22 ก.ค. 2022 เวลา 09:28 • ข่าวรอบโลก
มีเก้าอี้ว่าง 1 ตัวเสมอ
เก้าอี้ทั้ง 26 ตัวในห้องเรียนชั้นมัธยมต้นของคุณครูแดน จิลล์ มีเด็กนักเรียนนั่งเต็มทุกตัว ยกเว้นตัวหนึ่งที่เขาจะเว้นไว้ให้ว่างเสมอ
ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา คุณครูสังคมศึกษาคนนี้ จะเก็บเก้าอี้ว่างเผื่อเอาไว้หนึ่งตัวที่มุมข้างหน้าในชั้นเรียนของเขา ซึ่งคุณครูแดนบอกว่ามันคือตัวแทนความทรงจำในวัยเด็กของเขา คุณครูแดนบอกว่า ความทรงจำนี้ไม่เพียงทำให้เขาอยากเป็นครู แต่มันยังหล่อหลอมต่อวิธีการสอนของเขาในทุกวันนี้อีกด้วย
คุณครูแดน วัย 75 ปีบอกว่า “เก้าอี้ตัวที่ว่างเป็นเหมือนสัญลักษณ์บอกว่า เรามีที่ว่างสำหรับทุกคนเสมอ” เขาเคยพูดถึงโรงเรียนเกลนฟิลด์ที่เขาสอนอยู่ว่า เป็นโรงเรียนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและสีผิว
ตอนที่ดช.แดนมีอายุเพียง 9 ขวบ เขาและเพื่อนชื่ออาร์ชี่ ชอว์ ได้ไปงานวันเกิดเพื่อนอีกคนหนึ่งด้วยกัน ในเมืองนิวยอร์คที่พวกเขาอาศัยอยู่ เมื่อไปถึง พวกเขาเคาะประตูบ้าน คุณแม่ของเพื่อนเป็นคนเปิดประตู และหล่อนมองสำรวจอาร์ชี่ ซึ่งเป็นเด็กผู้ชายผิวดำ เธอบอกให้แดนเข้าไปได้ และบอกว่าอาร์ชี่ต้องกลับบ้านไปก่อน เพราะ “มีเก้าอี้ไม่พอ”
คุณครูแดนยังจำคำพูดของแม่เพื่อนได้อยู่เลย “ผมยังจำสีหน้าเธอได้อยู่เลย” คุณครูแดนยังบอกอีกว่า เขาบอกคุณแม่เพื่อนไปว่า เขานั่งกับพื้นก็ได้ แล้วให้อาร์ชี่นั่งที่ของผม แต่คุณแม่เพื่อนก็ยืนยันว่า “ไม่ได้นะ เธอไม่เข้าใจ เรามีเก้าอี้ไม่พอจริงๆ”
คุณครูแดนบอกว่า “นั่นเป็นตอนที่ผมเอะใจ ผมรู้เลยว่าเธอตัดสินอาร์ชี่จากสีผิวของเขา” ถึงแม้ว่าในตอนนั้นเขายังเป็นเด็กอยู่ แต่เขาก็สัมผัสได้ถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงที่มีการเริ่มต้นของกลุ่มเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชนต่างๆ “ผมรู้สึกเศร้ามาก เพราะว่าอาร์ชี่ต้องรู้สึกอับอาย” คุณครูแดนเล่าต่อ “ผมกับอาร์ชี่ให้ของขวัญกับเธอ และผมก็บอกว่า เราจะไปบ้านผมกัน ที่บ้านผมมีเก้าอี้เยอะแยะมากมาย”
เมื่อมาย้อนคิดเพื่อทำความเข้าใจ หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น คุณครูแดนคิดว่าคุณแม่ของเพื่อนคนนั้น คงไม่รุ้ว่าลูกชายของเธอ ได้เชิญเขากับอาร์ชี่ไปงานวันเกิดที่บ้านของเขา คุณครูแดนบอกว่า “แต่ถึงจะรู้ เธอก็คงไม่อนุญาตอยู่ดี”
ในตอนนั้น เด็กชายทั้งคู่รู้สึกสับสนและเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และทั้งคู่ก็ร้องไห้เมื่อไปถึงบ้านดช.แดน คุณแม่ของเขาจึงได้พาทั้งคู่ออกไปกินไอศครีมกัน
เมื่อทั้งคู่โตขึ้น และต่างมีวิถีทางของตน คุณครูแดนก็ไม่ได้เจอกับอาร์ชี่อีกเลย (ในยุคนั้นไม่มีอินเตอร์เน็ต) แต่เหตุการณ์ในวันนั้นทิ้งบาดแผลในใจของคุณครูแดน และส่งอิทธิพลให้เขาอยากเป็นครูหรือนักการศึกษา คุณครูแดนบอกว่า “เมื่อมองย้อนกลับไปในตอนนี้ ผมคิดว่านี่เป็นเหตุผลที่ผมอยากช่วยเด็กๆ” คุณครูแดนพยายามจะเป็นตัวอย่างในทางที่ดี “พฤติกรรมแย่ๆของเด็ก มาจากผู้ใหญ่ และพฤติกรรมดีๆของเด็ก ก็มาจากผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน”
ตั้งแต่ที่คุณครูแดนเริ่มสอนหนังสือเมื่อ 52 ปีที่แล้ว คุณครูแดนได้สร้างธรรมเนียมปฏิบัติของเขาขึ้นมาเอง โดยในวันครบรอบวันเกิดมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ คุณครูแดนจะเล่าเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในครั้งนั้นให้นักเรียนของแกฟัง เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของวันเกิดมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ในฐานะบุคคลธรรมดา และวิธีที่ควรปฏิบัติ เมื่อเผชิญสถานการณ์เหยียดสีผิว”
และเมื่อทักษะการสอนของคุณครูแดนเริ่มแก่กล้าขึ้น เขาพบว่า “เด็กๆเรียนรู้ได้ดีมาก ผ่านอุปมาอุปไมยหรือการเปรียบเปรย” ดังนั้น เขาจึงได้ตัดสินใจเพิ่มเก้าอี้ว่าง 1 ตัวไว้ในห้องเรียน และทำอย่างนั้นมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ คุณครูแดนที่สอนนักเรียนชั้น ม.1 – ม.3 บอกว่า “มันเป็นอุปกรณ์ที่ได้ผลดีมาก” เก้าอี้ได้กลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของโอกาส ของการยินดีต้อนรับ และการปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพ ตลอดระยะเวลาหลายปี เก้าอี้ตัวนี้และเรื่องราวเบื้องหลังของมัน ได้สะท้อนก้องกังวานไปพร้อมเด็กๆ
เคยมีเด็กนักเรียนคนหนึ่งสั่งทำจี้ห้อยคอเป็นรูปเก้าอี้ นักเรียนอีกคนหนึ่งบอกว่า “เด็กๆ ม.1 เข้าใจข้อความที่เรื่องราวนี้ต้องการบอกได้ และเป็นครั้งแรกที่ทำให้พวกเราเข้าใจว่าใครได้รับสิทธิพิเศษและใครไม่ได้รับ” แม็กกี้ ฮอว์น เด็กนักเรียนอีกคนบอก และเธอบอกว่า เด็กๆได้พูดคุยเรื่องนี้ด้วยกันบ่อยๆ เพราะเรื่องนี้มีพลังมากๆสำหรับพวกเราทุกคน
“มันช่วยให้หนูเข้าใจเรื่องความคิดของการเป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่าง และเด็กทุกคนควรได้รับรู้ความรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งนั้น ซึ่งหนูคิดว่าเด็กทุกคนสมควรได้รับสิทธิพิเศษนั้นอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ควรมีใครได้รับการยกเว้นเลยแม้แต่คนเดียว”
ท่ามกลางปัญหาเรื่องการเหยียดสีผิวที่ยังคงเกิดขึ้นในทุกวันนี้ เธอบอกว่า “หนูจะคิดถึงเรื่องเก้าอี้ที่คุณครูแดนเล่าให้พวกเราฟัง มันยังคงใช้ได้ในทุกวันนี้” ซึ่งคุณครูแดนก็บอกว่า “ทุกครั้งที่เด็กๆกลับมาเยี่ยมเขา และบอกว่ายังจำเรื่องที่คุณครูเล่าให้ฟังได้ มันคือรางวัลที่ยิ่งใหญ่สำหรับผม” เอมิลี แม็กคาร์ธี่ ปัจจุบันอายุ 25 ปีแล้ว เป็นลูกศิษย์อีกคนหนึ่งที่บอกว่า “เมื่อหนูนึกถึงสิ่งที่คุณครูแดนเคยสอน เรื่องเก้าอี้จะเป็นเรื่องแรกที่หนูนึกถึงเสมอ”
ฝ่ายบริหารฯในโรงเรียนเองก็บอกว่า คุณครูแดนเป็นแรงบันดาลใจและเป็นกำลังสำคัญ ที่ทำให้ชุมชนประสบผลในการกำจัดเรื่องการเหยียดสีผิว คุณครูแดนมักได้รับเชิญให้พูดเรื่องนี้ ในการประชุมรวมของโรงเรียน และเขายังเป็นกำลังสำคัญในการริเริ่มการให้ความรู้แก่ชุมชนในเรื่องนี้อีกด้วย “เรื่องเก้าอี้เป็นปรัชญาการสอนที่ถูกรวมเข้าไปในการสอน และทำให้แน่ใจว่าทุกคนรู้สึกได้ว่า พวกเขามีพื้นที่ยืนและมีคุณค่าอย่างเท่าเทียมกันทุกคน” เอริคก้า เพียซ คุณครูใหญ่กล่าว
เอมิลี แม็กคาร์ธี ลูกศิษย์ที่แวะกลับไปเยี่ยมเยียนรร•บ่อยๆ, เทรซี่ วูลฟ์สัน คุณครูที่รร., แจ็ค เมอร์ฟี่ อดีตนักเรียนที่แวะไปเยี่ยม และคุณครูแดน จิลล์
ถึงตอนนี้ คุณครูแดนได้รับโอกาสให้เล่าเรื่องของเขาแก่ผู้ฟังในวงกว้างมากขึ้นไปอีก เพราะเดือนที่แล้ว คุณครูแดนเพิ่งชนะการประกวดเล่าเรื่องหนึ่งนาที ที่เทศกาลหนังสือมงแคลร์ ซึ่งเขาไม่ได้ตั้งใจเข้าร่วมประกวด แต่มาเปลี่ยนใจในนาทีสุดท้าย และนั่นนำเขาไปสู่การได้เซ็นต์สัญญาพิมพ์หนังสือเด็กที่เขาเขียนขึ้นมาเอง ชื่อเรื่อง “No More Chairs” หรือ “ไม่มีเก้าอี้เหลือ” คุณครูแดนบอกว่าชัยชนะในครั้งนี้มัน “เหลือเขื่อจริงๆ” เพราะความคิดในการเขียนหนังสือในเรื่องเก้าอี้นี้ มันซุกซ่อนอยู่ในใจเขามานานเหมือนกัน
ในขณะนี้ เนื้อหาในเรื่องเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว และคุณครูแดนกำลังขัดเกลาสำนวนและภาษากับบรรณาธิการอยู่ รวมทั้งกำลังมองหาคนมาเขียนภาพประกอบ ซึ่งเขาหวังว่าจะสามารถตีพิมพ์ได้ภายในไม่ไม่เกินหนึ่งปีนับจากนี้ คุณครูแดนจะอุทิศการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ให้แก่อาร์ชี่ ชอว์ เพื่อนวัยเด็กของเขา ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้วนี่เอง
ทุกวันนี้ คุณครูแดนยังคงสอนเด็กนักเรียนมัธยมต้นอยุ่ แต่เขามีแพลนที่จะเกษ๊ยณในปี 2023 ที่จะถึงนี้ และเขารู้สึกดีใจมากที่ผู้คนจะได้รับรู้เรื่องราวนี้ในวงกว้างขึ้น
คุณครูแดนบอกว่า “เป็นเรื่องวิเศษที่สามารถแชร์ เรื่องราวที่มีความหมายอย่างมากนี้ และสามารถสร้างความประทับใจ รวมทั้งเป็นแรงบันดาลให้ผู้คนเปิดใจมากขึ้น”
โฆษณา