3 ส.ค. 2022 เวลา 01:14 • การศึกษา
DCOVA #1: การกำหนดและออกแบบตัวแปร: ค่าวัดตรง และค่าวัดทางอ้อม
พื้นฐานของการรวบรวมข้อมูลคือ ความสามารถในการจำแนกตัวแปร และการเลือกใช้วิธีการวัดค่าตัวแปรที่เหมาะสม ปัญหาที่ผู้บริหารตัดสินใจมักเกี่ยวข้องกับข้อมูลจำนวนมากและซับซ้อน บางครั้งข้อมูลที่สนใจยังกำกวม ไม่แน่ชัดว่าจะวัดค่าได้อย่างไร และการได้มาซึ่งข้อมูลที่ต้องการอาจมีค่าใช้จ่ายสูงหรือไม่สามารถทำได้ในเวลาจำกัด การกำหนดชื่อหรือความหมายของตัวแปร และการกำหนดวิธีวัดค่าของตัวแปรที่สนใจเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจจึงเป็นงานสำคัญของการเก็บข้อมูล
คำถามและมาตรวัด
เช่น เมื่อผู้บริหารต้องการทราบระดับความพึงพอใจของลูกค้า เราต้องคิดต่อว่าควรวัดค่าความพึงพอใจนี้อย่างไร วิธีที่อาจเป็นไปได้เริ่มตั้งแต่ การถามลูกค้าด้วยคำถามเดียวว่าเขาพอใจหรือไม่ หรืออาจถามถึงรายละเอียดที่มีผลต่อความพึงพอใจของเขา เช่น ความถูกต้องรวดเร็วของกระบวนการให้บริการตามขั้นตอน วิธีการตอบคำถามก็เป็นได้ทั้งการตอบด้วยข้อมูลเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ
ความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของการเลือกใช้ตัวแปร และมาตรวัดตัวแปรจะช่วยให้เรามีทางเลือกในการกำหนดตัวแปรและสร้างเครื่องมือเก็บข้อมูลได้หลากหลาย เพื่อเลือกใช้วิธีที่ประหยัด มีประสิทธิผลดี
เมื่อเอาวัตถุประสงค์ของการเลือกใช้ตัวแปรเป็นที่ตั้ง จะพบว่าเราสามารถวัดค่าตัวแปรใดๆ ได้ 2 แนวทาง คือการวัดทางตรง และการวัดทางอ้อม (Direct and Indirect measurement)
การวัดทางตรงหมายถึง การวัดคุณลักษณะของสิ่งที่สนใจโดยใช้เครื่องมือวัดที่เป็นมาตรฐาน เช่น ขนาดพื้นที่ ยอดขาย ความเร็ว
ส่วนการวัดทางอ้อมหมายถึง การใช้ค่าวัดอื่นๆ เพื่อทดแทนค่าวัดทางตรงอย่างสมเหตุผล เช่น การวัดระดับความเจ็บปวดก่อน-หลังกายภาพบำบัดด้วยรูป Smiley Face การนับจำนวนวันทำงานที่ผ่านไปโดยไม่เกิดอุบัติเหตุ เพื่อสะท้อนถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
เคยสังเกตมั้ย ว่ารอบๆ ตัวเรา มีค่าวัดของตัวแปรไหนเป็นแบบวัดตรง หรือวัดอ้อมกันบ้าง ตัวอย่างในตารางข้างบน แสดงการวัดค่าตัวแปรที่สะท้อนให้เห็นถึงความพึงพอใจต่อการบริการของร้านอาหารด้วยการใช้คำถามที่อิงกับมาตรวัดแบบต่างๆ คิดว่าคำถามข้อไหนคือการวัดตรง ข้อไหนวัดทางอ้อมกันนะ
โฆษณา