Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
3 ส.ค. 2022 เวลา 00:06 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
กระตุ้นมัน (ส์) สมอง
Photo by Milad Fakurian on Unsplash
ผมมีโอกาสได้อ่านบทความชิ้นหนึ่งใน blog ของคุณแอนเดรีย คุสซีว์สกี้ (Andrea Kuszewski) ซึ่งทำหน้าที่เป็น นักพฤติกรรมบำบัด (behavioral therapist) ที่เกี่ยวกับการเพิ่มพลังสมอง แล้วรู้สึกว่ามีเนื้อหาและมุมมองที่น่าสนใจ และน่าจะนำมาใช้ได้กับคนทั่วไปด้วย ก็เลยเรียบเรียงมาฝากกันในวันนี้ครับ
2
คุณแอนเดรียเล่าไว้ว่าได้มีโอกาสสอนเด็กออทิสติกให้ดูแลตนเองได้ ปรากฏว่ามีบางคนที่สามารถเพิ่มไอคิวจาก 80 ต้นๆ ที่ระดับขอบๆ ว่าจะมีปัญหาทางสติปัญญา จนกลายเป็น 100 นิดๆ ซึ่งอยู่ในช่วงของคนปกติได้ในเวลาเพียงสองสามปี
ใครสนใจค้นคว้าเพิ่มเติมให้ไปที่ blog ต่อไปนี้นะครับ
http://blogs.scientificamerican.com/guest-blog/2011/03/07/you-can-increase-your-intelligence-5-ways-to-maximize-your-cognitive-potential/
เพราะเนื้อที่ในคอลัมน์นี้คงไม่พอให้กล่าวถึงได้หมด
อย่างไรก็ตาม แม้ในยุคนี้เรามีแนวคิดเรื่องการฝึกฝนจนเป็นอัจฉริยะกันมาก แต่ผมคงต้องเตือนกันไว้ก่อนว่า ในแวดวงวิชาการเรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันมากครับว่า การเพิ่มไอคิวทำได้จริงหรือไม่
มีข้อสังเกตอีกนิดนึงที่ต้องกล่าวก่อนคือ ความฉลาดหรือเชาวน์ปัญญา (intelligence) ที่กล่าวถึงในบทความนี้ ในทางวิชาการจัดว่าเป็น เชาวน์ปัญญาแบบไหลลื่น (fluid intelligence) หรือความสามารถในการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ และนำมาใช้เรียนรู้เพิ่มเติมอีก หรือนำไปใช้แก้ปัญหาในอนาคตได้ ไม่ได้เป็น เชาวน์ปัญญาแบบตกผลึก (crystallized intelligence) ซึ่งเป็นความสามารถในการจดจำข้อเท็จจริง หรือข้อมูลความรู้ต่างๆ
ทั้งสองอย่างนี้มีกลไกที่แตกต่างกันครับ
เมื่อนำวิธีการที่คุณแอนเดรียใช้อยู่เอง ไปประกอบกับข้อมูลงานวิจัยอื่นๆ ทำให้เธอสรุปได้เป็นหลักการ 5 ข้อที่จะช่วยเพิ่มเชาวน์ปัญญาแบบไหลลื่นได้ประกอบด้วย
Photo by Nick Fewings on Unsplash
ข้อแรกคือ ค้นหาสิ่งใหม่ (seek novelty) \
การเปิดตัวเองหรือพาตัวเองไปพบกับสิ่งใหม่ๆ ช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อของแขนงเซลล์ประสาท นอกจากนี้ ยังทำให้เซลล์ประสาทสร้างสารสื่อประสาทบางอย่างเพิ่มเติม เช่น โดพามีน (dopamine) ซึ่งนอกจากช่วยให้ใช้งานสมองได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์ประสาทด้วยครับ
ดังนั้น หากมีกิจกรรมใดในชีวิตที่คุณอยากลองทำ แต่ยังไม่ได้ลงมือทำ อย่าลังเล ให้หาโอกาสลงมือทำเลยครับ นี่เป็นโอกาสเพิ่มสติปัญญาโดยแท้
หลักข้อที่สองคือ ท้าทายตนเป็นนิจ (challenge yourself) งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหลักการข้อนี้อาจทำให้คุณแปลกใจ เช่น การเล่นเกมส์ฝึกสมองอย่าง ซูโดกุ (Sudoku) นั้น อาจจะทั้งช่วยและไม่ช่วยพัฒนาสมอง เพราะแรกเริ่มเล่นนั้นมันช่วยได้จริง
แต่หลังจากเล่นจนเริ่มคล่อง สมองกลับ “ชิน” จนมีการทำงานจริงๆ ลดลง (เพราะทำไปด้วยความเคยชิน) จึงไม่ได้ช่วยอะไรในระยะยาว
คำแนะนำจึงเป็นว่าพอเริ่มเล่นคล่อง ก็ให้หาอย่างอื่นมาท้าทายตัวเองต่อไปครับ
Photo by Richard Bell on Unsplash
หลักข้อต่อไปคือ คิดอย่างสร้างสรรค์ (think creatively)
เรื่องประหลาดสำหรับข้อนี้ก็คือ มันขัดกับความเชื่อที่แพร่หลายมากอยู่ในขณะนี้ที่ว่า “ให้หันมาคิดด้วยสมองข้างขวา” เพราะงานวิจัยชี้ว่าต้องหัดคิดเชื่อมโยงด้วยสมองทั้งสองข้างต่างหาก
คิดอย่างไรจึงจะสร้างสรรค์?
คำตอบคือให้หัดคิดในหัวเรื่องที่กว้างขวางกว่าที่เคยทำอยู่ (เพราะบางคนสนใจแค่เรื่องเฉพาะตัวแคบๆ เท่านั้น) ให้เชื่อมโยงแนวคิดทั้งในกรอบและนอกกรอบ คิดอะไรใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำเดิม เมื่อทำแบบนี้บ่อยๆ เข้า ก็จะเกิดแนวคิดใหม่ๆ ในแบบของตัวเองมากขึ้น
ที่น่าแปลกใจคือ การฝึกฝนด้วยวิธีการแบบนี้ ทำให้นักศึกษาทำโจทย์ปัญหาที่ไม่เคยพบมาก่อนได้ดีขึ้นด้วยเป็นของแถม เมื่อเปรียบเทียบกับนักศึกษาที่ไม่ได้ผ่านการฝึกคิดอย่างสร้างสรรค์
หลักข้อ 4 คือ หมั่นทำตัวลำบากบ้าง (do things the hard way)
ผมว่าในหลักทั้ง 5 ข้อ ข้อนี้ดูจะน่าอึดอัดขัดใจที่สุด เค้าบอกว่าการใช้ตัวช่วยต่างๆ เช่น ระบบ GPS นำทางของรถยนต์ โปรแกรมช่วยแปลภาษา หรือเครื่องคิดเลข ตลอดเวลา ทำให้ความสามารถของสมองของคุณลดลง
Photo by Ravi Palwe on Unsplash
คำแนะนำก็คือให้ใช้สมองของคุณบ้างเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ ในแบบเดียวกับที่คุณออกกำลังกาย เพราะสมองก็ต้องออกกำลังในแบบนั้นเช่นกัน
หลักการข้อสุดท้ายคือ สร้างเครือข่ายสังคม (network)
เครือข่ายสังคมในข้อนี้อาจเป็นทั้งการพาตัวออกไปพบปะผู้คน พบหน้าพบตัวกัน หรืออาจเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ก็ได้
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนทำให้คุณมีโอกาสฝึกฝนตามหลักการทั้ง 4 ข้อข้างต้นมากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนนั้น สิ่งที่ตามมาด้วยคือ คุณต้องพบกับแนวคิดและสิ่งแวดล้อมที่ต่างออกไปเสมอๆ การพบปะคนนอกกลุ่มความเชี่ยวชาญหรือคนที่สนใจเรื่องคล้ายๆ กัน ยังเปิดโอกาสให้คุณมองเห็นปัญหาจากแง่มุมใหม่ๆ และอาจช่วยให้คุณเห็นในแบบที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน
แท้จริงแล้ว การเรียนรู้ (learning) ก็คือ การนำตัวคุณเองออกไปพบกับเรื่องใหม่ๆ และนำข้อมูลใหม่เหล่านั้นมาแปลให้อยู่ในรูปที่มีความหมายและมีเอกลักษณ์จำเพาะ การสร้างเครือข่ายสังคมจึงมีประโยชน์มากสำหรับเพิ่มความสามารถในการทำงานของสมอง
ดังนั้น หากถือตามข้อเท็จจริงเหล่านี้ เชาวน์ปัญญาก็จะไม่ได้หมายถึงแต่ความสามารถในการทำโจทย์คณิตศาสตร์ หรือการแก้ปัญหาเชิงตรรกะ หรือการจดจำคำศัพท์ยากๆ ยาวๆ ได้
แต่น่าจะหมายถึงความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาใหม่ๆ สามารถมององค์ประกอบสำคัญในโจทย์ปัญหาเหล่านั้นออก และแก้ปัญหาเหล่านั้นได้
จากนั้นก็เอาความรู้ที่ได้ไปแก้ปัญหาอื่นที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆ เรื่องนี้จึงมีคุณค่าและเกี่ยวข้องกับทั้งนวัตกรรมและจินตนาการไปพร้อมๆ กันด้วย
อย่าลืมนะครับ ค้นหาสิ่งใหม่ – ท้าทายตนเป็นนิจ – คิดอย่างสร้างสรรค์ – หมั่นทำตัวลำบากบ้าง – สร้างเครือข่ายสังคม คือสูตรที่ควรจำเอาไว้ให้ ... มันส์สมองครับ :-)
1
บทความนี้รวมอยู่ในหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน
สมอง
กระตุ้นสมอง
จิตวิทยา
บันทึก
1
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย