20 ก.ค. 2022 เวลา 09:17 • ข่าวรอบโลก
ทีมวิจัยนานาชาติค้นพบ“ระบบดาวคู่” หายาก-หมุนโยกเหมือนลูกข่าง
An illustration provided by the research team shows a binary star system.
ทีมวิจัยนานาชาติประกาศการค้นพบตัวอย่าง “ระบบดาวคู่” (binary star) หายากเพิ่ม 2 ระบบ ประกอบด้วยดาวฤกษ์ศูนย์กลางสองดวงที่โคจรรอบกันในจักรวาล จากการเผยแพร่ผ่านวารสารดิ แอสโตรฟิสิคอล เจอร์นัล เลตเตอร์ส นายจู เหว่ย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิงหัว ระบุว่าระบบดาวคู่ 2 ระบบ ชื่อ “เบอร์นาร์ด-1” (Bernhard-1) และ “เบอร์นาร์ด-2” (Bernhard-2) ถูกโอบล้อมด้วยจานก๊าซและฝุ่นละอองที่ทำมุมกับวงโคจรของดาวฤกษ์ศูนย์กลาง
โดยก๊าซหนาแน่นรอบระบบดาวหรือจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด (protoplanetary disk) มักอยู่ในระนาบการโคจรเดียวกับดาวฤกษ์ เหมือนกับดาวเคราะห์และดาวบริวารส่วนใหญ่ในระบบสุริยะที่มีระนาบการโคจรเดียวกัน
อย่างไรก็ดี นายจูกล่าวว่าระบบดาวคู่ที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้เป็นชนิดหายากที่มีจานวงแหวนรอบดาวอยู่ทำมุมกับระนาบของดาวฤกษ์ที่โคจรรอบ และจานจะโยกคล้ายกับลูกข่างที่กำลังหมุนเนื่องจากมีมุมเอียง จานดังกล่าวจะเคลื่อนที่ระหว่างโลกและดาวฤกษ์คู่ขณะโยกนานหลายทศวรรษ ทำให้ความสว่างของดาวฤกษ์คู่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
The surrounding dense gas, or protoplanetary disk
ผลการวิจัยพบว่าเมื่อมองจากโลก ระบบดาวคู่จะมืดลงขณะดาวฤกษ์ดวงหนึ่งโคจรไปด้านหลังจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด โดยความสว่างของระบบดาวคู่จะกลับสู่ระดับปกติเมื่อสามารถสังเกตเห็นได้อีกครั้งบนโลก โดยการหรี่แสงของระบบเบอร์นาร์ด-1 เกิดนาน 112 วัน ในทุก 192 วัน และระบบเบอร์นาร์ด-2 เกิดนาน 20 วันในทุก 62 วัน
นายจูเผยอีกว่าระบบดาวคู่ 2 ระบบ อยู่ห่างจากโลก 3,000-10,000 ปีแสง และการค้นพบดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจการก่อตัวของดาวเคราะห์ โดยผลการศึกษานี้ดำเนินการร่วมกับนักดาราศาสตร์มืออาชีพและมือสมัครเล่นหลายคน รวมถึงคณะนักวิจัยจากจีนและต่างประเทศ
The two binary star systems are located 3,000-10,000 light-years from Earth
ขอบคุณที่มาข่าวและภาพประกอบจาก :www.khaosod.co.th
โฆษณา