22 ก.ค. 2022 เวลา 00:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รู้เล็บสู้โรค
Photo by Analia Baggiano on Unsplash
คนที่ไม่รู้จักมักคุ้นกับนักวิทยาศาสตร์ อาจวาดภาพในหัวว่าคนเหล่านี้ต้องเป็นคนบ๊องๆ ที่ชอบทำอะไรแหวกแนว อาจจะแปลกถึงขึ้นพิลึกพิลั่นหรือแม้แต่พิเรนทร์เลยทีเดียว
ผมเดาว่าบางส่วนอาจจะได้ภาพดังกล่าวมาจากภาพยนตร์
ผมขอยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่น่าประหลาดใจแม้แต่น้อยกับ เพราะแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ด้วยกันเองบางคน ก็อาจคิดว่างานของนักวิทยาศาสตร์อีกคนนั้น ช่างไม่น่าทำเอาเสียเลย ... ไม่รู้จะทำไปทำไม (ฮา)
ซึ่งบางครั้งการที่คิดอย่างนั้นก็ถูกต้อง แต่บางครั้งกลับผิดอย่างมหันต์ทีเดียว
ลองมาดูตัวอย่างแบบพิลึกๆ สักตัวอย่างก็แล้วกันครับ
ถ้าคุณมีเศษเล็บเท้าสัก 5-6 หมื่นอัน คุณคิดว่าจะทำอะไรกับมันดีครับ? ทิ้งไปเลยหรือครับ? ไม่มีทางนำไปทำประโยชน์ใดๆ ได้เลยหรือครับ?
มีนักวิทยาศาสตร์บางคนคิดว่า พวกมันน่าจะมีประโยชน์บางอย่างครับ และพวกเขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่า เศษเล็บเก่าๆ จากผู้หญิงกว่า 6 หมื่นคนน่ะ ... มีประโยชน์จริงๆ เสียด้วยครับ ;-)
งานวิจัยที่นำทีมโดยนักวิจัยจากโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาดชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในปี 2008 แต่เริ่มตัวงานวิจัยตั้งแต่ปี 1976 โดยมีการขอร้องให้นางพยาบาลรวม 121,700 คนที่อายุ 30–55 ปี และอาศัยอยู่ใน 11 รัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา กรอกประวัติทางการแพทย์และรายละเอียดไลฟ์สไตล์แบบต่างๆ
นางพยาบาลเหล่านี้ได้รับแบบสอบถามต่อเนื่องอีกทุกๆ 2 ปีหลังจากปี 1976 นั้น ข้อมูลที่กรอกก็จะครอบคลุมปัจจัยเสี่ยงต่อหลอดเลือดหัวใจด้วย เช่น การสูบบุหรี่ ประวัติเรื่องความเครียดและเบาหวาน รวมไปถึงระดับคอเลสเตอรอล และอาหารที่ทาน เป็นต้น
พอถึงปี 1982 ก็มีการขอให้นางพยาบาลเหล่านี้ ตัดเล็บเท้าจากทั้ง 10 นิ้วส่งมาทางไปรษณีย์ ซึ่งก็มีผู้ส่งกลับมาให้รวมแล้วมากถึง 62,641 คน ซึ่งทั้งหมดนี้นับจนถึงปีดังกล่าวก็ยังไม่ได้เป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง แต่อย่างใดทั้งสิ้น
เมื่อนำเล็บเท้าดังกล่าวมาผ่านกระบวนการหาปริมาณนิโคติน และผ่านกระบวนการทางสถิติ เพื่อตัดตัวแปรที่ไม่เกี่ยวข้องอื่นๆ ออก (เช่น อายุ) ก็ค้นพบว่า
กลุ่มที่มีปริมาณนิโคตินที่ตรวจวัดได้สูงเป็นพิเศษในเล็บเท้านั้น เป็นกลุ่มเดียวกับพวกที่มีร่างกายไม่แข็งแรงนัก มีดัชนีมวลกาย (body mass index) ต่ำ มีแนวโน้มจะเป็นโรคเบาหวานสูง และมีประวัติทางครอบครัวเรื่องการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary heart disease) ซึ่งอาการหลักคือ มีเลือดไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ
คณะผู้วิจัยสรุปว่างานวิจัยนี้ เป็นงานวิจัยแรกที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างความเกี่ยวข้องของปริมาณนิโคตินในเล็บเท้ากับกับโรคหลอดเลือดหัวใจ
กล่าวอีกนัยหนึ่ง อาจจะทำนายโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจจากการตรวจเล็บเท้าได้!
Photo by A B E D K A Y A L I on Unsplash
การเก็บข้อมูลระยะต่อมาอีกในระหว่างปี 1984–1988 โดยศึกษาเปรียบเทียบกับผู้ป่วยรวม 905 ราย ก็ยิ่งช่วยยืนยันความชัดเจนของความเกี่ยวข้องโดยตรง ระหว่างความมากน้อยของการสูบบุหรี่ และการทำนายโอกาสการเกิดโรคดังกล่าวอีกด้วย
แต่นี่ย่อมไม่ใช่งานวิจัยเดียวที่ใช้เล็บเท้าคนมาบ่งชี้อะไรต่ออะไร
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่นำทีมวิจัยโดยนักวิจัยชาวสเปนและตีพิมพ์ในปี 2006 แสดงให้เห็นว่า ระดับของสารชนิดหนึ่งที่พบตามธรรมชาติคือ ซีเรียม (cerium) มีความเกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดหัวใจเช่นกัน
งานวิจัยดังกล่าวใช้เล็บเท้าเป็นตัวบ่งชี้และทำนายโรคหัวใจเช่นกัน
ถ้านี่ยังไม่น่าอัศจรรย์ใจพอ ผมขอบอกคุณว่าเล็บเท้ายังใช้ทำนายโรคอื่นๆ นอกเหนือจากโรคหัวใจได้เช่นกัน ที่น่าสนใจก็เช่น โรคสุดฮิตอย่างโรคมะเร็ง
งานวิจัยชิ้นหนึ่งฝีมือของนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยมาสทริชท์ (Maastricht University) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระบุว่าสารเซเลเนียม (selenium) ที่พบมากในเล็บเท้า จะแปรผกผันกับโอกาสที่จะเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากครับ
งานนี้ไม่ได้เช็คกันคร่าวๆ ง่ายๆ นะครับ ตรวจจากเล็บเท้าจากผู้ชายราว 58,000 คนเลยทีเดียว
เซเลเนียมตัวเดียวกันนี้ ยังมีความสัมพันธ์กับโรคแปลกๆ อย่าง โรคพิษแห่งครรภ์ระยะก่อนชัก (preeclampsia) โดยพบว่าจากการตรวจสอบเล็บเท้าของว่าที่คุณแม่ที่เป็นโรคนี้รวม 53 ราย ชี้ให้เห็นว่า เธอทั้งหลายที่มีระดับเซเลเนียมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของว่าที่คุณแม่คนอื่นมากๆ
โรคมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่อาจตรวจสอบได้จากเล็บเท้าก็คือ มะเร็งกระเพาะอาหาร ครับ โดยนักวิจัยญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยคาโกชิมะ (Kagoshima University) พบว่า เล็บเท้าที่มีระดับสังกะสีสูงกว่า ทำให้เจ้าของมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งชนิดนี้น้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่สูบบุหรี่
นอกจากตรวจแนวโน้มการเกิดโรคแล้ว ยังมีการใช้เล็บเท้าในการวิเคราะห์ตรวจหาสารประกอบราว 25 ชนิดในคนงานก่อสร้างชาวอิตาเลียนอีกด้วย และนอกจากนี้ยังมีคนประยุกต์ใช้ตรวจยาเสพติดบางชนิดได้ด้วย
ดังนั้น สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว เล็บเท้าอาจไม่ได้มีไว้สำหรับใช้ทาสีเล็บแต่เท่านั้น (พูดแทนนักวิทยาศาสตร์หญิงบางท่าน) แต่ยังอาจใช้เป็น “ตัวอย่าง (specimen)” สำหรับการวิจัยได้อีกด้วย
ไม่แน่ว่าในอนาคต ส่วนของร่างกายที่ไม่ใช้แล้วอย่างเล็บเท้า ก็อาจจะเป็นหนึ่งในสิ่งส่งตรวจเพื่อเช็คสุขภาพที่ทำกันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ... ก็เป็นได้ครับ !
บทความนี้รวมอยู่ในหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน
โฆษณา