 บนยอดปราสาท รวมถึงรูปเคารพต่าง ๆ ที่มาจากทั้งในความเชื่อของฮินดูและความเชื่อของวัชรยาน ต่างก็มาผสมผสานกันเป็นภาพแกะสลักมากมายในปราสาทแห่งนี้
... และไม่ได้ถูกทำลายหรือถูกขูดทิ้งไป เหมือนกับปราสาทต่างๆที่สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 บริเวณแถบเมืองพระนครที่รูปพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ ต่างๆได้ถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิง ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ที่กลับไปนับถือศาสนาฮินดูอีกครั้งหนึ่ง
รากไม้ที่แผ่ขยายเข้าปกคลุมแนวกำแพงและทางเดิน ช่วยเสริมอารมณ์ขลัง เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจผู้มาเยือน … แสงเงา ขับเน้นลวดลายจำหลักอันละเอียด งดงามที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพัง หลับใหลในท่ามกลางพงไพร รอให้ใครบางคนมาไขปริศนาพันปี ที่แล้วแต่ใครจะอ่านออก
ประตูหลอกทางด้านทิศเหนือ งดงามมาก ..
ข้างๆมีภาพสลักหินนางอัปสรารูปร่างอ้อนแอ่นสวยงาม สมกับเป็นนางจากสวรรค์
อาคารทางด้านทิศเหนือ ซึ่งอยู่ในระหว่างการบูรณะ .. มองเห็นรูปสลักทวารบาล .. นางอัปสราตรงทางเข่าปราสาท
อีกด้านหนึ่งมองเห็นความพยายามอย่าสูงของเจ้าหน้าที่ ที่พยายามต่อชิ้นส่วนต่างๆให้ออกมาเป็นรูปร่างที่สมบูรณ์ที่สุดอย่างเต็มกำลังความสามารถ .. เหมือนการต่อจิ๊กซอ
แนวกำแพงด้านตะวันตก .. มีรูปสลักที่งดงาม มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด และเป็นไฮไลท์สำคัญของปราสาทบันทายฉมาร์คือ ภาพปกรณัมของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรพันกร หรือ พระอวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ซึ่งยังไม่เคยพบรูปสลักวัชรยานตันตระเช่นนี้ที่ไหน นอกจากที่ปราสาทบันทายฉมาร์แห่งนี้เท่านั้น
ภาพเล่าเรื่องในคติความเชื่อของ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้ทรงด้วยอานุภาพบารมี” เรียงรายบนผนังเดิมมีทั้งหมด 8 รูปแสดงออกมาในลักษณะที่แตกต่างกันไป .. อาจเรียกว่า “มูรติทั้ง 8” หรือ “มหาอานุภาพทั้ง 8” ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการบูรณะผนังระเบียงคดฝั่งนี้จนสมบูรณ์ เหลือรูปสลักอยู่ 4 รูป อีก 2 รูป ที่ได้คืนจากการโจรกรรม นำไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพนมเปญ ส่วนอีก 2 รูปยังคงหายสาบสูญไร้ร่องรอย
ภาพสลักแรก .. อยู่บนผนังข้างประตูเล็ก ด้านซ้ายสุดของระเบียงฝั่งเดียวกับโคปุระตะวันตก เป็นภาพของ "พระโลเกศวร 22 พระกร” มีรูปเทพเจ้าถือมาลัยในกรอบวงกลม 10 วง รายล้อมรอบรูปประธาน
.. อาจมีความหมายว่า “ผู้ให้กำเนิดจักรวาล” ทรงเป็นศูนย์กลางผู้ให้กำเนิดแห่งสกลจักรวาล ให้กำเนิดเหล่าเทพเจ้าและดวงดาว
ซึ่งตามคัมภีร์ “การันฑวยูหสูตร” (Karandavyūha Sūtra) กล่าวว่า “...ทรงเปล่งรัศมีอันประกอบด้วยสีต่างๆ แต่ละขุมขนของพระองค์มีโลกอยู่ภายในมีเทพเจ้า 12 องค์ กำเนิดออกมาจากพระองค์
.. ทั้งพระพรหมกำเนิดขึ้นจากพระพาหา พระนารายณ์ พระมหาเทพ (พระศิวะ) และพระอินทร์ กำเนิดขึ้นจากรากพระเกศา ,พระวรุณกำเนิดขึ้นจากพระอุทร ,พระพายกำเนิดขึ้นจากลมพระโอษฐ์ ,พระยม พระอาทิตย์ พระจันทร์ กำเนิดขึ้นจากพระเนตร ,พระนางปฤถิวี (พระนางภูมิเทวี) กำเนิดขึ้นพระบาท ,พระนางสุรัสวดี กำเนิดจากพระทนต์, พระนางลักษมี กำเนิดขึ้นจากพระชานุทั้งสอง...”
คัมภีร์ “อมิตายุสพุทธานุสัมฤติสูตร” (มหายาน) กล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นเจ้าแห่งจักรวาล พระเกศาของพระองค์เป็นที่สถิตของพระพุทธเจ้าซึ่งมีขนาดสูงถึง 25 โยชน์ ทุกส่วนของพระองค์คือ “จักรวาล” 1 จักรวาล พระนลาฏเป็นที่บังเกิดแห่ง “พระมเหศวร” พระเนตรเป็นที่กำเนิดแห่ง “พระสูริยา” และ “พระจันทรา” พระอังสาเป็นที่กำเนิดแห่ง “พระมหาพรหม” พระหทัยเป็นที่กำเนิดแห่ง “พระวิษณุ” พระอุทรเป็นที่กำเนิดแห่ง “พระวรุณ” พระโอษฐ์เป็นที่กำเนิดแห่ง “พระพาย” พระทนต์เป็นที่กำเนิดแห่ง “พระสุรัสวดี” และแผ่นดินคือ “พระบาท”
รูปสลักลำดับที่สอง อยู่อีกฝั่งหนึ่งของประตูเล็ก เรียงไปทางใต้ของระเบียงคด .. เป็นภาพของ "พระโลเกศวร 32 พระกร” สวมมงกุฎ ทรงเครื่องจักรพรรดิ
.. อาจความหมายถึงมูรติ “ผู้เป็นใหญ่เหนือเหล่ากษัตรา” ในพระหัตถ์ขวาด้านหน้าสุดมีพระมานุษิโพธิสัตว์ประทับ พระหัตถ์ซ้ายด้านหน้าถือหม้อน้ำอมฤต แสดงมุทราแห่งอำนาจบารมี โดยมีเหล่ากษัตริย์และมหาราชาประทับนั่งในซุ้มปราสาทกำลังถวายการนมัสการ
รูปที่ 3 เป็นภาพ “พระโลเกศวร 10 พระกร” ล้อมรอบด้วยรูปบุคคล .. อาจเป็นมูรติ “ผู้เป็นที่พึ่งของมวลมนุษย์” เหล่าผู้มีบุญบารมีลงไปจนถึงผู้มีบาปกรรมในโลกต่างกำลังถวายสาธุการ “....
.. พระองค์เป็นประหนึ่งวิญญาณของจักรวาลที่ได้เปล่งประกายสารัตถะแห่งการช่วยเหลือสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากภาวะทั้งปวง และความรอบรู้ชั้นสูงสุดยอดที่จะเผยแผ่ให้คงอยู่ได้ยาวนานตลอดไปด้วยจำนวนมากมายที่มีอยู่ของบรรดาพระพุทธองค์ทั้งหลายอันอยู่รอบพระวรกาย...”
ภาพนี้ถูกโจรกรรมออกไปช่วงหลังปี พ.ศ. 2543 และโดนจับได้ในฝั่งไทย รัฐบาลไทยได้ส่งมอบคืนแก่กัมพูชา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญครับ
ภาพที่สี่ เป็นภาพ “พระโลเกศวร 6 กร” .. ในมุทราความหมายของมูรติ “ผู้ให้กำเนิดและปกป้องเหล่าตถาคต/พระโพธิสัตว์” ซึ่งในคัมภีร์การันฑวยูหสูตร กล่าวไว้ว่า “....ด้วยเพียงพระโลมา 1 เส้นของพระองค์ก็มีอานุภาพมากกว่าพระพุทธเจ้า 62 เท่าของจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา นอกจากนั้นในขุมพระโลมาแต่ละขุมของพระองค์ ยังมีคนธรรพ์อยู่เป็นจำนวนพัน อีกขุมหนึ่งมีฤๅษีอยู่เป็นจำนวนล้าน ผู้ที่ออกมาจากพระโพธิสัตว์เปล่งรัศมีจึงมีทั้งเทวดา คนธรรพ์ ฤๅษี และพระพุทธเจ้าอีกมากมาย...”
ในคัมภีร์อมิตายูรธยานสูตร (Amitāyurdhyāna Sūtra) กล่าวว่า ประภามณฑลที่ล้อมรอบพระเศียรพระโพธิสัตว์โลเกศวรประกอบด้วยพระพุทธเจ้า 500 พระองค์ แต่ละองค์แวดล้อมด้วยพระโพธิสัตว์ 500 พระองค์ และพระโพธิสัตว์แต่ละองค์ก็ยังแวดล้อมด้วยเหล่าเทวดาอีกเป็นจำนวนมาก
ทางด้านซ้ายล่างอาจเป็นภาพพระวัชริน (เหวัชระ) ทางขวาเป็นภาพเป็นเทวีปรัชญาปารมิตา ศักติของพระอวโลกิเตศวร และพระไตรโลกยวิชัย ในฐานะบริวารผู้พิทักษ์ มีหน้าที่ในการปราบภูตผีปิศาจสิ่งชั่วร้าย (เทพฮินดู) ต่าง ๆ ไม่ให้ทำอันตรายหรือมอมเมาอวิชชาแก่มนุษย์ โดยมีรูปอัปสราและเหล่านางฟ้าบนสรวงสวรรค์กำลังถวายสาธุการ
รูปสลักนูนต่ำนี้ ก็ถูกรื้อขโมยออกไปพร้อมกับภาพที่ 3 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญเช่นกัน
ภาพสลักที่ห้าเป็นภาพสลักของ “พระโลเกศวร 8 กร” .. อาจมีความหมายถึงมูรติ “ผู้ดูแลมวลมนุษย์ด้วยเมตตาบารมี” เป็นที่พึ่งของเหล่ามวลมนุษย์ ในคัมภีร์อมิตายุสพุทธานุสัมฤติสูตรได้กล่าวว่า พระองค์ประทับอยู่เบื้องขวาของพระพุทธเจ้าอมิตาภะพุทธะ โดยมีพระโพธิสัตว์มหาสถามปราปตะอยู่เบื้องซ้าย
คัมภีร์นี้ยังกล่าวถึงพระนามพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรว่าหมายถึง “แสงสว่างอันไม่มีที่สิ้นสุด” เปรียบเสมือนปัญญาส่องทางแก่สรรพสัตว์ให้รอดพ้นจากนรกภูมิทั้งหลาย ใน “คัมภีร์โลเกศวรศตกะ” (Lokeśvaraśataka) กล่าว ว่า “...พระองค์เป็นผู้เป็นใหญ่ในโลก ทรงเป็นแสงสว่างอันมั่นคง แสงของพระองค์อยู่คงที่ตลอดกาล ได้กำจัดความมืดมนอันหนาแน่นแห่งอวิชชาอันเกิดจากสังสารวัฏ...” ปัจจุบันภาพสลักนี้ยังหายสาบสูญอยู่
ภาพสลักที่หก เป็นภาพ “พระโลเกศวร 8 กร” .. ถือ วัชระ อังกุศ หนังสือ สังข์ จักร ลูกประคำ หม้อน้ำอมฤตและดาบ ในความหมายของมูรติ “ผู้เป็นใหญ่เหนือไกรลาสปติ” ทรงมีอำนาจเหนือพระศิวะมหาเทพและพระนางปารวตี เทพเจ้าและมหาฤๅษีทั้งหลายบนสรวงสวรรค์ไกรลาส ต่างล้วนแสดงสาธุการด้วยมาลัยดอกไม้หอม .. ภาพสลักที่หกนี้ ก็ยังคงหายสาบสูญอยู่เช่นกัน
ภาพที่เจ็ด เป็นภาพของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร .. พระหัตถ์ถือ ดอกบัวปัทมะ (Padma) คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ลูกปะคำของนักบวช (Rudraksha Mala) และอมฤตกุมภ์ (กมัลฑลุ) (Amritakumbha) .. อาจหมายถึงมูรติแห่ง “ผู้ทรงบริบาลโรคา” .. ทรงรักษาความทุกข์และโรคร้ายทั้งทางกายและจิตใจ รายล้อมด้วยการเฉลิมฉลองด้วยความสุข ความยินดีของเหล่ากษัตริย์ในมหาปราสาท ผู้คนและอสูร และการร่ายรำของเหล่าเทพธิดาอัปสราในท่า “อรรธปรยังก์” (Ardhaparyaṅka) ด้วยความยินดีในชัยชนะเหนือโรคร้ายและความทุกข์
ภาพที่แปด “พระโลเกศวร 16 กร 9 พระพักตร์ (?)” .. เป็นภาพของมูรติ “ผู้ทรงอานุภาพบารมีเหนือ 3 โลก เป็นนิรันดร์กาล” ในท่ามกลางเหล่าเทพเจ้าและกษัตริย์ ประนมหัตถ์นมัสการแซ่ซ้องสาธุการ ด้านบนเป็นพระอาทิตย์และพระจันทร์ ในความหมายแห่งนิรันดร์กาล “ตราบที่สูริยะและจันทรายังคงไม่สิ้นแสง” เหล่านางฟ้าแห่งสรวงสวรรค์กำลังเหาะเหิน โปรยปรายเครื่องหอมและบุปผามาลัยถวายการบูชาสักการะ
ที่รอบพระวรกาย ปรากฏภาพของเหล่าเทพเจ้ากำลังแสดงอัญชลี แสดงการกำเนิดของพระศิวะถือตรีศูลที่บริเวณพระเศียรฝั่งซ้าย ซึ่งในพระสูตรกล่าว่า กำเนิดขึ้นจากรากพระเกศาหรือพระนลาฏ ภาพพระนางสุรัสวดี กำเนิดจากพระทนต์ ที่ฝั่งขวาของพระเศียร ภาพพระวิษณุกำเนิดจากพระหทัย พระพรหมกำเนิดจากพระพาหาหรือพระอังสา (ไหล่) ภาพพระวรุณที่พระอุทร และภาพของพระนางปฤถิวีหรือพระนางลักษมี ที่บริเวณพระบาทด้านขวาครับ
แนวกำแพงด้านใต้ .. เมื่อภรตราหูผู้ทรยศ ต้องการจะยึดพระราชวัง บรรดากองทหารที่รักษาพระนครก็พากันหลบหนีไป เจ้าชายศรีนทรกุมาร ต้องทรงออกรบเอง .. สัญชักอรชุน และสัญชักศรีธรเทวาปุระ ได้ต่อสู้เพื่อปกป้องเจ้าชายและถูกฆ่าตายต่อหน้าพระพักตร์ เจ้าชายจึงทุบที่จมูกของภรตราหูและฆ่าผู้ทรยศตาย
ภาพขบวนแห่รูปพระวิษณุ 4 กรของกองทัพบก ที่ไปโจมตะเมืองวิชัยนครา เมื่อปี พ.ศ. 1733
ภาพการบูชารูปพระวิษณุ 4 กร
ภาพสลักนูนต่ำระเบียงคดด้านทิศใต้ ปีกตะวันตก แสดงเรื่องราวการปราบกบฏเมืองมัลยัง ซึ่งสันนิษฐานว่า คือ เมืองพระตะบองในปัจจุบัน
เรื่องราว “การกวนเกษียรสมุทร” ในพระอวตาร “กูรมาวตาร” (Kurmraja/Kurma Avatar) โดยมีภาพเต่า พระกูรมะและพระวิษณุ 4 กร โอบรั้ง “เขามันทรคีรี” (Mandaragiri) 1 ใน 4 มหาภูผาที่รายล้อมเขาพระสุเมรุ เป็นประธานของภาพ
“ระเบียงคด” ผังทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่เคยซ่อนตัวอยู่ในไพรพง รอคอยผู้มาซึมซับอารยธรรมแห่งอดีต ที่จารึกไว้ ผ่านฝีมือช่างอย่างปราณีต .. ด้านทิศใต้จะเป็นระเบียงแบบโปร่ง หลังคาหินมุมระเบียงคดส่วนใหญ่ก็ได้พังทลายลงมาหมดแล้ว คงเพราะการคำนวณน้ำหนักไม่ดีนัก
ช่วงเย็น .. เรามารวมตัวกันอีกครั้งที่ลานด้านหน้าของปราสาท ..
Dinner ที่จัดให้เราเป็นพิเศษโดยชุมชนนั้น อาหารแม้จะเป็นแบบชาวบ้านไม่หรูหราแบบอาหารเหลา แต่รสชาติอร่อย .. เมื่อผสมกับบรรยากาศยามค่ำ ที่รายล้อมด้วยแสงไฟมลังเมลืองจากคบไฟขี้ไต้ของชาวบ้าน รวมถึงการขับกล่อมด้วยการขับร้อง และบรรเลงเพลงจากเครื่องดนตรีคล้ายๆกับวงดนตรีไทยเดิมของเรา ที่มีทำนองเสนาะที่คุ้นในทำนอง แม้จะต่างอยู่บ้าง แต่ใกล้เคียงมาก
.. ทุกอย่างที่ทางชุมชนจัดให้เรานั้น เป็นความพิเศษส่วนตัวที่เหมาะเจาะลงตัว และก่อเกิดความรู้สึกที่ประทับใจมาก และคงหาประสบการณ์แบบนี้ได้ยากจากการท่องเที่ยวที่อื่นๆ
Note : ขอบคุณเนื้อความบางส่วนจาก EJeab Academy
โฆษณา