Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
InfoStory
•
ติดตาม
1 ส.ค. 2022 เวลา 09:34 • ไลฟ์สไตล์
ชวนส่อง "โลกของไวน์ยุโรป" (ฉบับมือใหม่ หัดรู้จัก) 🍷🇪🇺🏰
“ไวน์ (Wine)🍷” เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพื่อน ๆ หลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์เชยชิมกันอยู่บ่อยครั้ง (บางคนอาจคุ้นเคยกับไวน์ มากกว่าเบียร์หรือพวกวิสกี้วอดก้าอีกนะ)
แต่ในขณะเดียวกัน เพื่อน ๆ หลายคนก็อาจรู้สึกว่า เออ ! เจ้าไวน์นี่มันเยอะอย่างแห่ะ
หลายประเภท หลากสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นไวน์แดง ไวน์ขาว ไวน์หวาน ไวน์มีฟอง บรั่นดี โอยย… 😵💫
หลายประเทศ ก็ด้วยนะ เพราะหลาย ๆ คนก็บอกว่าไวน์แดงของฝรั่งเศสคือที่สุด ! (แพงที่สุดก็ด้วย)
หรืออีกคนก็บอกว่า หยุดยึดติดกับไวน์โลกเก่า (ยุโรป) ได้แล้ว ต้องนี่เลย ไวน์แดงจากนาปาแวลลีย์ ! ไวน์โลกใหม่อเมริกันนี่สิ เด็ดสุด ! ✅🍷🇺🇸
ไม่ว่าจะไวน์โลกเก่าหรือโลกใหม่
แค่เอามาวาง แล้วจับให้หลับตาชิม… ถ้าไม่ใช่นักชิมไวน์ตัวยง ก็เป็นแยกไม่ออกแน่นอน (ของพวกเราแค่ไวน์แดงจากประเทศเดียวกัน แต่คนละสายพันธุ์องุ่น ก็แยกไม่ออกแล้วจ้า ฮ่า ๆ ว่าอันไหนเป็นอันไหน.. แห่ะ ๆ สารภาพก่อนเลย) 😵
พอได้ดื่มไวน์ดีดีตัวนึง ก็ร้องโอ้ว อร่อยนุ่ม ดีแห่ะ
พอได้ไปปลองดื่มตัวใหม่ ๆ อีก ก็อู้วว ! สุโค่ยเดสเนะ
ไป ๆ มา ๆ ก็..อ้าว ลืมตัวเก่าที่เคยดื่มไปแล้วซะงั้น ฮ่า ๆ …
ไม่พอนะ… เรื่องราวของแก้วไวน์ ก็แตกต่างกันไปอีกด้วย (แต่เรื่องนี้พวกเราเคยจัดทำภาพอินโฟเล่ามาแล้วนะ เดี๋ยวแปะให้ไปตามอ่านในคอมเมนต์)
จริง ๆ เรื่องเหล่านี้ พวกเราอยากจะบอกว่า มันคือความรู้สึกของพวกเราสองคนเองละ ฮ่า ๆ
✔️ ซึ่งโพสก่อน ๆ พวกเราก็ได้มีจัดทำเรื่องของพันธุ์ไวน์องุ่นแดง องุ่นขาวเรื่องแก้วไวน์ เรื่องฉลากไวน์ ไปแล้วเรียบร้อย ถึงแม้ว่าจะไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่ก็น่าจะช่วยคลายสงสัยในแบบมือใหม่ให้เพื่อน ๆ ได้อยู่
ทีนี้ ก็มาถึงเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศและไวน์กันบ้าง
คือ พวกเราเองก็อยากจะบอกว่า เรื่องราวไวน์ในแต่ละประเทศ ค่อนข้างกว้างและลึกม๊ากมาก รายละเอียดค่อนข้างเยอะพอสมควร
ฉะนั้นแล้ว ในโพสนี้ พวกเราจึงจะขอหยิบยกเรื่องราว เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในมุมมองของประวัติศาสตร์ต้นกำเนิด จุดเด่นของไวน์ในแต่ละประเทศที่ได้ทำการค้นหาและรวบรวมมาให้เพื่อน ๆ รับชมกัน ในสไตล์มือใหม่หัดทำความรู้จักเหมือนเดิมนะคร้าบ (เพราะพวกเราก็มือใหม่จริง ๆ นั่นละ ☺️🙏🙏)
แน่นอนว่า ด้วยความกว้าง(งงง)ของหัวข้อนี้
พวกเราเลยจะขอแบ่งเป็น 3 Part สำหรับซี่รี่ส์ “ส่องโลกของไวน์ ฉบับมือใหม่”
✅ ใน Part ที่ 1 หรือ ในโพสที่เพื่อน ๆ กำลังอ่านอยู่นี้ จะเป็นเรื่องราวของไวน์ยุโรป
ซึ่งเราขอเลือกเรื่องราวของประเทศฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน/โปรตุเกส, เยอรมนี
⏳ ส่วน Part ที่ 2 หรือ (ตอนต่อไป) จะเป็นเรื่องราวของไวน์โลกใหม่
ซึ่งเราขอเลือกเรื่องราวของทางฝั่ง แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย อเมริกาและอเมริกาใต้
อย่างไรก็ดี ยังมีเรื่องราวอีกหลายส่วนที่โพสนี้หรือซีรี่ส์ทั้ง 3 ตอน อาจไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมด
พวกเราจะค่อย ๆ ค้นคว้าและจัดทำเพิ่มมาให้เพื่อน ๆ อ่านกันสบายสมองเรื่อย ๆ เลยนะคร้าบบ
ถ้าพร้อมแล้ว ไปลุยกันแบบสบายสมองกันดีกว่า ! !
[ ต้นกำเนิดของเถาองุ่นจนมาถึงไวน์ บนโลกใบนี้ 🗺🍇 ]
ว่ากันว่า "ไวน์ (Wine)" เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดแรกของมนุษย์
เรื่องราวนี้ คงต้องย้อนกลับไปไกลมาก ๆ เลย
เมื่อประมาณ 10,000 ปีที่แล้ว มันเริ่มจากการที่ผลองุ่นที่สุก ตกลงจากต้นองุ่นลงมาสู่พื้นดิน
ทีนี้ น้ำตาลในองุ่นเกิดการหมักบ่มจนกลายเป็นไวน์ 🍇🌲
(ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานเกิน ไวน์องุ่นธรรมชาติเหล่านี้ อาจรวมกับออกซิเจนและสารอื่น ๆ (ยีสต์ จุลินทรีย์) ก็อาจกลายเป็นน้ำส้มสายชูไปได้)
ต่อมา มนุษย์ก็ได้บังเอิญมาชิมน้ำขังหมักที่เกิดจากองุ่น (ก่อนที่จะเป็นน้ำส้มสายชู) แล้วมนุษย์คนนั้นก็เริ่มมึนเมาและมีความสุข 🤤
จนกระทั่งมนุษย์ได้รู้จักกับการเกษตรและปศุสัตว์ ที่ทำให้สามารถปลูก/เก็บเกี่ยว ธัญพืช ผลไม้ และล่าสัตว์
สิ่งนี้ ทำให้มนุษย์เริ่มสังเกตถึงแอ่งน้ำแห่งความสุขลึกลับ ที่อยู่ใต้ต้นองุ่น 🤤🍇
เวลาต่อมา มนุษย์ก็รู้วิธีการทำน้ำหมักชนิดนี้ หรือ ที่เราเรียกกันว่า “ไวน์” นั่นเอง 🤭🍷
(ถ้าเปลี่ยนจากผลไม้ เป็นพวกธัญพืช ก็จะกลายเป็น “เบียร์” แทน)
อาจกล่าวได้ว่า มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้คิดค้นวิธีการผลิตไวน์… แต่ธรรมชาติตะหากละ เป็นผู้ทำให้มนุษย์ได้ค้นพบและนำกลไกไปศึกษาต่อ นั่นเอง
[ ผู้ค้นพบการหมักไวน์ คนแรก…(และคนต่อ ๆ มา) 📝 ]
(1) 7,000 ปีก่อนคริสตกาล - ชาวเจียหู (จีนโบราณ) ที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำหวางเหอ ได้ค้นพบวิธีการหมักธัญพืช ข้าวและผลไม้ (จากวิธีธรรมชาติ) 🇨🇳🌾
(2) 4,000 ปีก่อนคริสตกาล - ชาวอียิปต์โบราณ เริ่มนำดินเหนียวมาปั้นเป็นไหดินเผาทรงรี เพื่อทำการหมักเก็บองุ่น และได้มีการสลักปีที่ผลิตและชื่อผู้ผลิต ไว้ที่ข้างหม้อดินเผา 🇪🇬🏺
จนว่ากันว่า นี่ละ ! คือต้นกำเนิดของการหมักไวน์(และฉลากไวน์)
(3) 1,400 ปีก่อนคริสตกาล - ไวน์องุ่น เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ชาวกรีก โบราณที่อาศัยอยู่ในเมืองเอเธนส์ ได้ประดิษฐ์แอมโปบรา (Amphora) หรือถังดินเหนียวเห็บไวน์ ที่มีรูปทรงรี ก้นแหลมเอาไว้ดักตะกอน ⚱️🇬🇷
โดยชาวกรีกโบราณเคยบอกไว้ว่า การดื่มไวน์เพียว ๆ เลยเนี่ย มันค่อยข้างป่าเถื่อนมาก เพราะไวน์เพียว ๆ จะเปลี่ยนให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ป่า
หากจะดื่มแบบมีอารยธรรมมนุษย์ ต้องดื่มไวน์ + น้ำเปล่า โดยจะต้องผสมในเครเตอร์ (Krater) แล้วนำมาแจกจ่ายเพื่อดื่มเพียงเท่านั้น 🍷+💧
ซึ่งเจ้าวัฒนธรรมดื่มไวน์ + น้ำ ก็ได้ถูกส่งต่อจนมาถึงจักรวรรดิโรมัน เลยทีเดียว
Amphora หน้าตาเป็นแบบนี้
(4) 900 ปีก่อนคริสตกาล - ชาวยุโรปตอนเหนือ ได้รู้จักกับการประดิษฐ์ถังหมักบ่มที่ทำจากไม้โอ้ค
(5) 200 ปีก่อนคริสตกาล เป็นต้นมา - ชาวโรมันโบราณ ได้รู้จักกับการดื่มไวน์ (ผ่านชาวกรีกโบราณ) 🇮🇹🍷
ซึ่งชาวโรมัน ก็เป็นชนชาติที่มีหัวการค้ามาตั้งแต่ไหนแต่ไร จึงเริ่มนำไวน์องุ่น มาทำการค้าขาย และได้เอาไวน์องุ่นแพร่ขยายไปยังเมืองขึ้นต่าง ๆ ของจักรวรรดิโรมัน รวมไปถึงตามการแพร่ขยายของศาสนาคริสต์อีกด้วย
ถือได้ว่า จุดนี้เป็นจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ทำให้ชาวโลกชาติอื่น ๆ เริ่มรู้จักไวน์
💡 แล้วรู้หรือไม่ว่า ?
ไวน์ที่คลีโอพัตราที่ 7 ราชินีแห่งอียิปต์โบราณโปรดปราน คือไวน์อะไรเอ่ย ?
คำตอบคือ ไวน์มุตกัต (Muscat) หรือ Moscato (มอสคาโต้) นั่นเอง ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีองุ่นขาวที่ตั้งตามชื่อและเมืองบ้านเกิดของราชินี ไว้ในชื่อว่า “Muscat of Alexandria” 🇪🇬
จริง ๆ แล้วมันยังมีเรื่องราวดราม่าเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์อีกมากมาย ที่ไม่อาจเล่าหมดได้
เช่น เรื่องการล่มสลายของโรมันและการเฟื่องฟูของไวน์, เรื่องราวของการแบนสุรา แบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ยกเว้นแต่ไวน์ในศาสนาคริสต์)
, ไวน์กับการแบ่งชนชั้นของชาวกรีกโรมัน, สังคมดื่มไวน์ที่ดูถูกชนชาติที่ดื่มเบียร์… โอยอีกเยอะมากเลย ไว้จะหาโอกาสหยิบทีละเรื่องมาเล่าให้ฟังนะคร้าบ 😵💫🙏🙏
(ไม่งั้นคงต้องเลือกแล้วว่า เพื่อน ๆ ผู้อ่านจะหลับคามือถือ หรือว่า เราคนเขียนจะสลบคาบทความไปก่อน 5555 ซึ่งพวกเราก็เกรงใจเวลาของเพื่อน ๆ มากเหมือนกัน)
จนไปถึงเรื่องดราม่าของไวน์โลกเก่า >> โลกใหม่
แต่เดี๋ยวนี้มันก็ไม่ได้ดราม่าแล้วละ แค่เฉพาะในคนยุคก่อน ๆ น่ะแหละเนอะ
สั้น ๆ สักนิด
[ “ไวน์กับศาสนาคริสต์” ด้วยความเชื่อที่ว่า ไวน์คือโลหิตจากพระเจ้า ] 🙏🍇🍷
“เราคือเถาองุ่น พระบิดาเป็นผู้ดูแลรักษา ท่านทั้งหลายจงเป็นแขนง
จงเข้าสนิทอยู่ในตัวเรา และเราเข้าสนิทอยู้ในตัวท่าน”
“ขนมปัง แทนร่างกายของเรา และ เหล้าองุ่น แทนโลหิตของเรา”
เชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายท่านคงคุ้นเคยกับประโยคนี้ของพระเยซูคริสต์ กันมาบ้างเนอะ
เพราะสีของไวน์ ก็เปรียบเหมือนกับสีของเลือด ซึ่งไวน์ในสมัยก่อน เขาก็มองกันว่า มันเป็นน้ำวิเศษเป็นยารักษาโรคและทำให้เมาความสุข นี่คือของที่พระเจ้าประทานมาให้กับมนุษย์
อักทั้งไวน์ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการเกิดใหม่ เพราะเหล่าเถาองุ่นมักจะร่วงหล่นตายในฤดูหนาว แต่ก็กลับมางอกงามใหม่ในฤดูใบไม้ผลิ
(จริง ๆ แล้วมีเรื่องราวของโนอาห์กับไวน์ อีกด้วยนะ แต่มันจะยาวไปสักหน่อย ขออนุญาตข้ามนะคร้าบ)
เพราะฉะนั้น ต่อให้ในช่วงที่ยุคสมัยนึง ที่หลาย ๆ ศาสนาได้มีการแบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่สำหรับศาสนาคริสต์แล้ว “ไวน์” ถือเป็นข้อยกเว้นที่เดิมได้แค่ในโบสถ์เท่านั้น
เท่าที่เราเข้าใจ (ในแบบฉบับคนสมัยใหม่) ไวน์ อาจเป็นหนึ่งในเครื่องมือการค้าของพ่อค้าชาวยุโรป ที่มักจะพกติดไปด้วยกับการแพร่ขยายของศาสนาคริสต์ ที่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว
ปิดท้ายในภาพนี้กันด้วย เรื่องราวสั้น ๆ ที่เกริ่นนำจากไวน์โลกเก่า (ไวน์ยุโรป) ไปสู่ไวน์โลกใหม่ ที่เราจะพูดถึงกันในตอนหน้า
1. ว่ากันว่า "ไวน์ยุโรป" ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นที่แรก จึงมีฉายาเรียกว่า ไวน์โลกเก่า
2. ไวน์ยุโรป/สายพันธุ์องุ่น ได้ถูกแพร่กระจายไปทั่วโลก ผ่านผู้อพยพ/พ่อค้า/นักบวช ชาวยุโรป
3. จนกำเนิดเป็นไวน์โลกใหม่ (New World Wine) หรือ ไวน์นอกเขตยุโรปทั้งหมด
เรื่องราวของไวน์โลกใหม่ จะเป็นอย่างไรต่อ… โปรดติดตามได้ในตอนต่อไปจ้า :):)
หมายเหตุ :
ไวน์ยุโรป มักจะถูกเรียกโดยมีฉายาว่าไวน์โลกเก่านะ ทั้งนี้เรียกแบบไหนก็ไม่มีผิดมีถูกทั้งนั้นจ้า
[ "ไวน์ (Vin)" ความภาคภูมิใจของชาวฝรั่งเศส 🍷🇫🇷 ]
อย่างเพื่อน ๆ ทราบกันในภาพแรก เกี่ยวกับต้นกำเนิดของไวน์องุ่น ที่อาจจะมาจากชาวจีน ชาวอียิปต์ และเกิดเป็นวัฒนธรรมการดื่มไวน์ของชาวกรีกและโรมันโบราณ
แล้วจู่ ๆ ทำไมไวน์ถึงกลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวฝรั่งเศสไปได้ละ ?
(จนหลาย ๆ ครั้ง ที่เรานึกถึงประเทศฝรั่งเศสเนี่ย ไวน์จะต้องโผล่ขึ้นมาก่อนเพื่อน ๆ เลย)
งั้นเรามารู้จักกับความเป็นมาของเค้ากันสักนิดดีกว่า !
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชื่อเสียงของไวน์องุ่น เริ่มเปลี่ยนฝั่งจากทางอิตาลีมาฝรั่งเศส เราพอจะสรุปได้ 3 เหตุการณ์ซึ่งเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญ (ซึ่งอาจมีมากกว่านี้)
1. ค.ศ. 476 - ผลจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน 🇫🇷 🙌
ทำให้พลังอำนาจในการครอบครองไวน์ กระจายออกไปสู่ชาวยุโรป โดยเฉพาะชาวฝรั่งเศสที่ได้เปรียบในเรื่องของพื้นที่ปลูกองุ่น
2. ค.ศ. 1152 - การอภิเษกสมรสของพระนางเอเลโอนอร์ 👸🫅❤️🇫🇷🏴
ฟังแล้วอาจงง พระนางคือรัชทายาทของแคว้นอากีแตน (Eleanor of Aquitaine) ที่หย่าร้างกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แล้วมาแต่งงานกับ พระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ
พอเห็นภาพเลยว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของสายสัมพันธ์อันดีระหว่างฝรั่งเศส-อังกฤษ ที่แน่นอนว่าไวน์ฝรั่งเศส ก็เริ่มเป็นที่นิยมในอังกฤษด้วยเช่นกัน (และอังกฤษก็มีอาณานิคมที่ค่อนข้างใหญ่มาก)
ก่อนที่ต่อมาอีก 300 ปี จะทะเลาะกันในสงครามร้อยปี…ตอนนั้นก็จะกลายเป็นยุคทองของ เอ่อ … พอร์ตไวน์โปรตุเกสแทนน่ะนะ… (ก็ไม่เชิง แต่ก็เป็นกระแสของคนอังกฤษในยุคหนึ่ง)
3. ค.ศ. 1305 - การย้ายที่พำนักของพระสันตะปาปาจากกรุงโรม มาสู่อาวียง
อย่างที่เพื่อน ๆ ทราบกันเลยว่า “ไวน์” เติบโตและแพร่ขยายไปพร้อมกับศาสนาคริสต์
ในกรณีนี้ก็คือ พระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 5 (Pope Clement V) (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1305-1314) ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ทรงตกอยู่ใต้อำนาจของฝรั่งเศสจนต้องเสด็จไปประทับที่เมืองอาวีญง บริเวณทางตอนใต้ของฝรั่งเศส (ก่อนที่จะย้ายกลับกรุงโรมในปลายศตวรรษที่ 14 ในรุ่นต่อ ๆ มา)
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ในช่วงเวลาที่ติดต่อกัน จึงทำให้ไวน์ฝรั่งเศสได้รับแสงไฟสาดส่องในทันที
นี่ยังไม่รวมไปถึงการคิดค้นผลิตบรั่นดีและเรื่องค่านิยมของการดื่มไวน์สำหรับชนชั้นสูงอีกด้วยนะ
Palais des Papes (ที่พำนักของพระสันตะปาปาที่เมืองอาวีญง)
(เข้าใจว่ายังมีเหตุการณ์อื่น ๆ อีกมาก แต่เท่านี้ก็คงพอทำให้เพื่อน ๆ เห็นภาพกันได้บ้างแล้วเนอะ)
เหตุการณ์สำคัญสุดท้าย ที่เรียกได้ว่าปลดแอกกระแสนิยมดื่มไวน์ของชาวฝรั่งเศส ให้กว้างงง ขึ้นไปอีก ก็คือ “เหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส“
ที่เรียกได้ว่าเป็นถ่ายอำนาจและสิ่งของที่เคยถูกแบ่งชนชั้น (กับชนชั้นสูง) ให้ได้ลงมาถึงปากท้องของคนทั่วไป ตัวอย่างที่สำคัญในโพสนี้ก็คือ “เครื่องคั้นน้ำองุ่น” เพราะเมื่อก่อนเจ้าเครื่องนี้ จะมีแต่พวกขุนนางที่ครอบครองได้จ้า
(องุ่นนะปลูกได้ทุกคนก็จริง แต่กรรมวิธีการผลิตไวน์องุ่นน่ะ มันเข้าไม่ทั่วถึงนะสิ…แต่ตอนนี้ก็เข้าถึงแล้วเด้อ มันเลยยิ่งชูจุดเด่นของไวน์องุ่นฝรั่งเศส เข้าไปอีกกก)
สั้น ๆ กันสักนิด กับเรื่องราวของ AOC
[ AOC คืออะไรหว่า…? 🧐🤨 ]
ต่อเนื่องจากเรื่องราวด้านบน
พอเวลาผ่านไปจนมาถึงสมัยใหม่ (ค.ศ. 1900++)
ไวน์องุ่น ที่มันถูกผลิตง่ายขึ้นเนี่ย กลายเป็นว่า มีจำนวนของไวน์ปลอมที่แอบอ้างหรือพวกไวน์ผสมราคาถูก มาตีฉลากจากโรงผลิตชั้นสูง แล้วมาขายกดราคาลงไป ฮวบ ๆ
มันก็กระทบกับต้นตำรับของแท้ ไม่ว่าจะจากแคว้นบอร์โดหรือบูร์กอญ
หรือเหล่าโรงผลิตไวน์ชั้นสูงอย่าง Chateau Haut-Brion, Château Mouton-Rothchild
อย่างว่าละ เรื่องนี้ดันไปสะกิดน่องขาของผู้มีอำนาจและพ่อค้าไวน์ชื่อดังหลาย ๆ เจ้า
📌 พอเรื่องเป็นแบบนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสเลยต้องมาออกกฎหมาย “Appellation d'origine contrôlée” หรือ “AOC” ขึ้นมา เพื่อควบคุมคุณภาพและการผลิตไวน์ นั่นรวมไปถึงแหล่งเพาะปลูกองุ่น สภาพของแตร์รัวร์ ที่มาจากแคว้นผลิตไวน์ชื่อ อย่างเช่น บอร์โด บูร์กอญและชองปาญ อีกด้วย
จนในท้ายที่สุด ฝรั่งเศสก็กลายเป็นหนึ่งประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดขององุ่นชื่อดังหลายสายพันธุ์ เช่น Cabernet Sauvignon, Sauvignon Blanc, Merlot, Sémillon ที่หลาย ๆ ตัวได้กลายเป็นต้นแบบของไวน์โลกใหม่รอบโลก
หรือจะเป็นรูปแบบของฉลากไวน์ยุโรป ที่ดูอ่านยาก ก็ถือกำเนิดมาจาก Château Mouton-Rothchild ของตระกูลโรชิลด์ อีกด้วยเหมือนกัน (คือพอมันถูกการันตีคุณภาพแบบจับต้องได้ ก็ทำให้ไวน์ฝรั่งเศสของโรงผลิตดัง ๆ เริ่มกลับขึ้นไปบนแท่นอีกครั้ง)
ทั้งนี้ทั้งนั้น จุดเด่นที่สำคัญที่สุดของฝรั่งเศสคือ พื้นที่เพาะปลูก ดิน สภาพอากาศ อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน มีความเหมาะสมต่อการปลูกองุ่นมากที่สุด หรือในศัพท์ฝรั่งเศส(ที่ใช้สากล) ก็จะที่เรียกว่า “แตร์รัวร์ (Terroir)” ที่สมบูรณ์ นั่นเอง
จริง ๆ อยากจะเล่าเรื่องของไวน์บอร์โด (Bordeaux) และ บูร์กอญ (Burgundy) ซึ่งเป็น ไวน์ฝรั่งเศสที่ได้ยินจนคุ้นหูมากที่สุด
คือ เมื่อเดือนก่อน เราได้ไปเจอเพื่อนท่านหนึ่ง ที่คลั่งไคล้การดื่มไวน์มาก ๆ
เขาได้บอกเราว่า “ประวัติไวน์ของโลกเนี่ย มันก็มาจากไวน์ฝรั่งเศส”
และไวน์ฝรั่งเศส ก็คือศึกของไวน์บอร์โด (Bordeaux) และ บูร์กอญ/เบอร์กันดี (Burgundy/Bourgogne)
โอโห.. ได้ยินก็แบบ หื้มม ขนาดนั้นเลย
แน่นอนว่า… ในตอนนั้นพวกเราทำได้แค่ ร้อง อ้ออออ ! (ตามน้ำไป จะได้ลื่นไหล และไม่ขัดจังหวะเพื่อน)
กลับมาบ้านแล้วก็รีบหาข้อมูลว่า เอ้อ ! โอโห มันค่อนข้างละเอียดมากเลยนะนี่
เพราะมันะจะเป็นเรื่องของการพูดถึงระดับไวน์ ที่ลึกไปกว่า AOC อย่างเช่น การจัดคลาสครู (Cru) เช่น Grand Cru ไวน์ชั้นดีเลิศจากบอร์โด
การอ่านฉลากไวน์ของทั้ง 2 ที่ ก็มีความแตกต่าง
หรือแม้กระทั่งชื่อเรียก โรงผลิตไวน์ ก็ไม่เหมือนกันอีกนะ !
(แคว้นบอร์โดเรียกโรงผลิตไวน์ว่า “Château (ชาโต)”
ส่วนแคว้นบูร์กอญจะเรียกว่า “Domaine (โดแมน)”)
สารภาพว่า จริง ๆ อยากเขียนเรื่องนี้อีก เพราะเราทำการบ้านค้นหามาแล้ว
แต่ว่า…. ฮืออ เราคิดว่าเพื่อน ๆ น่าจะเบื่อกันแล้ว เพราะแค่เนื้อหาที่เล่ามาในภาพนี้ก็ จะ 3 หน้ากระดาษแล้ว ยาวววไปอีกกก (แต่นี่ครอบคลุมแค่ไม่ถึง 5% ของเรื่องราวไวน์ฝรั่งเศสเลยนะ มันเยอะจนเราเองก็รับไม่ไหว 555)
งั้นเราไปประเทศอื่นกันบ้างดีกว่าเนอะ.. ไว้จะมาจัดทำเรื่องราวเป็นภาพเดี่ยวให้เพื่อน ๆ รับชมกันแน่นอน
[ คู่แข่งคนสำคัญของไวน์ฝรั่งเศส คือ "ไวน์อิตาลี (Vino)" 🇮🇹🍷 ]
อย่างที่เพื่อน ๆ ได้อ่านกันมาจากภาพแรกและภาพที่ผ่านมาของฝรั่งเศส
ในยุคจักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจเนี่ย ไวน์อิตาลีไม่เคยเป็นสองรองใคร
จนกระทั่งเกิดเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทำให้ไวน์ฝรั่งเศสแย่งแสงไฟกลับคืนมา (หรืออ้างจากเรื่องราวในภาพที่ผ่านมาได้นะ)
อย่างไรก็ดี หากดูในเรื่องของจำนวนการผลิตองุ่น, ไวน์ หรือยอดจำหน่ายแล้ว ก็พบว่า อิตาลีกับฝรั่งเศสเนี่ย เบียดคู่คี่ กันมาตลอดเลย
แรกเริ่มเดิมที ชาวโรมันเอง ก็รู้จักวิธีการผลิตไวน์ หรือ การผลิตถังปั้นดินเผาสำหรับเก็บไวน์แอมโปบรา (Amphora) มาจากชาวกรีก
พอไปดูแผนที่แล้ว เราก็จะพบว่า เอ้อ อิตาลีตอนใต้เนี่ย มันติดกับประเทศกรีซมาก ๆ
ซึ่งก็เคยมีบันทึกว่า เมืองกาลาเบรีย (Calabria )และซิซิลี (Sicily) ก็เคยเป็นเมืองขึ้นของกรีกมาก่อน ไม่แปลกใจที่วัฒนธรรมไวน์ที่เข้มข้นของชาวกรีก จะแพร่กระจายเข้ามายังชาวโรมัน
ไร่องุ่นในซิซิลี
เมื่อ 7 ปีก่อนคริสตกาล ก็มีบันทึกร่องรอยการปลูกองุ่นและไหเก็บองุ่นของชาวอีทรัสกันในแคว้นทัสกานี
แล้วก็ยังมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ให้เห็นอยู่ทั่วไปในเมืองปอมเปอี (Pompeii)
ไหที่เห็นอันนั้นคือ Amphora ซึ่งตกทอดมาจากชาวกรีก
อาจกล่าวได้ว่า ความรุ่งเรืองของไวน์อิตาลีได้มีอยู่และดับไปพร้อม ๆ กับจักรวรรดิโรมัน
และก็ได้กลับมามีที่ยืนบนสายตาชาวโลกอีกครั้งในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 หรือในยุคสมัยเรอเนซองซ์ โดยมี 3 ตระกูลผู้ผลิตที่โด่งดัง คือ ตระกูลเฟรสโกบัลดี อานติโนรี และกายา ที่เข้ามาช่วยยกระดับ
แต่ ณ เวลานั้นอาจยังเทียบกับแก๊ง Rothchild หรือ Haut-Brion ไม่ได้นะ
เพราะว่า ในช่วงเวลาต่อมา อิตาลีก็ได้เกิดสงครามรวมประเทศ การปกครองก็เปลี่ยนแปลง
Chateau Haut-Brion
ที่ซ้ำให้ช้ำไปกว่านั้นคือ เจ้าเพลี้ยองุ่น ดันลุกลามไปทั่ว เลยทำให้ปลูกองุ่นไม่ค่อนจะขึ้น (เข้าใจว่าฝรั่งเศสก็เจอเหมือนกัน แต่อิตาลีดันหนักกว่า)
เวลานั้น ไวน์อิตาลีเลยมีราคาถูกมากก ซึ่งพวกเขาก็ทำได้แค่ เร่งการผลิตให้ดีขึ้น และขายราคาถูกไปนั่นแหละ
จนกระทั่ง…มาถึงเวลาส่องแสง ก็ในช่วงประมาณปี 1900+ ที่อิตาลีมีการปฎิรูปไวน์ใหม่
เพราะไวน์อิตาลี กลายเป็นภาพจำว่าราคาถูก วิธีการผลิตล้าหลัง มีแต่ไวน์สายพันธุ์ผสมปนเป
(แน่นอนละ เพื่อนบ้านฝรั่งเศสเค้ามีจัดระดับอะไรไปถึงไหนแล้วว)
อิตาลีเลยเริ่มปลูกองุ่นแยกตามสายพันธุ์
ซึ่งพวกเราอาจจะพอคุ้นหูกัน อย่างเช่น เนบิโยโล (Nebbiolo) บาร์เบรา (Barbera) โบนาร์ตา(Bonarda) เฟรซา (Freisa)
รวมไปถึงการนำถังไม้โอ้คมาหมักไวน์เพื่อควบคุมอุณหภูมิและเพิ่มกลิ่นอีกด้วย
Nebbiolo
พอเรื่องเริ่มดีขึ้น อิตาลีเลยเริ่มยกระดับไวน์อิตาลี
โดยจัดตั้งระบบกำหนดคุณภาพ คล้ายของฝรั่งเศส โดยมีชื่อว่า “Denominazione di Origine Controllata (หรือ DOC)”
หรือถ้าเป็นระดับ DOCG คือระดับที่สูงที่สุด
อื้มมม จริง ๆ องุ่นอิตาลี มันก็เหมาะกับการผลิตไวน์ไม่แพ้ฝรั่งเศสเลยนะ เดี๋ยวเราจะมาเล่าถึงไวน์บาโรโลจากแคว้นปิเยมอนเต กันสักนิดดีกว่า
[ Piemonte (ปิเยมอนเต) กับ ไวน์บาโรโล (Barolo) ทำไมคุ้นหูคุ้นตาบ่อยจัง ]
ปิเยมอนเต (Piemonte ) แปลว่า ตีนเขา
ซึ่งพื้นที่จริง ๆ ก็ตั้งอยู่บริเวณตีนเทือกเขาเอลป์
ปิเยมอนเต (Piemonte )
ไวน์องุ่นจากปิเยมอนเต ถือว่าเป็นไวน์ชั้นสูง เพราะมีแหล่งปลูกองุ่นตั้งอยู่แนวตีนเทือกเขาแอลป์ พื้นดินอุดมสมบูรณ์ เด่นเรื่ององุ่นแดง และมีชื่อเสียงพอ ๆ กับไวน์ของแคว้นทัสกานี
ซึ่งเด่นในตัวองุ่นพันธุ์เนบิโยโล (Nebbiolo) (ส่วนทัสกานีจะดังตัวองุ่นพันธุ์ซานโจเวเซ (Sangiovese))
ไวน์ตัวชูโรงสำคัญ (ให้กับทั้งแคว้นและระดับประเทศ) ก็คือ ไวน์บาโรโล (Barolo) และ บาร์บาเรสโก (Barbaresco) ซึ่งก็มาจากองุ่นพันธุ์เนบิโยโลนี่ละ ถูกจัดอยู่ในระดับสูงสุดคือ DOCG เลยนะ !
ที่ว่าเจ้าไวน์ตัวนี้มันเป็นตัวชูโรง ก็เพราะ คุณภาพและข้อกำหนดต่าง ๆ ในการผลิตไวน์ตัวนี้ จะต้องบ่มอย่างน้อย 3 ปี หลังการหมัก, บ่มในถังไม้บาริคฝรั่งเศส 2 ปี หมักบ่มเสร็จแล้ว พวกเรื่องความขมฝาด (ทานิน) ยังต้องออกมาสมดุลอีก
และยังเป็นไวน์ที่ห้ามผสมพันธุ์กับองุ่นต่างประเทศ
โอโห.. พิถีพิถันแบบนี้ ไวน์บาโรโลจึงกลายเป็นหนึ่งในไวน์คุณภาพสูงของอิตาลี
รู้ไว้ใช่ว่า ?
ไวน์บาโรโล ยังมีฉายาว่า “ไวน์ของกษัตริย์อิตาลี” ด้วยเหตุผลที่ตรงตัวเลยนะแหละ
ถึงกับมีหนังสือเลยทีเดียวนะ
[ เมื่ออิตาลีเจอสูตรลัดสำหรับตลาดไวน์ “Super Tuscan !” 💡🥴 ]
เพื่อน ๆ คงพอจะเห็นความเข้มงวดของไวน์อิตาลีมาจากเรื่องราวของบาโลโรแล้วเนอะ
ในเวลาต่อมา พอไวน์อิตาลีมันเริ่มมีระดับและถูกยอมรับมากขึ้นในสังคมไวน์เนี่ย
รัฐบาลอิตาลีก็ได้เพิ่มความเข้มงวดเข้าไปอีก เช่นแบบ แต่ละแคว้นปลูกองุ่นได้พันธุ์เดียว, องุ่นเขียว จะผลิตได้แค่ไวน์ขาวราคาถูกเท่านั้น, ต้องหมักองุ่นในถังไม้ ห้ามใช้ถังแสตนเลส…
โอย เยอะไปหมด… มันเลยทำให้เกิดการปฏิวัติไวน์อิตาลีในปี 1970
ซึ่งทำให้พ่อค้าและผู้ปลูกไวน์ สามารถเพิ่มลูกเล่นได้หลากหลายมากขึ้น โดยทุกคนหวังแค่ ไวน์อิตาลีจะต้องไปตีตลาดโลกให้ได้ แค่นั้นพอ ! (ไม่เอาแค่ชื่อเสียง เพราะมันกินไม่ได้)
ก็เลยมีการเริ่มแหกกฎ นำองุ่นอิตาลีพันธุ์ “ซานโจเวเซ” ผสมกับ องุ่นฝรั่งเศส “กาแบร์เน โซวีญง” บ่มในถังบาริคฝรั่งเศส เลยกลายมาเป็นไวน์ “Super Tuscan” ซึ่งเป็นไวน์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นนั่นเอง
(แต่เนื่องจากไม่ได้ปฎิบัติตามกฎ เลยทำให้ไวน์ตัวนี้ถึงแม้จะอร่อยมากเพียงใด แต่ระดับก็จะถูกจัดอยู่เพียงแค่ ระดับกลาง (IGT) เท่านั้น)
🇪🇸🇵🇹 พอพูดถึงเรื่องไวน์กับประเทศสเปนและโปรตุเกสเนี่ย
เราก็อาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไร
แต่เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ?
- ประเทศสเปน เป็นประเทศที่มีพื้นที่ปลูกองุ่นมากที่สุดในโลก ! (ขึ้นมาปัดฝรั่งเศสและอิตาลีทิ้งเลย)
- ประเทศสเปนและโปรตุเกส ยังเป็นต้นกำเนิดของไวน์หวานชื่อดังอย่าง Sherry และ Port ! (แน่นอนว่าไม่ใช่อิตาลี ฝรั่งเศส)
- ครั้งหนึ่ง ไวน์พอร์ตของโปรตุเกสเคยครอบครองใจชาวอังกฤษจากไวน์บอร์โดของฝรั่งเศส
อะ มาอ่านเรื่องราวสั้น ๆ ของไวน์สเปนและโปรตุเกสกันดีกว่า
[ สเปน ไวน์กระทิง(ไม่)ดุ 🍷🇪🇸 ]
ว่ากันว่าชาวฟีนีเชีย (ตะวันออกกลาง) ได้เริ่มนำวิธีการผลิตไวน์เข้ามายังตอนใต้ของสเปน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของไวน์สเปน เมื่อ 2,500 ปีที่ผ่านมา
แต่เริ่มเดิมทีเนี่ย สเปนมีชื่อเสียงโด่งดังกับ “เชอร์รีไวน์ (Sherry Wine)” ซึ่งมีแอลกอฮอล์สูง
ในเวลาต่อมาก็โดนพวกแขกมัวร์ที่เข้ามายึดครองสเปนในปี ค.ศ. 711 สั่งห้ามผลิตไวน์
เพราะว่า ศาสนาอิสลามถือว่าเครื่องดื่มมึนเมาพวกนี้ มันเป็นสิ่งที่พระเจ้าไม่ต้องการ ☪️🚫🍷
หากแต่ว่าชาวสเปนเนี่ย ส่วนใหญ่เขาก็เปนชาวคริสต์กัน จึงไม่ละความพยายามในการปลูก
จนกระทั่งในปี 1492 ที่ชาวคริสต์ในสเปนขับไล่พวกแขกมัวร์ออกไปได้ จึงกลับมาผลักดันไวน์สเปนกันใหม่อีกครั้ง
อีกหนึ่งจุดสำคัญคือ ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เนี่ย เรื่องการอพยพของผู้ผลิตไวน์จากแคว้นบอร์โดของฝรั่งเศส
เพราะว่าในตอนนั้นฝรั่งเศส(และอิตาลี) กำลังเจอปัญหาเพลี้ยองุ่น
พวกเขาเลยต้องหาแหล่งปลูกที่มาทดแทน… แน่นอนว่า นั่นคือ เขตริโอฮา (Rioja) ที่อยู่ห่างจากมาดริดไปไม่นาน นั่นเอง
จากเรื่องราวตรงนี้ยังทำให้เกิดระบบรับรองเขตผลิตไวน์สเปน “DO” (คล้าย AOCของฝรั่งเศส)
โดยระดับของไวน์ที่สูงที่สุดของสเปน จะเรียกว่า "Denominación de Origen Calificada (DOCa)"
[ สเปนยังมีพื้นที่ปลูกองุ่นมากที่สุดในโลกอีกด้วยนะ ! ]
แต่ถึงแม้ว่าจะมีพื้นที่เยอะก็จริง.. แต่สภาพอากาศของสเปน มันไม่ได้เอื้ออำนวยมากเหมือนกับฝรั่งเศส
กล่าวคือ ในหน้าร้อนเนี่ย สเปนคือ ร้อนม๊ากกก มีน้ำน้อย จนพื้นดินแห้งแข็ง ทำให้ต้นองุ่นล้มตายไปเยอะ ต้องกลับมาฟื้นกันใหม่ในหน้าหนาว (พอหนาวมากไป ก็เน่าอีก)
[ เกร็ดความรู้เบา ๆ : ชื่อเรียกของ “Sherry Wine” ]
คำว่า 'เชอร์รี่' ของเชอร์รีไวน์ ว่ากันว่ามันมาจากคำว่า Xérèz
แต่ชาวสเปนได้เปลี่ยนชื่อมันมาเป็น Jerez (เฮเรส) ตามชื่อของเขตผลิตหลัก
ซึ่งในช่วงที่สเปนกำลังแย่งแสงไฟแห่งการส่งออกไวน์(จากฝรั่งเศส) ไปยังอังกฤษเนี่ย
พ่อค้าชาวอังกฤษเลยเรียกเพี้ยนเสียงของชื่อ “Jerez” ว่า เจเรสไวน์ เจอเรสไวน์ จนเพี้ยนหนักไปเป็น เจอร์รี้ไวน์
แน่นอนสุดท้ายมันเลยไปลงเอยที่คำว่าเรียกว่า เชอร์รีไวน์
[ จากสงครามไวน์ สู่ เทศกาลสาดไวน์ (เอ้ะ ! มันยังไง ]
เรื่องมันมีอยู่ว่า 2 หมู่บ้านผลิตไวน์ในเขตริโอฮา (Rioja) ซึ่งมีความขัดแย้งกัน และทำสงครามกันมาหลายสิบปี จนกระทั่งกษัตริย์แฟร์ดินาน ได้ออกคำสั่ง ให้สองหมู่บ้านหยุดทะเลาะกัน
แทนที่จะฆ่าฟันกัน เขาก็หันมาสาดไวน์ใส่กันแทน
ซึ่งเขาก็จะกระทำกันในวันที่ทั้ง 2 หมู่บ้านต้องทำพิธีกรรมทางศาสนาและต้องมาเจอหน้ากัน (วันนักบุญปีเตอร์)
มันก็เลยกลายเป็นเทศกาลสาดไวน์ (Haro Festival) คล้ายเทศกาลสงกรานต์ ที่จะถูกจัดขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน ในทุก ๆ ปี นั่นเองจ้าาา
[ โปรตุเกส บ้านแห่งพอร์ตไวน์ 🇵🇹🍷 ]
เนื่องจากโปรตุเกสเนี่ย ก็เป็นเพื่อนบ้านกับสเปน
เพื่อนกันย่อมไม่ทิ้งกัน
ในตอนที่แขกมัวร์มายึดสเปนเนี่ย
เขาก็ได้ยึดโปรตุเกสไปด้วย (คือ ต้องบอกว่าในตอนนั้นโปรตุเกสยังเป็นประเทศเดียวกันกับสเปน (ก่อนปี 1143 น่ะนะ))
ในขณะที่แขกมัวร์มายึดครองอำนาจเนี่ย
ดินแดนที่เป็นประเทศโปรตุเกสในปัจจุบัน มันมีฝนตกบ่อย แขกมัวร์ก็เลยไม่ได้สนใจมากเท่าไร เอาเวลามาดูตอนกลางและตอนใต้ของสเปนจะดีกว่า
มันเลยทำให้ผู้คนที่อาศัยในเมืองพอร์โต (Porto) ค่อย ๆ พัฒนาการผลิตไวน์ได้ดี
จนในปี 1385 ที่โปรตุเกสได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปน
จึงทำให้พวกเค้าเริ่มหาช่องทางการค้า “ไวน์พอร์ต (Port)” ของพวกเขา
ในขณะนั้นเองอังกฤษดันมีปัญหากับฝรั่งเศส (สงคราม 100 ปี)
โปรตุเกสเห็นแบบนั้น ก็เลยล่องเรือไปเสนอไวน์พอร์ตกับอังกฤษ
ขออธิบายสั้น ๆ แบบนี้ดีกว่า
- อังกฤษ : ฉันกำลังทะเลาะกับฝรั่งเศส แต่ฉันก็ขาดไวน์ไม่ได้ เจ้ามีอะไรมาเสนอละ ?
- โปรตุเกส : ลอง Port Wine ของฉันไหมละจ้า ? หวานอร่อยนะ
ไวน์ตัวนี้ น่าจะพอจะทดแทนไวน์บอร์โดได้ แถมราคาถูกนะจ้า
- อังกฤษ : โอโห… ถูกใจม๊ากกก ไวน์หวานแต่แรงโดนใจ ! แบบนี้ละ วิถีชาวอังกฤษ
(พอร์ตไวน์ (Port Wine) มีแอลกอฮอล์สูง มากกว่า 15%)
นอกจาก พอร์ตไวน์ แล้ว
ก็ยังมีไวน์หวานอย่าง มาเดรา (Madeira) (และ Sherry Wine ของสเปน) ที่ชาวอังกฤษชื่นชอบ
Port Wine กับวิวของเมืองปอร์โต
ก็จบกันไปเรียบร้อย
หากว่าบทความอัลบั้มนี้ของพวกเรา มันยาวเยียดจนกินเวลาของเพื่อน ๆ มากเกินไป
พวกเราก็กราบขออภัยมา ณ ที่นี้นะครับ
แต่เขียนมายาวขนาดนี้ ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมเนื้อหาได้มากเกินไปกว่า 5% ของเรื่องราวของไวน์ยุโรป
(เผลอ ๆ อาจจะแค่ 1%)
ถ้าเพื่อน ๆ อยากรู้เรื่องราวของไวน์ยุโรปเพิ่มเติมอีก
สามารถแนะนำพวกเรามาได้ในคอมเมนต์นะคร้าบบ แล้วพวกเราจะจัดทำขึ้นมาให้รับชมกันอีก
พวกเรา InfoStory ขอกราบขอบพระคุณเพื่อน ๆ ที่อ่านมาจนถึงตรงนี้นะคร้าบบบ
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
- หนังสือ เจาลึกไวน์ทั่วโลก เล่ม1-2 เขียนโดย Won Bok Rhie
- หนังสือ Wine A Tasting Course by Marnie Old
- หนังสือ The Wine Bible โดย Karen Macneil
- หนังสือ The World Atlas of Wine โดย Jancis Robinson
- หนังสือ A History of the World in 6 Glasses โดย Tom Standage
ประวัติศาสตร์
ไลฟ์สไตล์
เรื่องเล่า
11 บันทึก
5
4
11
5
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย