24 ก.ค. 2022 เวลา 14:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
จากประสบการณ์การอบรมในภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม พบปัญหาหนึ่งที่คนใช้งานเครื่องมือวัดมีความสับสนและยังไม่เข้าใจอยู่เสมอ นั้นคือ “หน่วยการวัด” เราพบว่านักเรียนหลายคนที่เรียนระดับอาชีวศึกษาหรือพนักงานในโรงงานบางคนยังเขียนหน่วยวัดไม่ถูกต้อง ในบทความนี้เราจะมาสอน 6 เทคนิคที่ต้องใช้ในการเขียนหน่วยวัดที่ถูกต้องกันนะครับ
ระบบหน่วยพื้นฐานที่ใช้ในปัจจุบันเราเรียกว่า “ระบบเอสไอ (SI Unit)” ย่อมาจากคำว่า “The International System of Units” เป็นระบบการวัดแบบเมตริก ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อระบบการวัดทางวิทยาศาสตร์และเป็นที่ยอมรับทางการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก โดยหน่วยพื้นฐานในระบบเอสไอ (SI Base Unit) ประกอบไปด้วย 7 หน่วย พื้นฐาน ดังนี้
1.มวล (mass) หน่วยเป็น กิโลกรัม (kilogram, kg)
2.ความยาว (length) หน่วยเป็น เมตร (metre, m)
3.เวลา (time) หน่วยเป็น วินาที (second, s)
4.กระแสไฟฟ้า (electric current) หน่วยเป็น แอมแปร์ (ampere, A)
5.อุณหภูมิอุณหพลวัต (thermodynamic temperature) หน่วยเป็น เคลวิน (kelvin, K)
6.ความเข้มของการส่องสว่าง (luminous intensity) หน่วยเป็น แคนเดลา (candela, cd)
7.ปริมาณสาร (amount of substant) หน่วยเป็น โมล (mole, mol)
เทคนิคแรกของการเขียนหน่วยวันที่ถูกต้องจะต้องเขียนด้วยตัวพิมพ์เล็กตัวตรง ตัวอย่างเช่น
ความยาว มีหน่วยเป็นเมตร (meter) ใช้สัญลักษณ์ m
มวล มีหน่วยเป็นกิโลกรัม (kilogram) ใช้สัญลักษณ์ kg
เวลา มีหน่วยเป็นวินาที (second) ใช้สัญลักษณ์ s
ปริมาณสาร มีหน่วยเป็นโมล (mole) ใช้สัญลักษณ์ mol
ยกเว้นสัญลักษณ์ที่ย่อมาจากชื่อบุคคล ให้ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ ตัวอย่างเช่น
กระแสไฟฟ้า มีหน่วยเป็นแอมแปร์ (Ampere) ใช้สัญลักษณ์ A
อุณหภูมิ มีหน่วยเป็นเคลวิน (Kelvin) ใช้สัญลักษณ์ K
เทคนิคที่ 2 ซึ่งพบว่าเขียนกันผิดมากคือ การใส่จุด หรือเครื่องหมายมหัพภาค (.) ต่อท้าย เพราะสัญลักษณ์หน่วยจะถือว่ามีความหมายเชิงคณิตศาสตร์ไม่ใช่ตัวย่อ ดังนั้นจึงไม่ต้องลงท้ายด้วยเครื่องหมายมหัพภาค (.) ยกเว้นกรณีที่สัญลักษณ์หน่วยนั้นลงท้ายประโยคในการเขียนภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเช่น การเขียนที่ถูกต้อง 10 mm การเขียนที่ไม่ถูกต้อง 10 mm.
เทคนิคที่ 3 สัญลักษณ์ของหน่วยที่ได้มาจากการคูณกันของหน่วยสองหน่วยจะเชื่อมกันด้วยจุดกลาง (ไม่ใช่จุดล่าง) หรือเว้นวรรคโดยไม่แยกบรรทัด ตัวอย่างเช่น N·m หรือ N m
เทคนิคที่ 4 สัญลักษณ์ของหน่วยที่ได้มาจากการหารกันจะเชื่อมกันด้วยเครื่องหมายทับ (/) หรือยกกำลังด้วยเลขติดลบ โดยให้ใช้เครื่องหมายทับได้เพียงครั้งเดียว
เทคนิคที่ 5 ไม่ควรใช้คำย่อต่าง ๆ แทนสัญลักษณ์ของหน่วยหรือชื่อหน่วย ตัวอย่างเช่น
ไม่ควรใช้ sec แทน s หรือ second
ไม่ควรใช้ mins แทน min หรือ minutes
ไม่ควรใช้ lit แทน L หรือ liter
เทคนิคที่ 6 การเขียนคำนำหน้าหน่วยต้องไม่มีช่องว่างระหว่างสัญลักษณ์ของหน่วย ตัวอย่างเช่น เซนติเมตร เป็น cm ไม่ใช่ c m
ที่มาจากวารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ ปีที่ 60 ฉบับที่ 189
โฆษณา