29 ก.ค. 2022 เวลา 11:00 • ข่าวรอบโลก
‘ไฮฟอง’ ของเวียดนาม ประตูการค้าที่ไม่อาจมองข้าม
5
นคร ‘ไฮฟอง’ ไม่ใช่เพียงแค่เมืองชายฝั่งทะเลที่ใหญ่ที่สุดทางตอนเหนือของเวียดนาม แต่ยังเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของชาติ โดยจัดอยู่ในระดับเดียวกันกับ 5 เมืองของเวียดนาม ได้แก่ กรุงฮานอย, นครโฮจิมินห์, นครเกิ่นเทอและนครดานัง โดยมีพื้นที่ราว 1,527 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรราว 2.07 ล้านคน (ข้อมูล ณ ปี 2564) ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่คนอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดเป็นอันดับที่ 7 ของประเทศ
6
‘ทำเลที่เหมาะสม’ โดยตั้งอยู่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง ติดกับพรมแดนจีนและห่างจากกรุงฮานอยเพียง 121 กิโลเมตร ทำให้นคร ‘ไฮฟอง’ เป็นศูนย์กลางการค้าหลักแห่งหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นเมืองทางเหนือที่มีเส้นทางการขนส่งมากถึง 5 ประเภท ได้แก่ ทางรถไฟ, ทางถนน, ทางอากาศ, ทางแม่น้ำและทางทะเล ซึ่งข้อดีเหล่านี้ทำให้นคร ‘ไฮฟอง’ มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการผลิตขนาดใหญ่ นิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจต่างๆ ในทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
6
สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปี 2564 นคร ‘ไฮฟอง’ ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 1 ของประเทศ ในแง่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (GRDP) ที่แตะมูลค่า 13,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.38% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตต่ำเมื่อเทียบกับปี 2560-2562 เนื่องจากเผชิญวิกฤติโควิด 19 โดย นคร ‘ไฮฟอง’ เป็นหนึ่งใน 2 เมืองของเวียดนามที่มีอัตราเติบโต GRDP เป็นเลข 2 หลัก ในปี 2564
7
ขณะที่ ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างยังคงเติบโตเร็วที่สุดที่ 19.4% ในปี 2564 โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ภาคการก่อสร้างเติบโต 7.43% ส่วนภาคอุตสาหกรรมอัตราการเติบโตอยู่ที่ 20.75% ซี่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของนคร ‘ไฮฟอง’ โดยโครงสร้างเศรษฐกิจของนคร ‘ไฮฟอง’ ยังคงมุ่งไปสู่การพัฒนาให้กลายเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการร่วมกันสร้างการเติบโตให้ GDP ของเมือง
6
ขณะที่ภาคเกษตรกรรมจะค่อยๆ ลดลงไป ส่วนด้านการค้า ยอดการส่งออกทั้งหมดในปี 2564 อยู่ที่ราว 26,510 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.99% ขณะที่ ยอดการนำเข้าอยู่ที่ราว 25,770 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว
6
นอกจากนี้ ทางการท้องถิ่นยังให้ความสำคัญกับการยกระดับระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยวางแผนจะสร้างสะพานอีก 100 แห่ง ด้วยการลงทุนมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ท่าเรือ แหล็กเฮวี่ยน (Lach Huyen) ท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดทางตอนเหนือของเวียดนามจะขยายมากขึ้นด้วยการสร้างท่าเรือหมายเลขที่ 5 และ 6 ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะสามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าต่างๆ ได้ราว 100,000 DWT พร้อมอำนวยความสะดวกให้การขนส่งทางเรือจากทางตอนเหนือของเวียดนามสามารถส่งตรงไปถึงยุโรปและตลาดสหรัฐฯ ได้ด้วย
6
ส่วนทางด่วนฮานอย-ไฮฟอง และไฮฟอง-ฮาลอง ก็เป็นส่วนสำคัญของโครงการโครงสร้างพื้นฐานระดับภูมิภาค และเมื่อใดที่การก่อสร้างทางด่วน วังดุ่ง - หม่องก๋าย ในเมืองกว๋างนินห์แล้วเสร็จก็จะกลายเป็นทางหลวงที่ยาวที่สุดในเวียดนาม เชื่อมศูนย์เศรษฐกิจสำคัญต่างๆ, เขตอุตสาหกรรมและสนามบินนานาชาติในภาคเหนือ รวมถึงเส้น โหน่ยบ่าย (ฮานอย)- ก๊าตบี (ไฮฟอง) และวังดุ่ง (กว๋างนินห์) ขึ้นไปถึงด่านสากลหม่องก๋าย ซึ่งจะช่วยร่นเวลาและลดต้นทุนการขนส่งลง พร้อมส่งเสริมการค้าข้ามพรมแดนระหว่างเวียดนาม จีน และชาติสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ
6
ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากกระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม ในปี 2565 ระบุว่า นคร ‘ไฮฟอง’ เป็นเมืองที่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากที่สุดเป็นอันดับ 6 ในเวียดนาม โดยการลงทุนที่ลงทะเบียนแล้วมีมูลค่าราว 24,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2565 นคร ‘ไฮฟอง’ มีนิคมอุตสาหกรรม 12 แห่ง ที่เปิดดำเนินการซึ่งมีโครงการ FDI ราว 420 โครงการ โดยนักลงทุนต่างชาติมาจาก 36 ประเทศและดินแดนต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่นักลงทุนนั้นมาจาก ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน, สหภาพยุโรป, สหรัฐและไต้หวัน
6
อย่างไรก็ดี ด้วยข้อได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ พร้อมด้วยการยกระดับด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งจูงใจมากมายที่จะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมของนคร ‘ไฮฟอง’ ไม่เพียงแค่เสริมสร้างความแข็งแกร่งการเชื่อมโยงของเวียดนามกับห่วงโซ่อุปทานโลก แต่ยังทำให้ นคร ‘ไฮฟอง’ กลายเป็นหนึ่งใน ‘ทำเลชั้นเลิศ’ สำหรับนักลงทุนที่จะพิจารณาเคลื่อนย้ายการผลิตและค้าขายกับประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น
7
ผู้เขียน: ศิริอาภา คำจันทร์ Senior ASEAN Analyst
4
ติดตามช่องทางอื่นๆ ของ AEC Connect
4
#APEC2022COMMUNICATIONPARTNER
โฆษณา