1 ส.ค. 2022 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Recession ที่อาจมาถึง จะกระทบคนรวย-คนจน ไม่เท่ากัน
ถ้าเราติดตาม ข่าวเศรษฐกิจ ช่วงนี้อยู่
เราน่าจะได้เห็น นักวิเคราะห์หลายคน พูดถึงความเสี่ยง
ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในอนาคตอันใกล้นี้
2
หากเกิด Recession ขึ้นจริง ก็ย่อมมีผลกระทบต่อทุกคนในสังคม
แต่ไม่ใช่ทุกคน จะได้รับผลกระทบนั้นเท่ากัน
ความแตกต่างนี้ สะท้อนให้เห็นได้จากการเกิด Recession หลาย ๆ ครั้งในอดีต
โดยคนที่มีรายได้น้อย มักจะได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าว มากกว่าคนที่มีรายได้มาก
จึงทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน เพิ่มมากขึ้น
งานวิจัยของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ได้ศึกษาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้
ผ่านการเปรียบเทียบ ค่าสัมประสิทธิ์จีนี ในช่วงระหว่างและหลังการเกิด Recession เทียบกับช่วงที่เศรษฐกิจปกติ โดยศึกษาจาก Recession ที่เคยเกิดขึ้นมากว่า 40 ครั้ง ในประเทศพัฒนาแล้ว 12 แห่ง
ค่าสัมประสิทธิ์จีนี หรือดัชนีจีนี ถ้าให้สรุปแบบง่าย ๆ ก็คือ ดัชนีที่วัดความแตกต่างด้านรายได้ของแต่ละคนในสังคม โดยประเทศไหนที่มีดัชนีจีนียิ่งสูง แปลว่ารายได้ของแต่ละคนยิ่งแตกต่างกันมาก จึงมีความเหลื่อมล้ำมาก
นักเศรษฐศาสตร์หลายคน จึงใช้ดัชนีจีนี ในการวัดความเหลื่อมล้ำ เพราะตีความผลได้ง่าย
งานวิจัยดังกล่าวพบว่า ดัชนีจีนีทั้งในช่วงระหว่างและหลังการเกิด Recession จะปรับขึ้นเร็วกว่าถึง 2 เท่าโดยเฉลี่ย หากเทียบกับดัชนีจีนีในช่วงที่เศรษฐกิจปกติ
ซึ่งบ่งชี้ว่า Recession เป็นตัวเร่งให้เกิดการขยายตัว ของความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้
และที่สำคัญก็คือ ผลของ Recession ต่อความเหลื่อมล้ำนี้ยังคงมีอยู่ แม้เวลาจะผ่านไปแล้วมากกว่า 5 ปี
แล้วมีปัจจัยอะไรที่ Recession มีผลลบต่อความเหลื่อมล้ำนานขนาดนี้
ในช่วงที่เกิด Recession ย่อมมีพนักงานถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก เพราะบริษัทอยากลดรายจ่ายลง
แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว บริษัทก็ยังลังเลถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต
จึงยังไม่กล้าจ้างพนักงานกลับเข้าบริษัท ให้มากเท่ากับก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
แรงงานที่ถูกเลิกจ้างไปก่อนหน้านี้ จึงต้องยอมรับค่าจ้างที่น้อยลง เพื่อให้ได้งาน
อีกทั้งสถานการณ์ที่แรงงานล้นตลาด ยังส่งผลให้พนักงานที่มีค่าจ้างต่ำ ไม่สามารถต่อรองเพื่อขอขึ้นเงินเดือนได้อีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงรู้แล้วว่า Recession ส่งผลร้ายแรงต่อความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ขนาดไหน
แต่รู้หรือไม่ว่า ความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่ง (Wealth) ที่นับจากการถือครองสินทรัพย์นั้น
จะมีมากกว่าความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ (Income) เสมอ
เพราะว่าสินทรัพย์ส่วนใหญ่ในประเทศ จะถูกถือครองโดยผู้มีรายได้สูง นั่นเอง..
โฆษณา