26 ก.ค. 2022 เวลา 02:00 • ครอบครัว & เด็ก
#การนอนกับส่วนสูง
#นอนหลับไม่สนิทแล้วลูกจเตี้ยไหม
Growth Hormone หรือฮอร์โมนเจริญเติบโต หลั่งตอนสี่ทุ่ม ดังนั้นเด็กควรนอนหัวค่ำให้ได้ เพื่อให้ growth hormone หลั่งได้ดี… คุณพ่อคุณแม่เคยได้ยินคำพูดเหล่านี้ไหมครับ … ถ้าเคยคุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมครับว่า นี่ Growth Hormone หรือธงที่ขึ้นสู่ยอดเสา ตรงเวลาจัง 555 ถ้านอนหลังสี่ทุ่ม คือ ไม่หลั่ง ว่างั้น เตี้ย ว่างั้น เหรอ !?
แล้วสี่ทุ่มเนี่ย เอาที่ Time Zone ไหนอ่ะ สี่ทุ่มเมกาได้ไหมจ๊ะ 555 เพราะบางบ้านพ่อแม่ทำงานห้าง เลิกดึก ถ้าลูกนอนหลับทุ่มนึง ทั้งเดือนลูกอาจได้เจอหน้าพ่อแม่แค่ไม่กี่วัน (หรือไม่เจอเลย) เพราะกว่าจะกลับ ลูกก็หลับแล้ว จะได้เล่นกับลูกบ้างไหมล่ะ ถ้าต้องนอนก่อนสี่ทุ่มเพื่อรับ growth hormone โถ ๆ ๆ
แล้วไหนจะบ้านที่ลูกนอนหลับไม่สนิท เหมือนร้องเพลงของคุณฮาย อาภาพร นครสวรรค์ ที่ร้องว่า
"น้องนอนไม่หลับ หัวใจ มันกระสับกระส่าย เหมือนคนไม่บาย ใจหาย มาหลายสิบคืน หลับตาฝันไป อุ้ย.ต๊กใจ มีคนเอาปืน มายืน มายืน เอาปืนจ้อง จะยิงตรงนั้น เอาปืนจ้อง จะยิงตรงนี้ แล้วจ้องปืน แล้วเล็งตรงนั้น แล้วจ้องปืน มาเล็งตรงนี้ ว้าย..หนูก็ต๊กใจตื่น !!!!" ... ณ จุดนี้ขอให้ทุกคนหยุดแด๊นซ์กันก่อน แล้วนั่งลงฟังพ่อหมอสักนิด นี่เพิ่งจะเข้าเรื่องเรอะ 555
ตามหลักฐานตามการศึกษาวิจัยพบว่า Growth Hormone (GH) หรือฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญเติบโต จะหลั่งออกมาเป็นระลอก ๆ (GH surge) ตอนช่วงที่นอนหลับลึก ... ดังนั้นนี่เป็นเหตุที่พ่อหมอบอกเสมอว่า เราควรฝึกลูกนอนยาว ๆ และมีสุขลักษณะนิสัยการนอนที่ดีตั้งแต่เล็ก ๆ นอนดี ร่างกายก็ย่อมได้รับการพักผ่อนและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอครับ คุณภาพการนอนที่ดีก็ย่อมดี ตรงไปตรงมา
แต่การเจริญเติบโตของร่างกายมนุษย์มันไม่ง่ายขนาดนั้น และ GH ก็ไม่ได้มีสวิทช์เปิด-ปิดขนาดนั้น … เพราะการเจริญเติบโตขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องโภชนาการ พันธุกรรม และการใช้ชีวิตรวมถึงการออกกำลังกายและการนอนด้วย … การนอนยาว ๆ ลึก ๆ เพียงอย่างเดียวเพื่อรอรับ GH ก็ไม่ได้บอกว่าลูกจะสูงนะจ๊ะ ไม่ใช่เอะอะ ๆ นอน เผื่อสันหลังจะยาว ว่าซั่น …
มีการศึกษาหนึ่งที่ศึกษาในเด็ก UK อายุ 5-11 ปีจำนวน 9,913 คน ผลการศึกษาสรุปได้ชัดเจนว่า "No association between longer sleep duration and increased growth" หมายความว่า การนอนนานไม่ได้ทำให้สูงขึ้นแต่อย่างใด [Gulliford, et al. Arch Dis Child 1990;65:119-22]
แม้เราจะศึกษาในเด็กกลุ่มที่นอนไม่เพียงพอและคุณภาพไม่ดีแน่ ๆ อย่างกลุ่มผู้ป่วย OSA (obstructive sleep apnea) ที่มีทางเดินหายใจอุดกั้น นอนกรนจนหยุดหายใจเปรียบเทียบกับเด็กปกติ พบว่าอัตราการเจริญเติบโตและความสูงสุดท้ายนั้นไม่ต่างกันครับ ... นั่นหมายความว่า การอดนอนไม่ได้ส่งผลต่อ "ความสูง" ของเด็กอย่างมีนัยสำคัญนั่นเอง ... สบายใจได้ …
เพราะหากเรานอนไม่พอ เรามักจะไปนอนหลับชดเชยในวันต่อไป ซึ่งจะพบว่าพีคของ GH surge จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ เหมือนตอนอยู่เวรตอนกลางคืน ไม่ได้นอน แล้วไปนอนชดเชยวันรุ่งขึ้น 18 ชั่วโมงจนเพื่อนต้องเอาไม้มาเขี่ยเพราะไม่รู้ว่านี่นอนหรือเสียชีวิต 555 แบบนั้นแหละครับ ตอนนั้นแหละที่ GH จะหลั่งสูงกว่าปกติ คล้ายเป็นการชดเชยให้ร่างกายในวันก่อนหน้านั้น ...
แต่กระนั้นก็เถอะ แม้การอดนอนจะไม่ส่งผลถึงการเจริญเติบโตชัด ๆ ก็เป็นที่รู้ดีเช่นกันว่า ... การอดนอนหรือนอนไม่เพียงพอนั้นสัมพันธ์กับการเกิดโรคไม่ติดต่อในอนาคต เช่น โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ได้ ... คือสูงปกติแต่เป็นโรคมากขี้น และอาจทำให้เกิดความง่วงเหงาหาวนอน ทำกิจกรรมในช่วงกลางวันควมถึงการเรียนรู้และการเล่นมีประสิทธิภาพลดลง ... ซึ่งนั่นก็ไม่ดีต่อพัฒนาการของเด็กเช่นกัน
ดังนั้นวนลูปกลับมาที่ประโยคเดิม ก็คือ "พ่อแม่ควรสร้างสุขลักษณะการนอนที่ดีให้ลูก หลับได้ยาวอย่างมีคุณภาพ" นั่นเองเพื่อผลดีต่อสุขภาพโดยรวม และการเรียนรู้ของเด็กในช่วงกลางวันนั่นเอง
นอนหลับกี่โมง GH ก็หลั่งแหละครับ … จะนอนดึกตื่นสาย เด็กก็โตได้ ขึ้นกับกิจวัตรของครอบครัวนั้น ๆ แหละครับ ขอเพียงนอนให้พอและมีคุณภาพดีเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนให้พอ กลางวันจะได้สดชื่นมีแรงเรียนรู้ โดยกิจวัตรนอนดึกตื่นสาย จะกลายเป็นประเด็นอีกครั้งตอนที่ลูกเริ่มไป รร. ที่ต้องมานั่งปรับกันอีกที แค่นั้นเอง
#หมอวินเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ
สั่งหนังสือของหมอวินทั้ง 5 เล่มได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำ หรือที่
อินบอกซ์ http://m.me/tamjaimorbooks
A. เลี้ยงลูกให้กินง่าย แก้ไขเด็กกินยาก * ((เล่มล่าสุด))
B. อย่าปล่อยให้พ่อแม่รังแกฉัน (การเลี้ยงลูกเชิงบวก)
C. เลี้ยงลูกทางสายกลาง (คู่มือการดูแลเด็กเล็ก)
D. เส้นทางสายนมแม่
E. เลี้ยงลูกให้ไกลโรค (ความรู้เรื่องสุขภาพ อาการ โรคและยาในเด็ก
โฆษณา