24 ก.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Mario Draghi จากผู้นำยุโรปฝ่าวิกฤติหนี้ สู่ภารกิจที่ไม่สำเร็จกับตำแหน่งผู้นำประเทศ
หลังจากมีข่าวความไม่ลงรอยกันมาสักพัก ในที่สุด นายมาริโอ ดรากี (Mario Draghi)
ก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศอิตาลีอย่างเป็นทางการ
การเข้ามารับตำแหน่งผู้นำประเทศของดรากีครั้งนี้
ถูกคาดหวังจากผู้คนโดยทั่วไปอย่างยิ่งว่า
เขาจะเป็นผู้นำที่มาสร้างจุดเปลี่ยนให้กับประเทศได้
หลังจากที่เศรษฐกิจขนาดอันดับ 3 ของ EU เติบโตอย่างซบเซามาอย่างยาวนาน
และก็ยังมาถูกซ้ำเติมโดยวิกฤติเศรษฐกิจอีก
ที่เขาถูกตั้งความหวังไว้สูงเช่นนั้น เพราะครั้งหนึ่ง ตัวเขาเองเคยนำเป็นหนึ่งในหัวเรือใหญ่ ในตำแหน่งประธานธนาคารกลาง ช่วยพาสหภาพยุโรปฝ่าวิกฤติหนี้มาได้
แต่แล้ว ภารกิจในฐานะผู้นำอิตาลีของเขากลับต้องถูกทิ้งไว้ที่กลางทาง
เมื่อคุณดรากีไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลอีกต่อไป...
📌 ย้อนประวัติก่อนจะก้าวมาเป็นประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ก่อนเข้ามารับตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรป ประวัติของคุณมาริโอ ดรากี
ถือว่า “ยอดเยี่ยมและครบเครื่อง”
ตั้งแต่ประวัติการศึกษา ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยโรม
และไปศึกษาต่อจนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย MIT
ด้านประวัติการทำงาน ในองค์กรรัฐและนานาชาติ เขามีโอกาสได้ทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์ มีโอกาสทำงานที่ธนาคารโลก
และก็ยังเคยทำงานเป็นผู้อำนวยการทั่วไปที่กระทรวงการคลังอิตาลีด้วย
แต่คุณดรากีไม่ได้มีบทบาทแค่ในภาคองค์กรรัฐและองค์กรระหว่างประเทศเท่านั้น
ในด้านประสบการณ์กับบริษัทเอกชนก็มีเช่นกัน
นอกจากตำแหน่งกรรมการในบอร์ดบริหารบริษัทหลายแห่งแล้ว
ตำแหน่งสำคัญที่สุดในภาคเอกชนของเขา คือ ตำแหน่งรองประธานและกรรมการผู้จัดการของวาณิชยกิจชื่อดัง อย่าง Goldman Sachs
ซึ่งที่นี่ เขามีบทบาทในการวางกลยุทธ์การลงทุนให้กับบริษัทในภาคพื้นยุโรป
หลังจากสะสมประสบการณ์อย่างครบครัน มาริโอ ดรากีได้ผันตัวเองเข้าสู่เส้นทางของธนาคารกลางอย่างเต็มตัว
เริ่มจากการเข้าไปดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งอิตาลี ในปี 2005
ซึ่งในตำแหน่งนี้ คุณดรากีก็มีโอกาสได้เป็นตัวแทนของประเทศ
ในการเข้าประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป
 
และด้วยผลงานอันโดดเด่นในช่วงนี้ และบทบาทการทำงานใกล้ชิด
กับประธานคนก่อนหน้าอย่าง Jean-Claude Trichet
3
จึงทำให้คุณดรากีถูกเสนอให้เป็นประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในปี 2011
ซึ่งเขาก็ได้รับการรับรองจาก The European Parliament
ขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญที่สุดของระบบการเงินสหภาพยุโรป (EU)
📌 บทบาทการพาสหภาพยุโรปฝ่าฝันวิกฤติหนี้ยุโรป
ในช่วงที่คุณดรากีเป็นประธาน ECB เขาเผชิญกับความท้าท้ายครั้งใหญ่ในชีวิต
ต้องพากลุ่มประเทศ EU ฝันฝ่ากับวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เรียกกันว่า
“วิกฤติหนี้ของยุโรป (European Sovereign Debt Crisis)”
ซึ่งเป็นวิกฤติส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤติการเงินโลก
ที่เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2008
ทำให้ระบบธนาคารของประเทศไอซ์แลนด์ล่มสลาย
ซึ่งก็ขยายวงส่งผลกระทบไปอีกหลายประเทศในยุโรป
ทั้งโปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน
ทำให้ประเทศเหล่านี้ ไม่สามารถที่จะจ่ายคืนหนี้ของประเทศได้
ประเทศที่มีปัญหาอย่างหนักหน่วงที่สุด คือ “ประเทศกรีซ”
ที่มีการรายงานการขาดดุลของงบประมาณต่ำกว่าความจริง
หรือคือ ประเทศพวกเขามีปริมาณหนี้มากกว่าที่รายงานออกมา
*ในช่วงนั้นหนี้ของประเทศกรีซขึ้นอยู่ในระดับสูงกว่า 170% ต่อ GDP
ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าเกณฑ์การเข้าใช้เงินยูโร ที่ระดับ 60% อย่างมาก
