26 ก.ค. 2022 เวลา 12:47 • การศึกษา
การวัดและประเมินผลบนฐานนิเวศการเรียนรู้สตูลเป็นอย่างไรได้บ้าง? แล้ว Learning Space ของผู้เรียนในแต่ละวันมีลักษณะอย่างไร?
สมาคมวัฒนพลเมือง
“ความท้าทายใหม่ต่อพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสตูล คือการที่เราต้องออกแบบร่างการศึกษาในพื้นที่เราเอง โฟกัสที่หลักสูตรฐานสมรรถนะ และการวัดประเมินผล ซึ่งเราเคยติดกับดักการใช้สาระเป็นตัวตั้ง แต่ตอนนี้ต้องหันมาใช้ชีวิตผู้เรียนเป็นตัวตั้ง ออกแบบการประเมิน 360 องศาที่ใช้ต้นทุนชีวิต จนเกิดภาวะท้าทายใหม่ ที่ต้องกล้า เปลี่ยน ปรับ และต้องหา Core team ประสานและร่วมมือกัน” สุทธิ สายสุนีย์ (2565)
คลิกชมประมวลภาพการอบรมเชิงปฏิบัติการ การวัดและประเมินผลบนฐานนิเวศการเรียนรู้สตูล วันที่ 22 กรกฏาคม 2565 ณ โรงแรมเซาท์เทอร์นแอร์พอร์ท อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สนับสนุนโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) : https://drive.google.com/drive/folders/1C3_HDgrGLQ5FlswWqbqIzLwWQZBWZYBh?usp=sharing
องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้การศึกษาเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหัสวรรษ์ 2030 (Sustainable Development Goalds: SDGs) ข้อที่ 4 ว่าด้วยการส่งเสริมการศึกษาที่เท่าเทียม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน ขณะที่หลายทศวรรษผ่านมา ปัญหาการศึกษาอยู่ในระดับที่ “ดีขึ้น” กว่าเดิม
โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่อัตราการเข้าเรียน หรืออัตราประชากรที่อ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้นจากในอดีต เช่น ในปี 1945 ตอนอินโดนิเซียประกาศเอกราช มีประชาชนเพียง 5% ที่อ่านออกเขียนได้ ก่อนเพิ่มมาเป็น 95% ในปี 2015 หรือ ในเนปาลปี 1981 มีผู้ใหญ่เพียง 1 ใน 5 ที่ได้รับการศึกษา ก่อนเพิ่มเกือบ 2 ใน 3 ในปี 1015 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอาจมองเป็นสัญญาณที่ดี
แต่ยังพบว่า เด็กจำนวนมากยังถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษา หรือได้เรียนแต่ไปไม่ถึงปลายทาง แม้สถานการณ์การศึกษาเหมือนจะดีขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำไม่เคยหมดไป ความเสมอภาคยังไม่เคยเกิดขึ้นจริงกับทุกคน อีกทั้งความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษายังเป็นปัญหาสำคัญ เพราะแม้จะเกิดอัตราการเข้าโรงเรียนเพิ่มขึ้น
แต่คุณภาพการศึกษาที่เด็กแต่ละคนได้รับกลับไม่เท่ากัน เกิดวิกฤตการเรียนรู้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากตัวเด็กที่ไม่พร้อมเรียนรู้ที่โอกาสหรือยากจน ครูขาดแรงกระตุ้นและทักษะจำเป็น รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างการบริหารจัดการโรงเรียน
สมาคมวัฒนพลเมือง
ขณะที่โลกยุคใหม่กำลังเผชิญหน้าสังคมไร้ขีดจำกัดของข้อมูลข่าวสาร (Unlimited Information Society) เป็นยุคเปลี่ยนผ่านและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกลุ่มคน องค์กรมากยิ่งขึ้น เป็นสังคมฐานการเรียนรู้ (Learning-Based Society) มีการขับเคลื่อนด้วยสื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านความรู้ต่างๆ (Innovative Knowledge) ผู้คนได้อิงแอบและสัมผัสข้อมูลมากขึ้น นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงแบบฉับไว จนสังคมเกิดสภาพตื่นตระหนก (Awaken Society) และสังคมแบบย่อส่วน (Condensed Society)
เป็นโลกาภิวัฒน์อาริยะ ที่อิทธิพลการสื่อสารก้าวไกล ทำให้โลกมีสภาพแคบลง เกิดการผสมรวมของวัฒนธรรมอย่างรวดเร็วและกลมกลืน จนเกิดการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารหลากหลายช่องทางทั้วถึงไร้ทิศทางและการเชื่อมโยง (Interconectedness)
งานวิจัยของ HolonIQ แพลตฟอร์มข้อมูลเทรนด์และงานวิจัยทางการศึกษาระดับโลก เผย 5 ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในโลกการศึกษายุค 2030 โดยวิเคราะห์จากการใช้ Machine Learning ดึงข้อมูล 5,000 จุดจากแหล่งข่าวชั้นนำทั่วโลก ผนวกกับการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยวิจัยการศึกษาอย่าง World Bank, OCED และ UNESCO พบว่า:
Scenario 1: Education as Usual สถาบันการศึกษายังคงเป็นแหล่งหลักในการเรียนรู้ แต่ต้องเผชิญความท้าทายเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสังคมสูงวัย ต้อง reskill สาขาอาชีพเสี่ยงตกงานตามความต้องการตลาดแรงงาน จนสถานศึกษาหลายแห่งต้องปิดตัวลง ขณะเดียวกัน ก็มีสถาบันรูปแบบใหม่เกิดขึ้น เน้นทักษะอาชีพเฉพาะ เกิดการจ้างงานข้ามประเทศมากขึ้น รูปแบบออนไลน์ข้ามประเทศมักมีปัญหาความน่าเชื่อถือ เทคโนโลยี blockchain เข้ามามีบทบาทช่วยยืนยันตัวตน ตรวจประวัติการศึกษา และการรักษาความปลอดภัยข้อมูล
Scenario 2 Regional Rising เป็นการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในรูปแบบกลุ่มประเทศ ภูมิภาค ส่วนสถาบันการศึกษาในภูมิภาคร่วมมือกัน ปรับหลักสูตร แบ่งปันข้อมูลกัน ร่วมพัฒนามาตรฐานการอบรมครูให้เป็นสากล โดยครูหนึ่งคนอาจสามารถสอนในหลายประเทศได้หมุนเวียนไป รวมถึงการแลกเปลี่ยนนักเรียนและคนทำงานเพิ่มขึ้น กระนั้น การเรียนรู้ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ยังเป็นโครงสร้างแบบเดิม เพิ่มรูปแบบ blended learning ใช้เทคโนโลยีช่วย สร้างห้องเรียนหลากหลายด้วยผู้เรียนและผู้สอนจากสถานที่ที่ต่างกัน
Scenario 3: Global Giants เทคโนโลยีและความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเชื่อมต่อโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน เป็นปัจจัยหนุนเสริมให้บริษัทผู้นำตลาดเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมหาศาลทั่วโลก
 
Scenario 4: Peer to Peer สถาบันการศึกษาต้องปรับโครงสร้างหลักสูตรให้เป็นหน่วยย่อยมากขึ้น การใช้ smartphone ผสานกับบทเรียนขนาดสั้น micro-learning ทำให้การเรียนรู้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้เรียนมีทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
สมาคมวัฒนพลเมือง
Scenario 5: Robo revolution สมมติฐานคือ หาก AI พัฒนาก้าวไกลทดแทนตำแหน่งงาน ภาพรวมเศรษฐกิจโลกเติบโตด้วยต้นทุนลดลง และผลิตได้มากขึ้น ผู้คนไม่ต้องทำงานซำ้ซ้อนสามารถทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน
ด้านการศึกษา AI จะเข้ามามีบทบาทผสมผสานระบบอัตโนมัติกับความใส่ใจของครู เพราะการเรียนรู้ของคนไม่สามารถเขียนโค้ดระบบสั่งการได้เหมือนหุ่นยนต์ การเรียนรู้จึงเป็นแบบ personalized ปรับให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคนอย่างมีคุณภาพเท่าเทียมกัน AI อาจมาในรูปแบบผู้ช่วยอัฉริยะช่วยลดงานเอกสารครู ทำให้ครูมีเวลาใส่ใจผู้เรียนแบบใกล้ชิดมากขึ้น
การศึกษาที่จำเป็นจึงควรฝึกผู้เรียนให้เข้าถึงความเป็นมนุษยชาติ (Humanism in Education) สามารถพัฒนาจิตสำนึกในการค้นคว้าหาความรู้ตลอดเวลา ทั้งต้องพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นบุคคลแห่งการเสาะหาความรู้เพื่อบูรณาการศาสตร์ (A Search for Integration) สามารถหยั่งรู้ว่าสิ่งไหนต้องทำ และทำอะไรได้บ้าง (Education for a capacity of discernment) ทั้งต้องฝึกให้มีฐานคติการพัฒนาด้านจิตวิญญาณทางวิทยาศาสตร์ (To Develop Scientfic Spirit)
ลักษณะการเรียนรู้ในยุค New Normal จึงควรเป็นลักษณะการเรียนรู้ที่มี Platform และวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย เปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้ใช้ความสามารถของตนเองอย่างสูงสุดในการเรียนรู้ และการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยมี พื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space) เป็นโอกาสให้ผู้เรียนได้กำหนดเป้าหมาย การออกแบบและใช้วิธีการเรียนรู้ เพื่อประเมินปรับปรุงและพัฒนาตนเอง ตลอดจนโอกาสที่นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปทำประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งสะท้อนความคิดกลับมายังตนเองอีกครั้ง แล้วลงมือเรียนรู้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
สมาคมวัฒนพลเมือง
“สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามและเป็นโจทย์ตั้งต้นการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ ( Learning Space) คือ การออกแบบให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนรู้ (Learning Vision) และกระบวนการเรียนรู้ (Learning Process)” (รองศาสตรจารย์ประภาภัทรนิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ)
ซึ่งครูต้องสร้าง “พื้นที่เรียนรู้” เพื่อเพิ่มการเรียนรู้ของเด็กให้เด็กได้เรียนรู้มากขึ้น จากการเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่นั้นๆ แล้วเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยครูไม่ต้องสอน ไม่ว่าจะในห้องเรียน หรือนอกห้องเรียน ทุกแห่งเป็น Learning Space ได้ทั้งนั้น ถ้าพื้นที่นั้นท้าทายเด็ก และเอื้อให้เด็กได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง
พื้นที่เรียนรู้ที่หล่อหลอมพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กได้นั้น ครูเองต้องรู้และเข้าใจพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็กปฐมวัยสามารถกำหนดเป้าหมายในการออกแบบพื้นที่ สร้างพื้นที่ตามเป้าหมายและการเรียนรู้ของเด็ก (พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ในวิถีประจำวัน, พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ในห้องเรียน เด็กอ่านพื้นที่ออก ใช้พื้นที่เป็น จัดการตนเองได้, พื้นที่เพื่อการเรียนรู้นอกห้องเรียน) ตลอดจนสามารถสังเกตการใช้พื้นที่ของเด็กได้
สมาคมวัฒนพลเมือง
ทั้งนี้กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ #LearningCommons หรือ #พื้นที่เรียนรู้ไร้กำแพง โดยองค์กรการศึกษาวิตตร้า (Vittra) เกิดจากการปฏิรูปการศึกษาของสวีเดนตั้งแต่ปี 1992 โดยอนุญาติให้มีการเปิดโรงเรียนเอกชนอิสระ ในการบริหารจัดการทั้งด้าน สิ่งปลูกสร้าง วิธีการสอน และครู รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเหมือนโรงเรียนทั่วไป แต่ไม่เรียกเก็บค่าเทอม
มีบทบาทขับเคลื่อนโรงเรียน 27 แห่งด้วยแนวการศึกษาใหม่ เน้นบูรณาการเทคโนโลยีอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีการให้เกรด นักเรียนทุกคนมีหลักสูตรของตนเอง และคอมพิวเตอร์ส่วนตัวเพื่อการเรียนรู้ “วิตตร้าบุ๊ค” แต่ไม่มีห้องเรียน (Vittra Telefonplan) เน้นความสำคัญด้านการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียนฐานะพื้นฐานการพัฒนาการศึกษา
ใช้ Learning commons เป็นเครื่องมือจัดกระบวนการ เรียนรู้ตามแนวคิดใหม่ ผ่านพื้นที่อเนกประสงค์ที่นักเรียนสามารถทำงานร่วมกัน หรือคนเดียวได้ โดยครูเป็นผู้เข็นรถเคลื่อนที่บรรจุสื่อการเรียนรู้ไปหากลุ่มนักเรียน ใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ 2 ข้อ คือ เตรียมพร้อมนักเรียนสำหรับการมีชีวิตใหม่ในสังคมสมัยใหม่ และเพื่อขยายโลกการเรียนรู้ให้กว้างขึ้น
“ห้องเรียนไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป นักเรียนยุคใหม่ต้องมีพื้นที่การเรียนรู้แบบอเนกประสงค์และมีความยืดหยุ่น เพราะการเรียนรู้แบบร่วมมือ ไม่สามารถเกิดขึ้นในห้องเรียน ที่ทุกอย่างถูกกำหนดไว้ตายตัว สิ่งสำคัญคือครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้กุมความรู้ในมือ เป็นเพียงผู้ชี้แนะแนวทางในการเรียนรู้” (Ante Runnquist:นักวิจัยและพัฒนาวิตตร้า)
สมาคมวัฒนพลเมือง
ส่วนหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency - Based Approach) หรือ สมรรถนะ (Competence) หมายถึง ความสามารถในทางปฏิบัติ (Performance) ภายใต้เงื่อนไข (Condition) โดยใช้เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ที่ระบุไว้ให้ได้มาตรฐาน (Standard) ตามเกณฑ์ปฏิบัติ (Performeance Criteria) และมีหลักฐานการปฏิบัติ (Evidence) ให้ประเมินผลและตรวจสอบได้ โดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก
โดย กรอบมาตรฐานสมรรถนะ (Competency Standdards) ถือเป็นข้อกำหนดความรู้ ทักษะ ที่ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด
มีองค์ประกอบคือ 1.) หน่วยสมรรถนะ (Unit of Competency) ขอบข่ายกว้างๆ (Broad Area) ของงานหรืออาชีพหนึ่งๆ ที่ผู้เรียนต้องปฏิบัติโดยใช้ความรู้ ทักษะ และเจตคติ 2.) สมรรถนะย่อย (Element of Competance) ภาระงานย่อย (Task) ประกอบขึ้นภายใต้หน่วยงานนั้นๆ 3.) เกณฑ์การปฏิบัติ (Performance Criteria) ภาระงานย่อยๆ (sub-task) ภายใต้สมรรถนะย่อยซึ่งเป็นผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes) ที่คาดหวังว่าผู้เรียนจะสามารถปฏิบัติได้เมื่อเรียนจบหลักสูตร
สมาคมวัฒนพลเมือง
การประเมินผลแบบฐานสมรรถนะ (Competency - Based Assessment) เป็นการรวบรวมหลักฐานผลการเรียนรู้ ว่าผู้เรียนมีความก้าวหน้าถึงเกณฑ์หรือระดับที่กำหนดในมาตรฐาน หรือตามผลการเรียนรู้ที่กำหนดในหน่วยสมรรถนะ สมรรถนะย่อย และตัวชี้วัด เพื่อตัดสินว่าผู้เรียนสำเร็จตามสมรรถนะที่กำหนดหรือไม่
3
เช่นทักษะ 4 ด้าน (ทักษะตามภาระงาน: Task skills ความสามารถในการปฏิบัติภาระงานแต่ละชิ้น, ทักษะการจัดการ: Task Management Skills ความสามารถในการจัดการกับภาระงานและกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติภายใต้งานนั้นๆ, ทักษะในการคาดการณือุปสรรคปัญหาที่อาจเกิดขึ้น (Contingency Skills) การประเมินทักษะใช้ได้ดีโดยกำหนดสถานการณ์จำลอง, ทักษะตามบทบาทและงานที่รับผิดชอบและสภาพแวดล้อม: Job/Role Environment รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่น
โดยมีวิธีการประเมินผลแบบฐานสมรรถนะ ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ (Learning process) การใช้การอิงเกณฑ์ (Criterion Refererenced) การประเมินสมรรถนะสำคัญ (Crucial outcomes) และการบูรณาการสมรรถนะ
สมาคมวัฒนพลเมือง
โครงการระบบบริหารจัดการตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ปี 2565 โดยการสนับสนุนงบประมาณของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ (บพท.) จึงมีหมุดหมายสร้างและพัฒนากลไกระดับพื้นที่โรงเรียนและชุมชนผ่านนวัตกรรม “ครูสามเส้า” โดยมีกลไกเครือข่ายโรงเรียนคอยเป็นหน่วยหนุนเสริมเติมเต็ม กำหนดทิศทางที่แม่นยำแก่กลไกระดับจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ให้เกิดพลังการเชื่อมร้อยโยงใยอย่างต่อเนื่อง
โดยใช้โครงการย่อยคอยขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล, การพัฒนาระบบนิเทศติดตาม (Coaching) และการมีส่วนร่วมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล และการออกแบบวัดและประเมินผลตามหลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจ.สตูล ที่คอยเจาะลึกรายละเอียดเชิงคุณภาพที่เกิดขึ้นในพื้นที่จริง อีกทั้งพัฒนาการรายงานผลเชิงปริมาณสู่สาธารณะได้อย่างถูกต้องแม่นยำและมีพลัง
เพราะเราเชื่อว่าการศึกษาเป็นเรื่องของทุกๆ ภาคส่วน ที่ต้องร่วมรับผิดชอบ ช่วยเหลือ สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ให้เด็กหรือผู้เรียนมีเสรีภาพที่จะได้เรียนรู้สมวัย และมีความพร้อมต่อการประกอบอาชีพ อีกทั้งการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม ได้อย่างมีความสุข (ที่แท้จริง)
สมาคมวัฒนพลเมือง
#โรงเรียนคือส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา #การวัดและประเมินผล #ฐานนิเวศการเรียนรู้สตูล #LearningSpace #พื้นที่เรียนรู้ #การศึกษาโลกในศตวรรษที่21 #ระบบยังเหลื่อมล้ำ #การเรียนรู้ยังวิกฤต #หลักสูตรฐานสมรรถนะ #CompetencyBasedApproach #วิธีการประเมินผลแบบฐานสมรรถนะ
#พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล #SatunEducationSandbox
#บพท.#สมาคมวัฒนพลเมือง #มูลนิธิคลองโต๊ะเหล็มอะคาเดมี
สมาคมวัฒนพลเมือง
โฆษณา