26 ก.ค. 2022 เวลา 03:25
มองความเสี่ยงฉบับคุณหมอยง (ทันตแพทย์ยรรยง พันธุ์วงกล่อม)
—----------------------------------------
ความคิดเห็นส่วนของแอดมิน
สำหรับผมนี่คือหนึ่งในคลิปที่เตือนสตินักลงทุนในช่วงตลาดขาลงได้เป็นอย่างดี การละเลยความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดหุ้นไม่ดีจากสภาวะทางเศรษฐกิจ อาจทำให้นักลงทุนเสียหายหนักและไม่สามารถอยู่ในตลาดหุ้นได้ยาวนานพอ การวางแผนและการควบคุมความเสี่ยง เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการลงทุน เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินต้นหรือกำไรที่เราได้มาในช่วงตลาดขาขึ้น ยังคงอยู่และเงินที่เราสามารถรักษาไว้ได้นี้ จะทบต้นให้พอร์ตเราเติบโตได้อีกในอนาคต
ช่วงหลังๆเท่าที่ผมได้ติดตาม คุณฮง สถาพร งามเรืองพงษ์ ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์หรือบทความใน Facebook ส่วนตัวของคุณฮงเอง ก็จะแนะนำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ศึกษาการจัดการความเสี่ยงและคำนึงถึงความเสี่ยงก่อนเสมอ
ปัจจุบันการให้แง่คิดและความรู้เกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยง ส่วนใหญ่เราจะอ่านจากหนังสือแปลเหล่า Trader ต่างประเทศมากกว่า ไม่ค่อยมีนักลงทุนไทยที่ให้ความเห็นหรือให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงมากเท่าไหร่ จากการที่ได้ฟังคลิปนี้มากกว่า 10 รอบ ผมยืนยันได้ว่าแม้ คุณหมอยง จะเป็นนักลงทุนรุ่นเก่า แต่หลักการของท่านก็ยังสามารถนำมาปรับใช้กับการลงทุนในปัจจุบันได้เสมอ
สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ ให้นำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้และปรับแนวการลงทุนในแบบฉบับของตัวเอง
ข้อความใดที่อ่านไม่เข้าใจเป็นความผิดพลาดของผมเอง
หวังว่าจะมีประโยชน์แก่ทุกท่านไม่มากก็น้อย
ขอบคุณครับ
—----------------------------------------
บทสัมภาษณ์คุณหมอยง จาก Money Chat
อะไรที่ไม่รู้คือความเสี่ยง ลงทุนให้มีความสุขสไตล์หมอยง
ผมเข้ามาในตลาดขาลง หลักการลงทุนก็จะเรียนรู้จักตลาดขาลง การเอาชีวิตรอดไม่ให้พอร์ตเสียหายหนักต้องทำอย่างไร ก็ค่อยๆเรียนรู้ไป ช่วงแรกๆนำเงินมาลงทุน 5 แสนบาท ลงทุนไปสักระยะเหลือ 1.8 แสนบาท หลังจากนั้นเลยพยายามคิดหลักการของตัวเองไม่ให้หมดตัว ครั้งแรกคือเข้ามาแบบไม่มีความรู้ใครบอกให้ซื้ออะไรก็ซื้อ จนกระทั่งได้เรียนรู้จากความผิดพลาด เราจะสู้โดยไม่มีหลักการไม่ได้ วิกฤตส่วนใหญ่จะพยายามไม่ติดหุ้น อย่างวิกฤตโควิดที่ผ่านมาก็จะไม่ติดหุ้นเลย
หลักการในอดีตที่ผมใช้ เช่น เล่นหุ้นเรามองหน้าแต่ระวังหลังทุกครั้งที่เราลงทุน เราจะมองไปข้างหน้าจริงแต่เราจะมองหลังตลอดว่าสถานการณ์มันน่ากลัวแล้วหรือยัง
อันดับแรกเรื่องของความเสี่ยง การลดความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกเพราะผมเกิดในตลาดขาลงฉะนั้นอะไรที่เป็นความเสี่ยงก็จะตัดออกไปเป็นข้อๆเราลงทุนในจุดที่มีความเสี่ยงต่ำจะมีโอกาสได้กำไรสูง
การลงทุนมีความเสี่ยงแต่เราสามารถที่จะจำกัดความเสี่ยงให้น้อยที่สุดได้ ยกตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่รู้ ยกตัวอย่าง หวย , Casino อันนี้เกิดจากดวงก็คือความเสี่ยงที่เราไม่รู้ สิ่งที่เราทำได้ในปัจจุบันคือหาความรู้ อย่างน้อยหุ้นที่เราลงทุนเราต้องรู้รายละเอียดของมันรู้ทุกด้าน กล่าวคือ ต้องรู้ทั้งพื้นฐานของหุ้นและปัจจัยทางด้านเทคนิคิลด้วย และต้องรู้อารมณ์ตลาด ณ ปัจจุบันว่าคนส่วนใหญ่ Panic หรืออยากซื้อหุ้นขนาดไหน
จริงๆความรู้ในด้านพื้นฐานเราก็สามารถศึกษาหาความรู้จากบทวิเคราะห์หรือข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ได้อยู่แล้ว ส่วนความรู้ทางด้านเทคนิคคอลก็ต้องปรับให้เป็นสไตล์ของตัวเอง อารมณ์ตลาดก็ดูจากกราฟ Set เป็นหลัก (sentiment ตลาด ณ ตอนนั้น)
Timing ของการลงทุนต้องดูอารมณ์ตลาดและใช้เทคนิคคอลประกอบ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าเรามีความรู้แล้ว หากตัดสินใจซื้อหุ้นแล้วพลาดก็ต้อง Cut loss การขาดทุนคือความเสียง ก็ต้องลดความเสี่ยงด้วยการตัดขาดทุน เวลาขาดทุนครั้งแรก คุณอยากลงทุนต่อให้กลับไปทบทวนให้ดีว่าสิ่งที่คุณทำพลาดมันพลาดตรงไหน และดูองค์ประกอบต่างๆ ยกตัวอย่าง หุ้นลงมาจาก 1600 เหลือ 1,000 ก็จะมีหุ้นที่น่าสนใจความเสี่ยงต่ำโอกาสได้กำไรสูง
ยกตัวอย่างวิกฤตโควิด หุ้น CRC เป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจจากกองทุนและสถาบันต่างๆ ราคาจองที่ 40 บาท แต่พอเกิดสถานการณ์โควิด ราคาหุ้นจาก 40 บาทลงมาเหลือ 20 บาท ลงมา 50 เปอร์เซ็นต์ จากจุดสูงสุด ก็คือถ้าเราวัดอัพไซส์ จากราคา 20 บาทซึ่งเป็นจุดต่ำสุด ณ ขณะนั้น ขึ้นไปที่ 40 บาท หากซื้อแล้วหุ้นกลับขึ้นไปที่เดิม เราก็จะได้กำไรร้อยเปอร์เซ็นต์ เวลาหุ้นลดลงมา 50% ความเสี่ยงจะเหลือน้อยมาก
แต่ก่อนจะซื้อ พิจาณาให้ถี่ถ้วนและยังไม่รีบซื้อที่ 20 บาท วิธีการเข้าซื้อหุ้นให้ถูกจังหวะก็คือ วันไหนที่หุ้นบวกแท่งแรกหลังจากที่มันลงมา 50% ตรงนั้นจะเป็นจุดซื้อที่ดีพราะแรงขายเริ่มหมดไปแล้ว โดยให้ดู Volume ประกอบ ว่าการซื้อขาย ณ เวลานั้น ยังมีเยอะอยู่หรือน้อยจน Volume แห้งแค่ไหน ถ้ามันน้อยแสดงว่าแรงขายเริ่มหมดไปแล้ว ก็จะเป็นจังหวะเข้าซื้อที่ดี สำหรับจุดขายก็คือ ประเมินมูลค่าให้ดี ให้เหมาะสมกับพื้นฐาน หรือ ขายตามเทคนิคอล เช่น ได้กำไร 50% คือขายที่ราคา 30 บาทก็ถือว่าเป็นจุดขายที่ดี
