28 ก.ค. 2022 เวลา 02:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“เมมเบรน” เทคโนโลยีผลิตน้ำประปาที่สะอาดกว่า ปลอดภัยกว่า ในมาตรฐานระดับโลก
TTW: โรงผลิตน้ำประปากระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร
หากพูดถึงกระบวนการผลิตน้ำประปามาตรฐานในประเทศไทย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นระบบทรายกรอง (Conventional)
หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการนำน้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาผ่านการตกตะกอน (Clarification) ผ่านการกรอง (Filtration) และการฆ่าเชื้อโรค (Disinfection) จนกลายมาเป็นน้ำประปา
ซึ่งระบบการกรองประเภทนี้ก็จะผ่านมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) ได้เป็นน้ำประปาที่สะอาด และมีคุณภาพออกมาให้ได้ใช้กันในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว
(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการผลิตน้ำประปา --> https://bit.ly/3S1bgvg)
Source: TTW Company Presentation
แต่ด้วยปัจจุบันน้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติมีคุณภาพที่เปลี่ยนแปลงไป และอาจจะทำให้ต้องเผชิญกับคุณภาพที่ด้อยลงได้ในบางช่วงเวลา
ทำให้การมองหาเทคโนโลยีที่ดีขึ้นในการผลิตน้ำประปาจะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้น้ำว่าจะได้ใช้น้ำประปาที่สะอาด และปลอดภัย
ขอยกตัวอย่าง “โรงผลิตน้ำประปากระทุ่มแบน” จ.สมุทรสาคร หนึ่งในโรงผลิตน้ำประปาของบริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW
ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้กับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ในพื้นที่สมุทรสาคร-นครปฐม และปทุมธานี-รังสิต
เนื่องด้วยการเติบโตของทั้งภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และครัวเรือน รวมไปถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนเมืองในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นเขตปริมณฑล
TTW จึงได้ก่อสร้างโรงผลิตน้ำประปากระทุ่มแบน ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ขึ้น (แล้วเสร็จปี 2560) เพื่อเป็น Backup Plant ให้กับโรงผลิตน้ำประปาบางเลน จ.นครปฐม
TTW: โรงผลิตน้ำประปากระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร
โดยได้นำเทคโนโลยี “เมมเบรน” (Membrane) ระดับ Ultrafiltration (UF) เข้ามาใช้ร่วมกับระบบทรายกรอง (Conventional) แบบเดิมในลักษณะแบบ Hybrid (ผสมผสานทั้ง 2 ระบบตามความเหมาะสม)
## แล้ว “เมมเบรน” คืออะไร? ##
-- มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง? --
“เมมเบรน” เป็นการกรองแยกของแข็งแขวนลอย หรือของแข็งละลายออกจากของเหลว โดยการสูบอัดน้ำดิบผ่านเยื่อเมมเบรนที่มีช่องเปิดหรือรูพรุน (Pore Size) ขนาดเล็กมากๆ เพียง 0.01 ไมครอน
ซึ่งสามารถขจัดสิ่งปนเปื้อน เชื้อโรค ไวรัส และแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้น้ำประปาที่ผ่านกระบวนการนี้ “สะอาดกว่า”
Source: Youtube "TTW Plc Channel"
อีกทั้งยังลดสารเคมีในกระบวนการผลิต ทำให้ “ปลอดภัยกว่า” เดิม ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นนับเป็น “มาตรฐานระดับโลก” เช่นเดียวกับที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และสหภาพยุโรป
นอกจากนี้ ยังมีข้อดีก็คือการควบคุมเป็นแบบอัตโนมัติทำให้ใช้แรงงานคนน้อย และใช้พื้นที่ก่อสร้างน้อยกว่าเมื่อเทียบกับแบบทรายกรองในอัตราการผลิตที่เท่ากัน
รวมถึงสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ง่ายกว่า และในอนาคตหากต้องการยกระดับคุณภาพน้ำประปาให้สูงขึ้น ก็เพียงแค่เปลี่ยนชนิดของเมมเบรนให้รูพรุนที่ขนาดเล็กลง ซึ่งก็แน่นอนว่าสามารถทำได้ง่าย
Source: Youtube "TTW Plc Channel"
อย่างไรก็ตาม เมมเบรนเองก็มีข้อจำกัดอยู่พอสมควร เพราะไม่สามารถกำจัดความเค็ม สี และสารอินทรีย์ได้ รวมถึงน้ำตกตะกอนที่เข้าสูระบบจะต้องมีการควบคุมคุณภาพอย่างเคร่งครัดกว่าระบบทรายกรอง
หากน้ำตกตะกอนมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ก็อาจจะต้องเพิ่มระบบกรองหยาบ เช่น Fine Screen ขนาด 1 มิลลิเมตรเข้ามาช่วยก่อนส่งเข้าสู่ระบบเมมเบรน
อีกทั้งถ้ากระบวนการที่เกี่ยวข้องไม่สมบูรณ์ ก็จะพาให้ติดขัดไม่สามารถเดินระบบได้ เช่น ระบบลมไม่ทำงาน ระบบจ่ายสารเคมีสำหรับล้างชำรุด เป็นต้น
Source: TTW
นอกจากนี้ ระบบเมมเบรนมีค่าบำรุงรักษาที่สูง รวมถึงผู้ที่ควบคุมกระบวนการผลิต และผู้ซ่อมแซมจะต้องมีความรู้ และความเชี่ยวชาญสูง
พร้อมกับการที่ต้องมีการเปลี่ยนเมมเบรนทุกๆ 5 ปี ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยในการผลิตสูงกว่าระบบทรายกรองแบบปกติ
ท้ายที่สุดแล้ว...ก็คงต้องคำนึงถึงความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีเมมเบรนเข้ามาใช้อย่างเหมาะสม โดยพิจารณาถึงความจำเป็นในแต่ละช่วงเวลา
ความจำเป็นของผู้ใช้น้ำในแต่ละประเภทว่าต้องการความสะอาด และคุณภาพที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งก็ต้องมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นตามมาด้วยนั่นเอง
ที่มา:
- บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน)
- Youtube: TTW Plc Channel --> https://bit.ly/3cDLe0R
- การประปานครหลวง / เอกสารสรุปการศึกษาดูงาน Chestnut Avenue Waterworks, Singapore
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited
โฆษณา