2 ส.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
แท้จริงแล้ว นิยามของ Recession คืออะไรกันแน่?
ทางเทคนิค Recession หมายถึง ภาวะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจถดถอยติดต่อกัน 2 ไตรมาสขึ้นไป อย่างไรก็ตาม สำหรับสหรัฐฯ การประกาศว่าเข้าสู่ Recession หรือไม่ขึ้นกับคณะกรรมการของ National Bureau of Economic Research (NBER) ที่ใช้นิยามกว้างมากกว่านั้น
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคงเป็นสัปดาห์ที่วุ่นวายที่สุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากตัวเลขดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวทะยอยประกาศในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ดัชนีที่สำคัญที่สุดและกลายเป็นที่ถกเถียงมากที่สุดนั่นคือ GDP ไตรมาส 2 ของปี 2022 ที่หดตัว 0.9% ซึ่งพอประกอบกับ GDP ไตรมาสแรกของปีที่หดตัว 1.6% ทางเทคนิคก็กลายเป็นว่าสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แล้ว
อย่างไรก็ตาม ประธานเฟดมองว่าสหรัฐฯ ยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากองค์ประกอบด้านอื่นๆ ของเศรษฐกิจก็ยังไปได้ดีอยู่โดยเฉพาะตลาดการจ้างงานที่ยังคงแข็งแรงอยู่มาก
คุณเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ คุณพอล ครุกแมน ตลอดจนนักเศรษฐศาสตร์หลายๆ ท่านก็คิดเช่นนั้น แต่ก็มีอีกฝั่งที่มองว่าตอนนี้สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วจริงๆ
การถกเถียงเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จากเวทีแถลงข่าวของเฟดสู่โลกออนไลน์ จนกระทั่ง Wikipedia ต้องปิดไม่ให้ผู้ใช้ใหม่ๆ ที่ไม่มีบัญชี สามารถแก้คำนิยามของคำว่า “Recession” ได้ เนื่องจากมีคนพยายามเข้าไปแก้ไขคำนิยามกันอย่างดุเดือดกว่า 180 ครั้งในสัปดาห์เดียว
บทความนี้ Bnomics ก็เลยจะมาเล่าให้ฟังว่านิยามของ Recession อันแสนวุ่นวายนี้มันคืออะไรกันแน่
📌 ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) คืออะไร?
ถ้าอ้างอิงจากหนังสือเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession หมายถึงการที่
เศรษฐกิจถดถอยเป็นเวลานาน โดยจะเริ่มขึ้นหลังจากที่เศรษฐกิจได้เติบโตไปจนถึงจุดสูงสุด และจะสิ้นสุดลงเมื่อเศรษฐกิจตกลงไปถึงจุดต่ำสุด หรือถ้านึกภาพตามง่ายๆ ก็คือ วัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้นขาลงนั่นเอง
ปกติเราจะเรียกว่าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจหดตัวติดต่อกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2 ไตรมาสขึ้นไป โดยมักจะดูจากตัวเลข GDP เป็นหลัก แต่ก็มีกรณียกเว้นว่าไม่จำเป็นต้องหดตัวติดต่อกันก็ได้ เช่น ตอนที่เศรษฐกิจหดตัวอย่างมาก และหดตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่สหรัฐฯ เผชิญกับวิกฤตโควิดในช่วงแรก ก็ถูกเรียกว่าเป็นช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้เหมือนกัน
📌 แล้วทำไมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ถูกเรียกว่าเข้าสู่ช่วง Recession?
แต่ทีนี้สำหรับสหรัฐฯ จะมีคณะกรรมการของ National Bureau of Economic Research (NBER) ที่จะมีหน้าที่รับผิดชอบในการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้ก็จะประกอบไปด้วยนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการในสถาบันอันดับต้นๆ ของประเทศรวม 8 คน
ซึ่งคำนิยามที่ทาง NBER ให้ไว้นั้นจะค่อนข้างกว้างกว่าแค่ตัวเลข GDP ติดลบติดต่อกันเกิน 2 ไตรมาสขึ้นไป แต่จะพิจารณาว่าสามารถเรียกว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้หรือไม่ ก็ต่อเมื่อ
มีการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ
และหดตัวโดยทั่วกันอย่างน้อย 1 - 2 เดือน
ทั้งนี้จะมีการพิจารณาในหลายๆ องค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็น การจ้างงาน, รายได้ส่วนบุคคล, การซื้อสินค้าและบริการ, การซื้อสินค้าคงทน, การออกใบอนุญาตที่อยู่อาศัย, การผลิตทางอุตสาหกรรม
ถ้าดูตามปัจจัยดังกล่าว ก็จะพบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างเต็มตัว โดยเฉพาะในประเด็นที่ถูกยกมากล่าวอ้างมากที่สุดคือตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่
จากข้อมูลในเดือนมิถุนายน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มสูงขึ้นถึง 372,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานก็ต่ำอยู่แค่ 3.6% เท่านั้น โดยมีตำแหน่งงานว่าง 2 ตำแหน่ง ต่อคนว่างงาน 1 คน ทำให้ถือได้ว่าเป็นช่วงที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ตึงตัวเป็นอย่างมาก
ดังนั้นถ้ายึดตาม NBER ก็ถือว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในตอนนี้ แต่นี่ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนให้เราต้องเฝ้าระวังภาวะเศรษฐกิจถดถอยกันให้มากขึ้น และคอยติดตามว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะออกมาตรการอะไรต่อไป หลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% มา 2 ครั้งติดต่อกันแล้ว ซึ่งก็คงช่วยกดเงินเฟ้อ และไปกดดันตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่พอสมควร
และถึงแม้ว่าจะไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ชาวอเมริกันหลายคนก็กลับรู้สึกเหมือนว่ากำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงทำให้บางส่วนตัดสินใจจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ซื้อของเท่าที่จำเป็น ซึ่งความกังวลเหล่านี้เองก็อาจส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยก่อตัวขึ้นมาในวันใดวันหนึ่ง ถึงแม้อาจไม่ใช่วันนี้…แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวันข้างหน้าจะไม่เกิดขึ้น
[เกร็ดเล็กน้อย]
ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยอยู่ 2 ครั้งที่ GDP ไม่ได้หดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส แต่ก็ถูกเรียกว่าเป็น Recession ได้
  • ในปี 2001 GDP สหรัฐฯ 3 เดือนแรกหดตัว ก่อนที่จะกลับคืนมาในอีก 3 เดือนถัดมา และก็หดตัวลงอีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วง แต่ถูกเรียกว่าเป็น Recession เนื่องจากในช่วงนั้น ทั้งการจ้างงานและการผลิตทางอุตสาหกรรมหดตัว
  • ในปี 2020 ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 GDP สหรัฐฯ หดตัวเป็นอย่างมากในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน แต่ถูกเรียกว่าเป็น Recession เนื่องจากมีการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างและรุนแรง
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
#APEC2022COMMUNICATIONPARTNER
โฆษณา