Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Work Life Win Win
•
ติดตาม
23 ก.ค. 2022 เวลา 10:41 • บ้าน & สวน
กระแสไม้ด่าง
ไม้คุณค่า หรือ ไม้ปั่นราคา ตอนที่ 1 (ใจเกษตร EP25)
กระแสไม้ด่าง
คนนอกวงการไม้ด่าง ยากที่จะเข้าใจ “ต้นไม้บ้าอะไร” แพงได้ขนาดนั้น ต้นไม้แค่ต้นเดียว ซื้อขายกันเป็นล้านบาท มีออกข่าวด้วย เสียสติไปแล้วรึเปล่า?
จากการที่ผมติดตามดูความรุ่งเรือง ช่วงราคาไม้ด่างที่ไปไกลจนถึงดวงดาว ราคานั้น คนทั่วไปไม่มีสิทธิ์จะเอื้อมถึง และก็มาถึงช่วงนี้ ที่ราคาไม้ด่างตกต่ำ ไม้ด่างหลายชนิดกลายเป็นไม้ข้างทาง (ไม่มีใครอยากได้ แต่แม่ค้าก็จะแถม)
การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา จึงมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ มีทั้งคนที่ขาดทุนติดดอย เจ็บปวดจนต้องขอลาจากวงการนี้
และอีกคนที่ปล่อยไม้ด่างได้หลายต้นในช่วงพีค แล้วรอกอบโกยทำกำไรในรอบใหม่
ผมร่างบทความนี้ไว้ตั้งแต่ปลายปีพศ.2564 ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ไม้ด่างกระแสแรงมาก ไม่รู้ว่าทิศทางจะพุ่งต่อไปทะลุออกไปนอกกาแลกซี่เลยรึเปล่า
แต่ผมเห็นไม้หลายชนิด สลับกันมาโดดเด่น เป็นที่ตามหา ของหลายๆคน พอตัวนี้ค่อยๆซาไป ก็มีไม้ตัวใหม่ เข้ามาแพงแทน
ผ่านไปแล้วหนึ่งวัฏจักร เราเห็นตลาดกระทิง(ราคาขึ้น) และเห็นตลาดหมี(ราคาตก)
ผมจึงกลับมาเขียนบทความต่อให้เสร็จ และขอแชร์ความรู้ต่างๆของไม้ด่างและไม้ใบ ที่สะสมมาจากการเข้าวงการไม้ด่าง
ก่อนนำเสนอว่า กระแสไม้ด่าง เกิดขึ้นได้อย่างไร
ผมทำความเข้าใจกันก่อนว่า ไม้ด่างมีกี่ประเภท ไม้ด่างที่เป็นกระแส คือไม้ด่างประเภทไหน
1. ด่าง Variegated
2. ด่างกรรมพันธุ์
3. ด่างเทียม
1. ด่าง Variegated คือ ไม้ด่างที่เราพูดถึงกัน
กล้วยด่าง ขอขอบคุณรูป FB: rainning fon
โดยทั่วไป ต้นไม้จะมีใบเป็นสีเขียว โอกาสน้อยมากๆที่บางต้น อาจเกิดเพียงหนึ่งในร้อย หรือหนึ่งในพันต้น ที่มีใบและก้านใบ ด่างขาว ด่างเหลือง ด่างชมพู ด่างหลายสี หรือด่างสีอื่นๆ
ด้วยลวดลายใบที่สวยแปลกๆ ไม่เหมือนใคร จึงทำให้ผู้คน นิยมและหลงไหลไม้ด่างประเภทนี้ จนกลายเป็นกระแส
2. ด่างกรรมพันธุ์
พลูราชินีหินอ่อน
เช่น พลูด่าง พลูราชินีหินอ่อน ซึ่งอาจเป็นด่าง Variegated เมื่อหลายๆสิบปีก่อน คือ ด่างเสถียรไม่กลับมาเขียวแล้ว จากนั้นมีการขยายพันธุ์ แล้วซื้อขายต่อๆกันมา จนกลายเป็นด่างโดยกรรมพันธุ์
หากจะลองค้นหาแบบที่ไม่ด่าง(เขียวล้วน) อาจต้องเข้าไปหาในป่าลึก หรือหาไม่ได้แล้ว
ด่างประเภทนี้ไม่เป็นที่นิยมนัก เพราะว่าเป็นไม้ที่หาได้ง่าย
3. ด่างเทียม
ด่างเทียม คือไม้ที่ไม่ด่าง แต่ดูเหมือนด่าง เช่น เพราะขาดปุ๋ย เพราะไฟ้ไหม้ เพราะแดดเผา เพราะโดนยาฆ่าหญ้าแบบอ่อนๆ หรือด่างเพราะเป็นโรคแมลงหรือโดนเชื้อราต่างๆ
ด่างเทียม เอาฮา
กล้วยบางชนิด ต้นอ่อนจะมีใบด่างขาว พอโตเต็มวัยใบจะเขียวล้วน มิจฉาชีพมักหลอกขายไม้ด่างเทียมให้มือใหม่ ซึ่งต้องคอยระวังไม่ให้ถูกหลอกลวง ผู้รู้หรือแอดมินในกลุ่มเฟส จะคอยเตือนนักสะสมมือใหม่ ไม่ให้ถูกหลอก
ทำไมไม้ด่าง จึงราคาแพง หรือแพงจนเป็นกระแส
ขอแบ่งสาเหตุเป็น 2 กลุ่ม
*** สาเหตุที่แพงด้วยพื้นฐาน ***
*** สาเหตุที่แพงด้วยกลไกตลาด ***
*** สาเหตุที่แพงด้วยพื้นฐาน ***
1. ไม้ด่างมีลวดลายใบที่สวยงาม แปลกตา
แต่ละใบมีลวดลายสีด่างที่ไม่ซ้ำกัน เลี้ยงไปลุ้นไป ว่าใบใหม่จะด่างสวยกว่าใบก่อนมั้ย เป็นเสน่ห์ไม้ด่างที่นักสะสมไม้ด่าง ต่างก็หลงไหลกับอารมณ์ที่แปรปรวนของนาง ใบที่ค่อยๆหงอกใหม่ให้เห็น เป็นงานศิลปะที่รังสรรค์โดยธรรมชาติ โดยมีเจ้าของไม้ คอยดูแลให้เติบโตอย่างสมบูรณ์
2. ไม้ด่างในพันธุ์ไม้หายาก
ไม้บางชนิดเป็นไม้พึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ ไม้บางชนิดพึ่งบรีซให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่สวยงามโดดเด่น(จากการผสมข้ามสายพันธุ์)
ไม้สายพันธุ์ที่หายาก ที่มีกันไม่กี่คนแม้ว่าจะไม่ด่าง ราคายังสูงหลักพันหรือหลักหมื่นบาท
แล้วถ้าเป็นสายพันธุ์หายากพร้อมด่าง variegated อีกด้วย ราคาก็สูงขึ้นเป็นร้อยเท่า ต้นเดียวอาจราคาเป็นแสน หรือเป็นล้านเลยทีเดียว
3. ไม้ด่างขยายพันธุ์ได้ยาก
ต้องเข้าใจเรื่องจริงอีกเรื่องจริงๆแล้วไม้ด่าง คือ ไม้พิการทางเม็ดเลือด โดยทั่วไปต้นไม้จะมีใบสีเขียว ที่เต็มไปด้วยคลอโรฟิลล์ เพื่อช่วยต้นไม้สังเคราะห์แสงผลิตอาหารเลี้ยงรากลำต้นกิ่งก้านและใบ แต่เมื่อใบเกิดด่าง มีความด้อยคลอโรฟิลล์ การทำหนาที่สังเคราะห์แสงจึงทำได้ไม่เต็มที่
ผลก็คือ
- โตช้า
- ขยายพันธุ์ยาก
- อาจเลิกด่างได้ (หรือหายพิการ) กลับมาเขียวเป็นปรกติ
โดยสรุป ไม้ด่าง คือไม้หายาก โตช้า ขยายพันธุ์ยาก ปล่อยให้โตเองตามธรรมชาติ คงถูกวัชพืชอื่นแย่งแดดแย่งอาหาร ไม้ด่างไม่รอดแน่ๆ ไม้ด่างจึงควรเลี้ยงในโรงเรือนหรือที่จัดสวน
*** สาเหตุที่แพงด้วยกลไกตลาด ***
ตามที่ทุกท่านทราบดี ราคาสินค้าขึ้นกับ Demand (อุปสงค์) และ Supply (อุปทาน)
เมื่อการเพราะขยายพันธุ์ไม้ด่าง ภาษาคนในวงการเรียก “ทำจำนวน” โดยเจ้าของสวนและผู้ขาย หรือเรียกว่า Supply (อุปทาน) ไม่สามารถจัดหาไม้ด่างให้ได้อย่างเพียงพอ หรือไม่ทันต่อกำลังซื้อ หรือเรียกว่า Demand (อุปสงค์) ของผู้คนที่ต้องการไม้ด่างมาครอบครอง
ลักษณะเช่นนี้ เรียก Over Demand สิ่งนี้เป็นสาเหตุหลัก ที่ทำให้ไม้ด่างแพงจนเป็นข่าวที่สร้างความฮือฮาบ่อยครั้งในช่วงนั้น
สาเหตุที่ทำให้เกิด Over Demand ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นพร้อมๆกันหลายๆสาเหตุประกอบกันไป (Combination) มีดังนี้
1. ดาราถ่ายรูปกับไม้ด่าง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ น้องญาญ่า เป็นการเพิ่ม Awareness ที่ทรงพลังมหาศาร ทำให้ผู้คนที่เกิดมาไม่เคยรู้จักไม้ด่างมาก่อนเลย เริ่มจากสนใจไม้ด่าง ต่อมาก็เกิดอยากเลี้ยง อยากมี อยากสะสม เป็นการเพิ่ม Demand เข้ามาในตลาด
ญาญ่า กับไม้ด่าง
2. New Normal พลังของโซเชียลมีเดีย สร้างกระแสได้อย่างรวดเร็ว อาจเริ่มจากคนแค่คนเดียว โพสท์ขิง(อวด) หรือตามหาไม้ด่าง เพียงไม่กี่นาทีเปลี่ยนเป็น “ความต้องการหมู่” ในกลุ่มเฟสบุ๊ค หรือกลุ่มนักสะสม แล้วเกิดโพสท์คล้ายๆลักษณะนี้ตามมาจำนวนมาก
ซึ่งจะเกิดขึ้นกับไม้ด่างหนึ่งชนิด เป็นชนิดที่ทุกคนกำลังตามหาพร้อมๆกัน จนเกิดเป็นไม้กระแส ดันราคาขึ้นยานอาวกาศ บางชนิดก็ไปถึงดาวอังคาร ไม้ชนิดเดียวกันที่ไม่ด่าง(ไม้เขียว แม่ด่าง) หรือลุ้นด่าง ก็พลอยแพงตามขึ้นไปด้วย
ปรากฏการณ์นี้ จะเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ เมื่อกระแสไม้ชนิดนี้แผ่วลง ก็จะมีไม้ด่างชนิดใหม่ สลับขึ้นมาโดดเด่น เป็นที่ต้องการของคนหมู่มากแทน ราคาไม้ชนิดใหม่ก็จะแพงขึ้น แล้วเป็นกระแสต่อมา
3. ตั้งใจสร้างให้เป็นกระแส ที่มีข่าว การซื้อขายไม้ด่างราคาเป็น 10 ล้าน หรือข่าวใช้ไม้ด่างแทนสินสอดทองหมั่น ข่าวนำโฉนดมาแลกกล้วยด่าง ฯลฯ จะเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันจริงหรือเปล่า ผมไม่ฟันธง
แต่ที่มั่นใจคือ ตั้งใจออกข่าวเพื่อสร้างกระแสไม้ด่างตัวนั้นๆ เพื่อหวังดันราคาให้ไปต่อ หรือเป็นความพยายามรักษาราคาไว้ไม่ให้ราคาตกไปมากกว่านี้ (หรือไม่อยากให้ติดดอย)
4. Lock Down เพราะวิกฤติโควิด-19 ในช่วงหนึ่ง ผู้คนไปไหนมาไหนไม่ได้ จำเป็นต้องอยู่แต่ในบ้าน บางคนอยู่คอนโด จึงตามหาต้นไม้หายาก จำพวกไม้ใบ (Foliage plant) หรือไม้ใบด่าง หรือพวกอื่นเช่น Cactus ก็มี ส่วนนี้ก็เป็นการเติม Demand เข้ามาในตลาด
5. อวด(ขิง)ไม้ด่างผ่าน Social Media เช่น อวดผ่านเฟสบุ๊ค หรือผ่าน IG เมื่อก่อน เราอวดรถหรู อวดเครื่องประดับ เมื่อต้องอยู่แต่ในบ้าน ก็อวดมุมบ้านสวยๆ อวดว่าอยู่กับไม้ด่างหายาก ชาวบ้านจะได้รู้ว่าเรามีต้นไม้แพงๆ
6. การรวมตัวของนักสะสม ผ่านกลุ่มต่างๆในเฟสบุ๊ก
ในอดีตก่อนยุคดิจิตอล การสะสมไม้ด่างก็มีมาก่อนแล้ว แต่มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน ยังอยู่ในวงจำกัด
ปัจจุบัน การแชร์ การพูดคุยกัน การแลกเปลี่ยนซื้อขาย ระหว่างสมาชิกผู้ใช้เฟสบุ๊ค ซึ่งมี Feature ให้สมาชิกผู้ใช้สามารถสร้างกลุ่มได้อย่างอิสระ โดยมีทั้งกลุ่มปิด และกลุ่มสาธารณะ(ซึ่งมีข้อจำกัดน้อยกว่า)
สิ่งนี้จึงกลายเป็นศูนย์รวมผู้คนที่รักไม้ด่าง โดยมีทั้งกลุ่มรวมไม้ด่างทุกชนิด กลุ่มไม่ด่างบางชนิด จนมีกันหลายๆสิบกลุ่ม
การรวมกลุ่มกันที่นี่ จะเพิ่มจำนวนสมาชิกในกลุ่ม เริ่มจากหลักร้อยหลักพันคน กลายเป็นเป็นหลักหมื่น กลุ่มใหญ่ๆหลายกลุ่มมีสมาชิกเป็นหลักหลายแสนคน
การเพิ่มจำนวนสมาชิกในกลุ่ม คือการเพิ่ม Demand เข้ามาในตลาด สร้างผลกระทบดันราคาให้สูงเป็นอย่างมาก
7. ความอยากรวย หรือเพื่อหารายได้
Demand ที่มาจากนักสะสมต้นไม้ หรือมาจากผู้บริโภคที่ซื้อต้นไม้เพื่อตบแต่งบ้าน ตบแต่งห้อง ตบแต่งสวน ก็เป็น Demand ที่สำคัญ
แต่ที่สร้างความฮือฮา สร้างกระแสได้มาก คือการเกร็งกำไรจากนักลงทุน ที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า ที่ซื้อไม้อนาคต ไม้ที่ราคาจะไปต่อ เพื่อขายต่อไม้ด่างได้กำไร ก็เป็นการหารายได้
เจ้าของสวน มีความชำนาญเรื่องการขยายพันธุ์ จาก 1 ต้นขยายได้ 10 ต้น แม้จะขายถูกลงหน่อย ก็ยังได้กำไรเยอะ หรือพ่อค้าแม่ค้า ก็ขยายพันธุ์ได้ ทำจำนวนอยู่ข้างบ้านตัวเอง ทำเป็นสวนขนาดเล็กได้เช่นกัน
Demand ที่มาจากความอยากรวย หรือเพื่อหารายได้ ของพ่อค้าแม่ค้า หรือเจ้าของสวน หรือเป็นทั้งคู่ในคนเดียวกัน ต่างก็ต้องการซืัอไม่ด่างอนาคตไกล ยอมลงทุนซื้อต้นไม้ด้วยราคาแสนแพงเพราะเชื่อว่าจะมีผู้ซื้อต่อและจะได้กำไร การแย่งไม้ด่างหายาก ด่างลายใหม่ที่สวยแบบไม่เคยพบมาก่อน เจ้าของสวนซื้อต้นเป็นล้านถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเขาเป็นนักลงทุน
จากที่กล่าวมา ทั้งสาเหตุที่เกิดกระแส ทำให้ไม่ด่างราคาแพงด้วยพื้นฐาน และแพงด้วยกลไกตลาด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของตลาดขาขึ้น (ตลาดกระทิง)
ก่อนจะไปถึง ไม่ด่างที่เป็นกระแสหรือเป็นที่นิยม มีอะไรกันบ้าง แล้วสถานการณ์ปัจจุบันเกิดอะไรขึ้น
เรามาดูกันก่อนว่า มีใครกันบ้างที่อยู่ในวิถีแห่งไม้ด่าง โปรดติดตามใจเกษตร ใน EP ตอนต่อไปด้วยนะครับ
ถูกใจบทความ ลองแวะชมร้านผมเองใน Lazada
https://s.lazada.co.th/s.SYOVS
หรือเยี่ยมชม FBเพจขายต้นไม้ของผม
https://www.facebook.com/jaikasetfarm/
ขอขอบคุณครับ / ใจเกษตร ฟาร์ม
2 บันทึก
4
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ใจเกษตร
2
4
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย