24 ก.ค. 2022 เวลา 03:48 • ความคิดเห็น
มาหา Flow state ของตัวเองกันเถอะ
1
เคยมีความรู้สึกแบบนี้มั้ยครับ ความรู้สึกเวลาทำอะไรซักอย่างแล้วอินกับมันสุดๆจนไม่มีอะไรดูจะสำคัญนอกจากสิ่งที่เราอินอยู่ เราจะลืมเวลาไปหมด จนลืมปัญหาหรือความทุกข์ที่มี ไม่มีความคิดเหลือให้คิดอะไรอย่างอื่นนอกจากงานที่ทำอยู่ตรงหน้า เวลาก็ดูเหมือนบิดเบี้ยวไปหมด ตอนทำสิ่งนั้นอยู่มันก็จะมีความฟิน ความปิติ เงยหน้ามาอีกทีก็ผ่านไปหลายชั่วโมง ลืมเวลากินเวลานอนไปเลย
7
เป็นความรู้สึกที่อาจจะหายไปนานตั้งแต่มีโลกแห่ง smartphone social media โลกที่ทำให้เราดูแต่โทรศัพท์ ทำงานหลายอย่างพร้อมกันจนสมาธิแตกซ่าน ไม่สามารถโฟกัสกับอะไรได้ยาวๆมานานมาก
1
ความรู้สึกแบบนั้น คุณ mihaly csikszentmihalyi เรียกว่าสภาวะลื่นไหล (flow) …
คุณมิฮาลี่ เป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ศึกษาและเขียนหนังสือในเรื่องสภาวะลื่นไหล (flow) โดยเริ่มต้นจากการตั้งคำถามเรื่องความสุข (happiness) แล้วนำไปสู่งานวิจัยอย่างต่อเนื่อง คุณมิฮาลี่ พบข้อเท็จจริงข้อหนึ่งว่าโดยปกติคนส่วนใหญ่จะมีไอเดียว่าถ้าเรามีบ้านใหญ่ขึ้น รถแพงขึ้น มีเงินมากขึ้น ความสุขจะมากขึ้นด้วย แต่ในความเป็นจริงทางสถิติแล้วในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา รายได้เฉลี่ยของคนสูงขึ้นกว่าสามเท่าแต่ความสุขไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย
3
ถ้าเรามีสตางค์มากพอที่จะไม่เดือดร้อนจากปัจจัยสี่แล้ว หลังจากนั้นการซื้อบ้านใหญ่ขึ้น ใช้เงินกับวัตถุเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้มีผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อความสุขในใจเท่าใดนัก
1
คุณมิฮาลี่ พบแนวทางอีกด้านของความรู้สึก “สุข” จากการเปลี่ยนสภาวะการรับรู้ (change contents of consciousness)จากภายในโดยที่ไม่เกี่ยวอะไรกับปัจจัยภายนอกเลย ซึ่งวิธีหนึ่งที่มนุษย์จะพบกับสภาวะปิตินั้นได้ คุณมิฮาลี่เรียกว่า flow โดยอธิบายว่าเป็นสภาวะที่เราดำดิ่งไปกับกิจกรรมบางอย่างจนอย่างอื่นรอบตัวไม่มีความหมาย ใจที่จดจ่อนั้นเกิดสมาธิขั้นสูงจนไม่ได้คิดถึงอดีตหรืออนาคตใดๆ ความรู้สึกมีตัวตนหายไป ไม่มีเวลาอยู่ในหัว ซึ่งถ้าใครเคยมีความรู้สึกนี้ก็จะรู้ว่าเป็นความรู้สึกที่เจ๋งที่สุดที่เคยมีเลยทีเดียว
17
คงมีใครเคยเจอความรู้สึกแบบนี้ต่างกรรมต่างวาระกันไป นักเขียนโปรแกรมที่มีช่วงเข้าฝัก เขียนจนลืมวันลืมคืน คุณครูสอนหนังสือ นักเขียนนิยาย จิตรกรวาดรูป น้องๆที่ตัดหนังตัดคลิปวีดีโอยูทูป วิทยากรบรรยายเวลามีผู้ฟังที่ตอบสนองดีๆ หรือแม้แต่การทำงานปกติที่สนุกมากๆที่ยิ่งทำยิ่งมันส์ คุณมิฮาลี่บรรยายถึงนักแต่งเพลงที่เล่าถึงสภาวะ flow ในการแต่งเพลงที่ไหลลื่นจนไม่รู้สึกการดำรงอยู่ของตัวตน มือที่เขียนนั้นไหลไปเอง โน้ตเพลงก็เกิดขึ้นมาเองจนเหมือนสมองไม่ได้บังคับมือให้เขียนเลยด้วยซ้ำ
3
หรือกวีคนหนึ่งก็บรรยายภาวะแบบนี้ว่าเหมือนกับเปิดประตูแล้วตัวลอยไปลอยมาอยู่ในอากาศ หรือนักสเก็ตน้ำแข็งเคยเล่าความรู้สึกว่าเหมือนไม่อยากหยุด เพราะทุกอย่างไปได้ดีเหลือเกิน ตอนสเก็ตเหมือนมีเสียงดนตรีแต่ก็จะผสานรวมจนไม่รู้สึกว่าได้ยินเสียงเพลงแยกเลย
1
ความรู้สึกปิติอย่างเข้มข้นกับการที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและทำได้ดี อยู่กับงานตรงหน้าจนไม่ได้คิดถึงเรื่องบ้าๆบอๆไร้สาระ ความทุกข์ที่ค้างในหัวก่อนหน้า ไม่ได้มีเวลาเสียใจกับเมื่อวานและเครียดกับเรื่องของวันพรุ่งนี้ เป็นสมาธิที่เกิดในช่วงความลื่นไหล ….นั่นคือ flow
3
Flow diagram จะประกอบด้วย ความเข้มข้นของความท้าทายในงาน กับความสามารถหรือทักษะที่มี ถ้าเราเจอความท้าทายเจองานยากแต่ทักษะเราต่ำ ก็จะเกิดความรู้สึกกังวลว่าจะทำได้ไม่ดี (anxiety) แต่ถ้าเรามีความสามารถแต่งานไม่ท้าทายก็จะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย แต่ถ้ามีสองอย่างพร้อมกัน เราก็จะเริ่มเกิด flow และถ้ายิ่งท้าทาย ยิ่งทำได้ดี ยิ่งท้าทายขึ้น สภาวะ flow ก็จะบังเกิดจนถึงความรู้สึกปิติ (ecstasy) ได้
7
ผมคิดว่าผมเคยเจอสภาวะลื่นไหล (flow) นี้อยู่หลายครั้ง การเขียนบทความก็เป็น flow state ของผม ตอนที่เขียนหนังสือเล่มแรก ผมเขียนในช่วงสงกรานต์ของปี 2007 เขียนแบบลืมวันลืมคืน ลืมกินข้าวจนเขียนจบ หรือบางช่วงที่ทำงานแล้วสนุกมากๆก็มีสภาวะอย่างนั้นอยู่เหมือนกัน
1
ในมุมบริษัทนั้น mckinsey บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกเคยตีพิมพ์งานวิจัยส่วนหนึ่งไว้ว่า “ ต้นทุนค่าเสียโอกาสนั้นใหญ่มากในการทำงาน งานวิจัยส่วนใหญ่บอกว่าพนักงานบริษัทนั้นทำงานแบบ in the zone น้อยกว่า 10% ของเวลาทั้งหมด แต่ถ้าพนักงานแค่มีสมาธิแล้วอยู่ใน flow แค่ 20% ของเวลางานทั้งหมด productivity โดยรวมก็เพิ่มเท่าหนึ่งเลยทีเดียว”
4
……แล้วเราจะสามารถสร้างสภาวะลื่นไหลในที่ทำงานได้อย่างไร
มีผู้สรุปหลัก 4 ข้อจากหนังสือที่คุณ mihaly เขียนเรื่อง flow : the psychology of optimal experience ไว้ ซึ่งหลัก 4 ข้อนี้สามารถใช้ในการทำให้งานน่าเบื่อ งานประจำวัน กลายเป็นงานที่น่าทำได้ โดยสามารถเกิดสภาวะลื่นไหล ดำดิ่งในงานที่ทำ โดย flow มีองค์ประกอบสำคัญคือ
3
  • Focus
คุณ mihaly ศึกษาเรื่องนี้เป็นเวลาหลายสิบปี โดยความรู้สึก flow นั้นจะเกิดจากการมีสมาธิต่อสิ่งที่ทำอย่างแรงกล้าจนไม่เหลือความสนใจให้สิ่งอื่นอีกเลย อยู่เฉพาะปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งนอกจากความสนใจในงานแล้ว การที่พยายามตัด distraction ที่ทำให้เสียสมาธิออกไปก็มีส่วนช่วยอย่างมาก เช่นการเก็บมือถือ ปิด notification หรือบางคนชอบใส่หูฟังแบบตัดเสียงรบกวน เรื่องการมีสมาธินั้นคงมีการฝึกหลายอย่างที่ทำให้เรามีทักษะในการมีใจจดใจจ่อกับงานตรงหน้าได้ เช่นการฝึกนั่งสมาธิ เป็นต้น
  • Freedom
ถ้าเราอยู่ในบทสนทนากับเพื่อนรู้ใจ คุยเรื่องที่เรารู้จริง แป๊บเดียวก็สองชั่วโมง แต่ถ้าเรานั่งอยู่ในห้องสัมภาษณ์งาน สิบนาทีก็รู้สึกนานมาก เนื่องเพราะตอนที่เรารู้สึกผ่อนคลายเราจะไม่รู้สึกครอบงำโดยเวลาเหมือนตอนที่เราต้องระวังตัวตลอดเวลา คุณ mihaly บอกว่าในช่วง flow stage นั้นจะไม่มีที่ว่างสำหรับความกังวลเรื่องตัวเอง กลัวทำผิด ระวังตัวตลอดเวลา นักปีนเขาคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าตอนก่อนจะปีนเขานั้น ความคิด อีโก้นั้นปนเปในหัวอยู่บ้าง
4
แต่พอเริ่มปีนแล้ว มันเหมือนกับอีโก้นั้นจะหายไป ทุกอย่างเป็นไปอย่างอัตโนมัติ เหมือน zen like stage ปาฏิหารย์ของไมเคิล จอร์แดน เวลา in the zone ในช่วงท้ายๆของเกมส์ตัดสินของการแข่งขัน nba ก็เป็นตัวอย่างที่ดี การผ่อนคลายในช่วงสำคัญแบบนั้นเกิดจากการเชื่อใจทุกคนในสนามและไม่ได้กังวลถึงโอกาสผิดพลาดแม้แต่น้อย การฝึกฝนในเรื่องความเชื่อมั่นในตัวเอง ลดความกลัวลง ก็เป็นทักษะอย่างหนึ่งในการเข้าถึง flow เช่นกัน
5
  • Feedback
ความรู้สึกมีส่วนร่วม (engagement) และได้ผลสะท้อนของสิ่งที่ทำตลอดเวลาว่ามาถูกทางและใกล้เป้าหมายแล้วหรือไม่เป็นหัวใจสำคัญส่วนหนึ่งของความรู้สึกลื่นไหล คุณ mihaly บอกว่านักเทนนิส เซียนหมากรุก นักปีนเขา ต่างรู้ว่าทุกการกระทำ ทุก play ที่เล่นนั้นดีหรือไม่ดี รุกคืบใกล้เป้าหมายมากขึ้นหรือไม่ ในมุมมองของการทำงาน การที่หัวหน้างานให้ feedback กับทีมตลอดเวลาหรือบ่อยเท่าที่จะบ่อยได้นั้นจึงจำเป็นมากในการสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมและตื่นตัวกับคนทำงาน
3
  • Four percent challenge
1
คุณ steven kotler ผู้เขียนหนังสือ the rise of superman และเป็นผู้ที่ศึกษาเรื่อง flow อย่างลึกซึ้งบอกว่า ถ้าเราอยากจะกระตุ้นความรู้สึกลื่นไหลดำดิ่งในงานที่ทำนั้น การตั้งความท้าทายที่เป็นเป้าหมายควรจะอยู่ที่ประมาณ 4% ที่สูงกว่าทักษะปัจจุบัน ถ้าเราจะเล่นหมากรุกก็ควรจะแข่งกับคนที่เก่งกว่าเรานิดหน่อย ประมาณ 4% เพราะเป็นเป้าหมายที่เอื้อมถึง ในขณะเดียวกันก็ท้าทายพอที่จะให้เราทุ่มเทและมีโอกาสชนะได้ ถ้าเราเล่นกับเซียนระดับโลกไปเลย เราก็จะท้อ หรือถ้าเล่นกว่าคนห่วยกว่าก็จะไม่เกิดความท้าทายใดๆ
3
ในการทำงานก็เช่นกัน ถ้าเราตั้งเป้าให้สูงกว่าเดิมนิดหน่อย ยากกว่าที่เคยทำนิดนึง เราก็จะมีโอกาสตื่นเต้นและท้าทายตัวเองที่จะเข้าสู่สภาวะลื่นไหลได้ วิธีหนึ่งที่ทำได้ง่ายๆคือลดเวลาที่เคยทำงานอะไรซักชิ้นลงนิดนึง เคยปิดบัญชีภายใน 30 วันก็เหลือ 29 วัน เคยรับสายลูกค้าได้สิบคนในหนึ่งชั่วโมงก็พยายามลดเหลือห้าสิบนาที ลองท้าทายตัวเองดู
1
ซึ่งหลักสี่ข้อนี้ ถ้าลองไปปรับใช้ในงานที่เราทำอยู่ การจดจ่อใส่ใจงานที่อยู่ตรงหน้า พยายามไม่กลัวผิด ไม่คิดเรื่องพลาด แล้วหาทาง feedback ถี่ๆให้ตัวเองถึงความคืบหน้า ปรับเป้าหมายให้ยากขึ้นไปเกินความสามารถปกติของเรานิดนึง โอกาสที่จะเข้า flow period ก็อาจจะเกิดขึ้นได้
1
ลองคิดถึงพ่อครัวที่อยากจะทำอาหารให้ถูกปากถูกใจลูกค้าที่สุด สร้างงานที่ดีที่สุด โดยเริ่มจากมีใจจดใจจ่ออยู่กับการปรุงอาหารตรงหน้า ลืมเรื่องกำไรขาดทุน ลืมเรื่องเจ้าหน้าที่จะมาตรวจพรุ่งนี้ไปชั่วขณะ ไม่กลัวที่จะลองอะไรใหม่ๆ แล้วพอทำจานต่อจานแล้วก็สังเกตุปฏิกริยาของลูกค้า แล้วปรับแก้อย่างต่อเนื่อง พร้อมตั้งเป้าจากที่ปกติวันนึงมีคนชมว่าอร่อยสิบคน พรุ่งนี้จะต้องทำให้ได้สิบเอ็ดคนให้ได้ …พ่อครัวคนนั้นเวลาทำอาหารก็น่าจะมีความรู้สึกลื่นไหล ดำดิ่ง และมีความสุขในการทำงานที่เกิดจาก flow ได้อย่างไม่ยากนัก
1
ซึ่งพื้นที่ความรู้สึกลื่นไหลดำดิ่งนั้น เป็นพื้นที่พิเศษที่อยู่ระหว่างความกระวนกระวายใจว่าจะทำไม่ได้ (anxiety) กับความน่าเบื่อ (boredom) ที่เรียกว่า flow นั่นเอง….
1
ลองหยุดไถติ๊กต่อก เลิกท่องไปตามกรุ๊ปไลน์ วางมือถือลงซะบ้าง disconnect ตัวเองจากโลกที่สับสน แล้วหาทาง reconnect กับตัวเองด้วยการหาสภาวะลื่นไหล (flow) จากสิ่งที่เราเคยชอบหรืออยากทำกันดูไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตหรือเรื่องงาน บางทีเราอาจจะกลับไปค้นพบความรู้สึกดีๆที่ถูกโซเชียลมีเดียขโมยไปและหายไปนานใน flow state นั้นก็เป็นได้นะครับ
3
โฆษณา