ผลตอบแทน 50% ในเวลาไม่นานถือคุ้มค่าและเหมาะสมอย่าโลภมาก ลงทุนหุ้นต้องรอคอยและอดทน บางทีหุ้นลงมาแต่ยังไม่ถึงจุดที่เราซื้อ แต่มันกลับเด้งขึ้นไปก็ต้องยอมปล่อยมันไปยอมตกลง ดีกว่าไปไล่ราคาเลยอยู่นอกเหนือระบบการควบคุมความเสี่ยงของเรา แต่ถ้าหากมันถึงจุดที่เรารับความเสี่ยงได้แล้วก็ต้องทำตามแผนต้องลงมือซื้อหุ้นทันเพราะเราคิดมาอย่างดีแล้ว
หลักการเบื้องต้นการลงทุน
อันดับแรกความเสี่ยง เราจะไม่ติดหุ้นในทุกสถานการณ์ เพราะขาดทุนคือความเสี่ยงเราต้องยอมตัดขาดทุน 5 - 10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเมื่อไหร่เราประเมินความเสี่ยงดีแล้วแต่ยังขาดทุน 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์แสดงว่าสิ่งที่เราคิดนั้นผิด ให้ cut loss พอ Cut loss ตามหลัการลงทุนก็สบายใจ ขาดทุนแล้วมีความสุข (แต่บางทีถ้าหุ้นลงมามากๆ และเราประเมินมูลค่าแล้วมันถูกจริงๆก็แนะนำให้ซื้อเฉลี่ย แต่ก็ไม่ค่อยแนะนำเพราะมันคือความเสี่ยง)
อันดับสอง เราต้องมีความสามารถที่จะทำกำไรได้ตลอดเวลาทั้งในตลาดขาขึ้นและตลาดขาลง การลงทุนในหุ้นจะมี 2 อย่างคือมีหุ้นกับมีเงิน ถ้าตลาดขาลงเราจะมีเงิน 90 เปอร์เซ็นต์และมีหุ้นแค่ 10% แต่ในตลาดขาขึ้นเราก็จะมีหุ้น 90% หรือ 100% ขึ้นอยู่กับว่าเรามองตลาดยังไง เราต้องมีความสามารถในการเปลี่ยนสถานะการลงทุนของเราให้เร็วที่สุดให้เหมาะสมกับสภาวะตลาดณขนาดนั้น
วิธีการตรวจสอบง่ายๆเกี่ยวกับอารมณ์และสภาวะตลาด ณ ขณะนั้นก็คือ ถ้าเราซื้อหุ้นไปแล้ว ผ่านการพิจารณาและไตร่ตรองมาดีแล้ว แต่เรายังขาดทุนแสดงว่าสิ่งที่เราคิดผิด ให้ตัดขาดทุนตามแผนแล้วหยุดดูก่อน ถ้าหุ้นลงต่อได้แสดงว่าเราคิดถูก เราก็อยู่เฉยๆไปเรื่อยๆเพราะไม่รู้ว่ามันจะลงไปถึงจุดไหน หุ้นเวลามันลงมันจะลงแล้วลงอีก เห็นว่าราคาถูกแล้วมันจะถูกอีก เราต้องรอให้หุ้นมันลงจนไม่มีแรงขายออกมาก่อนเท่านั้นถึงจะเข้าไปซื้ออีกครั้ง
ถ้าสถานการณ์ยังไม่เข้าหลักการลงทุนของเราจริงๆก็ต้องรอ รอจนถึงจุดที่เรามั่นใจจริงๆ การลงทุนถึงแม้ว่าเราจะแพ้ 10 ครั้งแต่ถ้าเราชนะครั้งเดียว แล้วเป็นการชนะครั้งใหญ่ เราก็สบายแล้ว
สมมุติว่าเราติดหุ้นแล้วหุ้นลงมาเยอะๆมีหุ้นราคาถูกเต็มตลาด เราก็จะไม่มีศักยภาพในการทำกำไรเพราะเราไม่มีเงินสดที่จะซื้อ สำหรับในสถานการณ์แบบนี้คนที่ติดหุ้นก็คือต้องรอให้ตลาดหุ้นเด้งขึ้นไปอย่างมีความหวังเพื่อจะได้มีเงินซื้อหุ้นอีกครั้ง
ซึ่งกฎอีกข้อหนึ่งของผมก็คือ “เล่นหุ้นอย่ามีความหวัง” เราต้องทำตามแผนขาดทุนก็ต้องตัดขาดทุนตามแผนอย่าปล่อยให้การขาดทุนหนักจนยากลำบากต่อการกลับมาของพอร์ต
ตัวอย่าง การขาดทุนที่ 40 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ตมันเหมือนคนไข้ที่อยู่ไอซียู ข้อแนะนำก็คือให้ตัดขาดทุนไปครึ่งหนึ่ง เพราะอย่างน้อยเราจะได้เงินสดกลับมาเพื่อทำกำไร และ Cover เงินที่เราขาดทุนไป
แต่คนที่มีหุ้น 50% และเงินสด 50% ก็ไม่จำเป็นต้อง Cut loss รอจังหวะที่ความเสี่ยงต่ำก็ใช้เงิน 50 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเข้าไปซื้อหุ้นเพื่อทำกำไร
ในทางกลับกันถึงสถานการณ์ที่เรามีเงินสดอยู่ในพอร์ตมากพอสมควร แล้วเราลองซื้อหุ้น หากได้กำไรง่ายๆนั่นหมายความว่าตลาดเป็นขาขึ้น ก็ให้เราลงทุนต่อไปและถือหุ้นต่อไป (Hold Position) จนกระทั่งขาดทุนเมื่อไหร่ค่อยพิจารณาอีกครั้ง
คนพอร์ตเล็กจะได้เปรียบคนพอร์ตใหญ่เรื่องสภาพคล่อง เพราะฉะนั้นเราต้องดูให้ดีว่าสภาวะตลาด ณ ปัจจุบันเป็นโซนขายหรือโซนซื้อ ประเมินเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทนให้ดี
สิ่งที่ทุกคนในตลาดรับรู้ไปแล้วย่อมไม่มีประโยชน์ในการนำข้อมูลนั้นไปใช้คาดการณ์อนาคต
ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารทำให้ทุกคนรับรู้พร้อมๆกัน สิ่งที่จะทำให้นักลงทุนแตกต่างก็คือ เราสามารถปฏิบัติตามแผนการลงทุนของเราได้ดีแค่ไหน
การเว้นระยะเวลาเพื่อตรวจสอบอารมณ์หรือสภาวะตลาด เช่น หลังจากตัดขาดทุนไปแล้วให้หยุดดูเฉยๆสัก 1-2 อาทิตย์ เพื่อประเมินแนวโน้ม ไม่ใช่ตัดขาดทุนไปแล้วก็รีบร้อนเข้าไปซื้อหุ้นอีกแบบนี้ไม่ได้
ตลาดขาขึ้นนักลงทุนทุกคนมีโอกาสที่จะได้กำไร แต่ในตลาดขาลงเราจะมีกระบวนการรับมือยังไงนั่นคือสิ่งสำคัญผมเกิดในตลาดขาลงผมก็มองหลังตลอด “คนเล่นหุ้นอย่าถามว่ามีเท่าไหร่แต่ถามว่าเหลือเท่าไหร่ดีกว่า”
ตลาดจะกวาดคนเป็นรอบ ๆ คนที่เข้ามาในตลาดขาขึ้นส่วนใหญ่ก็จะคิดว่าตัวเองเก่ง สามารถทำกำไรได้ง่ายในตลาดขาขึ้นแล้วก็มาประมาณตัวเองผิด คนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะไม่มีหลักการลงทุนหรือไม่มีระบบแบบแผนที่ชัดเจน
กฏข้อแรกของผมคืออะไรที่ไม่รู้คือความเสี่ยง
จุดที่เราไม่รู้ให้เน้นถือเงินสด รอคอยให้ได้ เปรียบเสมือนนักมวยที่ขึ้นชกยกสุดท้ายยังไงก็ชนะ
ตลาดหุ้นเมื่อถึงจุดหนึ่งมันก็จะมีวันขึ้นแต่ไม่รู้เมื่อไหร่ สิ่งที่สำคัญคือรอคอยโอกาสใจเย็นๆระหว่างที่รอเราก็ตระเตรียมทั้งความรู้ แผนการ คัดเลือกหุ้นที่มีโอกาสทำกำไรได้มากที่สุด (หุ้นที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์เศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น)
เราจะวัดความประสบความสำเร็จได้ก็คือต่อเมื่อเลิกเล่นหุ้นแล้วเท่านั้น ถ้ายังไม่ได้เลิกเล่นหุ้นก็ยังวัดไม่ได้ว่าเขาประสบความสำเร็จเพราะในอนาคตเงินที่มีจะเหลือเท่าไหร่ก็ไม่รู้ สถานการณ์ต่างๆอาจทำให้ขาดทุนก็เป็นได้
คุณหมอให้ข้อคิดเพิ่มก็คือ “เวลาลงทุนเราต้องมีความสุขด้วย”
เพราะหุ้นมันเป็นความโลภเรียลไทม์ ยกตัวอย่างเช่น ความทุกข์ ขายหุ้นได้กำไรแต่หุ้นขึ้นต่อก็เป็นทุกข์
ซื้อแล้วขาดทุนก็เป็นทุกข์ แล้วความสุขอยู่ตรงไหน ความสุขมีอยู่ข้อเดียวคือ Cut loss ขาดทุนแล้วหุ้นลงต่อ
คุณหมอยกตัวอย่างการลงทุนในอดีตกับปัจจุบันคือปัจจุบันจะลงทุนยากกว่าสมัยก่อน เมื่อก่อนเวลาลงทุนหุ้นจะเปลี่ยนกลุ่มเล่นไปเรื่อยๆตามลำดับ วิธีการลงทุนก็คือ เน้นซื้อก่อนคนอื่นและถือไปเรื่อยๆไป เพราะตลาดขาขึ้นมันจะง่าย
สไตล์การเลือกหุ้นของคุณหมอ จะชอบหุ้นราคาถูก (Value) มากกว่าหุ้นเติบโต (Growth) และสิ่งสำคัญอีกอย่างคือต้องคาดการณ์ด้วยว่าสิ่งที่เราคิดนั้นมวลชนจะเห็นด้วยไหม เพราะบางทีหุ้นราคาถูกจริงแต่ไม่มีมวลชนเห็นด้วยหุ้นก็จะไม่ขึ้น เราก็ต้องมาประเมินแนวโน้มของตลาดด้วยว่าเป็นยังไง คนชอบหรือไม่ชอบอะไร เขาเล่นหุ้นกลุ่มไหน
ทฤษฎีการลงทุนของคุณหมออีกอย่างหนึ่งก็คือการคัดเลือกหุ้นเพื่อติดตาม อย่างเช่นหุ้นดีๆ (Value) ที่ราคาลงมากว่า 50% ก็จะสนใจเป็นพิเศษ สิ่งที่คุณหมอเน้นย้ำอยู่เสมอก็คือ ผมเป็นนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยง การขาดทุนที่ 10% ก็ถือว่ามากแล้ว การ cut loss จะทำให้สบายใจ ไม่มีความทุกข์
ตลาดที่เป็นโซนขายไม่ต้องทำอะไร แต่จังหวะที่เป็นโซนซื้อก็ต้องพิจารณาว่าจะซื้อตัวไหน
การเป็นนักลงทุนข้อแรกต้องยอมรับความทุกข์ที่จะเกิดขึ้น เพราะเวลาขายแล้วหุ้นขึ้นก็เสียดาย ขาดทุนก็กังวลเป็นทุกข์ยกเว้นอย่างเดียวคือ Cutloss
ความรู้จากการอ่านสำคัญ จะต้องเตรียมตัวไว้ตลอด จะซื้อหุ้นตัวไหนต้องทำการบ้านไว้อย่างดีเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่จะเกิดขึ้น
พยายามศึกษาลองผิดลองถูกและให้โอกาสตัวเอง 3 ปี โอกาสในการอยู่รอดและปรับตัว แล้วเราจะมีหลักการเป็นของตัวเอง คุณหมอยกตัวอย่างเพื่อนคนหนึ่งที่ขายของอยู่หน้าตลาดหลักทรัพย์ แต่เขาศึกษาเรียนรู้และปรับตัวมีหลักการลงทุนเป็นของตัวเองก็ปั้นพอร์ตขึ้นมาได้ อยู่ที่การเรียนรู้
การลงทุนเน้นรักษาเงินต้นและเอาตัวรอดให้ได้
1.ความเสี่ยงคือความไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราต้องเพิ่มความรู้ก่อนเพื่อลดความเสี่ยง
2.คือการ cut loss ให้เป็น
ขอบคุณคุณหมอยงและช่อง Money Chat ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
ฟังคลิปฉบับเต็มได้ที่
โฆษณา