20 ก.ค. 2022 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุปเหตุผล ทำไมคนไทย กำลังต้องเจอ ค่าไฟแพงขึ้น
1
45% คือ อัตราเงินเฟ้อของสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้อย่าง “ไฟฟ้า”
ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงมากที่สุดในบรรดาสินค้าจำเป็น และมากกว่าเงินเฟ้อของน้ำมันเชื้อเพลิงเสียอีก
1
แน่นอนว่า การปรับขึ้นของค่าไฟฟ้า ก็ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
1
แล้วค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นมากในทุกวันนี้เป็นเพราะอะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
เราลองมาดูระบบการจ่ายไฟฟ้าของประเทศไทยกันก่อน
ประเทศไทยมีองค์กรรัฐวิสาหกิจชื่อว่า “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” หรือ กฟผ. คอยทำหน้าที่จัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าเอง หรือซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนก็ตาม
โดยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจาก กฟผ. ก็จะมี 2 ส่วนหลัก ๆ ด้วยกันคือ
ส่วนแรกคือ ค่าไฟฟ้าฐาน
ซึ่งเป็นส่วนต้นทุนคงที่ เช่น ค่าระบบผลิตไฟฟ้า ค่าระบบสายส่ง และค่าระบบจำหน่าย
ส่วนที่สองคือ ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft
ค่า Ft นี้จะนำไปคิดกับต้นทุนต่าง ๆ ที่มีความผันผวน และควบคุมไม่ได้ เช่น ค่าส่วนต่างเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐ
2
เราลองไปดูต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมากันบ้าง
2
โดยต้นทุน 100 บาทของการผลิตไฟฟ้า ประกอบไปด้วย
1
1. ค่าไฟฟ้าฐาน
- ค่าระบบผลิตไฟฟ้า 88 บาท
- ค่าระบบสายส่ง 7 บาท
- ค่าระบบจำหน่าย 16 บาท
2. ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft)
- ค่า Ft ค้างรับ และเงินบรรเทาผลกระทบ -7 บาท
- เงินช่วยเหลือกรณีโรคโควิด 19 อีก -4.3 บาท
- ค่ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าอีก 0.3 บาท
จะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา มีค่า Ft ที่ติดลบ
เนื่องจากต้นทุนที่ถูกลงกว่าค่าไฟฟ้าฐานที่ตั้งไว้ และมีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ
ซึ่งหลังจากที่ กฟผ. สามารถจัดหาพลังงานไฟฟ้ามาได้แล้ว ก็จะจัดจำหน่ายให้
- การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งดูแลระบบไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งดูแลระบบไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ
ก่อนที่ทั้ง กฟน. และ กฟภ. จะมีหน้าที่จ่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าอีกทอดหนึ่ง
โดยมีกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าหลักกว่า 90% เป็นบ้านและที่อยู่อาศัย
ซึ่งเวลาคิดค่าไฟฟ้าบ้านจะมี 3 ส่วนหลัก ๆ คือ
1. ค่าไฟฟ้าฐาน
โดยส่วนมากแล้วเราจะคิดแบบอัตราขั้นบันได รวมกับค่าบริการ ซึ่งถ้ายิ่งใช้ไฟฟ้ามาก ราคาต่อหน่วยก็จะยิ่งแพงขึ้นเรื่อย ๆ โดยค่าไฟฟ้าฐานจะมีการปรับใหม่ทุก 3-5 ปี
2. ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft)
ค่า Ft จะมีการปรับทุก 4 เดือน โดยจะอ้างอิงจากต้นทุนค่า Ft ของ กฟผ.
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
เมื่อคิดจากฐานของค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft รวมกัน
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ สมมติว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราใช้ไฟฟ้าเท่ากันตลอดที่ 150 หน่วย
เราจะต้องคำนวณค่าไฟฟ้าแบบอัตราขั้นบันไดก่อน ซึ่งเมื่อคำนวณออกมาแล้ว จะได้ต้นทุนค่าไฟฟ้าฐานเฉลี่ย 3.51 บาทต่อหน่วย
1
ส่วนค่า Ft จะแตกต่างกัน จึงขอยกตัวอย่างค่า Ft ของเดือนมิถุนายนในแต่ละปี ดังนี้
ปี 2563 มีค่า Ft เท่ากับ -11.60 สตางค์ต่อหน่วย
ปี 2564 มีค่า Ft เท่ากับ -15.32 สตางค์ต่อหน่วย
ปี 2565 มีค่า Ft เท่ากับ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย
แล้วเมื่อคิดรวมกันทั้ง 3 ส่วน ก็จะได้ค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกัน ดังนี้
ปี 2563 มีค่าไฟฟ้าเท่ากับ 545 บาท เฉลี่ยหน่วยละ 3.64 บาท
ปี 2564 มีค่าไฟฟ้าเท่ากับ 539 บาท เฉลี่ยหน่วยละ 3.60 บาท
ปี 2565 มีค่าไฟฟ้าเท่ากับ 604 บาท เฉลี่ยหน่วยละ 4.03 บาท
จะเห็นได้ว่า ค่าไฟฟ้าจะถูกหรือแพงนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับค่า Ft นั่นเอง
ซึ่งเป็นตัวสะท้อนจากต้นทุนที่ผันผวนและควบคุมไม่ได้ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
3
แล้วต้นทุนที่ผันผวนและควบคุมไม่ได้ที่ว่านี้ มาจากไหน ?
ถ้าเราไปดูสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ก็จะพบว่ากำลังการผลิตไฟฟ้ากว่า 56% มาจากแก๊สธรรมชาติ
1
ซึ่งปริมาณแก๊สธรรมชาติสำรองในอ่าวไทยนั้น มีไม่เพียงพอต่อการใช้ผลิตไฟฟ้า
จึงต้องมีการนำเข้าแก๊สธรรมชาติเพิ่มเติมจากประเทศพม่าถึง 35% โดยนำเข้ามาทั้งในรูปของแก๊สและของเหลว (LNG)
ดังนั้น ค่า Ft ที่ขึ้นลง ทุก ๆ 4 เดือน ก็จะมาจากต้นทุนที่ผันผวนของแก๊สธรรมชาติเป็นหลัก
ลองมาดูราคาแก๊สธรรมชาติอ้างอิงจากตลาดสหรัฐอเมริกา ในเดือนมิถุนายนของแต่ละปี
ปี 2563 ราคาแก๊สธรรมชาติอยู่ที่ 1.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู
ปี 2564 ราคาแก๊สธรรมชาติอยู่ที่ 3.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู
ปี 2565 ราคาแก๊สธรรมชาติอยู่ที่ 7.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู
4
จะเห็นได้ว่า ในช่วงปี 2563 และปี 2564 นั้นค่าไฟฟ้ามีราคาถูก
นั่นก็เพราะว่า ต้นทุนของแก๊สธรรมชาติในช่วงเวลานั้นมีราคาที่ต่ำ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการของภาครัฐในการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงโควิด 19 ที่ทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงอีกด้วย
3
แต่พอมาในปี 2565 กลับมีค่าไฟฟ้าแพงมากขึ้น
นั่นก็เพราะว่า ราคาแก๊สธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาก
โดยมีสาเหตุมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาท เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าแก๊สธรรมชาติในราคาที่แพงมากยิ่งขึ้น
4
นอกจากนี้ เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ทางภาครัฐได้ขอให้ กฟผ. แบกรับค่า Ft เอาไว้ก่อน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในช่วงโควิด 19 โดยปัจจุบัน กฟผ. แบกรับภาระต้นทุนไปแล้วกว่า 83,000 ล้านบาท
5
ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้ ค่าไฟฟ้าในช่วงปลายปี 2565 นี้ ก็จะแพงขึ้นไปอีก
เพราะนอกจากค่าแก๊สธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักได้ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว
และอาจจะต้องบวกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้กับทาง กฟผ. ที่ต้องแบกรับค่า Ft ไว้ตั้งแต่ช่วงปีก่อนด้วย
ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่า “ค่าไฟฟ้า” ที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่พวกเราทุกคนต้องใช้นั้น จะแพงขึ้นอีกแค่ไหน..
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู สั่งซื้อเลยที่
โฆษณา