30 ก.ค. 2022 เวลา 02:23 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เปิด 3 เหตุผล โลกหมดยุค ‘ดอกเบี้ยต่ำ’
หนึ่งในความกังวลของคุณตอนนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘ดอกเบี้ย’ ใช่ไหมครับ
เป็นที่รู้กันดีว่าดอกเบี้ยสูงจะคอยฉุดให้ตลาดหุ้นไม่ไปไหน หุ้นที่แต่ก่อนเคยเติบโตดีๆ มาตอนนี้ก็ต้องเป็นหมันไปเมื่อเจอดอกเบี้ยสกัดดาวรุ่ง
ในช่วงวันหยุดยาวกลางฤดูฝนแบบนี้ เราอยากชวนคุณมามองภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกกันบ้าง เพราะโลกเรากำลังหมดยุค ‘ดอกเบี้ยต่ำ’ กันแล้วครับ
ส่วนสาเหตุจะมีอะไรบ้าง วันนี้เราสรุปมาให้คุณอ่านกัน 3 เรื่องสั้นๆ พร้อมแล้วไปติดตามกันได้เลยครับ
📌 เมกะเทรนด์ใหม่ ต้องใช้เงินลงทุนสูง
สาเหตุแรกที่เราหยิบยกมาเล่าให้คุณฟังว่าทำไมเงินเฟ้อในอนาคตอาจไม่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินแบบที่เคยเป็นมา เป็นเพราะว่าเมกะเทรนด์ใหม่ของโลก โดยเฉพาะพลังงานสะอาด และรถยนต์ EV ล้วนต้องใช้เงินลงทุนสูง
หรือที่ภาษาเทคนิคเรียกว่าเป็น Capital Intensive Industry ครับ 💰
ยกตัวอย่างเช่น ธีมพลังงานสะอาดและรถยนต์ EV ที่ทาง Goldman Sachs ได้วิเคราะห์ไว้ว่าหากทั่วโลกต้องการบรรลุเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น 0 ภายในปี 2593 ตามที่ตกลงกันในการประชุม COP26 แล้วล่ะก็
โลกเราจะต้องใช้เงินลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นอีกกว่า 2 เท่าตัว หรือจากราว 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 ไปเป็นเกือบ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2579 จึงจะบรรลุเป้าหมาย 🚀
ถ้าคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ทาง Goldman Sachs ก็บอกว่าโลกเราจะต้องลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานเพิ่มจากราว 0.9% ไปเป็นประมาณ 2% ของ GDP โลก นับตั้งแต่ปี 2575 เป็นต้นไป
ซึ่งเงินลงทุนก้อนนี้นับเฉพาะเงินลงทุนใหม่อย่างเดียว ยังไม่รวมถึงค่าบำรุงรักษาหรือเงินลงทุนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกนะครับ 🧐
เห็นภาพแล้วใช่ไหมครับครับว่าต่างจากเมกะเทรนด์ก่อนๆ ของโลกราวฟ้ากับเหว เพราะธุรกิจแพลตฟอร์มที่เป็นเมกะเทรนด์ในทศวรรษที่ผ่านมา แทบไม่ต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแบบยกเครื่องใหม่หมดเหมือนพลังงานสะอาดเลย
และยิ่งราคาแร่ธาตุสำคัญหลายอย่างสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแร่ลิเธียม นิกเกิล ทองแดง หรือโคบอลต์ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็ยิ่งต้องแข่งกันลงทุนเพื่อการันตีปริมาณผลผลิตในอนาคต ต้นทุนในการลงทุนก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก
ยิ่งเกิดวิกฤตพลังงานในยุโรป นานาประเทศก็เริ่มตื่นตัว เร่งหันมาลงทุนด้านพลังงานสะอาดกันยกใหญ่เพื่อความมั่นคงของตัวเอง
ถามว่าเงิน 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเยอะขนาดไหน? ก็ต้องบอกว่าคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของปริมาณเงินทั้งหมดที่เกิดจากมาตรการ QE ทั่วโลกตลอด 14 ปีที่ผ่านมาครับ ถือว่าเยอะเอาการอยู่เหมือนกัน
1
แน่นอนว่าเมื่อความต้องการใช้เงินมีสูงขึ้น ราคาของเงินซึ่งคือ ‘ดอกเบี้ย’ ก็ย่อมต้องสูงขึ้นตามไปด้วยตามกลไกธรรมชาติครับ 📈
1
📌 ธนาคารกลางดูดเงินออก นโยบายการเงินเปลี่ยนทิศ
ในช่วง 13-14 ปีที่ผ่านมา โลกเราอยู่ในสภาพ ‘เงินท่วมโลก’ ของจริง เพราะลำพังแค่มาตรการ QE จากธนาคารกลางสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป 3 แห่งนี้ก็อัดฉัดเงินเข้าเศรษฐกิจโลกถึงราว 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว
ถ้านับเฉพาะปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นมาแล้ว 9 เท่า จากราว 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2551 มาพีคสุดที่ 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงกลางปี 2565 🤑
ก่อนจะค่อยๆ ลดลงเพราะมาตรการ Quantitative Tightening หรือ QT ที่ Fed เพิ่งจะเริ่มทำในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ตามหลังธนาคารกลางอังกฤษและแคนาดามาติดๆ ครับ
โดยทาง Morgan Stanley คาดการณ์ว่าด้วยความเร็วในการดูดเงินกลับแบบนโยบายที่ทำอยู่ตอนนี้ ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในเศรษฐกิจโลกจะลดลงประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐใน 12 เดือนข้างหน้า
แน่นอนว่าเมื่อเงินในเศรษฐกิจมีน้อยลง ‘ดอกเบี้ย’ ที่เป็นราคาของเงินก็ย่อมต้องสูงขึ้นด้วยตามกลไกตลาด เช่นเดียวกับราคาของสินค้าและบริการอื่นๆ
ยิ่งถ้าไปรวมกับประเด็นแรก ที่ว่าโลกต้องการเงินจำนวนมากในการลงทุนเมกะเทรนด์ใหม่ๆ แล้ว ดอกเบี้ยในอนาคตย่อมต้องสูงขึ้นแน่นอนครับ
1
📌 ยุค Regionalization คบกันเฉพาะบ้านใกล้เรือนเคียง
เมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว ยุค ‘Globalization’ หรือ ‘โลกาภิวัฒน์’ รุ่งเรืองถึงขีดสุด การค้าการลงทุนทั่วโลกเชื่อมโยงถึงกันอย่างสะดวกสบาย มีเขตการค้าเสรีเกิดขึ้นมากมาย 🚢
แต่ปัจจุบันโลกกำลังกลับตาลปัตร เพราะตั้งแต่ปี 2561 ที่เกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนขึ้น โลกก็ก้าวเข้าสู่ยุค Regionalization หรือเรียกว่า ‘ภูมิภาคาภิวัตน์’ ครับ
คล้อยหลังจากเรื่องสงครามการค้าปะทุขึ้นไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์ Brexit และที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ก็คือความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
ผลที่ตามมาคือ ทรัพยากรที่มีอยู่เฉพาะบางภูมิภาคจะมีราคาสูงขึ้น เพราะการครอบครองทรัพยากรบางอย่างถือเป็นอำนาจการต่อรอง ในทำนองที่ว่า ‘ถ้าเธอไม่ใช่พวกเดียวกับฉัน ฉันก็จะไม่ขายของให้เธอ’ 🥊
ยกตัวอย่างเช่นราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นตอนนี้ เพราะรัสเซียที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกลดการส่งออกไปสหภาพยุโรป เพื่อคานอำนาจการต่อรองในความขัดแย้งกับยูเครน ♟️
สหภาพยุโรปจึงเจอกับวิกฤตพลังงาน เพราะพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นหลัก แต่รัสเซียก็แอบย่องไปเจรจาขายน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติให้จีนและอินเดียในราคาที่ถูกกว่าตลาดโลกด้วย
ไม่รวมการที่กลุ่มประเทศโอเปกไม่ยอมเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันตามที่สหรัฐฯ ร้องขอ เพราะต้องการสร้างอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น
ขณะที่สหรัฐฯ เองก็พยายามกีดกันไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในทุกวิถีทางเช่นเดียวกัน
โลกเริ่มเข้าสู่ยุคแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอีกรอบ การยกเอาทรัพยากรบางอย่างมาเป็นอำนาจในการเจรจาต่อรองก็จะมีให้เห็นบ่อยขึ้นด้วย
ผลก็คือ เมื่อราคาสินค้าต่างๆ สูงขึ้น เงินเฟ้อก็จะตามมาเป็นเงาตามตัว ธนาคารกลางก็จำเป็นต้อง ‘ขึ้นดอกเบี้ย’ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อไว้ในที่สุดครับ
เหมือนที่เราประสบกันอยู่ตอนนี้
จริงอยู่ที่ดอกเบี้ยถือเป็น ‘ของแสลง’ สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น แต่ก็มีหลายธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเช่นกัน เช่น ธุรกิจการเงิน ธุรกิจประกันภัย
หากคุณลงทุนนโยบาย Jitta Ranking อยู่ก็ปลอดภัยหายห่วงครับ เพราะ AI ของเราจะวิเคราะห์หาหุ้นพื้นฐานดี ราคาถูก และมีโอกาสเติบโตมาให้คุณลงทุนโดยอัตโนมัติทุก 3 เดือน คุณจึงไม่ต้องกังวลกับเรื่องเศรษฐกิจในภาพใหญ่มากนัก
หรือถ้าอ่านแล้ว เริ่มสนใจลงทุนธีมเมกะเทรนด์เปลี่ยนโลกอย่างพลังงานสะอาด ลิเธียมและแบตเตอรี หรือธีมอื่นๆ Jitta Wealth ก็พร้อมให้บริการคุณเช่นกันครับ
ทั้งแบบเลือกธีมจัดพอร์ตเองสูงสุด 5 ธีมต่อพอร์ต (Thematic DIY) หรือจะให้ AI ของเราคัด 4 ธีมที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้นมาจัดพอร์ตให้คุณโดยอัตโนมัติก็ย่อมได้ (Thematic Optimize)
หากสนใจ คุณสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://jittawealth.com/thematic
ขอให้มีความสุขในวันหยุดยาวครับ 😎
โฆษณา