Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คิด(จะ)+
•
ติดตาม
29 ก.ค. 2022 เวลา 19:27 • ประวัติศาสตร์
ลีโอไนดัส: กษัตริย์สปาร์ตาเจ้าของตำนานนำทหาร 300 นาย ร่วมตั้งรับทัพเปอร์เซียนับแสน เรื่องราวที่กล่าวขานมาหลายพันปี
.
ลีโอไนดัส (Leonidas I) กษัตริย์สปาร์ตาปกครองอยู่ในช่วงระหว่าง 490-480 ปีก่อนคริสตกาล ระยะเวลาไม่นานแต่กลับโด่งดังในประวัติศาสตร์มาหลายพันปีจากวีรกรรมในการรบของศึกแห่งเธอร์โมพิลี (Thermopylae) ที่ทหารจากสปาร์ตา เพียงหยิบมือเข้าร่วมการรบ ยืนหยัดต่อต้านกองทัพเปอร์เซียที่รุกรานกรีกในสมัยของเซอร์ซีส (Xerxes I) ผู้ปกครองอาณาจักรเปอร์เซีย
.
การรบที่ช่องแคบเธอร์โมพิลี ไม่เพียงเป็นเรื่องราววีรกรรมการรบที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรป หากพิจารณาจากข้อมูลต่าง ๆ มองได้ว่าเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่จุดชนวนให้กรีกสร้างจุดเปลี่ยนของตัวเองพลิกสถานการณ์กลับมาได้เปรียบเหนือเปอร์เซียซึ่งจะนำมาสู่จุดสิ้นสุดของการรุกรานของเปอร์เซียที่หวังจะยึดครองกรีกในอีกยุคหนึ่งไปโดยปริยาย
.
ทั้งนี้ ข้อมูลส่วนใหญ่ของการรบระหว่างกรีกกับเปอร์เซียซึ่งใช้เป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการศึกษากันต่อมาโดยเฉพาะศึกเธอร์โมพิลี ส่วนหนึ่งมาจากบันทึก Histories ของเฮโรโดทัส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์กรีกโบราณ
.
ขณะที่วีรกรรมของลีโอไนดัส ซึ่งตกทอดมาจากบันทึกเก่าแก่และเรื่องเล่ามักถูกนำไปตกแต่งเติมสีสันโดยชาวตะวันตก เวอร์ชั่นที่รู้จักกันดีที่สุดคือภาพยนตร์ 300 กำกับโดยแซก สไนเดอร์ (Zack Snyder) ซึ่งดัดแปลงมาจากคอมิกเลือดสาด เล่าวีรกรรมว่าลีโอไนดัส นำทหารสปาร์ตันเพียง 300 นาย ไปร่วมต้านทานกองทัพเปอร์เซียโดยยึดพื้นที่ช่องแคบเป็นที่ตั้ง
.
ภูมิหลังของเรื่องราวก่อนหน้าลีโอไนดัส นำทหารสปาร์ตาไปก่อวีรกรรมลือลั่น ดาริอุส พ่อของเซอร์ซีสเคยล้มเหลวในการนำกำลังยึดกรีกมาก่อนแล้ว เวลาต่อมา ช่วง 480 ปีก่อนคริสตกาล เซอร์ซีส ลูกของดาริอุส นำทัพบุกกรีกอีกครั้งหวังจะยึดครองกรีกให้สำเร็จ
.
ช่วงเวลานั้น นครรัฐในกรีกมีปัญหาขัดแย้งกันเอง คู่ปรับหนึ่งคือเอเธนส์ กับสปาร์ตา ฝั่งเอเธนส์ เคยป้องกันการรุกรานของเปอร์เซียในสมัยดาริอุสมาแล้วศึกที่เรียกว่าการรบแห่งมาราธอน แต่ครั้งนี้ ทัพของเซอร์ซีส มีจำนวนมากกว่าสมัยดาริอุสหลายเท่า เอเธนส์ เรียกร้องให้เมืองอื่นเลิกทะเลาะกันแล้วจับมือกันต่อต้านผู้รุกราน
.
ครั้งนี้สปาร์ตา ตอบรับแนวทางของเอเธนส์ แม้ที่ผ่านมา สปาร์ตา จะวางตัวห่างจากความขัดแย้งกับเปอร์เซีย แต่ครั้งนี้ ผู้นำสปาร์ตา เล็งเห็นภัยคุกคามครั้งใหญ่กว่าที่ผ่านมาในระดับที่เกินกว่าจะเมินเฉย
ด้วยกำลังทัพมหาศาลของฝั่งผู้รุกราน คาดกันว่า ทัพเซอร์ซีสมีกำลังทหารระหว่าง 1-3 แสนนาย ฝั่งสปาร์ตา คิดว่าโอกาสที่จะต้านทานได้คือต้องรวมกำลังของแต่ละเมืองเข้าด้วยกัน แต่กว่าที่จะรวมกำลังกันได้ย่อมต้องใช้เวลา จำเป็นต้องชะลอการเดินทัพของเซอร์ซีส เพื่อให้กรีกมีเวลาเตรียมการต่าง ๆ สำหรับรวมกำลังเข้าด้วยกันเพื่อมาต้านทานผู้รุกราน
.
ระหว่างนั้น พวกกรีกเริ่มหาวิธีตั้งรับให้ได้เปรียบโดยอาศัยชัยภูมิที่เหนือกว่าซึ่งจะช่วยตัดลดข้อเสียเปรียบเรื่องจำนวนคนออกไปได้ สายสืบที่สำรวจพื้นที่พบจุดที่เหมาะสมคือบริเวณช่องแคบตรงเธอร์โมพิลี ซึ่งทัพเปอร์เซียต้องเคลื่อนผ่านจากทางเหนือของกรีกลงมาตอนกลางของกรีกที่เอเธนส์และสปาร์ตาตั้งอยู่
.
ตรงจุดเธอร์โมพิลี มีสภาพติดชายฝั่งทะเล เอเธนส์ ที่เชี่ยวชาญการรบทางน้ำสามารถใช้ทัพเรือมายันเปอร์เซียเอาไว้ไม่ให้ยกพลขึ้นบกมาตลบหลัง และบีบให้เปอร์เซียต้องเดินทัพทางบกผ่านทางเธอร์โมพิลี
.
หากจำกันได้ ในภาพยนตร์ 300 จะมีบทที่เรียกพื้นที่ตั้งรับว่า ฮอต เกตส์ (Hot Gates) ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า เธอร์โมพิลี สื่อถึงประตูที่ร้อนระอุ เพราะพื้นที่เต็มไปด้วยน้ำพุกำมะถันร้อน ๆ
.
สปาร์ตา คิดว่าไม่อาจรอพวกกรีกที่บางเมืองยังไม่รู้ว่าภัยกำลังคืบคลานมา หรือไม่ตอบรับใด ๆ เพราะติดเรื่องเทศกาลของตัวเอง พวกสปาร์ตา พิจารณาแล้วเห็นว่าต้องส่งทหารไปตั้งกำลังที่ฮอตเกตส์ก่อน แล้วยันทหารเปอร์เซียให้นานที่สุดจนกว่ากรีกจะรวมกำลังกันได้
.
ลีโอไนดัส คือกษัตริย์ที่คุมทหารสปาร์ตันชั้นยอดกลุ่มหนึ่งไปทำภารกิจนี้ ทุกคนรู้ดีว่าไปแล้วไม่น่าจะมีชีวิตรอดกลับมา ไม่ว่าจะพิจารณาจากสถานการณ์ หรือจากคำทำนายโดยโหรตามธรรมเนียมความเชื่อก่อนทำสงครามของพวกเขา ที่สำคัญคือ คติของทหารสปาร์ตาจะไม่ยอมจำนนในสนามรบโดยเด็ดขาด จะเลือกสู้จนตัวตาย (ซึ่งคิดว่าศึกนั้นก็คงรอดยาก) แต่ก็ยังอาสาไปโดยไม่ลังเล
.
ในข้อเท็จจริงจากการศึกษาข้อมูลแหล่งต่าง ๆ มักบันทึกกันว่า ลีโอไนดัส มีกำลังทหาร(โดยรวม)มากกว่าแค่ทหารสปาร์ตันชั้นยอด 300 นาย โดยครั้งนั้นมีทหารอาสาจากหลายกลุ่ม เช่น เอเธเนียนส์ ที่ส่วนใหญ่ไปช่วยทางทะเล แต่ก็มีบางส่วนมาช่วยทางบก กำลังทหารที่เข้าร่วมในส่วนอื่นมีโฟเซียนส์ (Phocians) เธสเปียนส์ (Thesbians) ฯลฯ โดยรวมทั้งหมดแล้วมีจำนวนหลายพันนายทีเดียว ทหารกลุ่มหนึ่งในนั้นก็คือทหารสปาร์ตันระดับยอดฝีมือ 300 นายนั่นเอง
.
ลีโอไนดัส มาถึงพื้นที่เป้าหมายสำหรับตั้งรับก่อนทัพเปอร์เซีย เมื่อกองทัพเปอร์เซียมาถึง เซอร์ซีส สั่งให้ทหารไปยื่นข้อเสนอให้ลีโอไนดัส และกองทหารวางอาวุธและยอมแพ้ พลูทาร์ช (Plutarch) นักประวัติศาสตร์กรีกบันทึกไว้(ซึ่งคาดว่าอ้างอิงข้อมูลเบื้องต้นของเหตุการณ์จากเฮเรโดทัส อีกทอด)ว่า ลีโอไนดัส ยั่วยุเปอร์เซียกลับไปเป็นภาษากรีกโบราณว่า Molon labe แปลจากคำแปลภาษาอังกฤษมาเป็นไทยอีกทอดได้ความหมายทำนองว่า “ให้มาหยิบ(อาวุธที่อยากได้)ไปเอง” (come and get them)
.
กล่าวกันว่า ลีโอไนดัส และกลุ่มทหารยันกองทัพเปอร์เซียได้ 2 วันเนื่องจากได้เปรียบเรื่องพื้นที่ ช่องแคบตรงเธอร์โมพิลี กว้างไม่เกิน 100 เมตร ฝั่งหนึ่งเป็นหน้าผาสูง อีกฝั่งเป็นหุบเขา ทหารเปอร์เซียไม่สามารถใช้ทหารม้าล้อมขนาบแนวรับของกรีก ขณะที่ฝั่งกรีกตั้งแนวรับโดยให้ทหารยืนตั้งโล่เรียงกันไหล่ต่อไหล่แบบในหนัง 300 โล่ของกรีกแข็งแกร่งกว่า หอกยาวกว่า
.
แต่แล้ว ในตำนานที่กล่าวขานต่อมาเล่ากันว่า ชาวกรีกในท้องถิ่นชื่อเอฟิอัลทีส (Ephialtes) เอาข้อมูลเรื่องช่องโหว่ของภูมิประเทศที่เป็นทางเดินในหุบเขาซึ่งสามารถไปโผล่ที่ด้านหลังของแนวรับกรีกได้ไปแจ้งเซอร์ซีส แลกกับเงินค่าตอบแทน
.
หลังจากลีโอไนดัส รู้ข่าวว่าทัพเปอร์เซียกำลังเดินทางมาตลบหลัง กษัตริย์สปาร์ตาสั่งให้ทหารกรีกกลุ่มอื่นถอนกำลังไปตั้งรับที่จุดอื่น ตัวเขาเองและทหารสปาร์ตันจะถ่วงเวลาทหารเปอร์เซียให้นานที่สุด
บ้างก็ว่ามีทหารกลุ่มอื่นอาสาอยู่ด้วย ส่วนที่เหลือถูกส่งกลับและถอนกำลังไปสู้ศึกอื่นวันหน้า ทหารส่วนหนึ่งนำวีรกรรมของลีโอไนดัส ไปบอกกับชาวกรีก โดยอริสโตเดมุส (Aristodemus) หนึ่งในสองทหารสปาร์ตันที่ลีโอไนดัส อนุญาตให้ถอนทัพได้ด้วยเหตุผลเรื่องอาการเจ็บป่วย เดินทางกลับไปถึงบ้านเกิด แต่เขาไม่ได้รับการต้อนรับและถูกหมางเมิน
.
เฮเรโดทัส บันทึกไว้ว่า ไม่มีใครพูดจากับเขา และขนานนามว่าอริสโตเดมุส ผู้ขี้ขลาด กระทั่งในการรบแห่งพลาเทอา (Battle of Plataea) อริสโตเดมุส เข้าร่วมรบโดยหวังว่าจะลบล้างสิ่งที่ถูกตราหน้า บันทึกของเฮโรโดทัส เขียนไว้ว่า อริสโตเดมุส ตั้งเป้าว่าจะไปตายในสนามรบ ซึ่งเขาก็สู้รบอย่างเกรี้ยวกราดและเสียชีวิตในสนามรบ กอบกู้ชื่อเสียงของเขากลับคืนมา
.
เหตุผลที่ลีโอไนดัส ไม่ถอยทัพก็มีหลากหลาย บ้างก็ว่าเพราะเป็นคติเรื่องสปาร์ตาไม่ถอยและไม่จำนน บ้างก็ว่าเป็นเพราะลีโอไนดัส เลือกทำตามคำนายของโหรที่ว่า ศึกครั้งนี้จะต้องมีอย่างใดเกิดขึ้น ไม่กษัตริย์สปาร์ตาจบชีวิต หรือไม่กรีกจะล่มสลาย
.
วันที่ 3 ของการรบ ลีโอไนดัส และทหารสปาร์ตันเลือกจะสู้ต่อจนตัวตาย มีข้อมูลหลายชุดที่เล่าวาระสุดท้ายของลีโอไนดัส แตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าเลือกจะบุกแคมป์เปอร์เซียก่อน บ้างก็ว่าเปอร์เซียบุกก่อน ลีโอไนดัส ตายจากลูกธนู เมื่อเปอร์เซียพบศพของลีโอไนดัส ก็สั่งให้แยกชิ้นส่วน เฮโรโดทัส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์กรีกบันทึกว่า วิธีปฏิบัติดังกล่าวค่อนข้างแตกต่างจากธรรมเนียมของเปอร์เซีย ที่ยกย่องนักรบ แต่หากพิจารณาจากนิสัยของเซอร์ซีส แล้วก็มีความเป็นไปได้ เพราะเล่ากันว่าเป็นกษัตริย์เจ้าอารมณ์
.
แม้ว่าการรบที่ช่องแคบเธอร์โมพิลี จะถูกมองว่าเป็นความพ่ายแพ้ของฝั่งกรีก แต่ในอีกด้านก็อาจมองได้ว่าเป็นการรบที่ทำให้วีรกรรมของทหารสปาร์ตัน กระจายไปทั่วกรีก ส่งผลต่อขวัญกำลังใจของผู้คน เมื่อได้ยินเช่นนั้น หลายคนเลือกจะสู้ และกองทัพกรีกเป็นฝ่ายได้ชัยเหนือเปอร์เซียในการรบสำคัญหลายศึก เปอร์เซียค่อย ๆ อ่อนกำลังลงจนถึงจุดที่ไม่ได้ถึงกับคุกคามต่อกรีกอีกพักใหญ่
.
เรื่อง: ธนพงศ์ พุทธิวนิช
ภาพ: Google
.
Credit#ThePeople #History #ประวัติศาสตร์ #กรีก #สปาร์ตา #เปอร์เซีย #ลีโอไนดัส
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
300
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย