20 ก.ค. 2022 เวลา 23:47 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
หอมกลิ่นความกลัว
Photo by Alexandra Gorn on Unsplash
เวลาที่คนเรากลัว มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับร่างกายของเราบ้าง?
บางคนอาจนึกถึงดวงตาที่เบิกโพลง บางคนอาจนึกถึงภาพคนที่ตัวสั่นงันงก หรืออาจนึกถึงสภาวะที่เข่าอ่อน ไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ หรือหากกลัวมากๆ ในระดับที่ชีวิตอาจแขวนอยู่บนเส้นด้าย ก็อาจจะถึงกับไม่อาจกลั้นปัสสาวะและอุจจาระได้ เป็นต้น
ส่วนบางคนก็อาจนึกไปถึง “เหงื่อกาฬ” ที่เป็นเหงื่อเม็ดโต้งๆ ในยามกลัวสุดขีดที่บางทีก็กล่าวขวัญกันว่า เหงื่อดังกล่าวจะปรากฏก็ต่อเมื่อยามใกล้จะตายเท่านั้น
คุณอาจไม่ทราบมาก่อนเลยว่า งานวิจัยทำให้เราทราบว่า เหงื่อแห่งความตื่นตระหนกนี้ อาจมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนเราในแง่มุมอื่นๆ นอกเหนือไปจากความตื่นตระหนกรายบุคคล
และอันที่จริงแล้ว อาจมีผลดีหลายอย่าง มากกว่าผลกระทบอย่างเด่นชัดที่เราสังเกตเห็นได้ง่ายๆ เสียอีก
นอกจากนี้แล้ว ความกลัวยังอาจจะติดต่อกันได้ราวกับโรคติดต่ออีกด้วย!
Photo by Mulyadi on Unsplash
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Chemical Senses ปี 2006 ที่ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice University) ในประเทศสหรัฐอเมริกาเชื่อว่า พวกเขาได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกของโลกว่า สารเคมีที่หลั่งออกมาจากร่างกายของคนที่อยู่ในสภาวะกลัว มีผลทำให้คนอื่นๆ รอบตัวมีความตื่นตัว ระแวดระวัง และมีความแม่นยำเที่ยงตรงมากขึ้นด้วย
นักวิทยาศาสตร์ทราบกันมาบ้างแล้วก่อนหน้านี้ว่า บรรดาสัตว์ต่างๆ ตั้งแต่ที่พวกที่มีวิวัฒนาการไม่สูงนัก เช่น ดอกไม้ทะเล หรือไส้เดือนดิน ไปจนถึงสัตว์ที่มีวิวัฒนาการสูงกว่ามากอย่าง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู และกวาง ต่างก็หลั่งสารเคมีออกมาสื่อสารกันในระหว่างที่ตกใจกลัว
ในสัตว์ชั้นสูงสารเคมีดังกล่าว มักหลั่งออกมากับเหงื่อ
Photo by Hans Reniers on Unsplash
ในงานวิจัยชิ้นนี้ อาสาสมัครทั้งชายและหญิง (ผู้ชาย 4 คน ผู้หญิง 3 คน) ต้องรับชมส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ที่ตัดมายาวราวๆ 20 นาที ซึ่งมีทั้งภาพยนตร์ประเภทที่น่ากลัวและไม่น่ากลัวคละกันไป
เมื่อชมเสร็จ แต่ละคนจะต้องอธิบายอารมณ์ขณะนั้นของพวกเขา ซึ่งก็อาจจะเป็นเศร้า โกรธ กระวนกระวายใจ กลัว ขยะแขยง ฯลฯ หรืออาจไม่รู้สึกอารมณ์ใดเป็นพิเศษ โดยทางทีมงานจะบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจและข้อมูลร่างกายอื่นๆ อีกหลายแบบประกอบไปด้วย
ในระหว่างการทดลอง อาสาสมัครเหล่านี้ต้องสวมแผ่นผ้าที่แขน เพื่อคอยดูดซับสารเคมีต่างๆ ที่หลั่งออกมาจากร่างกาย โดยจะมีการเก็บแผ่นผ้าคืนเพื่อนำมาวิเคราะห์ในขั้นตอนต่อไป
ซึ่งก็คือการนำเอาแผ่นผ้าดังกล่าวไปครอบปากและรูจมูกของอาสาสมัครอีกชุดหนึ่ง (มากถึง 68 คนและเป็นผู้หญิงล้วน)
อาสาสมัครกลุ่มหลังนี้จะต้องให้คะแนนความเข้มของกลิ่น รวมไปถึงความหอมและเหม็นของกลิ่นที่ดมไป จากนั้น คนกลุ่มนี้ยังจะต้องทำแบบทดสอบที่เกี่ยวข้องกับจับคู่คำต่างๆ อีกด้วย
คะแนนที่ได้จะนำมาจับคู่กับกลุ่มของแผ่นผ้าต่อไปในภายหลัง โดยแผ่นผ้าจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มที่ได้จากคนดูภาพยนตร์สยองขวัญ กลุ่มที่ดูภาพยนตร์ที่ไม่ใช่กลุ่มสยองขวัญ และกลุ่มสุดท้าย เป็นแผ่นผ้าที่ไม่มีเหงื่ออยู่เลย ซึ่งใช้เป็นกลุ่มควบคุม (control) เพื่อใช้ในการตีความหมายของการทดลอง
ผลการทดลองน่าประหลาดใจมาก เพราะอาสาสมัครที่ได้ “กลิ่นความกลัว” จะมีความระมัดระวังในการทำแบบทดสอบมากกว่า และทำแบบทดสอบได้ถูกต้องมากกว่า
แต่กระนั้นความรวดเร็วในการทำแบบทดสอบ ก็ไม่ได้ลดลงมากมายจนผิดสังเกต
นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ไม่น่าแปลกใจนักว่าผลกระทบจากการได้กลิ่นที่หลั่งออกมาขณะที่หวาดกลัวนั้น มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความระวังระวังแก่สมาชิกอื่นที่ได้กลิ่น เพราะความผิดพลาดในภาวะคับขันแบบนั้น
บางครั้งอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายเกินคาด และอาจถึงแก่ชีวิตได้ด้วยเช่นกัน
ปีที่แล้วนี่เอง ก็มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารเดียวกันที่สรุปไปในทิศทางเดียวกันว่า เหงื่อจากผู้ชายที่อยู่ในภาวะกระวนกระวายใจ (คือไปกระโดดจากเสาสูง) จะไปส่งผลให้ผู้หญิงเกิดความกระวนกระวายใจได้ด้วยเช่นกัน
โดยงานนี้ใช้ผู้ชายที่ให้เหงื่อรวม 13 คน ส่วนคนที่ทำหน้าที่ดมก็คือ สาวๆ (อีกแล้ว) รวม 20 คนด้วยกัน
ล่าสุดจริงๆ ก็คือ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในเดือนมกราคมปีนี้เอง แต่คราวนี้ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Social Cognitive and Affective Neuroscience
งานวิจัยชิ้นนี้ไปเก็บเหงื่อคนในภาวะเครียด ซึ่งก็น่าจะเครียดจริงๆ เพราะว่าเป็นกลุ่มผู้ชายรวม 64 คนที่ไปกระโดดร่มเป็นครั้งแรกในชีวิต โดยนำมาเทียบกับเหงื่อของพวกออกกำลังกายตามปกติ
การวัดการเปลี่ยนแปลงนั้น อาศัยดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสมอง และความเปลี่ยนแปลงที่แสดงออกบนใบหน้าของคนกลุ่มที่มาทดสอบกลิ่นนี้ (มี 14 คน เป็นผู้หญิงรวม 8 คน)
ผลที่ได้ก็คือ คนที่ดมกลิ่นเหงื่อจากคนที่มีความเครียด ก็มีความเครียดเพิ่มขึ้นด้วย อย่างมีนัยยะสำคัญ
จะเห็นได้ว่างานวิจัยทั้ง 3 ชิ้นที่ผมยกมา ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกในกลุ่มเดียวกับคือ ความกลัว ความกระวนกระวายใจ และความเครียด
และต่างก็ชี้ชัดไปในทางเดียวกันว่า อารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ ต่างก็ล้วนสามารถถ่ายทอดติดต่อกันได้ ผ่านทางสารเคมีที่ออกมากับเหงื่อนี่เอง
น่าสนใจนะครับว่า ในออฟฟิศหรือที่ทำงาน โดยเฉพาะในอาคารปิดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวกนั้น อาจจะเกิดการถ่ายทอด “อารมณ์ลบ” หรือแม้แต่ “สะสม” อารมณ์ลบเหล่านั้น ในพื้นที่เหล่านั้นได้หรือไม่
และแม้ว่างานวิจัยจะบอกว่า มีแง่ดีอยู่บ้างสำหรับอารมณ์กลัวที่เราคาดไม่ถึงก็ตาม
แต่ความเครียดที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลเสียมากมาย และอาจจะไม่คุ้มค่ากับผลประโยชน์เหล่านั้นหรือไม่ในระยะยาว?
บทความนี้รวมอยู่ในหนังสือเรื่อง "อย่าชวนเธอไปดูหนังสือ" โดย สนพ.มติชน
โฆษณา