15 ส.ค. 2022 เวลา 04:45 • สุขภาพ
5 โรคติดต่อในเด็ก ที่พ่อแม่ควรระวัง
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ. พรชนก วันทนากร สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตรโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ในปัจจุบันโรคต่าง ๆ มีมากมาย การเรียนรู้เพื่อความเข้าใจโรคต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งในวัยเด็กเป็นช่วงวัยที่ต้องดูแลเอาใจใส่ในเรื่องสุขภาพเป็นพิเศษ เพราะระบบภูมิต้านทานในร่างกายของเด็กไม่เหมือนผู้ใหญ่ ดังนั้น ช่วงอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสต่าง ๆ พ่อแม่ควรดูแลสุขภาพลูกเป็นพิเศษ โรคติดต่อที่แพร่กระจายในเด็ก ที่พบบ่อยในกลุ่มเด็กเล็ก ได้แก่ 1. โรคมือเท้าปาก 2. ไวรัส RSV 3. ไข้หวัดใหญ่ 4.ไข้เลือดออก 5. โรคโควิด-19 ซึ่งแต่ละโรคมีลักษณะอาการ วิธีรักษา และวิธีป้องกัน ดังนี้
โรคมือเท้าปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในเด็กเล็ก ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจในเด็ก อาจจะมีแค่ไข้หวัด แต่อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นมีหลอดลมตีบ ปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ เป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ที่มีอาการไข้สูง ไอ น้ำมูก ครั่นเนื้อครั่นตัว ซึ่งอาจจะลงปอดและกลายเป็นปอดอักเสบได้เช่นกัน
อีกโรคที่มักเกิดในช่วงฤดูฝน คือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคที่มียุงเป็นพาหะแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วในฤดูนี้ และโรคโควิด-19 ยังเป็นโรคที่ควรระวังอยู่ ถึงแม้ว่าความรุนแรงจะลดลง แต่ในกลุ่มเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ขวบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ก็มีโอกาสติดเชื้อและมีอาการรุนแรงได้ ดังนั้น พ่อแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด
จะสังเกตได้ว่าโรคติดต่อในเด็กส่วนใหญ่เกิดจากการติดต่อทางสารคัดหลั่ง ได้แก่ น้ำมูก น้ำลาย ไอ จาม มักก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ จะมีบางโรค อย่างเช่น โรคมือเท้าปาก เป็นอาการของไวรัส มีไข้ มีแผลในปาก มีผื่นตามมือตามเท้า ภาวะแทรกซ้อนอาจจะเกิดการติดเชื้อในสมองได้ อาจมีภาวะสมองอักเสบ ทำให้มีความรุนแรงของโรคมากขึ้น
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดเชื้อที่มียุงเป็นพาหะ การป้องกันโรคต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ควรป้องกันเรื่องการสัมผัส ละออง ไอ จาม ซึ่งอาจทำได้ยากโดยเฉพาะในเด็กเล็ก เพราะเด็กมักจะเล่นด้วยกัน จึงมีโอกาสที่ได้สัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลายและติดต่อกันได้ ดังนั้น วิธีการป้องกันคือ ควรปลูกฝังให้มีการล้างมือเป็นประจำ
ในช่วงนี้ยังคงเป็นช่วงใส่หน้ากากอนามัยอยู่แล้ว ต่อไปหากภาครัฐยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัย เพราะในอนาคตโรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น การสวมหน้ากากอนามัยในกลุ่มเด็กเล็กที่อายุมากกว่า 2 ปี ยังคงป้องกันได้หลายโรค ไม่ว่าจะเป็น RSV ไข้หวัดใหญ่ หรือเมื่อมีเด็กคนไหนไม่สบาย ยิ่งควรต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อจะได้ไม่แพร่เชื้อผ่านละอองฝอยจากการไอ จาม ไปสู่คนอื่น
ส่วนโรคไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะ ควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่จะนำพาหะไข้เลือดออกมาสู่คนได้ ถ้าพบเห็นว่าชุมชนไหนมีไข้เลือดออกระบาด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อให้เข้ามาช่วยกำจัดยุง ก่อนจะมีการระบาดเพิ่มขึ้น
โรคติดต่อในเด็กส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อไวรัส มีวิธีรักษาตามอาการ และมักจะไม่ได้มียาต้านไวรัสที่เฉพาะเจาะจง แม้แต่โรคโควิด-19 ยาที่ใช้ในการรักษาก็ไม่ได้เป็นยาที่รักษาโรคโควิดโดยตรง หลัก ๆ คือ รักษาตามอาการ โรคมือเท้าปาก มีอาการเจ็บแผลในปาก ความรุนแรงของอาการจะอยู่ที่ว่าถ้าเจ็บปาก เด็กก็จะไม่ค่อยยอมกินอาหารหรือน้ำเนื่องจากเจ็บปาก เมื่อกินไม่ได้จะเกิดภาวะขาดน้ำ เพราะฉะนั้น อาจจะให้ยาตามอาการ เช่น ยาที่บรรเทาอาการเจ็บแผลในปาก ถ้ามีไข้ก็ให้ยาลดไข้
ไข้หวัดใหญ่ ก็รักษาตามอาการเช่นกัน หากมีไข้กินยาลดไข้ หรือมีอาการไอ น้ำมูก ยาละลายเสมหะช่วยลดอาการไอและเสมหะที่สะสมอยู่ในหลอดลม หากคัดจมูกหรือมีน้ำมูกเยอะ ควรล้างจมูก นอกจากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ เหมือนกลุ่ม RSV มักพบในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี อาจจะมีอาการรุนแรงลงปอดได้ และอาจมีภาวะหลอดลมอักเสบ หลอดลมตีบ ปอดอักเสบร่วมด้วย หากมีอาการลักษณะนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ บางรายอาการรุนแรง มีการใช้ยาเพื่อพ่นขยายหลอดลม ควรดูแลระบบทางเดินหายใจ
ส่วนโรคไข้เลือดออกก็เป็นไวรัสเหมือนกัน รักษาตามอาการ เมื่อมีไข้ให้กินยาลดไข้ ข้อควรระวัง คือ ไข้เลือดออกมีโอกาสที่เลือดจะออกได้ง่าย เพราะฉะนั้น ยาลดไข้ แนะนำให้กินเฉพาะยาพาราเซตามอล หลีกเลี่ยงกลุ่มแอสไพริน ยาลดไข้สูง กลุ่มไอบูโพรเฟน อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า ส่งผลให้เลือดออกมากขึ้น คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองคือ หากเด็กมีอาการเป็นไข้ และไข้สูงลอยตลอด ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุของไข้
การเกิดโรคหรือเหตุการณ์การระบาดของโรคต่าง ๆ สามารถค้นหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ การอัพเดทข้อมูลข่าวสาร ในช่วงนี้มีโรคอะไรระบาด ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดตามฤดูกาลโดยเฉพาะหน้าฝน หน้าหนาว โรคระบาดทางระบบทางเดินหายใจค่อนข้างระบาดง่ายในช่วงนี้ ถ้าเป็นหน้าร้อนจะมีความเสี่ยงต่ออาการท้องเสีย ท้องร่วง และการสร้างนิสัยในการดูแลสุขอนามัยที่ดีในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการป้องกันโรคต่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ. พรชนก วันทนากร                       สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตรโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
รวบรวมข้อมูล : งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป ม.มหิดล
โฆษณา