17 ส.ค. 2022 เวลา 10:17 • สุขภาพ
ฉันจะเล่าให้ฟัง“ความสุขของหัวใจ คือการให้ไม่สิ้นสุด”
Volume: ฉบับที่ 45 เดือนกรกฎาคม 2565
Column: Behind the Scene
Writer: ษาลิษา กลั่นแตง สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ฤดูฝนเมื่อมวลเมฆเริ่มก่อตัวเป็นกลุ่มก้อนอากาศจะขมุกขมัว บางความทรงจำเลือนรางก็ค่อย ๆ แจ่มชัดราวกับคราบไคลของกาลเวลาได้ถูกชะล้างออกไป ฉันนั่งริมหน้าต่างห้องเพ่งมองสายฝนโปรยลงมา
ตึกสูงตรงแยกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิคือจุดหมายการเดินทางของเด็กหญิงอายุ 15 ปี ผู้ผ่านประสบการณ์หยุดหายใจถึงสิบครั้งในชีวิต
และด้วยความพยายามที่ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตาของทีมแพทย์ “น้องหนู” ก็กลับมาหายใจได้อีกครั้ง และอีกครั้ง
ที่เหนือกว่าปาฏิหาริย์ใดใดนั้นก็คือ “หัวใจของแม่” แม่ผู้ทุ่มเททั้งชีวิตและไม่เคยถอดถอนใจเลยสักนาที ตลอดเวลา 4 ปีแห่งความทุกข์ทับถมที่ต้องเห็นลูกเจ็บปวด และนี่แหละเรื่องที่ฉันจะเล่าให้ฟัง
พ.ศ. 2561 ณ จังหวัดชัยภูมิ “น้องหนู” เป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ชีวิตของเธอในความเป็นจริงอาจแตกต่างออกไปจากเด็กผู้หญิงธรรมดารุ่นเดียวกัน ความแตกต่างนั้นถูกบันทึกในประวัติการรักษาจากสถาบันการแพทย์แห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ว่า
น้องหนูมีอาการเหนื่อยง่าย เดินขึ้นบันไดแล้วเหนื่อยมากขึ้น เวลาวิ่งออกกำลังกายก็จะเป็นลมบ่อย น้องหนูมีเพื่อนไม่มากนักเพราะต้องหยุดเรียนหลายครั้ง
เมื่อมีนัดพบแพทย์ที่โรงพยาบาล คุณหมอบอกว่าหัวใจน้องหนูเต้นผิดจังหวะ
หัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นอย่างไรหนอ
คุณแม่เฝ้าถามตัวเอง จนวันหนึ่งในช่วงปิดเทอม คุณแม่พาน้องหนูไปตรวจเหมือนทุกครั้ง และครั้งนี้คุณหมอให้น้องหนูนอนโรงพยาบาลทันที
“คนไข้ มีหัวใจโตนะครับคุณแม่ หมอทำคลื่นสะท้อนเสียงหัวใจแล้วพบว่ามีการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มีภาวะแพ้ภูมิตัวเองนะครับ”
คุณแม่เห็นแค่ริมฝีปากคุณหมอขยับขึ้นลง ได้ยินแค่เสียงทุ้มต่ำของคุณหมอ แต่สมองส่วนการรับรู้กลับไม่ส่งกระแสประสาทใดใด ในนาทีนั้นมันว่างเปล่า สิ่งเดียวที่เข้าใจคือน้องหนูจะต้องนอนโรงพยาบาล
คุณแม่เล่าว่าในครั้งแรกที่น้องหนูนอนโรงพยาบาลนั้นได้เปลี่ยนการใช้ชีวิตของคุณแม่ไปอย่างสิ้นเชิง
น้องหนูนอนโรงพยาบาล 21 วันแล้ว คุณหมอและพยาบาลวนเวียนเข้าออกห้องพัก ตรวจเยี่ยมอาการเป็นระยะ
วันหนึ่งน้องหนูถ่ายเหลว 2 ครั้ง บ่นรู้สึกเจ็บหน้าอกอีกแล้ว เวียนศีรษะด้วย ขณะกำลังลุกเดินไปเข้าห้องน้ำ เสียงโครมดังขึ้นไม่ไกล แม่และพ่อรีบวิ่งไปดูก็พบว่าน้องหนูล้มลงอยู่ที่พื้น ไม่มีรอยเลือด ทว่าน้องหนูหยุดหายใจ
คุณแม่ตะโกนเรียก “คุณหมอคะช่วยลูกหนูด้วย !” คุณพ่อรีบกดกริ่งเรียกพยาบาล ทั้งหมอและพยาบาลหลายคนวิ่งมาที่ห้องอย่างรวดเร็ว
“คนไข้ไม่รู้สึกตัว ไม่มีชีพจร” จากนั้นใครสักคนเข้ามาโอบไหล่คุณแม่ บอกให้รอด้านนอกก่อน ได้ยินใครอีกคนพูดว่าทีมแพทย์กำลังจะปั๊มหัวใจ คุณแม่ขืนตัวไว้ไม่ยอมออกจากห้องจนคุณพ่อพูดว่า “ไม่เป็นไรหรอกแม่ ลูกอยู่กับหมอแล้ว”
สายน้ำเกลือแขวนระโยงระยางที่แขนทั้งสองข้าง ทุกคนในห้องดูเร่งรีบวุ่นวาย อุปกรณ์มากมายถูกเคลื่อนย้ายมาที่ห้อง จอภาพที่เหนือขอบเตียงมีตัวเลขสีแดงสลับเขียวตลอดเวลาและในที่สุดกราฟเส้นบนจอก็ไม่มีการขยับขึ้นลงแต่อย่างใด จอภาพส่งเสียงเตือนถี่ ๆ ต่อเนื่องยาวนาน ก่อนที่ม่านกระจกจะถูกปิด
คุณแม่ร้องขอในใจ “กลับมานะลูก กลับมาหาแม่” ร่างกายคุณแม่เกร็งกระตุกทุกครั้งที่ได้ยินเสียงก้องสะท้อนจากในห้อง คุณแม่ทำได้แค่รอและภาวนา
คุณพ่อไม่ปล่อยมือจากคุณแม่เลย ไม่รู้เวลาผ่านไปนานแค่ไหนแต่คุณแม่ก็ยังเฝ้ามองผ่านประตูที่ปิดนั้นอย่างไม่ละสายตา กระทั่งคุณหมอเปิดประตูออกมาและพูดว่า “คนไข้ปลอดภัยแล้วนะครับ”
หัวใจคุณแม่พองโต น้ำตามาจากไหนไม่รู้มากมาย สองมือพนมยกไหว้คุณหมอ “ขอบคุณนะคะ ขอบคุณนะคะ ขอบคุณทุกคนเลยค่ะ” คุณแม่ยิ้มทั้งน้ำตา เจ้าหน้าที่เวรเปลและคุณพยาบาลเข็นเตียงน้องหนูออกมาจากห้อง น้องหนูถูกย้ายไปอยู่หอพักผู้ป่วยวิกฤตหัวใจพร้อมท่อช่วยหายใจ ตอนนั้นเองที่คุณแม่เล่าว่าหัวใจคุณแม่ก็เหมือนจะหลุดลอยตามเตียงที่เข็นออกไป แต่ทุกข้อความข้างต้น ก็เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งและอีกครั้ง
น้องหนูถูกส่งตัวมารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีในที่สุด จนวันนี้ก็ล่วงเข้าปีที่ 4 แล้ว
น้องหนูเมื่อแรกเข้ามาตรวจที่หน่วยตรวจหัวใจล้มเหลว ทุกคนในทีมตื่นเต้นกับการได้พบน้องมาก นั่นคือจากประวัติเมื่อน้องถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี อาการของน้องวิกฤตเหลือเกิน ทีมเชี่ยวชาญเฉพาะทางทั้งจากศัลยกรรมหลอดเลือด ทีมหัวใจล้มเหลว แพทย์ดมยาสลบ พยาบาลเชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่าง ๆ ร่วมระดมความรู้ ความคิด และมุ่งมั่นหาวิธีรักษาโรคหัวใจของน้องหนูอย่างเต็มความสามารถ
กระทั่งทีมเฉพาะกิจนั้นเลือกการใส่เครื่องช่วยพยุงหัวใจและปอดเทียมในการรักษา นั่นหมายความว่าหัวใจและปอดของน้องจะได้หยุดพัก เครื่องจะทำหน้าที่แทนหัวใจและปอด ก้าวข้ามขีดจำกัดของธรรมชาติด้วยวิทยาการที่อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาลเฉพาะทาง เจ้าหน้าที่เทคนิครังสี ทีมเภสัชกร และผู้มีความสามารถในโรคที่เกี่ยวข้อง ต่างก็ทุ่มเทดูแลรักษาและพาน้องผ่านพ้นช่วงเวลาหมิ่นเหม่นั้นมาได้
จนถึงวันที่น้องจะมารับการรักษาตัวต่อที่หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก “น้องหนู” จึงเป็นที่สนใจของทุกคน เมื่อถึงเวลาได้พบกัน น้องหนูไม่สบตาและไม่พูดกับใครในทีมเลย อาจารย์แพทย์บอกกับคุณแม่ว่า การรักษาที่เหมาะสมที่สุดคือ “การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ”
พ.ศ. 2562 “ฉัน” ที่เพิ่งย้ายเข้ามาเป็นเด็กใหม่ของหน่วยตรวจหัวใจล้มเหลวพบว่า หน่วยตรวจหัวใจล้มเหลวเป็นครอบครัวเล็ก ๆ ของคนทำงานที่เรียกตัวเองว่าทีมสหสาขาวิชาชีพ หน่วยตรวจของเรามีชื่อเล่นไม่เป็นทางการอีกชื่อหนึ่งว่า คลินิกใจสบาย
ประกอบด้วยอาจารย์แพทย์ใจดี กระตือรือร้น แพทย์ต่อยอดประจำบ้านน่ารัก พี่น้องพยาบาล ป้าผู้ช่วยพยาบาล น้องเภสัชกร และเพื่อน ๆ นักกำหนดอาหาร ทุกคนล้วนมีความเชี่ยวชาญในงานของตนเอง มีความรู้ในการดูแลที่จำเพาะกับภาวะหัวใจล้มเหลว พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ ๆ เป็นความสนุกในการทำงาน
ภายในบ้านหลังเล็กที่มีรอยยิ้มอบอุ่น มีเสียงหัวเราะ บางครั้งเราก็ฮัมเพลงกันเบา ๆ แม้ว่ามันจะเพี้ยนหรือต่อให้เราจะวุ่นวายวิ่งวนไปมาตามห้องตรวจแก้ไขเรื่องนั้นเรื่องนี้ทำทุกอย่างในงานของเราเพื่อคนไข้ไม่รู้กี่หนกี่รอบก็ตาม เจ้าความวุ่นวายที่มีความสุขนั้นเองที่ทำให้บ้านเป็นบ้าน
บ้านที่มีความสุข และความสุขนั้นก็แบ่งปันไปยัง คุณลุง คุณป้า น้องสาว พี่ชาย หลาย ๆ คน ที่เราเรียกว่า “คนไข้” ด้วยเช่นกัน ความคุ้นเคย จริงใจ เป็นกันเองระหว่างเจ้าหน้าที่ คนไข้ และญาติ ทำให้ทุกครั้งที่คลินิกเปิดทำการคือวันพุธช่วงบ่าย เป็นเวลาของครอบครัว เราเรียกว่าเป็นความสัมพันธ์พิเศษที่มากกว่าการเป็นผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ฉันไม่ได้คิดไปเองเพราะคนไข้ของฉันก็คิดแบบนั้นด้วยเช่นกัน (สังเกตได้จากผลไม้ประจำฤดูกาลที่คนไข้หอบหิ้วมาฝากเสมอ)
“GOT 7” เป็นศิลปินกลุ่มผู้ชายที่ทำให้ระยะห่างระหว่างฉันที่เป็นพยาบาลกับน้องหนูแคบลง ซึ่งค้นพบระหว่างการซักประวัติในการมาตรวจ ขณะที่ฉันถามอาการและน้องหนูมุ่งมั่นไม่ละสายตาจากมือถือ แล้วเราก็คุยเรื่องการชั่งน้ำหนักตัวสลับกับเพลงดังของศิลปินข้างต้นแต่มันได้ผลนะ
ในขณะที่ทีมเภสัชกรก็ค้นพบว่าจะเข้าถึงน้องหนูได้ต้องให้พี่เภสัชกรคนสวยเข้าไปพูดคุยประเมินการใช้ยา และทีมโภชนาการก็ค้นพบว่าการชวนคุยเรื่องขนมที่อร่อยก่อนแล้วค่อย ๆ บอกว่าอาหารอันตรายมีอะไรบ้างเป็นแนวทางในการเข้าถึงน้องหนู และแล้วเราทั้งทีมก็เข้าถึงปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขในการมาตรวจของหนูได้มากขึ้น จนกว่าจะถึงวันเปลี่ยนหัวใจดวงใหม่
เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 น้องหนูมาตรวจที่โรงพยาบาลรามาธิบดีตามนัด คุณแม่เล่าว่าก่อนมาตรวจครั้งนี้ น้องหนูหยุดหายใจและต้องปั๊มหัวใจช่วยฟื้นคืนชีพอีกครั้งที่โรงพยาบาลตันสังกัด จังหวัดชัยภูมิ
น้องหนูดูอ่อนเพลียมาก หายใจแรง ขาสองข้างบวม แววตาอ่อนล้า อาจารย์แพทย์ให้น้องหนูนอนโรงพยาบาลทันที คุณแม่เข้าใจดี และครั้งนี้เมื่อคุณแม่กลับบ้านที่จังหวัดชัยภูมิ น้องหนูก็หยุดหายใจอีกครั้ง
จนในที่สุดวันที่ครอบครัวของน้องหนูรวมถึงสมาชิกที่หน่วยตรวจหัวใจล้มเหลวรอคอยก็มาถึง น้องหนูได้หัวใจแล้ว
ผู้ให้หัวใจดวงนี้ประสบอุบัติเหตุ และการให้ครั้งนี้ของคนหนึ่งคนได้ต่อหนึ่งชีวิตของน้องหนูและผู้ป่วยอีกหลายคนที่กำลังรออวัยวะด้วย เป็นการให้ครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน
น้องหนูนอนโรงพยาบาลครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 132 วัน คุณแม่ลางานที่ต่างจังหวัดมาเยี่ยมเป็นระยะ คุณพ่อจะดูแลต่อเนื่องไม่ห่าง วันที่น้องได้หัวใจนั้น คุณแม่เล่าว่าคุณแม่เพิ่งกลับจากไปทำบุญกับคุณยาย เมื่อคุณพ่อโทรไปแจ้งว่าน้องได้หัวใจแล้วนั้น คุณแม่ตื้นตันใจและตื่นเต้นมาก ขับรถพาคุณยายกลับบ้านไม่ถูก เมื่อได้สติก็รีบจองตั๋วรถโดยสารเที่ยว 3 ทุ่ม และเดินทางมาถึงที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เวลาประมาณตี 3
ซึ่งน้องหนูก็ออกจากห้องผ่าตัดพอดี อาจารย์แพทย์ผ่าตัดศัลยกรรมหลอดเลือดหัวใจและอาจารย์แพทย์หัวใจล้มเหลวออกมาจากห้องผ่าตัดเดินตรงมาที่คุณแม่ และพูดว่า “น้องปลอดภัยนะคุณแม่” คุณแม่ยืนยิ้มทั้งน้ำตาตั้งจิตตั้งใจว่าจะทำแต่บุญกุศลและสิ่งดีดีต่อจากนี้ไป
บนเส้นทางเดินชีวิต การได้มีเพื่อนร่วมทางที่ดี แบ่งปันช่วงเวลา รอยยิ้ม หรือแม้กระทั่งน้ำตา ความร่วมมือร่วมใจ การมีเข็มมุ่งในทิศทางเดียวกันคือช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถนั้น จะทำให้ทุกปัญหาผ่านพ้นไปได้ในที่สุด..
น้องหนูอาการค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ เราทุกคนที่หน่วยตรวจหัวใจล้มเหลวเฝ้าติดตามข่าวอาการของน้องหนูจากอาจารย์แพทย์ที่มีโอกาสไปเยี่ยมตรวจที่หอผู้ป่วยเนื่องจากน้องหนูมีภูมิคุ้มกันต่ำ จากการได้รับยากดภูมิและมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายหลังผ่าตัด จึงจำเป็นต้องจำกัดการเข้าเยี่ยม
คุณแม่จะส่งรูปในหอผู้ป่วยมาให้ดูผ่านไลน์กลางของพยาบาลประสานงานหน่วยตรวจหัวใจล้มเหลวเป็นระยะ การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ คือการผ่าตัดใส่หัวใจใหม่เข้าไปในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจระยะสุดท้ายเพื่อให้ทำงานแทนหัวใจดวงเดิม ที่นิยมทำในปัจจุบันคือใช้หัวใจของผู้เสียชีวิตใหม่ ๆ นำมาผ่าตัดใส่เข้าไปแทนที่หัวใจดวงเดิม
น้องหนูเป็นผู้ป่วยเปลี่ยนหัวใจรายที่ 10 ของโรงพยาบาลรามาธิบดี วันนี้น้องหนูเดินมาตรวจที่หน่วยตรวจหัวใจล้มเหลวอีกครั้ง ทุกคนในทีมยิ้มแย้ม ตื่นเต้น มีความสุขร่วมไปกับครอบครัวของน้องหนูด้วย แต่ความรู้สึกทั้งหมดทั้งมวลในครั้งนี้แตกต่างไปจากวันแรกที่เราพบกัน
นั่นคือในครั้งนี้เหมือนเราได้ชีวิตหนึ่งกลับคืนมาและเราทั้งทีมต่างรู้ว่าส่วนหนึ่งของความสำเร็จนั้นมีความตั้งใจ ความทุ่มเท ของพวกเราทุกคนรวมอยู่ด้วย นี่คงเรียกได้ว่าเป็นความสุขจากการทำงานที่มองเห็นและสัมผัสได้จริง ๆ
เมื่อฉันมองย้อนกลับไปยังวันแรกจนถึงวันนี้ก็พบว่า ฉันเองก็เช่นกันที่ได้เดินทาง เรียนรู้ และเติบโตไปพร้อมกับน้องหนูและครอบครัวด้วย บนเส้นทางชีวิต อาจพบเจออุปสรรคมากมาย แต่วันหนึ่งก็จะคลี่คลายได้
คุณแม่เคยบอกว่า “อย่าหมดหวัง” และความเชื่อ ความหวัง ความศรัทธาของคุณแม่ต่อโรงพยาบาลรามาธิบดีและทีมสุขภาพนั้นเป็นแรงผลักดันให้ทุก ๆ คนทำหน้าที่ของตนเองอย่างไม่ย่อท้อ และฉันจะทำให้ดีที่สุดในทุกครั้งที่ได้มีโอกาสดูแลผู้ป่วย
บนเส้นทางเดินชีวิต การได้มีเพื่อนร่วมทางที่ดี แบ่งปันช่วงเวลา รอยยิ้ม หรือแม้กระทั่งน้ำตา ความร่วมมือร่วมใจ การมีเข็มมุ่งในทิศทางเดียวกันคือช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถนั้น จะทำให้ทุกปัญหาผ่านพ้นไปได้ในที่สุด ไม่ว่าเรื่องนั้นจะยากเย็นเพียงใด วิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงก้าวไกล แต่หัวใจของการเป็นผู้ให้นั้นจะไม่สิ้นสุด
ษาลิษา กลั่นแตง
ฝนหยุดตกแล้ว อากาศรอบตัวเย็นสบาย สายลมอ่อน ๆ พัดเอื่อยมาสัมผัสโอบกอดความรู้สึก ความทรงจำได้เติมเต็มพลังใจให้อีกครั้ง ฉันนั่งริมหน้าต่างห้องยิ้มให้สายรุ้งงาม
โฆษณา