27 ก.ค. 2022 เวลา 01:49 • ไลฟ์สไตล์
วิธีเลี้ยงลูกอย่างสั้นที่สุด
ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสารV Mag
คำถาม 4 ข้อที่ดีมาก
คำถามที่หนึ่งถามว่าครอบครัวคืออะไร ผมตอบว่าครอบครัวคือ “มีอย่างน้อยหนึ่งคนให้เด็กเล็กสามารถผูกพันด้วยในระยะยาว” เขาอนุญาตให้ตอบเท่านี้ ไม่ให้อธิบาย
ต่อไปนี้เป็นคำอธิบาย ผมคิดว่าสังคมปัจจุบันครอบครัวไม่มีโอกาสอยู่กันพร้อมหน้าอีกแล้ว สังคมเมืองพ่อแม่ต่างไปทำงาน สังคมชนบทก็เช่นกัน เด็กเล็กต้องอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย พี่เลี้ยงที่บ้านหรือพี่เลี้ยงที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ใน
สภาพสังคมที่ครอบครัวเสมือนแตกแยกหรือแตกแยกจริงเช่นนี้ จำเป็นมากที่สุดที่เด็กเล็กจะต้องผูกพันหรือสร้างสายสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ให้ได้อย่างน้อยหนึ่งคน คำว่า “สายสัมพันธ์” มาจากคำว่า attachment ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ลึกซึ้งและยาวนานตลอดกาลเสมือนแม่กับลูกเช่นนั้น วิธีการคือเลี้ยงเขาและเล่นกับเขาให้มากที่สุดบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้และแน่นอนว่ามิใช่ทำไปด้วยหน้าที่แต่ทำไปด้วยความรักที่เปี่ยมล้นและไม่มีเงื่อนไข
สายสัมพันธ์จะทำหน้าที่ “ดึงรั้ง” ให้เด็กอยู่กับเราทางใจตลอดไป ไม่เฉไฉเข้าหาอบายมุข มีความสามารถควบคุมตนเอง และมีความมุ่งมั่นที่จะพุ่งไปสู่อนาคต
ในอดีตเราเคยเรียกร้องให้คุณแม่ทำหน้าที่นี้ ตอนนี้ผมเรียกร้องใครก็ได้ทำหน้าที่นี้
คำถามที่สองถามว่าครอบครัวที่ดีเป็นอย่างไร ผมตอบว่าครอบครัวที่ดีคือครอบครัวที่มีเวลาให้กันมากๆ ปริมาณของเวลาเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ถ้าเรามีเวลาให้กันและกันมากอะไรๆก็ดีเอง พ่อแม่ที่มีเวลาให้ลูกเยอะๆจะเห็นทั้งส่วนที่น่ารักและส่วนที่น่ารำคาญของลูกๆ พ่อแม่ที่ไม่มีเวลาให้ลูก เข้าบ้านค่ำด้วยอารมณ์หงุดหงิด มักเห็นแต่ข้อเสียของลูก เช่น เก็บของไม่เรียบร้อย เวลาลูกทำความดี เช่น ช่วยล้างจาน กลับไม่ได้เห็นไม่ได้ชื่นชม ทำให้อะไรต่ออะไรดูแย่ลงไปเรื่อยๆ ปริมาณของเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญ
คำถามที่สามถามว่าคุณหมอตั้งเป้าหมายของการเลี้ยงลูกอย่างไร ผมตอบว่าผมอยากให้ลูกมีความสุข ไม่ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น และสามารถทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น อันที่จริงคำตอบสามข้อนี้คือความหมายกว้างๆของคนที่มีสุขภาพจิตดี ข้อแรกคือมีความสุข ซึ่งเถียงกันได้มากว่าแปลว่าอะไรและทำอย่างไร อันนี้ผมคิดว่าให้ลูกไปคิดเอาเอง
ข้อสองคือไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนอื่น
ข้อสามสำคัญที่สุดและอาจจะสำคัญกว่าสองข้อแรกคือสามารถทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ใจดีกับผู้คน ช่วยเหลือคนอื่น การให้ การบำเพ็ญประโยชน์ ความเมตตากรุณา เหล่านี้เป็นคุณสมบัติและความสามารถที่ต้องการการฝึกฝนให้เคยชินเป็นนิสัย ทำแล้วก็จะมีสุขภาพจิตดี ทำบ่อยๆก็จะเป็นคนมีความสุขไปเอง ข้อสามจึงสำคัญที่สุด
คำถามที่สี่ถามว่าคุณหมอเลี้ยงลูกอย่างไร ผมตอบว่าผมสอนให้ลูกรู้จักลำบากก่อนสบายทีหลัง ให้เขาทำงานบ้านก่อนแล้วค่อยไปเล่นได้ ให้เขาทำการบ้านก่อนแล้วค่อยดูหนังได้ ให้เขารู้จักสนุกแต่ก็ต้องรู้จักหยุดสนุกด้วย ให้เขามีความสามารถถอนตัวจากความสนุกกลับบ้าน พูดง่ายๆว่าให้เขามีความสามารถในการควบคุมตนเอง พูดสั้นๆคือมีวินัย
วินัยคือความสามารถในการควบคุมตนเองจากภายใน ซึ่งมิใช่เรื่องของศีลธรรมหรือจริยธรรม แต่เป็นเรื่องของสายสัมพันธ์ที่มีกับพ่อแม่และเป็นเรื่องทักษะคือ skill ดังนั้นวินัยมิได้เกิดจากการเทศนาสั่งสอนหรือถือศีลกินเจ มิได้เกิดจากครูใหญ่อบรมหน้าเสาธง แต่เกิดจากพ่อแม่
สามารถผูกพันกับลูก ลูกมีสายสัมพันธ์กับพ่อแม่ คือ attachment สายสัมพันธ์นี้มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นและทอดยาวไกลได้ไม่สิ้นสุด ลูกไปเรียนต่างจังหวัดหรือต่างประเทศก็ยังคงมีสายสัมพันธ์ต่อตรงมายังพ่อแม่อยู่เสมอ ลูกก็จะไม่เลี้ยวเข้าหาอบายมุขโดยง่าย เป็นคนมีความยับยั้งชั่งใจ จะฝ่าไฟเหลืองก็รู้จักเบรก จะนอนกับเพศตรงข้ามก็รู้จักป้องกันตัว พบเพื่อนชวนเสพยาก็คิดถึงพ่อแม่ก่อนตัดสินใจเสพ เป็นต้น จะเห็นว่าการควบคุมมาจากภายใน มิใช่มาจากภายนอก พ่อแม่ไม่มีปัญญาตามเขาทุกฝีก้าว
“ลำบากก่อนสบายทีหลัง” และ “ถอนตัวจากความสนุก” นอกจากจะเกิดจากวินัยภายในแล้ว ยังเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนและต้องการโค้ชคือพ่อแม่คอยฝึกฝน พ่อแม่ที่ปล่อยปละละเลยไม่ฝึกฝนทักษะเหล่านี้เป็นพ่อแม่ที่รักลูกแต่ปากหากทำร้ายลูกด้วยการกระทำ ในอนาคตลูกต้องเผชิญอบายมุขและปิศาจอีกมาก เขาต้องอดทนที่จะผ่านไปและอดทนที่จะไม่ลุ่มหลง ไม่มีใครเก่งเรื่องแบบนี้ตั้งแต่เกิด ต้องฝึก
สิ่งที่เด็กได้ไปไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบ
เขาได้เรียนรู้จาก 5 ทักษะชีวิตที่จำเป็นในอนาคต ได้แก่
✅Self-esteem : ทักษะที่จะทำให้เด็กได้เห็นคุณค่าในตัวเอง
✅Self-control : การควบคุมตนเอง เป็นทักษะที่ดีสำหรับการพัฒนาตน
✅Emotional control : ทักษะนี้เด็กทุกคนจะได้เรียนรู้การควบคุมอารมณ์
✅Goal directed persistence : ทักษะสำคัญที่จะช่วยให้เขาได้มองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
✅Growth mindset : สิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็ก ๆ มีความคิดที่เติบโตมากกว่าเดิม และได้ฝึกทักษะชีวิตที่จำเป็นทั้ง 5 ในการสร้างวินัยความรับผิดชอบที่แท้จริง วินัยที่เกิดขึ้นได้ภายในตนเอง ที่ทำให้เด็ก ๆ ได้ชัดเจนใน
“หน้าที่ และ เป้าหมาย”✨
โฆษณา