ทำให้ในตอนนั้น สถานะหนี้ของกรีซถูกจัดอยู่ในระดับ “Junk”
ซึ่งเป็นระดับความน่าเชื่อถือต่ำที่สุด
ซึ่งในตอนนั้น ทาง ECB ภายใต้การนำของมาริโอ ดรากี
ต้องตัดสินใจในเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่ง คือ
การให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับธนาคารของประเทศที่มีปัญหา
ซึ่งมันก็ขัดแย้งกับความตั้งใจแรกตอนสร้าง ECB ขึ้นมาว่า
ทุกประเทศที่มาเข้าร่วมต้องทำตัวเองให้แข็งแกร่ง
พร้อมรับกับวิกฤติเศรษฐกิจ ทาง ECB จะไม่มีการช่วยเหลือทางการเงิน
แต่สุดท้าย เมื่อหักลบผลได้ผลเสียกันดีแล้ว
การไม่ช่วยเหลือในตอนนั้น จะนำมาพามาซึ่งความเสียหายที่มากกว่า
พวกเขาจึงตัดสินใจผิดคำพูดตั้งแต่ตอนก่อตั้ง
ความเสียหายอย่างรุนแรงที่ว่านี้ จะเกิดมาจากการขาดความเชื่อมั่นในสกุลเงินยูโร
ที่เมื่อประเทศจำนวนมากในสหภาพยุโรปมาร่วมหัวจมท้ายกันแล้ว
วิกฤติของคนหนึ่งก็จะกลายเป็นวิกฤติของคนอื่นๆ ไปด้วย
ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นราคาที่ประเทศที่สมัครเข้าร่วมใช้เงินยูโร พึ่งจะมาเข้าใจอย่างถ่องแท้ในตอนวิกฤติครั้งนี้นั่นเอง
อย่างไรก็ดี บทบาทของคุณดรากีในวิกฤตินี้มีความสำคัญมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศอื่นว่า
กลุ่มประเทศ EU จะสามารถฟันฝ่าปัญหาไปได้อย่างแน่นอน
มีสุนทรพจน์หนึ่งที่เขาให้ไว้เมื่อปี 2012 มีใจความสำคัญตอนหนึ่ง
ที่ถูกยกย่องว่า เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ยอดเยี่ยม
และแสดงถึงความจริงจังต่อการจัดการความเชื่อมั่นสกุลเงินยูโรของ ECB
โดยคุณดรากีกล่าวไว้ว่า
“ECB ยอมทำทุกสิ่งทุกอย่าง (whatever it takes) เพื่อปกป้องเงินยูโร”
และหลังจากนั้น เงินยูโรก็เข้าสู่ช่วงที่ได้รับความเชื่อใจจากทุกคนมากขึ้นมาจริงๆ
📌 ภารกิจที่ยังไม่สำเร็จในฐานะผู้นำอิตาลี
หลังจากครบวาระการเป็นประธานธนาคารกลางในปี 2019
คุณดรากีก็ว่างเว้นจากงานด้านนโยบายได้ไม่นาน
แต่ในครั้งนี้ ไม่ใช่งานของสหภาพยุโรปใหญ่ เป็นงานนายกฯ อิตาลี
ในปี 2021 คุณดรากีได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกฯ อิตาลี
เนื่องจากประเทศกำลังเข้าสู่วิกฤติหลังจากเจอการระบาดของโควิด
หันซ้ายแลขวา สถานการณ์ยากลำบาก คนที่ถูกเลือกมาต้องเก่งมาก
ตำแหน่งก็เลยมาตกที่คุณดรากี
ซึ่งจากผลงานการทำงานที่ยอดเยี่ยม ก็นำมาซึ่งความคาดหวังที่สูง
แต่ในช่วงแรก คุณดรากีก็ได้รับคำชมเป็นส่วนมาก
พาอิตาลีฟื้นจากวิกฤติโควิดได้ดีพอสมควร
อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ คือ “แผนปฏิรูปประเทศ (Reform Plan)”
โครงการที่จัดทำเพื่อขอเงินสนับสนุนจาก EU ประมาณ 200 ล้านยูโร
ซึ่งหากผ่านออกมาอย่างสมบูรณ์ จะผูกมัดทุกรัฐบาลอิตาลี
ที่เข้ามาหลังคุณดรากีจนถึงปี 2026 เลย
โดยโครงการปฏิรูปนี้ มีการวางเป้าหมายปรับโครงสร้างประเทศหลายด้าน
ที่น่าสนใจ คือ “การปฏิรูปกฎหมายให้ทันสมัย และเอื้อต่อการลงทุน”
ซึ่งถ้าทำรายละเอียดโครงการไม่ดีพอ ทาง EU ก็จะไม่ให้เงินช่วยเหลือ
ทำให้โครงการนี้ เป็นความหวังว่า อาจจะช่วยสร้างการเติบโต
ในระยะยาวของประเทศอิตาลี ที่เติบโตอย่างซบเซามายาวนาน
แต่แล้ว ในช่วงนี้ เมื่อยุโรปเกิดวิกฤติเงินเฟ้อ
อิตาลี ตกที่นั่งลำบากเพราะ ECB ต้องขึ้นดอกเบี้ยจัดการเงินเฟ้อ
อิตาลีที่มีหนี้อยู่ในระดับสูง ก็อาจจะมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้
ปัญหาต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรครัฐบาล
ไม่ให้ความไว้วางใจคุณดรากีต่อไป
จนนำมาซึ่งการประกาศลาออกถึง 2 ครั้ง (ครั้งแรกการลาออกไม่ได้รับการอนุมัติ)
ซึ่งก็เกิดขึ้นตอนที่แผนปฏิรูปของเขายังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์
สุดท้ายนี้ ขอฝากคำคมของคุณดรากีในเรื่องการเติบโตของประเทศ
ที่สะท้อนถึงแนวคิดเบื้องหลังแผนปฏิรูปของเขาอย่างดี ว่า
"มีแต่การเพิ่มศักยภาพการผลิตเท่านั้น ที่จะนำพา
พวกเราสู่ความเจริญรุ่งเรือง"
(Productivity growth is the only possible way to achieve prosperity.)
Mario Draghi
1
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา