27 ก.ค. 2022 เวลา 15:58 • ปรัชญา
ความลับของเจดีย์: “หงกง” (洪公)แห่งวัดราชโอรส
เจดีย์หินสลักใหญ่โตหน้าวัดราชโอรส มีมาแต่แรกสร้าง ซึ่งไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นเจดีย์บริวาร หรือเจดีย์เก็บธาตุอัฐิของผู้ใด จนไม่นานมานี้ สามเณรพีรพงษ์ ดิษฐ์เจริญได้ส่งรูปมาถามข้าพเจ้า ว่าที่ชั้นสองของเจดีย์เป็นลายสลักอักษรจีน มีความหมายว่ากระไร ข้าพเจ้าเลยให้อาจารย์ชาวจีนชื่อว่าอาจารย์เฉาซือหยวน (曹思远)ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตช่วยอ่าน อักษรนี้เป็นแบบโบราณ เนื้อความอ่านจากด้านขวามายังได้ซ้าย ไล่เป็นลำดับดังนี้ความว่า
๑. 赐偓雅老爷 福省พระราชทานแด่ออกญาผู้ใหญ่ มณฑลฟูเจี้ยน
๒. 泉郡 晋邑 英都เมืองเฉวียน อำเภอจิ้นอี่ ตำบลอิงตู
๓. 恩荣เป็นเกียรติยศ (อ่านจากขวามาซ้าย)
๔. 洪公真隐 หงกงผู้ถือพรต หรือ ท่านหงเจินอิ้ง
๕. 男尚德 仁 志 贤 宝 仝立石 ชายแซ่ซ่าง เต๋อ เหริน จื้อ เสี่ยน และเป่า ได้ก่อศิลานี้ไว้ หรือ ชายนามว่า ซ่างเต๋อ ซ่างเหริน ซ่างจื้อ ซ่างเสี่ยน และซ่างเป่า
๖. 时丙戌腊吉旦 ณ ปีปิงซู่เดือน ๑๒ ขึ้น ๑ ค่ำ หรืออาจจะหมายถึงวันมงคล แปลได้ ๒ แบบ
จากข้อความดังกล่าวจึงสันนิษฐานได้ว่าเจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง
แต่จริงๆเรื่องเบื้องหลังเจดีย์มีมากกว่านั้น สามารถไล่เป็นข้อๆได้ดังนี้
๑. “ออกญา” คำๆนี้เป็นคำเรียกขุนนางยศพระยาแบบเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา ในกรุงรัตนโกสินทร์เรียกกันโดยทั่วไปว่า “พระยา” แต่ในจารึกเขียนว่า “อ๋อญา” (偓雅) ฟังเสียงแบบฮกเกี้ยนได้ผ่านเว็ปไซด์ สะท้อนว่าผู้เขียนนี้ใช้ศัพท์โบราณ เก่าแก่ยิ่งไปกว่าภาษาเขียนภาษาพูดครั้งกรุงรัตนโกสินทร์
๒. คำว่า “เหล่าเย่ว์” (老爷) เป็นคำสุภาพ ใช้เรียกผู้มียศสูง หรือเรียกผู้มีอายุฝ่ายชายในครอบครัว ใช้เรียกเพื่อยกย่อง
๓. “จุน” (郡) อันมีความหมายว่าเขต เทียบกับสมัยหลังคือ “โจว” (州)อาจารย์ชาวจีนได้อธิบายว่าวิธีเรียกเช่นนี้เป็นวิธีเรียกเก่าก่อนสมัยราชวงศ์ชิง เรียกว่าระบบเรียกแบบ “จุนเสี่ยนจื้อ” (郡县制) โดยระบบเรียกแบบนี้ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ครั้งราชวงศ์หยวนแล้ว กลายเป็นระบบ “โจวเสี่ยนจื้อ” (州县制)
ยังมีศัพท์เก่าปรากฏอีกเช่นกัน ดัง “อี้” (邑) เทียบได้กับ เสี่ยน (县)แปลว่าอำเภอ
ด้วยเหตุนี้สมัยราชวงศ์ชิงควรจะเรียกว่า “เฉวียนโจว” (泉州) มากกว่า เฉวียนจุน (泉郡) สันนิษฐานว่าที่ตั้งของบ้านเกิดเจ้าคุณผู้ใหญ่นี้อยู่ในมณฑลฟูเจี้ยน เมืองจิ่นเจียง ตำบล อิงหลิน หมู่บ้านจิ้นอี่ (福建晋江市英林镇晋邑)
ทั้งนี้มีผู้อ่านมาเสนอเพิ่มเติมว่า “อี่” (邑)นี้ในพื้นที่เฉวียนโจวจะมี “อี่ทั้ง ๓” (三邑)ได้แก่อำเภอจิ้นเจียง (晋江)หนานอัน(南安)และ ฮุยอัน (惠安)
 
ซึ่งในอำเภอหนานอันมีตำบลชื่อว่า “อิงตู” (英都)ด้วย และมีสาแหรกตระกูลหงอีกเช่นกัน ดังนั้นอาจจะอยู่ในเมืองใกล้ๆคืออำเภอหนานอันตำบลอิงตู
จาก ๓ ข้อนี้สันนิษฐานได้ว่าผู้วายชนม์น่าจะเป็นคนฮกเกี้ยน ที่กลายเป็นขุนนางจีนมียศในกรุงสยาม และน่าจะยึดคติจีนดั้งเดิมมากกว่าจีนยุคปัจจุบัน ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะจีนโพ้นทะเลมักรักษาศัพท์เก่าๆไว้มากกว่าในจีนที่เปลี่ยนแปลงเสมอๆ แต่มันจะแปลกหน่อยเพราะคตินี้เก่าเหลือเกิน เพราะว่าระบบเรียกเมืองแบบ “จุนเสี่ยนจื้อ”
หรือไม่เช่นนั้นผู้สลักก็ดูจะไม่ใคร่นับถือธรรมเนียมยุคราชวงศ์ชิงเท่าไร ยึดธรรมเนียมจีนฮั่นดั้งเดิม
๔. คำว่าเป็นเกียตริยศ “เอินหลง” (恩荣) เหนือนามว่า “หงกงเจินอิน” (洪公真隐) แปลว่า “เจ้าคุณหงผู้ถือพรต” ท่านผู้นี้จะต้องเป็นคนดีมากจนกระทั่งได้พระราชทานคำว่าเกียตริยศ และน่าจะเป็นผู้ทรงศีลมาก จำมีคำว่า “ผู้ถือพรต” ตามหลังชื่อ
ทั้งนี้คำว่า “กง” (公) นอกจากจะหมายถึงบุรุษในเชิงยกย่อง ขณะเดียวกันยังใช้เป็นราชทินนามในจีน ส่วนตัวข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะเป็นราชทินนามจีนมากกว่า โดยคำว่า “กง” เป็นราชทินนาม ไม่ใช่แซ่ เหตุที่คิดเช่นนั้นจะอยู่ในบรรทัดต่อไป
๕. ชายแซ่ซาง เต๋อ เหริน จื้อ เสี่ยน เป่า ได้ก่อศิลานี้ไว้ ชื่อ ๕ ชื่อแต่ร่วมแซ่กัน ไม่น่าจะเป็นคนไม่รู้จักกัน แต่น่าจะเป็นญาติพี่น้องกัน โดยแซ่คือซาง และชื่อได้แก่ เต๋อ เหริน จื้อ เสี่ยน เป่า มีคำว่า “ร่วมก่อศิลา” (仝立石) ซึ่งอาจหมายถึงเจดีย์ศิลานี้ จากรูปการแล้วน่าจะเป็นคนพี่น้องร่วมบิดา ซึ่งน่าจะเป็นออกญาผู้เฒ่าที่เรียกว่า “หงกง” หรือถ้าจะออกเสียงแบบจีนแต้จิ๋วฮกเกี้ยนก็จะเป็น “อั๊งกง”
อยากรู้ว่าออกเสียงแบบท้องถิ่นต่างๆเป็นอย่างไรลองเข้าเว็ปไซด์นี้ได้ http://cn.voicedic.com/m/
๖. “ณ ปีปิงซู่เดือน ๑๒ ขึ้น ๑ ค่ำ” (时丙戌腊吉旦) ปีที่ใช้นี้ไม่ใช้รัชศกของราชวงศ์ชิง แต่ใช้วิธีคำนวณแบบจันทรคติของจีนที่เรียกว่า “แผนภูมิสวรรค์” หรือเรียกว่า “กานจือ” (干支) แผนภูมิสวรรค์ คือระบบเลขฐาน ๖๐ แบบวนรอบที่เขียนด้วยอักษรจีน ซึ่งประกอบด้วยส่วนย่อย ๒ ส่วน ได้แก่ ภาคสวรรค์ เรียกว่า "ราศีบน" มี ๑๐ ตัวอักษร (天干; tiāngān เทียนกาน) และภาคปฐพี เรียกว่า "ราศีล่าง" มี ๑๒ ตัวอักษร (地支; dìzhī ตี้จือ) แผนภูมิสวรรค์ใช้สำหรับการนับวันและปีแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในโหราศาสตร์ของจีน
นอกจากจีนแล้วประเทศในเอเชียตะวันออกอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ก็ใช้ระบบเลขนี้ด้วย
“ปีหนไท” ซึ่งเป็นระบบปฏิทินแบบไทโบราณที่เคยใช้ในอาณาจักรสิบสองปันนา ล้านนา ล้านช้าง และสมัยสุโขทัยตอนต้น
ซึ่งเชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากปฏิทินกานจือของจีนโบราณเช่นกัน เนื่องจากมีองค์ประกอบเหมือนกันทุกประการ และมีชื่อเรียกต่างกันเล็กน้อย เช่น ภาคสวรรค์ (แม่มื้อ) ได้แก่ กาบ ดับ ระวาย เมือง เปลิก กัด กด ร้วง เต่า ก่า (เทียบเท่ากับ เอกศก โทศก ตรีศก ในปัจจุบัน) และภาคปฐพี (ลูกมื้อ) ได้แก่ ใจ้ เปล้า ญี เหม้า สี ใส้ สะง้อ เม็ด สัน เร้า เส็ด ใค้ (เทียบเท่ากับ ชวด ฉลู ขาล ฯลฯ ในปัจจุบัน)
๗. ปีปิงซู่ (ปีปิงซู่) จะหมายถึงปีจอ แต่จะนับเป็นรอบๆรอบละ ๖๐ ปี ปีล่าสุดคือปี ค.ศ. ๒๐๐๖ ถ้าเราจะนับย้อนไปเรื่อยๆและให้ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะตรงกับ ค.ศ. ๑๘๒๖ เนื่องด้วยพระองค์ขึ้นครองราชย์สมบัติระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๒๔ – ๑๘๕๑
ทั้งนี้มีผู้อ่านมาร่วมเสนอความคิดเห็นเรื่องชื่อของดังนี้
“หงกงเจินอิ้ง” (洪公真隐)
แซ่หง (洪) (อั๊ง สำเนียงแต้จิ๋ว)
กง (公) อาจจะหมายถึงผู้ชาย
เจินอิ้ง (真隐) ที่แปลว่าผู้ถือพรต อาจจะเป็นชื่อของท่านก็ได้ครับ
เพราะมีระบุว่าท่านได้รับบรรณาศักดิ์เป็นออกญา ระบุไว้แล้ว ตรงส่วนนี้ก็น่าจะเป็นการสลักชื่อของท่านมากกว่า
หนานซาง (男尚) คำว่า “หนาน” (男) คือผู้ชาย หรือบุตรชาย ส่วนมากจะสลักชื่อของลูกชายบนป้าย
ซาง (尚) อาจจะเป็นชื่อพยางค์แรก หรือชื่อลำดับรุ่นของลูกๆทุกคน จึงสลักเพียงตัวเดียว แล้วตามด้วยชื่อลูกแต่ละคนในบรรทัดเดียวกัน ก็เป็นได้ครับ”
นอกจากนี้ผู้อ่านยังเอารูปหินสลัก ที่เป็นเรียงลำดับ แซ่ - เพศชาย - ชื่อมาเทียบ
ถ้าเป็นเช่นนี้ เจ้าคุณผู้นี้อาจจะมีชื่อว่า หงเจินอิ้ง (洪真隐)โดยลำดับรุ่นของท่านคือ “เจิน” (真)ขณะรุ่นบุตรคือ ลำดับ “ซ่าง” (尚)
ดังนั้นความหมายของจารึกอาจถอดความได้ว่า
“พระราชทานแด่ออกญาผู้ใหญ่ เกิด ณ มณฑลฟูเจี้ยนเมืองเฉวียน อำเภอจิ้น หมู่บ้านอิง เพื่อเป็นเกียรติยศแก่หงกงผู้ถือพรต โดยบุตรชายแซ่ซ่างนามว่าเต๋อ เหริน จื้อ เสี่ยน เป่า ได้ก่อศิลาณ ปีปิงซู่เดือน ๑๒ ขึ้น ๑ ค่ำ”
“พระราชทานแด่ออกญาผู้ใหญ่ เกิด ณ มณฑลฟูเจี้ยน เมืองเฉวียน อำเภอจิ้น หมู่บ้านอิงตู เป็นเกียรติยศแก่ท่านหงเจินอิ้งโดยบุตรชายนามว่า ซ่างเต๋อ ซ่างเหริน ซ่างจื้อ ซ่างเสี่ยน และซ่างเป่าได้ก่อศิลา ณ ปีปิงซู่เดือน ๑๒ ขึ้น ๑ ค่ำ”
ทั้งนี้ในกรณีถ้าท่านเจ้าคุณแซ่หง เมื่อสำรวจสาแหรกตระกูลหงพบว่ามีในเขตเมืองเฉวียนโจว อำเภอจิ้นเจียง ตำบลอิงหลินด้วย ถือว่าใกล้เคียงกับเนื้อความในจารึก
(洪氏-福建省泉州市晋江市英林镇字辈:亶兹孙子尔玉汝球溯源我祖肇于光州瞻斯英里乃奠厥攸诗书礼乐燕翼贻谋分支析派近远一俦掇科取第文采风流忠孝廉节令闻长悠谟烈昭垂亿万春秋后昆踵武仪式作逑日昌载炽克绍箕裘敬勖来许交勉家修名题麟阁身登瀛洲为国祯干德业炳彪永似以续弗愧前猷)
จากรายละเอียดเหล่านี้เรียกได้ว่าออกญาผู้นี้น่าจะเป็นตระกูลจีนโพ้นทะเลเก่าแก่ที่อยู่ในสยาม เหมือนดังงานเขียนของอาจารย์พิมพ์ประไพ พิศาลยบุตรเรื่อง “สำเภาสยาม ตำนานเจ๊กบางกอก” ได้เขียนไว้ว่าครั้งกรุงศรีอยุธยา ขุนนางจีนในสยามโดยมากเป็นขุนนางฮกเกี้ยน กระทั่งการแปลวรรณคดียังใช้สำเนียงฮกเกี้ยนเลย แซ่ของท่านน่าจะเป็นแซ่ซ่าง (尚) หรืออาจจะแซ่หง (洪) ดังนั้นถ้าอยากรู้ว่าท่านเป็นใครคงต้องลองสืบดูว่าแถววัดราชโอรสมีขุนนางจีนสยามใดมีแซ่ว่าแซ่ซางบ้าง หรือแซ่หงบ้าง
แต่สุดท้าย ท่านเจ้าคุณผู้ใหญ่ท่านนี้จะเป็นใคร คงต้องค้นหาต่อไป
ทั้งนี้เจดีย์อีกองค์มีจารึก แต่ถูกปูนทับไป ถ้าทางวัดบูรณะแล้วจะถอดความกันอีกครั้ง
ที่มา
【清朝时期的公、侯、伯分别是什么地位?待遇有何区别?-趣历史网】http://m.qulishi.com/article/202112/568982.html
โฆษณา