20 ก.ค. 2022 เวลา 13:30 • ธุรกิจ
นมโฟร์โมสต์อาจจะเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์นมคู่บุญของคนไทยที่หลาย ๆ คนอาจมีความผูกพัน
จากประเด็นเรื่องการปิดโรงงานผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ในประเทศไทย เรามาเจาะประเด็นดูกันว่านมโฟร์โมสต์นี่เป็นของใคร บริษัทอะไร? มีสตอรี่หรือประเด็นอะไรที่น่ารู้บ้าง?
1. นมโฟร์โมสต์เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทสัญชาติฮอลแลนด์ที่ชื่อ Friesland Campina ซึ่งให้การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมจากธรรมชาติ ชีส ของหวาน และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับเด็กทารก ที่มีประวัติยาวนานมากว่า 100 ปี ดำเนินธุรกิจใน 32 ประเทศทั่วโลก และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยสัดส่วนรายได้ในไทยคิดเป็น 2.5% ของรายได้รวมทั้งหมดของบริษัทในปี 2021
2. บริษัท Friesland Campina ประเทศไทย จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมคุณภาพสูงให้กับคนไทยมาเป็นเวลา 65 ปี มีผลิตภัณฑ์นมคุ้นหูคู่คนไทยอย่างนมโฟร์โมสต์ นมนกเหยี่ยว Falcon นมข้นตราเรือใบ เป็นต้น
3. ประเด็นร้อนล่าสุดก็คือทาง Friesland Campina ได้ยกเลิกการผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ในไทย และหันไปโฟกัสการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมที่มีอายุการเก็บได้นานขึ้น อย่างไรก็ตามการผลิตนม UHT และรูปแบบอื่นยังไม่ได้มีการยกเลิกแต่อย่างใด
4. ตามรายงานครึ่งปี 2022 บริษัทให้เหตุผลถึงการปิดโรงงานผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ในไทยว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือจะจัดการฐานการผลิตให้ดีขึ้น อาจจะเป็นเรื่องของตำแหน่งที่ตั้งบวกกับปัจจัยอื่น ๆ ที่คิดมาแล้วว่าอาจจะทำได้ดีกว่านี้หรือตอนนี้อาจจะไม่คุ้มค่าเต็มประสิทธิภาพ โดยจะเป็นการปิดโรงงานในเขตหลักสี่ของประเทศไทย
5. นอกจากนั้นการปรับโครงสร้างในพื้นที่อื่น ๆ ก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน เช่น การควบรวมการผลิตของโรงงานในเมือง Rotterdam และ Maasdam การปิดโรงงานผลิตสินค้า เช่น นมผงและเวย์ 2 แห่งใน Leeuwarden ประเทศฮอลแลนด์ รวมถึงยกเลิกสัญญาการผลิตซึ่งนำไปสู่การปรับโครงสร้างการผลิตที่เมือง Lippstadt ประเทศเยอรมนี
6. หากย้อนไปก่อนหน้านี้ ตามรายงานครึ่งปี 2021 เปิดเผยว่าบริษัท Friesland Campina ในไทย ต้องจ่ายเงินชดเชยจำนวน 57 ล้านยูโร หรือประมาณ 2.14 พันล้านบาท* กับลูกค้าธุรกิจประเภท B2B รายหนึ่งจากการละเมิดข้อตกลงทางการค้าในช่วง 10 ปี ซึ่งเป็นการพิจารณาจากการแปลสัญญาข้อตกลง ซึ่งทาง Friesland Campina ได้ทำการยื่นคำร้องต่อประเด็นดังกล่าว
7. ข้อสรุปที่ไม่แน่นอนส่งผลให้ Friesland Campina ต้องจ่ายเงินชดเชย และลงรายการบัญชีไว้ในค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ
8. ทางด้านบริษัท Friesland Campina ประเทศไทยมีรายได้และกำไรดังนี้
ปี 2017 ประมาณ 1.27 หมื่นล้านบาท* กำไร 904,328 บาท
ปี 2018 ประมาณ 1.26 หมื่นล้านบาท* กำไร 291 ล้านบาท
ปี 2019 ประมาณ 1.19 หมื่นล้านบาท* กำไร 485 ล้านบาท
ปี 2020 ประมาณ 1.08 หมื่นล้านบาท* กำไร 289 ล้านบาท
ปี 2021 ประมาณ 1.08 หมื่นล้านบาท* ขาดทุน 1,360 ล้านบาท
สวนทางกับคู่แข่ง เช่น Dutch Mill CP-Meiji F&N Dairies และ Abico Dairy Farm ที่ยังมีแนวโน้มรายได้ กำไรเติบโตต่อเนื่องและเป็นบวก
จากข้อมูลรายได้ย้อนหลังจะเห็นได้ว่าบริษัทมีการเติบโตของรายได้ลดลงต่อเนื่องตรงข้ามกับคู่แข่ง ในขณะที่กำไรสุทธิในปี 2021 กำลังเผชิญกับการขาดทุนราว ๆ 1 พันล้านบาท จึงอาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้บริษัทเกิดการปรับกลยุทธ์ขึ้น
9. จากสตอรี่ทั้งหมดด้านบนที่ทาง Friesland Campina ออก Action อาจจะบ่งบอกเป็นนัย ๆ ได้ว่าทางบริษัทกำลังมีการปรับโครงสร้างด้านฐานการผลิต ผลิตภัณฑ์รวมถึงอาจกำลังปรับกลยุทธ์หลังเผชิญปัจจัยกดดันในการดำเนินธุรกิจในไทย
10. เรื่องสัดส่วนรายได้ว่านมพาสเจอร์ไรซ์มีสัดส่วนคิดเป็นเท่าไรหากเทียบกับรายได้หลักในไทย เนื่องจากบริษัทไม่ได้มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เลยอาจจะยังไม่มีข้อมูลออกมาเป็นสาธารณะ ใครเจอก็แชร์ผ่านคอมเมนต์มาได้นะครับ
11. ปิดท้ายกันสักนิดด้วยรายชื่อกรรมการบริษัทกันบ้างซึ่งจากที่ผมได้หามาก็มีดังนี้
11.1 นายอาณัติ อาภาภิรม
11.2 นายวิภาส ปวโรจน์กิจ
11.3 นางลิซ่า เซียว
11.4 นายโอฬาร โชว์วิวัฒนา
11.5 นายราชเทพ นฤหล้า
11.6 นางสาริณี ชุ่มชื่นสุข
11.7 นายอาเมีย มูเนีย
11.8 นายสรพล โสนุตมางค์
ทั้งหมดนี้ก็เป็นสรุปประเด็นที่ผมคิดว่าทุกคนควรรู้เกี่ยวกับประเด็นร้อนล่าสุดของเหตุการณ์นี้ครับ
อย่างไรก็ดีเรามาเอาใจช่วยบริษัท ให้ผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน เราจะได้ดื่มนมที่คุ้นเคยกันไปนาน ๆ
ขอให้ทุกคนโชคดีครับ
Mr. Serotonin
*อัตราแลกเปลี่ยน EUR/THB ณ วันที่ 20 กรกฎาคม เวลา 08:03 UTC จากเว็บไซต์ XE Currency
โฆษณา