25 ก.ค. 2022 เวลา 15:01 • ความคิดเห็น
มีเงินมากขึ้นไม่ได้นำไปสู่อิสรภาพทางการเงิน...เสมอไป
“อิสรภาพทางการเงิน”
เมื่อเอ่ยคำนี้ภาพฝันในหัวของหลาย ๆ คนคงไม่พ้นไลฟสไตล์ที่สุขสบาย ทานอาหารหรู เดินทางท่องเที่ยวโลกกว้าง ใส่แว่นตาดำนอนอาบแดดจิบค็อกเทลไหมไทยบนชายทะเลมัลดีฟ เงินในบัญชีมีเหลือเฟือใช้ไปทั้งชีวิตก็ไม่หมด
เมื่อพูดถึงอิสรภาพทางการเงิน คนจะคิดเลยว่า
- ‘ต้องมีเงินเดือนเท่าไหร่ถึงจะมีอิสรภาพทางการเงิน? แสนหนึ่ง สองแสน ห้าแสน?’
- ‘เงินเก็บแค่ไหนถึงจะเกษียณได้สบาย ๆ ใช้ชีวิตแบบที่ต้องการได้?’
- ‘มีเงิน 10 ล้านตอนอายุ 45 ถือว่าพอไหมนะที่จะเกษียณตอนนี้เลย?’
ต้องบอกก่อนว่าการมีเป้าหมายในการเก็บเงินนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่มันไม่มีประโยชน์เลยถ้าเราลืมไปว่า ‘ทำไม’ เราถึงอยากมีอิสรภาพทางการเงินตั้งแต่แรก
2
เราเห็นคนที่ประสบความสำเร็จมากมายออกมาโพสต์บนโซเชียลมีเดียถึงไลฟสไตล์หรูหราชวนฝัน ขับรถหรู มีบ้านใหญ่โต ทำงานเป็นเจ้าคนนายคน ซื้อของแบรนด์เนมตลอดเวลา เดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ปาร์ตี้บนเรือยอร์ช ฯลฯ
แน่นอนว่าเมื่อคุณอยู่ในนั้นมันหลีกเลี่ยงที่จะไม่ดูคงไม่ได้หรอก การเข้าไปส่องมันเป็นเรื่องปกติแหละ แต่มันอันตรายมากถ้าเราเข้าไปเสพบ่อย ๆ จนตกอยู่ในวังวนของการ ‘ต้องมี’ ที่ไม่รู้จักจบสิ้น มันเป็นสังคมของการหาเงินให้มากขึ้นเพื่อจะได้ใช้มากขึ้น
ในหนังเรื่องใหม่ของ นิโคลัส เคจ (Nicholas Cage) นักแสดงฮอลลีวู้ดมากความสามารถเรื่อง ‘The Unbearable Weight of Massive Talent’ ที่เขาเล่นเป็นตัวเอง นักแสดงที่มีเงินมากมายแล้วก็ใช้มันจนหมด จนเขาต้องรับงานแปลกเพื่อหาเงินมาจ่ายหนี้สิ้นที่เต็มไปหมด ได้มาล้าน จ่ายสองล้าน ได้สิบล้าน จ่ายยี่สิบล้าน...
ใช่ครับ...มีคนแบบนี้อยู่จริง ๆ เราอาจจะคิดว่าเราไม่เป็นแบบนั้นหรอก แต่บางทีเราก็ติดกับดักความคิดของการ ‘หามาได้เยอะ ก็ใช้เยอะขึ้นอีกหน่อย’ อย่างไม่ทันรู้ตัว มีคนมากมายในโลกนี้ที่เงินเดือนหลักแสนหลักล้านแต่รู้สึกว่าตัวเอง ‘มีไม่พอ’ ไม่เท่าคนอื่น
ในอเมริกามีการทำแบบสำรวจกับประชากรกลุ่ม Gen Y (Millennials คนที่เกิดช่วงปี 1980 - 1996 ซึ่งก็คือกลุ่มคนวัยกลางคนที่เป็นก้อนแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในเวลานี้) พบว่ากว่า 38% ของคนที่มีรายได้มากกว่า 1 แสนเหรียญต่อปี (3.5 ล้านบาท) รู้สึกว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกลางเท่านั้น
ที่จริงแล้วมีคำเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘HENRY’ ที่มาจากคำว่า ‘High Earner, Not Rich Yet’ หรือแปลว่า ‘คนรายได้สูงแต่ยังไม่รวย’ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะอาศัยอยู่ในเมืองหลวงใหญ่ ๆ และมีไลฟสไตล์ที่คล้าย ๆ กันคือมีบ้านที่ต้องผ่อนระยะยาว มีรถที่ต้องผ่อนอีกหลายปี เดินทางต่างประเทศบ่อยครั้ง เป็นสมาชิกยิมหรู ดินเนอร์ราคาแพง สินค้าแบรนด์เนม ฯลฯ
1
ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร นิโคลัส เคจ, Henry หรือคนที่ทำงานได้เงินเดือนค่าเฉลี่ยทั่วไป ถ้าเมื่อไหร่ที่ไลฟสไตล์ของคุณต้องใช้เงินมากกว่าที่คุณหาได้ หาเงินมากเท่าไหร่ก็ไม่พอ สุดท้ายก็ต้องทำงานงก ๆ เพื่อจะให้ไลฟสไตล์ที่คุณต้องการดำเนินต่อไปเรื่อยๆ
แล้วพอใช้ชีวิตแบบนั้นปุ๊บก็เสพติดชีวิตที่สุขสบาย ยิ่งมีเงินมาก มันก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าอยากใช้มากขึ้น เหมือนภาพมายาเข้าใจว่าเรามีอิสระมากขึ้น แม้ในใจลึก ๆ เรารู้ว่าเงินตรงนี้ที่หามาได้ควรเก็บเอาไว้เพื่ออนาคต แต่ก็รู้สึกว่าเดี๋ยวเดือนหน้าก็หามาได้ค่อยเก็บละกัน เดือนนี้ขอใช้ก่อน สุดท้ายเราก็รู้ดีว่ามันจะจบยังไง
1
มีเงินมากขึ้นไม่ได้นำไปสู่อิสรภาพทางการเงิน...เสมอไป
หาเงินได้เยอะขึ้น ส่วนใหญ่มาพร้อมความกดดันที่มากขึ้น ลูกค้าที่มากขึ้น ความรับผิดชอบที่มากขึ้น ไม่ได้บอกว่าชีวิตไม่ควรเติบโต แต่เราทุกคนทราบดีว่าเงินต้องแลกมาด้วยอะไร อาจจะเป็นเวลาที่ได้อยู่กับครอบครัว ความสุขของตัวเอง การได้ใช้เวลากับสิ่งที่รัก ยิ่งอยากหาเงินให้ได้เยอะ ๆ ยิ่งต้องใช้พลังงานและเวลาเพื่อแลกมาด้วย
แน่นอนว่าคงไม่มีใครที่อยากเป็นหนี้หรือวิ่งไล่ตามเงินไปตลอดชีวิต นั่นคือเหตุผลว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงอยากจะหาเงินได้เยอะ ๆ เพื่อจะมีอิสรภาพทางการเงิน จะได้ไม่ต้องกังวลถึงวันพรุ่งนี้
ความเข้าใจเกี่ยวกับอิสรภาพทางการเงินถูกบิดเบือนไปในสังคมปัจจุบัน มันถูกทำให้เป็นภาพของไลฟสไตล์ที่หรูหราซึ่งที่จริงแล้วอิสรภาพทางการเงินไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น คำว่าอิสรภาพทางการเงินก็คือไลฟสไตล์การใช้ชีวิตแบบที่คุณมีความสุข โดยมีอิสระที่จะทำงานอะไรก็ได้ กับใครก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ใช่การหาเงินให้ได้เยอะ ๆ แล้วจำเป็นต้องทำงานที่ตัวเองเกลียด กับคนที่ตัวเองไม่ชอบ อยู่ตลอดเวลา
2
อิสรภาพทางการเงินของแต่ละคนไม่เท่ากัน แล้วแต่วิถีชีวิตและไลฟสไตล์ของแต่ละคน
1
ถามว่าทุกคนทำได้ไหม ความยากง่ายแตกต่างกันออกไป แต่ทำได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะมีความสุขกับไลฟสไตล์แบบนั้นไหม ถ้าคุณบอกว่าต้องกินหรู เที่ยวเมืองนอกทุกเดือน ต้องมีของแบรนด์เนม บ้านใหญ่ ๆ รถหรู ๆ ก็อาจจะยากหน่อย หามาได้เงินมากขึ้นก็อาจจะไม่ไปถึงอิสรภาพทางการเงินที่ต้องการ
อาจจะกลับมาถามตัวเองว่า ‘ทำไม’ เราถึงอยากมีอิสรภาพทางการเงินหล่ะ? มันต้องมีเงินมากขนาดไหน ความสุขของเราคืออะไร สิ่งที่เรารักคืออะไร?
2
ตราบใดที่เรายังตอบคำถามนี้ไม่ได้ ไม่ว่ามีเงินเท่าไหร่เราก็อาจจะไม่มีความสุขหรืออิสระเลยก็ได้
1
อ้างอิง
ช่องทางติดตามบทความเพิ่มเติม
The People, Beartai, The Matter, CapitalRead, 101.World, GQ, a day Bulletin : สามารถค้นหาชื่อ ‘โสภณ ศุภมั่งมี’ ได้เลยครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา