17 ส.ค. 2022 เวลา 04:00 • การตลาด
“Snowflake Syndrome” ปัญหาชีวิตที่เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ
‘Snowflake’ นอกจากจะมีความหมายว่า ‘เกล็ดหิมะ’ แล้ว ยังมีนิยามความหมายในเชิงเปรียบเทียบสำหรับคนที่มีความเปราะบาง มีปัญหากระทบนิดหน่อยก็ถอดใจ ไม่สู้ และยอมแพ้
มีการเปรียบเทียบระหว่างคนยุคพ่อแม่ และเด็กยุคใหม่ รวมถึงพูดถึงสิ่งที่เด็กยุคนี้ได้รับคือความสุข ความสบายจนเคยตัว ทำให้ลำบากไม่เป็น เจอปัญหาก็แก้ไม่ได้
บางคนมองย้อนไปในสมัยพ่อแม่ที่ต้องปากกัดตีนถีบมากกว่า ทำให้มีภาวะจิตใจที่เข้มแข็งรับได้ทุกปัญหา
แต่ที่จริงหากมองในแง่ของสภาพสังคมก็ต้องยอมรับว่าเด็กยุคนี้อาจมีปัญหาชีวิตอันเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจก็ได้
สมัยก่อนไอศกรีมโคนละ 7 บาท ผ่านมากว่า 10 ปี ไอศกรีมเหล่านี้ปรับราคาขึ้นเกินเท่าตัวเป็น 15 บาท ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำระดับปริญญาตรียังคงอยู่ที่ 15,000 บาทเช่นเดิม ไม่ต้องพูดไปไกลถึงค่าบ้าน ค่ารถ ที่ตอนนี้ราคาพุ่งสูงจนเกินที่เด็กจบใหม่ยากจะเอื้อมถึง
ในขณะเดียวกัน รุ่นพ่อแม่ของคนยุคนี้ยังคงมีความคาดหวังต่อรายได้ของรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่ควรจะเพียงพอต่อการซื้อบ้าน ซื้อรถเป็นของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อยเช่นเดิม ซึ่งขัดแย้งกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน
เพราะเหตุนี้เอง ในช่วงหลังเรื่อง ‘สุขภาพจิต’ เลยกลายเป็นสิ่งที่ถูกคำนึงถึงมากยิ่งขึ้น การพูดถึง ‘โรคซึมเศร้า’ จึงเป็นที่พูดถึงมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
และการเปรียบเทียบว่าเด็กรุ่นใหม่จิตใจบอบบาง อาจเป็นคำกล่าวหาที่ดูรุนแรง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบุคคลเองเป็นส่วนประกอบด้วย
เด็กรุ่นใหม่ที่สู้ชีวิต ปากกัดตีนถีบก็มีไม่น้อย เด็กบางคนต้นทุนชีวิตมาดี แต่ไม่มีความพยายามก็ไม่อาจสู่ความสำเร็จที่ต้องการได้
คำว่า Snowflake Syndrome อาจเป็นการพูดถึงให้เรามองเห็นกว้าง ๆของปัญหา แต่การจะแก้ปัญหาก็ต้องมุ่งเป้าไปที่ปัจจัยของแต่ละคนเป็นสำคัญด้วย
#Marketing #การตลาด #แฟรนไชส์ #MarketingMore
โฆษณา