Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
20 ก.ค. 2022 เวลา 10:27 • ท่องเที่ยว
ปราสาทซมนางตาสก ปราสาทตาพรหม ปราสาทตาแนม ปราสาทเช็งเชินไตร และกลุ่มปราสาทบริวารของปราสาทบันทายฉมาร์
เรารู้มาว่า นอกจากปราสาทบันทายฉมาร์ที่โด่งดังแล้ว ในพื้นที่ที่เราไปเยือนยังมีปราสาทบริวารของปราสาทบันทายฉมาร์อีกอย่างน้อย 9 ปราสาท ตั้งกระจายอยู่ในบริเวณป่าโปร่ง
ไหนๆ ก็มาถึงที่นี้แล้ว .. เราจึงเข้าไปเดินสำรวจเพื่อให้รู้ ได้เห็น และถ่ายภาพ
ปราสาททั้งหมดที่เรามีโอกาสเข้าไปชม แม้จะมีขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากัน .. แต่เข้าใจว่า คติการสร้างมีรากเหง้าที่มาคล้ายๆกัน .. จากการสอบถามผู้คนในพื้นที่ และจากการสืบค้น ไม่ปรากฏว่าใครเป็นคนสร้าง ชื่อดั้งเดิมคือชื่ออะไร (ชื่อที่ใช้เรียกในปัจจุบัน ตั้งโยชาวบ้าน) สร้างเมื่อใด และด้วยวัตถุประสงค์ใด
.. แต่แม้จะยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ นอกจากจะรับทราบมาว่า ปราสาทแต่ละแห่งจะต้องเดินเข้าไปในป่าโปร่งเอง ซึ่งแต่ละเส้นทางที่ต้องเดินมีตั้งแต่ 1+ กม. ถึงเกือบ 3 กม. One way!
อีกทั้งเส้นทางที่ต้องเดินไม่ได้ราบเรียบ ..
.. กระนั้น ความตั้งใจและความกระตือลือล้นที่จะไปดูของพวกเราไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย
.. การเล่า ก็จะเป็นการเล่ารวมๆในภาพใหญ่ ด้วยเหตุที่ทั้งการเดินทาง สิ่งที่เราต้องเผชิญระหว่างทาง และสภาพของโบราณสถานที่เราไปสัมผัสมามีส่วนที่คล้ายๆกัน
.. เราเดินฝ่าแดดร้อนในช่วงแรกของการเดินเข้ามาในป่า .. ไม่นานเราก็อยู่ในเขตที่มีต้นไม้ร่มรื่น แต่ค่อนข้างจะขึ้นหนาไม่เป็นระเบียบ บางส่วนมีหนามแหลมคมคอยเกี่ยวเสื้อผ้า และแขนที่เราไม่ได้เตรียมการป้องกันให้พร้อม
.. เราย่ำอยู่กับความซับซ้อนของเถาวัลย์เล็กๆ แต่ความเหนียวเป็นเลิศ ซึ่งมีมากมายบนพื้น
.. เจ้าสิ่งนี้มีความยาวที่ยืดหยุ่นคอยเกาะเกี่ยวเท้า หากเราไม่ระวัง หรือออกก้าวเดินโดยไม่ทันสังเกต มันจะพันเท้าเราแน่นทำให้การก้าวเดินกระตุก จนทำให้ล้มลงและอาจจะเป็นอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บจากการที่เข่า ขา แขน ที่ล้มไปกระแทกกับแง่งหินที่กองระเกะระกะสุมๆกันอยู่ และมีความลื่นด้วยตะไคร่น้ำในหน้าฝน
.. ไม่นานนัก มีบางสิ่งผ่านเข้ามาในสายตา ที่ทำให้เราต้องสาวเท้าเข้าไปใกล้ๆ
ภาพแรกที่ปรากฏในสายตา .. ใบหน้าบนยอดปราสาทที่มีต้นไม้ปกคลุม ทำให้เกิดทัศนียภาพที่น่าตื่นใจ เป็นสิ่งก่อสร้างที่เหมือนจินตนิยาย เป็นซากโบราณสถานที่แปลกกว่าที่อื่นๆในโลก รวมถึงมีความงดงามตระการตาในความรู้สึกของเราผู้มาเยือน ซึ่งทำให้ตัวองรู้สึกเหมือนเป็นคนแคระ .. และทันทีทันใด เลือดในตัวก็เกิดเย็นแข็งขึ้นมา เมื่อมองเห็นรอยยิ้มขนาดมหึมากำลังมองลงมายังพวกเรา
ความรู้สึกในตอนนั้น .. รู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่ในกลางหนังสือ “เพชรพระอุมา” .. ที่เคยอ่านครั้งแล้วครั้งเล่า แล้ววันหนึ่งเราได้มาพานพบซากปรักหักพังของเมืองลี้ลับแห่ง “นิทรานคร” ..
.. ซากปราสาทในป่าดิบที่สร้างด้วยศิลาแลงคล้ายปราสาทขอมโบราณ .. ใจกลางห้องโถงใหญ่ มีครอบแก้วผลึกตั้งวางเด่นบนแท่นพื้นหินอ่อนสีดำ ภายในมีร่างของหญิงสาวนางหนึ่งแต่งกายเหมือนนางกษัตริย์ในสมัยโบราณ นอนเหยียดยาวลักษณะเหมือนคนนอนหลับอยู่ข้างใน ..
ไม้ที่ปักแน่นอยู่ระหว่างกลางทรวงอกของพันธุมวดี มีหยดเลือดจากบาดแผลไหลอาบลงมาเป็นทาง แห้งเกรอะกรังภายในครอบแก้ว .. ภายใต้แท่นพื้นหินอ่อนสีดำ พบโพรงที่ภายในมีคัมภีร์หนังมนุษย์ลักษณะเหมือนกับสมุดใบลาน มีกริชสีดำปักตรึงอยู่ ..
“คัมภีร์มหามายาวิน” ที่ทำด้วยหนังมนุษย์ซึ่งถูกตรึงไว้ด้วยกริช เพื่อสะกดให้ “นิทรานคร” หลับใหลอยู่ภายใต้มนต์สะกดของ “มหาปุโรหิต มันยตรัย” ผู้ชั่วร้ายอยู่เป็นนิรันดร
“พี่ๆๆๆ .. ระวังด้วยนะครับ หินคมมากและลื่น อย่างเหยียบหินก้อนที่โครงเครง เดี๋ยวจะล้ม” .. เสียงของน้องคนหนึ่งพูดขึ้นมา ทำให้ฉันตื่นขึ้นมาจากภวังค์
....
“ทำไมปราสาทที่สวยงามเหล่านี้มาตั้งอยู่กลางป่า?”
“ใครสร้าง? ด้วยวัตถุประสงค์อะไร?” .. คำถามมากมายประเดประดังเข้าในในห้วงคำนึ่งอย่างรวดเร็ว
กลับมาทบทวนเรื่องของปราสาทหินในคตินิยมแบบบายนกันสักนิด ..
ปราสาทหินที่สร้างให้มีมีลักษณะ “ยิ้มแบบบายน”.. สร้างขึ้นในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จนถือกันว่า เป็นแบบปราสาทหลวงประจำรัชสมัยพระเจ้าขัยวรมันที่ 7 ซึ่งนับว่าเป็นการปฏิวัติรูปแบบของการสร้างปราสาทที่มีภาพลักษณ์แตกต่างจากการสร้างรูปแบบเดิมๆโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนานิกายมหายานอย่างยิ่ง ต่างจากกษัตริย์หลายพระองค์ที่ล้วนแต่นับถือศาสนาฮินดู หรือศาสนาพราหมณ์ที่สืบทอดกันมานานกว่า 415 ปี
ปรางค์ ถูกสลักเป็นภาพพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผินพระพักตร์ออกไปทั้ง 4 ทิศ เพื่อสอดส่องดูแลทุกข์สุขของเหล่าพสกนิกรของพระองค์ให้อยู่อาศัยด้วยความร่มเย็นเป็นสุข … รอยยิ้มด้วยมุมปาก ตากลมโตที่มองลงต่ำ เยือกเย็นระเรื่อนี้เรียกว่า “รอยยิ้มแบบบายน” เปี่ยมด้วยความเมตตา กรุณา
การก่อสร้างปรางค์ที่แกะเป็นรูปใบหน้ามนุษย์ทั้งสี่ทิศรอบปรางค์ เป็นเอกลักษณ์ของปราสาทขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในช่วงศตวรรษที่ 12 .. ความโดดเด่นของปราสาทบายนที่ไม่เหมือนปราสาทอื่นใดอยู่ที่ ยอดปรางค์ปราสาทที่มีรูปสลักพระพักตร์ของพระอวโลกิเตศวร .. จึงเป็นกลุ่มปราสาทที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ขึ้นครองแผ่นดิน พระองค์ได้เลือกพุทธศาสนานิกาย "วัชรยานตันตระ" ที่มีเรื่องราวของเหล่าพระโพธิสัตว์ผู้ทรงพลังอำนาจเหนือเหล่าเทพเจ้า มาใช้เป็นระบอบการปกครองใหม่ในพระราชอาณาจักรของพระองค์ .. ด้วยปรัชญาของนิกายวัชรยานตันตระเปิดโอกาสให้คนธรรมดาสามารถบำเพ็ญบารมีขึ้นเป็นพระโพธิสัตว์สูงสุดเหนือพระศากยมุนีได้ ในขณะที่พระโพธิสัตว์ในลัทธิมหายานนั้นจะอยู่ใต้พระสมณโคดม
ในอาณาจักรขอม การสร้างปราสาท แสดงถึงพระราชอำนาจของกษัตริย์ และใบหน้าของพระอวโลกิเตศวรที่ปรากฏอยู่อย่างอลังการในการสร้าง
ปราสาท .. ถ่ายทอดให้เห็นถึงความเชื่อถือลัทธิทางศาสนา รวมถึงบอกถึงอุดมการณ์ของกษัตริย์ในการที่จะสร้างถาวรวัตถุ ที่มีศาสนาเป็นเครื่องยึดติด นอกจากนั้นความเกี่ยวพันทางศาสนาก็ยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระราชอำนาจและบารมีของกษัตริย์ ที่แผ่ปกคลุมไปยังอาณาประชาราษฎร์ ให้ได้รับความร่มเย็น
ดังนั้นใบหน้าของพระองค์ในรูปของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร .. จึงทำให้พระองค์เป็นประหนึ่ง “พุทธราชา” และเป็นเสมือนอวตารหนึ่งของพระโพธิสัตว์ ..
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้สถาปนาพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าสูงสุดเหนือเหล่าพระโพธิสัตว์ และธยานิพุทธ ทั้ง 5 พระองค์ (หนึ่งในนั้นคือพระพุทธเจ้าในมหายานในนาม พระอมิตาภะ) นั่นคือพระองค์ทรงเป็นดั่ง “พระมหาไวโรจนะ” หรือพระ ”อาทิพุทธ” พระพุทธเจ้าสูงสุดแห่งจักรวาลสากลนั่นเอง
.. ใบหน้าของเหล่ารูปเคารพพระโพธิสัตว์วัชยานทุกองค์ก็คือใบหน้าของพระองค์เช่นกัน พระองค์จึงสถิตอยู่ทั่วทุกหนแห่ง ..
นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่มีการสร้างปราสาทใหญ่น้อยกระจายไปในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 .. ซึ่งรวมถึงปราสาทที่เรามีโอกาสได้มาเยือนเหล่านี้ด้วย
การสร้างปราสาทด้วยหินศิลา ต้องใช้แรงงาน และทรัพยากรจำนวนมาก ผู้สร้างหรือสั่งให้สร้างจึงต้องเป็นบุคคลระดับสูงในราชสำนักหรือเกี่ยวข้องกับราชสำนักที่มีอำนาจอย่างแน่นอน
.. ปราสาทส่วนใหญ่ที่เราไปชม ตั้งอยู่บนพื้นราบหรือเนินสูงเพียงเล็กน้อย ส่วนของชั้นหลังคา ครรภคฤหะ และฐาน อาจจะมีขนาด ความสมบูรณ์มากน้อยต่างกันตามสภาพแวดล้อมของแต่ละปราสาท .. แต่ห้องอาคารด้านในเกือบจะทั้งหมดมีขนาดไม่ใหญ่นัก ด้วยเป็นสถานที่ประกอบพิธี ซึ่งในสมัยโบราณมีไม่กี่คนที่เข้าไปได้
ปราสาทที่เราไปเดินถ่ายภาภ มีภาพตัวอย่างมาให้ชมด้วยค่ะ ..
ปราสาทตาพรหม
ปราสาทซมนางตาสุข
ปราสาทตาแนม
ปราสาทเช็งเชินไตร (ปลาสาทเลี้ยงปลา)
ปราสาทยายคุม
บันทึก
2
1
5
2
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย