29 ส.ค. 2022 เวลา 02:21 • คริปโทเคอร์เรนซี
Cryptocurrency โอกาสและความท้าทายของไทย ตอนที่ ๒
สวัสดี KUB คุณผู้อ่าน วันนี้ ผมขอนำท่านผู้อ่านมาคุยกันต่อในหัวข้อ แนวทางการพัฒนาธุรกิจ Startup และบทบาทของประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพการประชุม APEC ในปีนี้กับการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลบนเวทีโลก ซึ่งในตอนที่ผ่านมา (https://www.blockdit.com/posts/6296ebc4df6271abedd690d2) เราได้เกริ่นให้ท่านทราบถึงแนวทางการพัฒนาภาคธุรกิจดิจิทัลของไทยกันไปแล้วนะครับ โดยท่านสามารถรับชมเทปบันทึกการสัมภาษณ์ครั้งนี้ได้ที่ (https://youtu.be/BRnta-FzwHI)
ที่มา : เพจเฟสบุ๊ก ท๊อป จิรายุส - Topp Jirayut
ในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้มีบริษัท Startup เกิดขึ้นจำนวนมากในประเทศไทย ทว่ากลับมีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ ซึ่ง Bitkub คือหนึ่งในนั้น คุณท๊อปยกตัวอย่างแนวปฏิบัติของอิสราเอล ประเทศที่มีธุรกิจ Startup มากที่สุดต่อจำนวนประชากร จนได้รับฉายาว่าเป็น "Startup Nation" รัฐบาลอิสราเอลเข้าใจดีว่าการที่ธุรกิจ Startup จะประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และเห็นว่าการที่ภาครัฐยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเหล่าผู้ประกอบการนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็น
รัฐบาลอิสราเอลได้ตั้งกองทุน “ยอซมา” (Yozma) ซึ่งเป็นกองทุนของรัฐบาล (Government Venture Capital) เพื่อสนับสนุนเหล่าผู้ประกอบการ Startup สัญชาติอิสราเอล โดยกองทุนนี้จะไม่คำนึงถึงผลกำไรที่จะได้รับ เนื่องจากรัฐบาลอิสราเอลตั้งเป้าเป็นผู้ลงทุนรายแรกให้กับธุรกิจ Startup ในประเทศ และพร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุน คุณท็อปกล่าวเสริมว่าประเทศไทยควรนำแนวปฏิบัตินี้มาปรับใช้ ซึ่งหลังนำไปปรับใช้ คาดว่าน่าจะมีบริษัท Startup ระดับยูนิคอร์นสัญชาติไทยแบบ Bitkub เพิ่มมากขึ้นอีกแน่นอนในอนาคต
ทรัพยากรมนุษย์ คือ หนึ่งในปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ทรัพยากรมนุษย์ คือ หนึ่งในปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ ในปี ๒๕๖๑ ประเทศไทยจึงได้ออก นโยบาย SMART Visa วีซ่าประเภทพิเศษสำหรับผู้มีทักษะเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผู้บริหารระดับสูง และนักลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ Startup โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดผู้มีความสามารถให้เข้ามาพัฒนาและลงทุนในประเทศ ที่สำคัญที่สุด เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อนำไปต่อยอดและเสริมสร้างศักยภาพ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถให้กับพวกเราทุกคน
ที่มา : สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี
ในโอกาสที่ประเทศไทยของเรารับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้ ภายใต้วิสัยทัศน์ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance” จากมุมมองของผู้ประกอบการ คุณท๊อปคาดหวังว่าการประชุมในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างเอกภาพของสมาชิกในแต่ละเขตเศรษฐกิจให้เหนียวแน่นกันมากยิ่งขึ้น พร้อมร่วมกันวางกลยุทธ์และนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง อีกทั้งไม่ถูกจำกัดด้วยขอบเขตของเวลาและสถานที่
ในฐานะเจ้าภาพเอเปค คุณท๊อปคิดว่าประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ผลักดันและนำเสนอตนเองในฐานะ “ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งอาเซียน” ที่พร้อมทำหน้าที่เชื่องโยงพื้นที่เขตเศรษฐกิจแต่ละแห่งเข้าหากัน ไม่เพียงแต่เหล่าสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค แต่รวมถึงข้อตกลงและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอื่น ๆ ด้วย โดยคุณท๊อปเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพและพร้อมที่จะเป็นผู้นำเศรษฐกิจยุคใหม่ภายหลังสถานการณ์โรคระบาดได้อย่างแน่นอน
ภาพบรรยกาศการประชุม APEC SOM2 ที่มา : IXY Group
เทคโนโลยีมักมาพร้อมกับโอกาสเสมอ
“เทคโนโลยีมักมาพร้อมกับโอกาสเสมอ”... นี่คือประโยคที่คุณท๊อปบอกกับเราก่อนจะจบการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ไป โดยอยากให้ทุกคนเตรียมพร้อมที่จะคว้าโอกาสนี้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเรียนรู้ โอกาสในการเติบโต หรือแม้แต่โอกาสในการผิดพลาดเพราะทุก ๆ โอกาสนั้น ไม่ว่าจะดีหรือแย่ก็ล้วนเป็นบทเรียนสำคัญให้กับเราทุกคน และเทคโนโลยีจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือ หากคุณรู้จักวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากมัน รับประกันได้เลยว่าคุณจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนในอนาคต
นายเอกวิทย์ ซอหะซัน
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา