28 ก.ค. 2022 เวลา 11:46 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทดสอบฟอร์มาลินในอาหารทะเล
รศ.ดร. เพริศพิชญ์ คณาธารณา และ ผศ.ดร. โอภาส บุญเกิด
สถานวิจัยการวิเคราะห์สารปริมาณน้อยและไบโอเซนเซอร์
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
E-mail: proespichaya.k@psu.ac.th
ฟอร์มาลินหรือที่รู้จักกันดีในชื่อน้ำยาดองศพส่วนมากนิยมนำมาใช้ในการดองศพเพื่อไม่ให้ศพเน่าเปื่อย จากคุณสมบัติดังกล่าวทำให้มีพ่อค้าแม่ค้าและผู้ประกอบการบางรายลักลอบนำฟอร์มาลินมาใช้ในการแช่ผักและเนื้อสัตว์ต่างๆ เพื่อให้อาหารเหล่านั้นไม่เน่าเสียเร็ว เก็บได้นาน และดูสดอยู่เสมอ อาหารที่มักตรวจพบฟอร์มาลิน  ได้แก่ อาหารทะเลสด  ผักสด และเนื้อสัตว์ เป็นต้น
ซึ่งหากใช้ฟอร์มาลินในปริมาณมากเกินไปและมีการตกค้างในอาหาร ย่อมก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น เกิดอาการระคายเคืองและปวดแสบปวดร้อนที่ปากและคอ ผู้ที่มีความไวต่อสารนี้จะแสดงอาการปวดศีรษะ หายใจติดขัด แน่นหน้าอก การสัมผัสกับสารละลายฟอร์มาลินที่มีความเข้มข้น 2-10% เป็นเวลานานจะทำให้ผิวหนังอักเสบ นอกจากนี้ฟอร์มาลินยังถูกจัดให้เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์
จากความเป็นพิษดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีการตรวจวัดฟอร์มาลินในตัวอย่างอาหาร โดยวิธีการทั่วไปที่นิยมใช้วิเคราะห์ฟอร์มาลินได้แก่ เทคนิคทางโครมาโทกราฟี แต่เทคนิคดังกล่าวมีข้อจำกัดเนื่องจาก เครื่องมือที่ใช้มีราคาแพง ต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญในการวิเคราะห์ มีค่าบำรุงรักษาสูง และมีขนาดใหญ่
หลักการและขั้นตอนในการตรวจวัดฟอร์มาลิน
ดังนั้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์ และสะดวกในการใช้งาน จึงได้พัฒนาชุดตรวจวัดฟอร์มาลิน ที่สามารถเตรียมได้ง่าย มีราคาถูก สามารถใช้งานได้สะดวก พกพาได้ เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้ตรวจวัดฟอร์มาลินในอาหารทะเลและตัวอย่างอื่นๆ ซึ่งชุดทดสอบฟอร์มาลินที่พัฒนาขึ้นอาศัยการปฏิกิริยาระหว่างฟอร์มาลินกับรีเอเจนต์ที่เหมาะสม
คือ พาราโรซานิลีน โดยเมื่อฟอร์มาลินทำปฏิกิริยากับพาราโรซานิลีนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสีซึ่งสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าและสามารถวิเคราะห์เชิงปริมาณได้โดยการวัดค่าการดูดกลืนแสงด้วยเครื่องสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ ซึ่งใช้งานได้ง่าย และมีราคาไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมือชนิดอื่นๆ และเป็นเครื่องมือที่มีอยู่ทั่วไปในห้องปฏิบัติก
ชุดทดสอบฟอร์มาลินที่พัฒนาขึ้นอาศัยการทำปฏิกิริยาระหว่างฟอร์มาลินกับสารละลายพาราโรซานิลีนได้สารผลิตภัณฑ์ที่มีสีม่วง โดยผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นสามารถสังเกตการเปลี่ยนสีได้ด้วยตาเปล่าและสามารถวิเคราะห์เชิงปริมาณที่แน่นอนได้โดยการวัดค่าการดูดกลืนแสงที่ความยาวคลื่น 580 นาโนเมตร
ซึ่งมีขั้นตอนในการตรวจวัดดังแสดงในรูปที่ 1 โดยค่าการดูดกลืนแสงและความเข้มของสีเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของฟอร์มาลิน ดังรูปที่ 2 ชุดทดสอบที่พัฒนาขึ้นสามารถตรวจวัดฟอร์มาลินได้ในช่วงความเข้มข้นตั้งแต่ 5.0 ไมโครโมลาร์ ถึง 200 ไมโครโมลาร์ และมีขีดจำกัดการตรวจวัด 4.0 ไมโครโมลาร์
โฆษณา