27 ก.ค. 2022 เวลา 00:34 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สุขสุดสับสน
คนเราอยากมีความสุขด้วยกันทั้งนั้น จริงไหมครับ?
แต่ความสุขคืออะไรกันแน่?
การสำรวจที่เรียกว่า General Social Survey ของสหรัฐฯ ในปี 2006 ให้ผลการสำรวจที่ชวนพิศวงดังในตารางต่อไปนี้
หากดูในภาพรวม กลุ่ม “มีความสุขมาก” รวมกับกลุ่ม “มีความสุข” จะเพิ่มขึ้นตามรายได้
แต่หากดูเฉพาะกลุ่มที่ระบุว่าตัวเอง “มีความสุข” แล้ว แม้แต่กลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด ก็ยังมีมากกว่าครึ่งที่ระบุว่า ตัวเอง “มีความสุข” ดีแล้ว
ดังนั้น จะเห็นได้ชัดว่ารายได้ต่อครอบครัวที่เพิ่มขึ้น มีผลไปลดจำนวนคนในกลุ่มที่ระบุว่าตัวเอง “ไม่มีความสุข” เป็นหลัก
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งโดยทีมของ The London School of Economics ที่ตีพิมพ์ในปี 2003 ก็น่าสนใจครับ
เพราะพบว่าแม้รายได้ของคนอเมริกันจากปี 1946–1996 จะเพิ่มขึ้นตลอดก็ตาม (เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ราว 3 เท่าของตั้งต้น)
แต่สัดส่วนคนที่ระบุว่าตนเองมี “ความสุขมาก” กลับแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย อันที่จริง มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยตลอดช่วงครึ่งศตวรรษดังกล่าวด้วยซ้ำไป!
การสำรวจในทำนองเดียวกันกับคนอังกฤษ เมื่อเทียบกับทศวรรษ 1950 ก็ได้ผลคล้ายๆ กัน
ทำไมคนในยุคที่ทุกอย่างดูจะสะดวกสบายมากขึ้น จึงกลับมีความสุขลดลงไปได้?
เราอาจเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีขึ้น หากดูจากงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทำในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ ค.ศ. 1978
การวิจัยนี้ศึกษาระดับความสุขของคนที่ถูกล็อตเตอรีรางวัลใหญ่กับคนที่ประสบอุบัติเหตุกระดูกสันหลัง ซึ่งเหตุการณ์ทั้งคู่ต่างก็ส่งผลอย่างทันทีทันใดและอย่างลึกซึ้งแก่คนเหล่านั้น
แต่หากให้คนเหล่านั้นประเมินระดับความสุขของตน
ผลการศึกษากลับระบุว่าเพียงปีเดียวให้หลังจากเหตุการณ์ คนในทั้ง 2 กลุ่มจะกลับมามีระดับของความสุขเท่าๆ กับก่อนหน้าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้น
ความสุขจึงเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ และไม่ว่าดีหรือร้าย คนเราจะปรับตัวเข้าสู่จุดของระดับความสุขระดับเดิมๆ ของตนหลังจากผ่านช่วงระยะเวลาหนึ่ง
Photo by christian buehner on Unsplash
ถ้าที่เล่าไปแล้วยังประหลาดไม่พอ
ฟังเรื่องนี้ครับ ... มีงานวิจัยที่ถามกลุ่มตัวอย่างว่า หากคนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกับคนอื่นๆ ที่รายได้เท่าๆ กัน และให้เลือกได้อย่างใดอย่างหนึ่งคือ
(1) ให้คุณได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น แต่คนรอบข้างของคุณได้รับเงินเดือนเพิ่มมากกว่าคุณหนึ่งเท่าตัว
หรือ (2) ให้คุณถูกลดเงินเดือน แต่เพื่อนบ้านของคุณจะโดนลดเงินเดือนมากกว่าคุณหนึ่งเท่าตัว
ผลหรือครับ? กลุ่มตัวอย่างเลือกตอบข้อ (2) มากกว่าข้อ (1) ครับ !!!
ครับ ... ความสุขของบางคนก็เป็นเรื่องสัมพัทธ์ที่ต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนรอบข้าง ช่างเป็นความสุขที่เปราะบางจริงๆ ... ว่างั้นไหมครับ? บางคนถึงกับว่าเราอยู่ในยุคที่คนป่วยเป็น “โรคสุขยาก แต่ทุกข์ง่าย” กันมาก !!!
เวลาที่เรามีความสุข เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเราบ้าง?
ร่างกายเราจะหลั่งสารแห่งความสุขออกมาครับ ซึ่งอาจมีได้หลายชนิด เช่น เซโรโตนิน (serotonin) ซึ่งหลั่งออกมาในอีกหลายช่วงเวลาด้วย เช่น ขณะเผชิญภัยและออกกำลังกาย
ดังนั้น จึงน่าแปลกใจที่คนบางคนชอบทำกิจกรรมเสี่ยงๆ
สารอีกชนิดหนึ่งที่พบมากในคนมีความสุขก็คือ เอนดอร์ฟิน (endorphin) ซึ่งพบสารนี้มากขณะที่อยู่ในอารมณ์หรรษา เช่น ขณะร่วมวงเฮฮากับเพื่อนฝูง ขณะออกกำลังกายไปพักใหญ่
และแม้แต่ขณะบาดเจ็บ เพราะสารนี้สร้างขึ้นตามธรรมชาติเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด (ประสิทธิภาพดีกว่ามอร์ฟีน)
มีงานวิจัยใหม่เอี่ยมอ่องตีพิมพ์ออกมาในปีนี้เองที่วารสาร Journal of Human Genetics ระบุว่า คนเรา (บางคน) อาจสุขยากสุขง่ายโดยปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือ ได้รับยีนชื่อ 5-HTT แบบพิเศษมาจากพ่อและแม่
โดยหากเป็นยีนแบบที่ลักษณะยาวกว่า ก็จะเป็นคน “สุขง่าย” กว่าคนที่มียีนนี้แบบที่สั้นกว่า
พูดง่ายๆ ว่า บางคนได้สิทธิพิเศษเกิดมาเพื่อมีโอกาส “สุขง่าย” กว่าบางคนนั่นเอง!
ผมขอปิดท้ายด้วย “อันตราย” จากความสุข แต่ เอ่อ ... ไม่ใช่ครับ ไม่ได้หมายถึงกรณีของ “การตายคาอก” นะครับ แต่ก็ใกล้เคียงกันนิดหน่อย ;-) เป็นเรื่องของงานวิจัยเก่าแก่แต่มีชื่อเสียงเมื่อ 50 ปีที่แล้วพอดิบพอดี
ทีมนักวิจัยชาวแคนาดาค้นพบโดยบังเอิญว่า หากส่งกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ไปกระตุ้นตรงสมองส่วนไฮโปธาลามัส (hypothalamus) ของหนู ซึ่งปกติทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ความหิวอาหาร และความกระหายน้ำ
จะทำให้หนูเหล่านี้รู้สึกสุขอย่างรุนแรงยิ่งยวด ราวกับเพิ่งเสร็จสมอารมณ์หมายทางเพศอย่างสุดๆ
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทีมนี้ทำแท่นกด ที่อาจเรียกว่า “แท่นกดหรรษา” ให้หนูเหล่านี้กด เพื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าไปที่สมองส่วนดังกล่าวได้เอง
ผลก็คือ ... บรรดาหนูเหล่านั้นต่างยกเลิกกิจกรรมทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการดื่ม การกิน การนอน หรือแม้แต่การร่วมเพศกับหนูด้วยกัน
แต่หนูพวกนั้นจะวนเวียนอยู่กับการกดแท่นดังกล่าวอย่างบ้าคลั่งราวกับเสียสติ หรือราวกับผู้ป่วยที่ติดสารเสพติดอย่างหนัก จนต้องเสพอย่างไม่หวาดหวั่นว่าจะต้องตาย เพราะสารเสพติดนั้น
ความสุขจึงเป็นอันตรายได้ ไม่ต่างจากความทุกข์ หากติดหรือแม้แต่หาก ... ไม่อยู่ในระดับพอเหมาะพอสม!
บทความนี้อยู่ในหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน
โฆษณา