Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
1 ส.ค. 2022 เวลา 00:02 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
อยากลืมกลับจำ
เราทุกคนคงตระหนักดีกับเรื่องที่บ่อยครั้งที่เราอยากจะจำเรื่องอะไรให้แม่นยำ เช่น เมื่อยามท่องหนังสือ ก็ดูเหมือนจะยากเย็นแสนเข็ญ
ในทางตรงกันข้าม ครั้นเราอยากจะลืมเรื่องราวหลายๆ เรื่อง ก็กลับจำฝังใจและลืมเลือนได้ลำบากลำบนเสียเหลือเกิน
แต่ว่าเรื่องร้ายๆ ที่เราจำได้นั้น เราจำได้ “ถูกต้อง” หรือ “แม่นยำ” เพียงใดกัน ?
ผู้ที่เสนอทฤษฎีที่ว่าความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาสำคัญ อันส่งผลกระทบกระเทือนจิตใจอย่างแรง และทำให้เราจำเหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างเที่ยงตรงและแจ่มชัดไปในทุกรายละเอียด ราวกับเป็น “ภาพถ่าย” ที่ติดตรึงแน่นอยู่ในความทรงจำในปี ค.ศ. 1977 ก็คือ โรเจอร์ บราวน์ (Roger Brown) และเจมส์ คูลิค (James Kulik)
ทั้งคู่ใช้ศัพท์เรียกความทรงจำดังกล่าวว่าเป็น “ความทรงจำแบบหลอดไฟแฟลช (Flashbulb Memory)”
Photo by Jen Theodore on Unsplash
โดยทั้งคู่ศึกษาผู้คนจำนวนมาก ถึงความทรงจำเมื่อ 14 ปีก่อนหน้านั้น คือในวันที่ 22 พฤศจิกายน 1963 ซึ่งเป็นวันที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ถูกลอบสังหาร แล้วพบว่าแต่ละคนสามารถจดจำได้อย่างแม่นยำ ทั้งเรื่องในขณะนั้นตนอยู่ที่ใดและทำอะไรอยู่
แต่ “ความทรงจำแบบหลอดไฟแฟลช” เป็นเรื่องจริงน่ะหรือ ?
Photo by History in HD on Unsplash
เรื่องนี้ยากพิสูจน์ เพราะยากจะหาเหตุการณ์เทียบเคียงกันได้กับกรณีการลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีเคนเนดี้ดังกล่าว
อีกทั้งยากที่นักวิจัยจะโน้มน้าวใจให้ผู้คนอยากเล่าเหตุการณ์ชวนสะเทือนใจซ้ำ และยากที่จะตรวจสอบความแม่นยำของความทรงจำในช่วงดังกล่าวอีกด้วย
จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์การก่อการร้ายครั้งประวัติศาสตร์ในวันที่ 11 กันยายน 2001
ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวยอร์คที่นำโดย เอลิซาเบธ เฟลพ์ส (Elizabeth Phelps) และ ทาลิ ชาโรท์ (Tali Sharot) กับทีมวิจัยอีกหลายทีม จึงได้โอกาสทดสอบทฤษฎีดังกล่าว
พวกเขาศึกษาโดยอาศัยแบบสำรวจชาวอเมริกันมากกว่า 3,000 คนที่กระจายอยู่ใน 7 เมือง รวมทั้งมหานครนิวยอร์ค
การสำรวจครั้งแรกทำในระยะเวลาสองถึงสามวันหลังเหตุการณ์ จากนั้น ยังได้ทำการสำรวจซ้ำอีกในราว 1 ปี และ 3 ปีให้หลัง
ข้อสรุปที่พวกเขาได้ก็คือ 11 เดือนหลังเหตุการณ์ คนราว 60% ยังจำรายละเอียดเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง
แต่ตัวเลขลดลงมาเหลือ 50%
เมื่อเวลาผ่านไปเป็น 35 เดือนหลังเหตุการณ์ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า ไม่มีปรากฏการณ์ความทรงจำแบบหลอดไฟแฟลชอยู่จริง
เพราะรายละเอียดความทรงจำไม่ได้แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ แต่อย่างใด แม้ว่าแต่ละคนจดจำภาพในวันนั้นได้อย่างแจ่มชัดก็ตาม
Photo by Lerone Pieters on Unsplash
อีกทีมวิจัยที่มหาวิทยาลัยอริโซนาในเมืองทัสคอน (University of Arizona in Tuscon) นำโดย แพทริค เดวิดสัน (Patrick Davidson) ที่ศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุที่สมองส่วนหน้าเสียหายและจำเรื่องส่วนตัวต่างๆ ได้ไม่ดี กลับพบว่าคนกลุ่มนี้จำเหตุการณ์ได้ดีไม่แพ้คนหนุ่มสาวเช่นกัน
ย้อนกลับมาที่งานวิจัยของกลุ่ม ดร.เฟลพ์ส อีกครั้ง พวกเขาใช้เทคนิคที่เรียกกันว่า เอฟเอ็มอาร์ไอ (fMRI, Functional Magnetic Resonance Imaging) ซึ่งทำงานโดยอาศัยการสร้างภาพจากสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ
โดยสามารถประยุกต์ใช้ตรวจวัดระดับการเปลี่ยนแปลงของการไหลเวียนเลือดเฉพาะจุดได้ จึงทำให้สามารถเชื่อมโยงกับตำแหน่งของสมองที่ทำงานอยู่ในขณะนั้นได้ นอกจากนี้ยังแสดงผลการทำงานให้เห็นได้แบบทันทีอีกด้วย
พวกเขาพบว่าในบรรดาผู้ที่เข้าร่วมการศึกษานี้ ผลการสแกนการทำงานของสมองพบว่า ยิ่งผู้นั้นอยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางที่เกิดเหตุที่เรียกว่า กราวน์ดซีโร่ (Ground Zero) หรือจุด “ศูนย์ราบทาบธรณี” มากเท่าใด ก็จะมีการทำงานของสมองส่วนที่เรียกว่า อะมิกดาลา (Amygdala) เพิ่มมากขึ้นไปด้วยเท่านั้น
สมองส่วนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจว่าจะ ลุยหรือหลบ (fight of flight) ซึ่งจะทำงานขณะที่เราอยู่ในภาวะคับขัน ในขณะที่กลุ่มคนซึ่งอยู่ห่างออกไป สมองส่วนนี้จะไม่มีการทำงานเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ
หน้าที่อีกอย่างหนึ่งของสมองส่วนอะมิกดาลาก็คือ การตอบสนองแบบอัตโนมัติต่ออันตราย เช่น ระบบที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งฮอร์โมนพลังช้างสารอย่าง อะดรีนาลิน (adrenalin) ซึ่งทำให้คนเราสามารถทำเรื่องเหลือเชื่อ
ดังเช่นการยกตุ่มใบโตๆ วิ่งลิ่วไปในยามบ้านเรือนเกิดไฟไหม้ เป็นต้น
ดังนั้น การที่เพียงระลึกถึงเหตุการณ์ แต่สมองส่วนดังกล่าวก็ยังทำงานไปด้วย จึงแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เพียงแต่ “ดึง” เอาภาพเหตุการณ์ออกมาเท่านั้น แต่ยังได้ดึงเอาประสบการณ์ทางอารมณ์ ในภาวะหวาดกลัวต่ออันตรายหรือความตายออกมาด้วย
จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ที่อยู่ใกล้จุดศูนย์ราบทาบธรณี มักจะอดน้ำไหลไม่ได้แทบทุกครั้งที่เอ่ยถึงเรื่องนี้
ข้อสรุปอีกข้อหนึ่งที่กลุ่มของเฟลพ์สได้ก็คือ เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า แม้ว่าความทรงจำเรื่องสถานที่ของกลุ่มที่สำรวจ จะแม่นยำในราว 80%
แต่ระดับความทรงจำเรื่องอารมณ์ความรู้สึกในขณะนั้นกลับลดลงไปเหลือที่เพียง 40%
กล่าวสรุปโดยรวมก็คือ เรื่องที่เราจะจำได้ดีมากกว่าปกติก็คือ เรื่องที่สะเทือนใจเรามากๆ หรืออาจจะเกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย
เพราะมีกลไกที่เกี่ยวข้องกับสมองส่วนพิเศษซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง และอายุไม่ได้มีผลให้ความจำเรื่องเลวร้ายลดน้อยด้อยไปกว่าวัยหนุ่มสาว
แต่กระนั้นเมื่อวันเวลาผ่านไป ความทรงจำนั้นๆ ก็จะค่อยๆ เลือนไป นี่อาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เราผ่านพ้นเรื่องร้ายๆ ในชีวิต ... ก็เป็นได้
ดังนั้น เรื่องประเภท “อยากลืม กลับจำ” จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเป็น ... เช่นนั้นเอง !
บทความนี้รวมอยู่ในหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน
จิตวิทยา
ทำไม
ลืม
บันทึก
2
3
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย