2 ส.ค. 2022 เวลา 11:46 • ประวัติศาสตร์
จริงหรือไม่ ก่อนจะพบเส้นทางสายไหม จีนเคยมีเส้นทางติดต่อกับฝั่งตะวันตกก่อนหน้านี้แล้ว หนังสือบันทึกของราชวงศ์ฮั่น《漢書》มีคำตอบ
คีย์เวิร์ดคำก่อนอ่านบทความ :
张骞 ขุนนางจางเชียน ผู้ออกเดินทางไปยังตะวันตก
三星堆 อารยธรรมซานซิงตุย
蜀国 แคว้นซู่ Shu
身毒国 ประเทศอินเดีย
บัดนี้เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านดื่มด่ำไปกับอารยธรรมโบราณจีนอันสวยงาม และเต็มไปด้วยปริศนาที่น่าติดตาม รอผู้คนและกาลเวลาเข้าค้นหา พิสูจน์ความจริงอันยิ่งใหญ่ที่เต็มไปด้วยสติปัญญาของมวลมนุษย์ชาติที่มีมาแต่โบราณกาล
เชื่อว่าใครที่ศึกษาประวัติศาสตร์หรือศึกษาภาษาจีนอยู่นั้น คงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักคำว่า เส้นทางสายไหม หรือภาษาจีนใช้คำว่า 丝绸之路 Silk Roads
เส้นทางสายไหมเป็นเส้นทางที่ใช้เชื่อมต่อไปยังประเทศที่อยู่ทางฝั่งตะวันตก |通往西域 เชื่อมต่อไปยังฝั่งตะวันตก
ในสมัยโบราณ ตั้งแต่ประเทศอินเดียเป็นต้นไปคนจีนโบราณจะนับเป็นตะวันตกหมด เรียกว่า 西域 (ดินแดนตะวันตก) ยกตัวอย่างเช่น บันทึกการเดินทางดินแดนตะวันตกของพระถัมซัมจั๋ง 《大唐西域记》
ปัจจุบันเส้นทางสายไหมจะแบ่งออกเป็นสองสายหลักๆ คือสายที่เริ่มจากเมืองซีอาน(สมัยโบราณเรียกว่าฉางอัน 长安) เราเรียกสายนี้ว่า 🏇🏻เส้นทางสายไหม 丝绸之路 (หรือเรียกอีกชื่อนึงว่า 古代丝绸之路 เส้นทางสายไหมโบราณ) ส่วนเส้นทางสายไหมที่เริ่มจากกว่างโจว เราเรียกสายนี้ว่า 🚣🏻‍♀️ เส้นทางสายไหมทางทะเล 海上丝绸之路
อธิบายข้างต้นคร่าวๆแล้ว เรามาเข้าเรื่องกันดีกว่า 🗺
เมื่อเราเปิดหนังสือบันทึกราชวงศ์ฮั่น บทชีวประวัติจางเชียน 《漢書·張騫李廣利健傳》ในส่วนแรกจะพบกับสาเหตุของการออกเดินทางไปยังตะวันตก และนำมาซึ่งการบุกเบิกเส้นทางสายไหม
หนังสือบันทึกราชวงศ์ฮั่นกล่าวว่า :
"張騫,漢中人也。建元中為郎。時匈奴降者言匈奴破月氏王,以其頭為飲器,月氏遁而怨匈奴,無與共擊之。漢方欲事滅胡,聞此言,欲通使,道必更匈奴中,乃募能使者。騫以郎應募,使月氏。"
“ จางเชียน คนฮั่นจง เมื่อรัชศกเจี้ยนหยวนรับตำแหน่งราชการ เชลยศึกซงหนูให้การว่าพวกเขาโจมตีพระเจ้าเยจือ และตัดหัวนำมาทำเป็นภาชนะเครื่องดื่ม แคว้นเยจือจึงยอมก้มหัวให้กับซงหนู มิมีผู้ใดอาจหาญกล้าโจมตีได้ อันสำนักฮั่นได้ยินเช่นนี้ แต่เดิมอยากออกเดินทางสำรวจดินแดนตะวันตกอยู่แล้ว แต่ระหว่างทางจำเป็นต้องผ่านซงหนู ฮั่นอู่ตี้จึงได้มีพระบัญชาประกาศหาผู้สมัครใจออกเดินทาง จางเชียนเมื่อได้ยินเช่นนี้ จึงน้อมรับพระบัญชา ออกเดินทางไปยังดินแดนตะวันตก”
จากการบันทึกดังกล่าว เราเห็นได้ว่าชนวนที่ทำให้ประเทศจีนบุกเบิกเส้นทางสายไหมขึ้น ไม่ได้มาจากการค้าแต่อย่างใด แต่สืบเนื่องจากการสงครามที่จีนต้องการเห็นความโหดเหี้ยมของเผ่าซงหนูด้วยกับตาตนเองต่างหาก จึงได้รวบรวมทูตผู้ชาญฉลาดและทหารผู้กล้าหาญ ออกเดินทางในครั้งนี้
🈯︎
จริงๆแล้วสิ่งที่น่าสนใจจากบันทึกหนังสือราชวงศ์ฮั่น ไม่ได้อยู่ที่จางเชียนบุกเบิกเส้นทางสายไหมไปได้ไกลแค่ไหน แต่อยู่ที่เมื่อตอนจางเชียนได้เดินทางไปถึงต้าเซียะ 大夏 (ปัจจุบันคืออัฟกานิสถาน) และกลับมายังฉางอัน ได้มีการจดบันทึกไว้ดังนี้
จางเชียนกราบทูลพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ว่า “เมื่อตอนกระหม่อมอยู่ที่ต้าเซียะ กระหม่อมเห็นไม้เท้าและผ้าที่ทำจากแคว้นซู่ จึงได้ถามพวกเขา คนต้าเซียะบอกว่า เหล่าพ่อค้าได้มาจากอินเดีย ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ไกลนับพันลี้”
騫曰:“臣在大夏時,見筇竹杖、屬布,問安得此,大夏國人曰:‘吾賈人往市之身毒國。身毒國在大夏東南可數千里。’”
เกล็ดเสริม :
สมัยโบราณจีนเรียกประเทศอินเดียว่า 身毒国 yuan du guo ภายหลังพระถัมซัมจั๋งแปลตามเสียง Indu จึงเปลี่ยนใช้คำว่า 印度 และถูกใช้มาถึงปัจจุบัน
ส่วน 身 ตัวนี้ปกติภาษาจีนกลางจะออกเสียง shen แต่หากอ่านเป็นชื่อประเทศอินเดียในโบราณ สามารถออกได้สองเสียงคือ yuan หรือ xin
หลังจากที่ฮั่นอู่ตี้ฟังความจากจางเชียน ก็ได้แต่สงสัยว่าประเทศที่อยู่ฝั่งตะวันตกจะมีของที่มาจากเสฉวนได้อย่างไรกัน
แคว้นซู่ หรือ 蜀国 เป็นแคว้นที่ตั้งอยู่บริเวณมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นแคว้นที่มีอารยธรรมเป็นของตนมาอย่างยาวนานควบคู่ไปกับอารยธรรมจีน หากใครได้ศึกษาประวัติศาสตร์จีน อาจจะเคยได้ยินอารยธรรมที่ชื่อว่าซานซิงตุย 三星堆
ซึ่งซานซิงตุยถือเป็นอารยธรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวแคว้นซู่ได้เป็นอย่างดี แต่เสียดายที่ไม่มีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรถึงการดำรงอยู่ของอารยธรรมนี้มากนัก มีก็เพียงแต่โบราณวัตถุต่างๆที่นักโบราณคดีจีนได้ขุดพบ แต่ก็ยังคงไว้ด้วยปริศนามากมายที่รอให้กาลเวลามาเปิดเผยขึ้น
วัตถุโบราณซานซิงตุยบางส่วนที่ถูกขุดพบ มณฑลเสฉวน
ปกติแล้วเวลาเราขุดพบโบราณวัตถุก็จะได้คำตอบให้กับประวัติศาสตร์มากขึ้น แต่มันใช้ไม่ได้กับอารยธรรมซานซิงตุยเลย ยิ่งเราขุดพบ เรายิ่งหาคำตอบไม่ได้”
นักโบราณคดีจีนส่วนมากต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน
㊟ ถ้าหากเราพิจารณาจากคำพูดของจางเชียน เราจะได้ข้อสรุปว่า แคว้นซู่ได้มีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่อยู่ทางตะวันตกและพบเส้นทางการเดินทางของตนตั้งนานแล้ว
ซึ่งการบันทึกเหล่านี้ได้สร้างปริศนาให้กับนักวิชาการจีนอยู่พอสมควร เพราะในปัจจุบันทุกคนต่างให้การยอมรับว่าจางเชียนแห่งราชวงศ์ฮั่นได้เป็นผู้บุกเบิกเส้นทางไปยังตะวันตก
อีกทั้ง ถ้าเราพิจารณาจากลักษณะทางภูมิประเทศของจีน ในสมัยโบราณการคมนาคมต่างๆไม่ได้พัฒนาเท่าปัจจุบัน ไม่มีเครื่องบิน ไม่มีรถยนตร์ ต้องเดินทางด้วยม้า หรือสัญจรด้วยการเดินทางเท้า และถ้าหากต้องการเดินทางไปยังตะวันตกจริงๆ ในสมัยนั้นมีเพียงแค่สองทางซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้คือ
  • ตอนบนของจีนผ่านมณฑลกานซู 甘肃 ผ่านตุนหวง 敦煌 ซึ่งหากใช้เส้นทางนี้จะผ่านแอ่งกะทะทาริม หรือภาษาจีนคือ 塔里木盆地 ซึ่งร้อยทั้งร้อยคนจีนโบราณจะใช้เส้นทางนี้เป็นหลัก เดินทางสะดวก รวมถึงภายหลังในราชวงศ์ถังก็ใช้เส้นทางนี้เช่นกัน
  • เส้นทางที่สองเป็นเส้นทางตอนล่าง หรือคือทางฝั่งใต้ของจีน แต่มันเป็นไปได้ยากมาก เพราะผู้เดินทางที่เลือกใช้เส้นทางนี้จะต้องเดินข้ามผ่านเทือกเขาหิมาลัยด้วยความยากลำบาก ทั้งสภาพภูมิอากาศ เสบียงที่ใช้ในการเดินทาง ซึ่งอันตราการรอดชีวิตไปถึงตะวันตกถือว่ามีน้อยมาก เมื่อเทียบกับเส้นทางตอนบน
แม้กระทั่งตัวจางเชียนเองก็เคยเดินทางลงไปยังตอนใต้ของจีน แทบมณฑลยุนนานในปัจจุบัน แต่ก็หาทางที่สามารถเชื่อมไปยังฝั่งตะวันตกไม่เจออยู่ดี
แต่ภายหลังมานี้เริ่มได้มีการลงความเห็นกันว่า ชาวแคว้นซู่น่าจะได้เลือกใช้เส้นทางตอนล่างของจีน เดินผ่านเทือกเขาหิมาลัย และสามารถเดินทางไปยังดินแดนตะวันตกเพื่อทำการค้าได้ โดยอาศัยเทคนิคชำนาญในการสร้างถนน หรือเจาะเลาะภูเขา
Google Earth
㊙︎ นักกวีผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยราชวงศ์ถังอย่างลี่ป๋าย 李白 ได้นิพนธ์กวีที่มีชื่อว่า 《蜀道难》หรือ เส้นทางแคว้นซู่ยากลำเข็ญไว้
李白诗云:“蜀道之难,难于上青天”
จากกวีของหลี่ป๋ายได้เปรียบเปรยไว้ว่า เส้นทางของแคว้นซู่นั้นยากลำบากดั่งกับเดินเหินขึ้นสู่นภา ทั้งอันตรายและสูงชัน
ซึ่งคำว่า “เส้นทางแคว้นซู่ 蜀道”ในที่นี้ กล่าวถึงเส้นทางที่ชาวแคว้นซู่ใช้สัญจรอยู่บนภูเขา เป็นเส้นทางที่ขุดเจาะด้วยชาวแคว้นซู่เอง ปัจจุบันยังคงทิ้งร่องรอยไว้ที่มณฑลเสฉวน และได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวที่ใจรักการปีนเขาได้สัมผัสกับความหวาดเสียว สูงชันของทางเดินแคว้นซู่นี้ โดยใช้ชื่อว่า 猿猱鸟道 | yuánnáo niǎodào
ขอบคุณภาพจาก weibo : 采采卷耳踏遍繁花似锦
นักวิชาการจีนจึงสันนิษฐานว่าชาวแคว้นซู่น่าจะมีเทคนิคในการทำทาง หรือขุดเจาะทางเพื่อใช้สัญจรเวลาข้ามภูเขาสูงๆได้ แม้กระทั่งตัวลี่ป๋ายเองก็เคยใช้เส้นทางที่ชาวแคว้นซู่ได้สร้างไว้เช่นกัน หลังจากที่ลงจากเขาก็ได้ประพันธ์บนกวีนี้ขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกของตนที่ได้เผชิญกับเส้นทางอันหวาดเสียว
อย่างไรก็ตาม เส้นทางที่ใช้ส่งออกสินค้าของชาวแคว้นซู่เป็นเพียงการสันนิษฐานตามหลักฐานที่มีอยู่ ซึ่งเส้นทางจริงมีอยู่ตรงไหน จุดไหนของเทือกเขาหิมาลัย ยังคงต้องใช้เวลาและสืบเสาะหากันต่อไป
อีกทั้งการบันทึกของจางเชียน ก็คงสิ้นสุดไว้เพียงเท่านั้น และไม่ได้มีการกล่าวอะไรอีกเพิ่มเติมถึงแคว้นซู่
แต่บ้างก็ว่าชาวบ้านหรือชนเผ่าที่อาศัยอยู่แทบนั้น ก็ใช้เส้นทางเทือกเขาในการลำเลียงอาหารหรือสิ่งของกันเป็นปกติอยู่แล้ว
นี้อาจจะเป็นตัวสะท้อนถึงวิถีชีวิตและการค้าของชาวแคว้นซู่ในสมัยนั้นก็เป็นได้
ส่วนบทความหน้า
ผู้เขียนจะมาแนะนำอารยธรรมซานซิงตุย หรือ 古蜀文明 ให้ผู้อ่านได้รับชมกัน
โฆษณา