20 ก.ค. 2022 เวลา 15:43 • คริปโทเคอร์เรนซี
ทำไม ตลาดคริปโตถึงเสี่ยง?
หากได้ติดตามข่าว คงจะได้เห็นข่าวเกี่ยวกับความเสี่ยงของตลาดคริปโต ว่าผู้ที่ลงทุนจะเกิดความเสียหายหรือไม่ หากตลาดคริปโตเป็นอะไรไป
ในเดือนพฤษภาคม Coinbase ได้ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1 และแสดงผลขาดทุน ซึ่งนอกจากจะทำให้นักลงทุนไม่พอใจแล้ว ยังได้ระบุไว้ในรายงานอีกว่า ในกรณีที่บริษัทล้มละลาย ลูกค้าอาจจะถึงกับสูญเสียสินทรัพย์ที่ฝากไว้ในบัญชีกับ Coinbase ก็เป็นได้
ทั้งนี้ เป็นเพราะตลาดคริปโตไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแล และมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน อีกทั้งสินทรัพย์ทั้งหลายอยู่ภายใต้การดูแลของตลาดคริปโตโดยตรงจึงไม่มีความชัดเจนว่า สินทรัพย์นั้น ๆ เจ้าหนี้อื่นมีสิทธิ์ในการเรียกร้องไม่ต่างกันกับเจ้าของบัญชีหรือไม่ อีกทั้งยังไม่เคยมีคดีความในลักษณะนี้มาก่อน หากเกิดเหตุการณ์ขึ้น ศาลจะตัดสินคดีอย่างไร ยังไม่มีความแน่นอน
ซึ่งจริง ๆ แล้ว หากตลาดคริปโตต้องการทำให้สินทรัพย์ของลูกค้าปลอดภัยจริง ตลาดสามารถที่จะแยกสินทรัพย์ออกไปอยู่ภายใต้อีกนิติบุคคลได้ แต่ตลาดส่วนใหญ่ไม่ได้ทำแบบนั้น
ทำไมหรือครับ? นั่นเป็นเพราะหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น
  • ตลาดนำสินทรัพย์ของลูกค้าไปทำตลาด (market making) โดยอาจจะเข้าไปทำการซื้อขายเอง ทั้งที่อาจจะไม่มีสินทรัพย์นั้น ๆ อยู่ในมือ
  • ตลาดสามารถปล่อยเงินกู้ให้กับลูกค้า โดยเอาสินทรัพย์ของลูกค้าเป็นหลักประกัน หรือสามารถที่จะเอาสินทรัพย์ของลูกค้าไปปล่อยให้คนอื่นยืมด้วยเช่นกัน
  • ตลาดสามารถนำสินทรัพย์ของลูกค้าไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน แต่อาจจะมีความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง
  • ซึ่งตลาดต้องการที่จะลดต้นทุน ไม่อย่างนั้นการโอนสินทรัพย์ไปมาอยู่เสมอ ซึ่งในโลกของคริปโตมันมีต้นทุนต่อรายการอยู่ตลอดเวลา
  • นอกจากนี้ ตลาดยังไม่ต้องการให้เกิดความโปร่งใสว่าใครเป็นคนถือสินทรัพย์ และเป็นจำนวนเท่าไรอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดคริปโต เมื่อไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดเหมือนกับตลาดหลักทรัพย์ จึงมีการกระทำที่ดูไม่โปร่งใสอีกหลายเรื่อง เช่น
  • การทำตลาด และการเป็นตัวกลางในการซื้อขาย/ชำระตราสารอนุพันธ์ ยังเป็นการเข้าไปเสี่ยง จนอาจจะทำให้ตลาดล้มละลายได้
  • ตลาดส่วนใหญ่ไม่มีกฎระเบียบ มาตรฐานบัญชี และการกำกับกิจการที่ดีพอ ต่อให้ผู้บริหารอ้างว่า จะคืนสินทรัพย์ให้กับลูกค้าก่อนเมื่อเกิดปัญหา แต่ใครจะรู้ว่าผู้บริหาร และเจ้าของดึงเงิน และทรัพย์สินออกไปมากเท่าไร
  • นอกจากนี้ ตลาดบางแห่งยังมีเจตนาที่จะโกงเงินลูกค้า เช่น ปัญหาของ Quadriga CX ซึ่งมีการอ้างว่า ผู้บริหารเสียชีวิต จึงไม่มีกุญแจที่จะเข้าถึงกระเป๋าของ Quadriga CX แต่จากการสืบสวน ดูเหมือนสินทรัพย์ของลูกค้ากลับไม่ได้ถูกฝากเข้าบัญชีเสียด้วยซ้ำ
  • และท้ายที่สุด ตลาดเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกแฮก หรือโดนคนในขโมยสินทรัพย์ออกไปจากกระเป๋าของตลาดอีกด้วย เพราะมันถูกปกป้องเพียงกุญแจที่มีคนเข้าถึงได้เพียงไม่กี่คน ซึ่งตลาดใหญ่อย่าง Bitfinex ก็เคยถูกขโมยเงินกว่า 119,000 BTC ในปี 2016 มาแล้ว
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่หน่วยงานกำกับดูแลเริ่มเล็งเห็นความเสี่ยงนี้ และต้องการที่จะเข้ามากำกับดูแลในเรื่องนี้มากขึ้นนั่นเอง
สำหรับนักลงทุน ควรเลือกลงทุนในตลาดที่มีมาตรฐานในการกำกับดูแลที่ดีพอ อย่างในประเทศไทยเอง ก.ล.ต.​ กำหนดนโยบายให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตต้องนำสินทรัพย์ของลูกค้าส่วนใหญ่ไปฝากไว้ใน Cold Wallet ต่างประเทศ แทนที่จะดูแลเอง (Self-custody) ทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงในกรณีที่ถูกโจรกรรม แฮก หรือล้มละลายนั่นเอง แต่อย่างไร มันเพียงลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น และถ้ามีการฉ้อโกงเกิดขึ้น โอกาสที่ลูกค้าจะสูญเสียก็จะสูงมากเลยทีเดียว
ดังนั้น ไม่ว่าจะทำอะไร ก็คงจะไม่ได้สามารถรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินที่ฝากไว้ได้ 100% เหมือนอย่างที่คนในโลกคริปโตบอกกันเสมอ ๆ ว่า
Not your key, not your coin
1
ที่มา:
*บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 26/05/2022 บน Facebook ส่วนตัวของผู้เขียน*
โฆษณา