2 ส.ค. 2022 เวลา 07:12 • การศึกษา
ถ้าบอกว่าตายแล้วดับสูญ ทำดีก็แค่ได้ทำดี ได้รู้สึกดี ไม่ได้มีผลบุญอะไรที่วิเศษพิศดาร บอกแบบนี้มันไม่ว้าว มันไม่น่าดึงดูดใจ สำหรับบางคนรู้แบบนี้ก็จะรู้สึกไร้ค่า ชีวิตไม่มีความหมาย ยอมรับความจริงไม่ได้
ดังนั้นคำสอนเรื่องเวรกรรม บาปบุญ ภพชาติ จึงเกิดขึ้นเพื่อใช้สอนให้กับคนที่ยังมีปัญญาไม่มากพอที่จะคิดเองได้ว่า ทำดีก็เพราะอยากทำดี ไม่อยากทำชั่วก็เพราะไม่อยากชั่ว เพราะไม่อยากให้คนอื่นเดือดร้อนก็แค่นั้น
ถ้าลองสังเกตคำสอนเรื่องเวรกรรม บาปบุญดีๆ จะเห็นว่าเป็นความเชื่อที่อยู่บนพื้นฐานของความเห็นแก่ของตัว คือทำบุญเพื่อหวังผล ไม่ทำบาปเพราะไม่อยากตกนรก สร้างเรื่องภพชาติเพราะอยากไปเกิดในที่ดีๆ จะเห็นว่าทุกความเชื่อที่กล่าวมาล้วนเอา "ตัวเอง" เป็นที่ตั้ง ทั้งๆที่คำสอนแก่นแท้ของพุทธจริงๆคือการละทิ้งความมีตัวตนต่างหาก
และที่สำคัญเรื่องพวกนี้เป็นความเชื่อที่พิสูจน์อย่างมีเหตุผลไม่ได้ มีแต่เรื่องเล่าจากปากที่บอกต่อๆกันมา จากพระไตรปิฎก (ที่ถูกเขียนแต่งเติมบิดเบือนมาตลอดหลายพันปี) จากพระบางรูป จากคนที่อ้างว่ามีพลังวิเศษมีญาณหยั่งรู้ พุทธจริงๆ ไม่เคยสอนให้ใช้ความเชื่อ ทุกอย่างต้องมีเหตุผลและพิสูจน์ได้จริงๆเท่านั้น แม้กระทั่งตำราที่ดูน่าเชื่อถือหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าเองก็ตาม
สรุปแล้วเรื่องพวกนี้เป็นเพียงแค่นิทานที่เล่าต่อกันมาใช่ไหม คำตอบของเราก็คือใช่ เพราะ 1.พิสูจน์ด้วยหลักเหตุผลไม่ได้ 2.ขัดกับคำสอนที่เป็นแก่นแท้ของพุทธ
แล้วใครเป็นคนสร้างนิทานหลอกเด็กพวกนี้ขึ้นมาหล่ะ เท่าที่เราศึกษาก็ยังไม่สามารถสรุปได้แบบ 100% มีแต่ข้อสันนิษฐาน เช่น เกิดขึ้นมาหลังจากที่พระพุทธเจ้าตาย โดยมีการพยายามนำความคิดของพราหมณ์เข้ามาผสม เกิดจากการแปลการตีความที่ผิดเพี้ยนไปจากที่พระพุทธเจ้าต้องการจะสื่อจริงๆ หรืออาจจะเกิดจากพระพุทธเจ้าเองนั่นแหละที่ตั้งใจจะสอนแบบนี้ให้แก่คนบางกลุ่มเช่นชาวบ้านที่ไม่ได้มีปัญญาจะเข้าใจธรรมที่ลึกซึ้งเข้าใจยาก เพราะถึงแม้ความเชื่อพวกนี้จะไม่ได้ถูกต้องนักแต่ก็ถือว่ามีประโยชน์ให้คนอยากทำดีละความชั่วนั่นเอง
1
โฆษณา