25 ก.ค. 2022 เวลา 05:04 • ธุรกิจ
💀📉ทำไม Startup ส่วนใหญ่ถึงล้มเหลว?
════════════════
การทำธุรกิจในรูปแบบ Startup น่าจะเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของใครหลายคนที่ต้องการเริ่มต้นสร้าง หรือออกแบบธุรกิจอะไรบางอย่างของตัวเอง โดยเฉพาะในยุคนี้ที่เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญต่อชีวิตเราจนจะเป็นแทบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปแล้ว
💡เพื่อให้เห็นภาพ หลายคนคงจะเคยได้ยินซีรีส์เกาหลีอย่าง Startup ที่น่าจะสร้างความประทับใจ และแรงขับเคลื่อนให้กับคนที่ดูไม่น้อยเกี่ยวกับการทำธุรกิจรูปแบบนี้ นับตั้งแต่การได้ไอเดีย สร้างบริษัท ความท้าทาย ความเป็นอิสระ ที่ซีรีส์สื่อออกมาได้ดีไม่น้อยเลย จึงไม่แปลกที่คนอยากลาออกจากงานที่ทำอยู่ เพื่อมาเป็น “นัมโดซาน” แบบในเรื่อง
แต่ในความจริงแล้วการทำ Startup ไม่ได้ง่าย และสวยงามแบบนั้นเลยแม้แต่น้อย โดยข้อมูลเชิงสถิติจากหลายแหล่งบ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่า “Startup กว่า 90 เปอร์เซ็นนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่า” ซึ่งสาเหตุความล้มเหลวมาจากอะไร หากกล่าวในเชิงรายละเอียด ก็จะแตกต่างกันไปตามแต่โปรเจกต์ และอุตสาหกรรมที่ทำ
👉“แต่สิ่งที่จะเหมือนกันไม่เปลี่ยน คือ กระบวนการ (How To) ถ้าเราใช้กระบวนการผิดแต่แรก หากจะแก้อาจหมายถึงต้องเริ่มใหม่หมดก็เป็นได้”
หนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “all in startup” ของคุณ Diana Kander ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการทำ startup ในรูปแบบของนิยายเอาไว้อย่างน่าติดตาม โดยสรุปออกมาเป็นเนื้อความสำคัญถึงสาเหตุที่ผู้ประกอบการที่ทำ Startup มักจะล้มเหลว ซึ่งนั่นก็คือ “ไอเดียของพวกเขา พอทำเป็นของแล้วไม่มีคนซื้อ!”
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดผลดังกล่าว ในหนังสือได้กล่าวไปที่ปัญหาด้านกระบวนการของพวกเขาที่มักจะติดกับวังวนแห่งความสิ้นหวัง โดยกระบวนการแห่งความสิ้นหวังดังกล่าวมีรูปแบบดังนี้
- คิดและปิ๊งไอเดีย
- สร้าง Product
- สร้าง Brand
- หาลูกค้า
- (หาลูกค้าไม่ได้) วนกลับไปข้อ 1 อีกครั้ง❌
สังเกตได้ว่ากระบวนการนี้จะถูกวนซ้ำไม่รู้จบ ถ้าเราหาลูกค้าไม่ได้ ซึ่งเป็นข้อกังวลที่ใหญ่ที่สุดของการสร้างธุรกิจ และไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน เพราะไอเดียนั้นเป็นสิ่งที่มีราคาถูก เมื่อไม่มีกระบวนการที่จะสร้างให้เกิด และเป็นที่ต้องการได้อย่างชัดเจน แต่กระบวนการสร้าง Product รวมถึง Brand จำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์จำนวนมากเพื่อผลิต จัดจำหน่าย และโปรโมททำการตลาดเพื่อให้เป็นที่รู้จักของคนหมู่มาก
หากมุ่งสร้าง Product และ Brand ก่อนจะพิสูจน์ว่าไอเดียของเรามันมีคนพร้อมจะใช้บริการ หรือซื้อมัน ผลลัพธ์มักจะเป็นแบบกระบวนการข้างต้น วนกลับไปคิดหาไอเดียใหม่ หรือซ่อมไอเดียเดิมจนกว่าจะหาลุกค้าได้ แต่ก่อนจะมาถึงลูกค้า ก็ผลิตและสร้างสิ่งที่ไม่มีคนจะซื้อไปตลอดทาง เสียเวลาไม่พอ ยังค่อยๆ เสียทุนทรัพย์ไปอีกด้วย
📌แต่สำหรับผู้ประกอบการที่สามารถอยู่รอดในธุรกิจได้ หรือมีประสบการณ์มาสักระยะหนึ่ง จะปรับวิธีการจากด้านบนเพียงเล็กน้อย ดังนี้
- คิดและปิ๊งไอเดีย
- หาลูกค้า
- (หาลูกค้าไม่ได้) กลับไปข้อ 1
- สร้าง Brand
- สร้าง Product✅
ซึ่งวิธีการดังกล่าวปรับเพียงนิดเดียว แต่กลับสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างได้ดีเกินคาด เมื่อเรามีไอเดียจะทำธุรกิจ สิ่งที่เราควรโฟกัสไม่ใช่การทำ Product และสร้าง Brand แต่เป็นการพิสูจน์ว่าไอเดียของเรามีลูกค้าพร้อมจะซื้อต่างหาก เพราะหากผิดพลาด คุณแค่เสียเวลาไม่มาก
เพื่อระดมความคิดใหม่ แก้ไขไอเดียนั้นให้ตรงกับปัญหาที่ลูกค้าในอนาคตของเราประสบอยู่ และเมื่อเราพบกลุ่มที่จะมาเป็นลูกค้าของไอเดียเราชัดเจนมากขึ้น จะช่วยการันตีได้ว่า Product ของเราจะเป็นที่ต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้แน่ อีกทั้งยังหมายความว่าธุรกิจของเราสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างแท้จริง
👉บทสรุปจากหนังสือ “all in startup” คือ เราควรให้ความสำคัญกับการพิสูจน์ไอเดียของเราว่ามีคนอยากใช้ อยากจะซื้อมันจริงๆ มากกว่าการมุ่งสร้างไอเดียให้เกิดเป็น Product แล้วค่อยไปหาลูกค้า แต่สุดท้ายกลับไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เพราะสิ่งที่พวกลูกค้าทุกคนจะซื้อ ไม่ใช่ของที่เราคิดว่าดีจากไอเดียเรา แต่พวกเขาซื้อโซลูชันที่ Product นั้นมอบให้
“ถ้าไอเดียเราไม่ได้แก้ปัญหาอะไรแก่ลูกค้า ยังไงก็ไม่มีคนซื้อ ผู้ประกอบการที่ดีควรทำตัวเป็นนักสืบ ที่ต้องสืบให้เราว่าลูกค้าของเรามีปัญหาอะไร แล้วไอเดียเราแก้ปัญหาอะไรให้เขาได้ไหม เพราะผู้ประกอบการที่ไปได้ดีในธุรกิจจากไอเดียของพวกเขา ล้วนแต่เป็น นักสร้างโชค ไม่ใช่ นักเสี่ยงโชค แล้วคุณล่ะ เป็นผู้ประกอบการแบบไหน ?”
บทความโดย บีม ชานน จรัสสุทธิกุล
ผู้ร่วมก่อตั้ง และ CEO ของ Forward - Decentralized Derivatives Platform และ Forward Labs - Blockchain technology labs
Facebook แฟนเพจ Beam Chanon
โฆษณา