3 ส.ค. 2022 เวลา 05:18 • ความคิดเห็น
กตัญญู คือความรู้คุณ หมายถึงความเป็นผู้มีใจกระจ่าง มีสติปัญญาบริบูรณ์ รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นกระทำแล้วแก่ตน ผู้ใดก็ตามที่ทำคุณแก่ตนแล้ว ไม่ว่าจะมากก็ตามน้อยก็ตาม เช่น เลี้ยงดู สั่งสอน ให้ที่พัก ให้งานทำ ฯลฯ ย่อมระลึกถึงด้วยความซาบซึ้งอยู่เสมอ ไม่ลืมอุปการคุณนั้นเลย
อีกนัยหนึ่ง ความกตัญญู หมายถึงความรู้บุญหรือรู้อุปการะของบุญที่ตนทำไว้แล้ว รู้ว่าที่ตนเองพ้นจากภัยอันตรายทั้งหลาย ได้ดีมีสุขอยู่ในปัจจุบัน ก็เพราะบุญทั้งหลายที่เคยทำไว้ในอดีตส่งผลให้ จึงไม่ลืมอุปการะของบุญนั้นเลย และสร้างสมบุญใหม่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
รวมความแล้ว กตัญญูจึงหมายถึงการรู้จักบุญคุณ อะไรก็ตามที่เป็นบุญหรือมีคุณต่อตนแล้ว ก็ตามระลึกนึกถึงด้วยความซาบซึ้งไม่ลืมเลย คนมีกตัญญูถึงแม้จะนัยน์ตาบอดมืดทั้งสองข้าง แต่ใจของเขาใสกระจ่างยิ่งกว่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์รวมกันเสียอีก
สิ่งที่ควรกตัญญู
สิ่งที่ควรแก่ความกตัญญู คือทุกสิ่งที่มีบุญแก่เรา ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 5 ประการ ได้แก่
1.กตัญญูต่อบุคคล คือใครก็ตามที่เคยมีพระคุณต่อเรา ไม่ว่าจะมากน้อยเพียงไร จะต้องกตัญญูรู้คุณท่าน ติดตามระลึกถึงเสมอด้วยความซาบซึ้ง พยายามหาโอกาสตอบแทนคุณท่านให้ได้ โดยเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์ บิดามารดา ครู อุปัชฌาย์อาจารย์ พระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครอง ที่ทรงทศพิธราชธรรม จะต้องตามระลึกนึกถึงพระคุณของท่านให้จงหนัก
 
ให้ปฏิบัติตัวให้เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติและเป็นพุทธมามกะสมชื่อ
2.กตัญญูต่อสัตว์ คือสัตว์ที่มีคุณต่อเรา เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ที่ใช้งาน จะต้องใช้ด้วยความกรุณาปรานี ไม่เฆี่ยนตีมันจนเหลือเกิน อย่าใช้งานหนักจนเป็นการทรมาน ขณะเดียวกันต้องเลี้ยงดูให้อาหารอย่าให้อดอยาก ให้ได้กินได้นอนได้พักผ่อนตามเวลา ตัวอย่างในเรื่องกตัญญูต่อสัตว์นี้มีอยู่ว่า
ในสมัยก่อนพุทธกาล วันหนึ่งพระเจ้ากรุงราชคฤห์เสด็จประพาสอุทยาน และได้บรรทมหลับในอุทยานนั้น ขณะนั้นมีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามาและกำลังจะฉกกัดพระองค์ เผอิญมีกระแตตัวหนึ่งเห็นเข้าแล้วร้องขึ้น พระองค์จึงสะดุ้งตื่นและไล่งูให้พ้นไป ทรงระลึกถึงคุณของกระแตว่าเป็นผู้ช่วยชีวิตพระองค์ไว้ จึงรับสั่งให้พระราชทานเหยื่อแก่กระแตในอุทยานนั้นทุกวัน
และห้ามไม่ให้ใครทำอันตรายแก่กระแตในอุทยานนั้น คนทั้งหลายจึงเรียกอุทยานนั้นว่า เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน แปลว่า ป่าไผ่อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต ซึ่งต่อมาก็คือ เวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนานั้นเอง
3.กตัญญูต่อสิ่งของ คือของสิ่งใดก็ตามที่มีคุณต่อเรา เช่นหนังสือ ธรรมะ หนังสือเรียน สถานศึกษา วัด ต้นไม้ ป่าไม้ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการหาเลี้ยงชีพ ฯลฯ จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ให้ดี ไม่ลบหลู่ดูแคลน ไม่ทำลาย
ตัวอย่างเช่น ไม้คานที่ใช้หาบของขาย เมื่อเจ้าของตั้งตัวได้ ร่ำรวย ขึ้นก็ไม่ทิ้ง ยังคิดถึงคุณของไม้คานอยู่ ถือเป็นของคู่ชีวิตช่วยเหลือตนสร้าง ฐานะมา จึงเลี่ยมทองเก็บไว้เป็นที่ระลึก ไว้เป็นเครื่องเตือนใจ อย่างนี้ก็มี
มีกล่าวไว้ในเตมียชาดกว่า
“อย่าว่าถึงคนที่เราได้พึ่งพาอาศัยกันเลย แม้แต่ต้นไม้ที่ได้อาศัยร่มเงาก็หาควรจะหักกิ่งริดก้านรานใบของมันไม่ ผู้ใดพำนักอาศัยนั่งนอนใต้ร่มเงาของต้นไม้ใดแล้ว ยังขืนหักกิ่งริดก้านรานใบ เด็ดยอด ขุดรากถากเปลือก ผู้นั้นชื่อว่าทำร้ายมิตร เป็นคนชั่วช้าเลวทราม จะมีแต่อัปมงคล เป็นเบื้องหน้า”
4.กตัญญูต่อบุญ คือรู้ว่าคนเราเกิดมามีอายุยืนยาว ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณดี สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสุขความเจริญ มีความก้าวหน้า มีทรัพย์สมบัติมาก ก็เนื่องมาจากผลของบุญ จะไปสวรรค์กระทั่งไปนิพพานได้ ก็ด้วยบุญ กล่าวได้ว่า ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยบุญ ทั้งบุญเก่าที่ได้สั่งสมมาดีแล้ว และบุญใหม่ที่เพียรสร้างขึ้นประกอบกัน จึงมีความรู้คุณของบุญ มีความอ่อนน้อมในตัว ไม่ดูถูกบุญ ตามระลึกถึงบุญเก่าให้จิตใจชุ่มชื่น และไม่ประมาทในการสร้างบุญใหม่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
5.กตัญญูต่อตนเอง คือรู้ว่าร่างกายของเรานี้เป็นอุปกรณ์สำคัญที่เราจะใช้อาศัยในการทำความดี ใช้ในการสร้างบุญกุศลนานาประการ เพื่อความสุขความเจริญก้าวหน้าแก่ตนเอง จึงทะนุถนอมดูแลร่างกาย รักษาสุขภาพให้ดี ไม่ทำลายด้วยการกินเหล้า เสพสิ่งเสพย์ติด เที่ยวเตร่ดึกๆ ดื่นๆ และไม่นำร่างกายนี้ไปประกอบความชั่ว เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เจ้าชู้ อันเป็นการทำลายตนเอง
ความกตัญญูจำเป็นอย่างไรในการสร้างความดี ?
การที่คนเราจะมีความคิดใฝ่ดี ตั้งใจทำความดีสร้างสมคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตัว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ที่ยากยิ่งกว่านั้นก็คือ ทำอย่างไรจึงจะ รักษาความตั้งใจที่ดีนั้นไว้ โดยไม่ท้อถอยไม่เลิกกลางคัน เพราะในการทำความดีย่อมมีอุปสรรค มีปัญหาขัดขวางมากมาย ไหนจะปัญหาภายนอกจากคนรอบข้าง จากสิ่งแวดล้อม ไหนจะปัญหาภายในจากกิเลสรุมล้อมประดังกันเข้ามา เราจะเอาตัวรอด ยืนหยัดสู้ปัญหาทั้งหลายที่เข้ามาผจญได้โดยไม่ท้อถอย ก็ต้องมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวใจไว้ นั่นคือความกตัญญู
ไปโรงเรียน เรียนหนังสือ แม้จะยากแสนยาก ท้อถอยจะเลิกเสียก็หลายครั้ง เพื่อนฝูงบางคนชวนไปเที่ยวเตร่เฮฮา ดูน่าสนุกกว่ามาก แต่เมื่อนึกถึงคุณพ่อคุณแม่ คิดว่าท่านอุตส่าห์ทะนุถนอมเลี้ยงดูเรามาจนเติบใหญ่ ลำบากลำบนในการทำมาหากิน เพื่อส่งเสียให้เราได้เล่าเรียน ท่านฝากความหวังไว้กับตัวเรา
อยากเห็นตัวเราได้ดีมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต พอคิดได้เท่านี้ ความกตัญญูก็จะเกิดขึ้นมีแรงสู้มีกำลังใจ แม้จะยากแสนยาก แม้จะเหนื่อยแสนเหนื่อย ก็กัดฟันสู้มุมานะ ตั้งใจเรียนให้ดีให้ได้ ไม่ยอมประพฤติตัวไปในทางเสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูล ให้คุณพ่อคุณแม่ครูบาอาจารย์ได้อายโดยเด็ดขาด
แม้ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้ตั้งใจจะทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา แน่นอนว่าในการทำงานนั้น จะต้องมีการกระทบกระทั่งกัน คนเราหลายคนก็หลายความเห็น ต่างคนก็ต่างตั้งใจดีกันทั้งนั้น แต่ความคิดความอ่านความสามารถอาจไม่เท่ากัน และบางครั้งก็เกิดทิฏฐิมานะ คิดไปว่า “ถึงแกจะหนึ่งแต่ฉันก็แน่เหมือนกัน” ทำให้ไม่ยอมกัน ที่เป็นเช่นนี้
เพราะต่างก็กำลังฝึกฝนตนเองอยู่ กิเลสในตัวก็ยังมี ยังไม่ได้หมดไป ดังนั้นถ้าไม่รู้จักควบคุมให้ดี จึงมีโอกาสขัดใจกันได้ หรือบางทีออกไปทำงานเผยแผ่ธรรมะ ก็พบกับคนที่ยังไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย พูดนินทาว่าร้าย เยาะเย้ยถากถางเอาบ้าง เพราะเหตุนี้จึงมีนักปฏิบัติธรรม นักเผยแผ่ธรรมะ รวมทั้งผู้ที่ตั้งใจทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมหลายๆ คน เบื่อหน่ายท้อถอย และเลิกราไปกลางคันอย่างน่าเสียดาย
แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความกตัญญูเป็นพื้นใจแล้ว เมื่อความท้อถอย ความเบื่อหน่ายเอือมระอาเกิดขึ้น เพียงแต่นึกว่า ที่ตัวเราได้มีโอกาสเรียนรู้ธรรมะ รู้การสร้างบุญกุศล รู้วิธีการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ รู้บุญรู้บาปอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงเสียสละอุทิศชีวิตทุ่มเทค้นคว้าจนตรัสรู้หลักอริยสัจจ์ คือความจริงอันประเสริฐทั้งหลายมาสอนเรา เมื่อคิดถึงชีวิต เลือดเนื้อ ความเพียรพยายามที่พระองค์ได้ทรงทุ่มเทลงไป
ตลอดระยะเวลาที่ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง 20 อสงไขยกับแสนกัปป์ ว่ามากมายมหาศาลเพียงใด (เวลากัปป์หนึ่งอุปมาได้กับมีภูเขาหินรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ กว้าง 16 กิโลเมตร ยาว 16 กิโลเมตร สูง 16 กิโลเมตร ทุก 100 ปี มีเทวดาเอาผ้าทิพย์บางเบา มาลูบครั้งหนึ่ง เมื่อใดภูเขาลูกนี้สึกหมด เรียบเสมอพื้นดิน
ระยะเวลานั้นเท่ากับกัปป์หนึ่ง ; 1 อสงไขย = 10140 คือจำนวนที่มีเลข 1 และมีเลข 0 ต่อท้าย 140 ตัว) ตลอดจนคิดถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านอุตส่าห์ถ่ายทอดคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อๆ กันมา และอบรมสั่งสอนให้เราได้ทราบได้รู้ถึงคำสอนของพระองค์ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก คิดเพียงเท่านี้ ความท้อถอยก็หาย ความเหนื่อยหน่ายก็คลาย แม้ความตายก็ไม่หวั่น เกิดกำลังใจที่จะทำความดีต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
เจริญพร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา