1 ส.ค. 2022 เวลา 12:08 • ปรัชญา
🔸"โมเนยยปฏิบัติ"🔸
ข้อปฏิบัติของมุนี หรือ นักปราชญ์
เมื่อวันอังคารที่ ๒๖ กรกฎาคม หลวงพ่อได้แสดงธรรมช่วงเช้า มีขณะหนึ่งได้กล่าวถึงเรื่อง "โมเนยยปฏิบัติ"
โมเนยยปฏิบัติ คืออะไร ในเบื้องต้นนั้นทราบว่าเป็นการปฏิบัติของท่าน "พระนาลกะ" เป็นการปฏิบัติที่เรียกภาษาชาวบ้านง่ายๆคือ "โหดมาก" และในการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ๑ องค์ จะมีพระภิกษุที่ปฏิบัติ "โมเนยยปฏิปทา" นี้ ได้เพียงรูปเดียว โอกาสนี้จึงรวบรวมเรื่องราวมาเท่าที่จะหาได้ และอ่านไม่เข้าใจยากเกินไป ในหัวข้อนี้จะเจาะเฉพาะเรื่อง "โมเนยยปฏิบัติ" อย่างเดียว ส่วนประวัติของท่านพระนาลกะ นั้น จะนำมาเขียนลงอีกทีครั้งหน้า
โมเนยยปฏิบัติ ที่พระนาลกะฟังโอวาทจากพระพุทธเจ้าแล้วนำไปปฏิบัติ มีหัวข้อเด่นๆ ดังนี้
🟢เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย คือในการเห็น ในการฟัง ในการถาม เพราะเมื่อจบเทศนาของพระพุทธเจ้า ท่านไม่เกิดความรู้สึกในการที่จะต้องการเข้าเฝ้าอีก
🟢ไม่อยู่ในป่าแห่งเดียวถึง ๒ วัน ไม่นั่งที่โคนต้นไม้ต้นเดียวกันถึง ๒ วัน ไม่บิณฑบาตที่บ้านเดียวถึง ๒ วัน ดังนั้นท่านจึงออกจากป่าโน้นไปยังป่านี้ ออกจากต้นไม้นี้ไปยังต้นไม้โน้น
🟢ไม่ยินดียินร้าย ในสัตว์ทั้งหลาย พึงกระทำตนให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น สัตว์เหล่านี้ ฉันใด เราก็ฉันนั้น ไม่ตัดสินว่าใครดีชั่ว เพื่อไม่พิจารณาว่าที่นี้หยาบหรือปราณีต
🟢เมื่อไปสู่บ้าน ไม่ยินดีโภชนะที่ยังไม่ได้ และโภชนะที่เขานำไปแต่บ้าน ไปสู่บ้านแล้ว ไม่พึงเที่ยวไปในสกุลโดยรีบร้อน ไม่ควรยินดีรับนิมนต์ฉันที่เรือน ตัดถ้อยคำเสียแล้ว ไม่พึงกล่าววาจาเกี่ยวด้วยการแสวงหาของกิน
🟢มีบาตรในมือเที่ยวไปอยู่ ไม่เป็นใบ้ ก็สมมุติว่าเป็นใบ้ ไม่หมิ่นทานว่าน้อย ไม่ดูแคลนบุคคลผู้ให้
🟢เป็นผู้ทำใจให้มั่นคง ทำความรู้สึกในด่าและการกราบไหว้ให้เสมอกัน พึงรักษาจิตไม่ให้คิดร้าย เป็นผู้สงบไม่มีความเย่อหยิ่งเป็นอารมณ์ รู้แจ้งธรรมใด สำรวมจิตของตน ไม่กล่าวมากทั้งที่รู้
และยังรวมธุดงควัตรไปแล้วด้วย แม้จะไม่ได้กล่าวถึง
โมเนยยปฏิบัติเมื่อเริ่มตั้งใจอธิษฐานแล้วจะรับบิณฑบาตจากสถานที่ใดก็รับที่นั้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่อาจจะรับครั้งที่สองอีก, เทศนาให้ใครฟังจะไม่เทศน์ในสถานที่นั้นฟังซ้ำอีกเป็นครั้งที่สอง เพราะต้องเดินทางเปลี่ยนสถานที่ต่อไป, ไปพักใต้โคนไม้ที่ไหน หรือกุฏิไหนก็พักได้แค่คืนเดียว จะไม่หวนกลับมาพักครั้งที่สองอีก ฯลฯ ประพฤติแบบนี้ไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นจึงต้องสัญจรเร่ร่อนไปเรื่อยๆ และกลับมาซ้ำที่เดิมอีกก็ไม่ได้
โมเนยยปฏิบัตินั้น หากประพฤติอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์คือเข้มข้น ผู้ปฏิบัติก็จะคงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้เพียง ๗ เดือน ถ้าปฏิบัติเป็นปานกลาง ก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ๗ ปี ถ้าปฏิบัติอย่างอ่อน ก็คงจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้นานถึง ๑๖ ปี
ท่านพระนาลกะ ได้ประพฤติโมเนยยปฏิบัติ อย่างอุกฤษฏ์ ๕ ประการ เป็นเวลา ๗ เดือน คือ ๑.ไม่ยึดติดสนิทสนมต่อบุคคล ๒.ไม่ยึดติดถิ่นสถานที่อยู่ ๓.เป็นผู้สันโดษในการเห็น ๔.เป็นผู้สันโดษในการฟัง ๕.เป็นผู้สันโดษในการถาม
เมื่อท่านรู้ว่าตนจะสิ้นอายุจึงอาบน้ำ นุ่งผ้า คาดผ้าพันกาย ห่มสังฆาฏิสองชั้น บ่ายหน้าไปทางพระทศพล ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ประคองอัญชลี ยืนพิงภูเขาหิงคุลิกะ และปรินิพพานด้วยอาการยืนนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงทราบว่าพระนาลกเถระปรินิพพานแล้ว จึงเสด็จไป ณ ภูเขานั้นพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ กระทำฌาปนกิจให้เก็บพระธาตุไปบรรจุยังเจดีย์ 🪷
โฆษณา