2 ส.ค. 2022 เวลา 10:16 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
อุดมการณ์ ‘ปลดแอกเด็ก’ แบบบังกูปง: เมื่อครอบครัว-การศึกษา-สังคม พรากความสุขไปจากวัยเยาว์
Photo on Extraordinary Attorney Woo [EP.9]
[KKC RECAP] อุดมการณ์ ‘ปลดแอกเด็ก’ แบบบังกูปง:
“เมื่อครอบครัว-การศึกษา-สังคม พรากความสุขไปจากวัยเยาว์”
by Génesis K. | ภาคีนักเรียนKKC
‘บังกูปง’
Photo on Tribun Jambi
หนึ่งในตัวละครหลักตอนที่ 9 ของซีรี่ย์ ‘Extraordinary attorney Woo’ (อูยองอู ทนายอัจฉริยะ) ชายหนุ่มที่มาพร้อมรอยยิ้มและความสุข เพียงแค่ได้ยินชื่อ ทุกคนก็พร้อมจะหัวเราะด้วยความประหลาดใจออกมา จากบทเขาเป็นลูกชายคนสุดท้องของผอ.สถาบันกวดวิชามูจิน จบจากม.โซล อุปนิสัยโลดโผน ขี้เล่น ท่าทางติดตลก คำพูดคำจาดูเพ้อเจ้อ ยิ้มแย้ม และดูอารมณ์ดี แต่กลับจริงใจและหนักแน่นในอุดมการณ์ของตัวเองมากที่สุดในตอน
ก่อนวิเคราะห์ความพิเศษของตัวละครบังกูปง ขอเล่าเรื่องย่อเกี่ยวกับตัวซีรี่ย์สั้นๆก่อน
Photo on Soompi
สำหรับซีรี่ย์อูยองอู ทนายอัจฉริยะ (สามารถรับชมได้บน Netflix)
ตัวละครหลักคืออูยองอู จบนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโซล เพิ่งทำงานทนายในสำนักงานกฎหมายฮันบาดา
ซีรี่ย์เล่าถึงครอบครัว การทำงาน และการปรับตัวของเธอบนโลกกว้าง เริ่มที่ยองอูใช้ชีวิตกับคุณพ่อเธอมาตั้งแต่เด็กจนโต ความพิเศษของเรื่องเน้นย้ำไปที่ยองอูมีอาการออทิสติกแบบสเปคตรัม ซึ่งเราจะได้รับชมเรื่องราวแต่ละคดีที่เธอได้รับ มักข้องเกี่ยวกับการตีแผ่สังคมและทำให้ผู้ชมตระหนักถึงปัญหาของในตอนนั้น
ในเรื่องใช้สัญลักษณ์ ‘วาฬ’ สื่อถึงยองอู
ส่วนท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล มีทั้งอันตรายและที่ปลอดภัยให้เหล่าวาฬ
เปรียบเหมือนการใช้ชีวิตทั้งในการทำงานกฎหมาย
และเส้นทางชีวิตที่ยองอูต้องพบเจอ
ถ้าหากใครได้ชม คงอดเอาใจช่วยเจ้าวาฬยองอูฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆไม่ได้
*⑅ SPOIL ALERT ข้างล่างมีการเปิดเผยเนื้อหาภายในตอน เพื่อวิเคราะห์และพูดถึงปัญหาในสังคม *⑅
ภายในตอนมีสิ่งน่าสนใจคือ ‘สาร’ ระหว่างเด็กประถม 12 คนและบังกูปง
ที่สื่อสารและเข้าใจกัน
「 ชีวิตเด็กเกาหลีใต้ 」
เรามักจะเคยได้ยินชื่อเรียกข้อสอบ Pisa
คือการประเมินวัดระดับนักเรียนทั่วโลกที่จัดโดย OECD
เกาหลีใต้นับเป็นอีกประเทศในเอเชีย ที่มีผลคะแนนPisaสูงลิ่ว
ทว่าหลังฉากคะแนนเหล่านั้น ต้องแลกกับความเจ็บปวดของเด็กในระบบการศึกษา
ฉากแรกเริ่มจากเด็กประถมเลิกเรียน พอออกจากโรงเรียนไปปุ๊บ
กลับมีรถบัสรับ-ส่งคันสีเหลืองจอดไว้หลายคันที่หน้าโรงเรียน
แน่นอนว่าไม่ใช่รถบัสเพื่อรับส่งนักเรียนกลับบ้าน
แต่เป็นรถบัสรับส่งของโรงเรียนกวดวิชากับสถาบันติว
แต่ละที่เรียนพิเศษจะมีรถของตัวเอง
เมื่อเด็กเลิกเรียนก็จะรีบวิ่งขึ้นรถไปเรียนพิเศษโดยเฉพาะ
อ่านต่อได้ใน
˗ˏˋ เรียน เรียน เรียนพิเศษเป็นเรื่องปกติ ˎˊ˗
เวลาเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตเรา ยิ่งวัยเด็กเป็นวัยที่ควรสร้างความทรงจำที่ล้ำค่า
มีเวลากินอิ่มนอนหลับสบาย เล่นกับเพื่อน เริ่มมีสังคมนอกจากครอบครัว
และเวลาในวัยเด็กนี่แหละ ที่ไม่สามารถกลับมาทดแทนได้
จุนโฮและยองอูได้พบกับปัญหาเรียนพิเศษของเด็กๆที่กินเวลานอนจนเกือบเที่ยงคืน!หลังจากกวดวิชาเลิกเรียน เหล่าเด็กๆพากันวิ่งกรูมาหาอะไรกินในมินิมาร์ท
ขนาดของกินที่ไม่มีสารอาหารยังกินได้เพราะไว้ประทังหิวตั้งแต่เย็น
การเรียนพิเศษนับเป็นเรื่องปกติในสังคมเกาหลีใต้ไปซะแล้ว
ตื่นเช้ามากินข้าวไปเรียนจนถึงสี่โมงเย็น หลังจากนั้นเตรียมตัวไปเรียนพิเศษ
เรียนจนถึงสี่ทุ่มถึงจะได้กินข้าวเย็น
บ้างก็กลับจากเรียนก็ต้องมานั่งอ่านหนังสือ นั่งติวจนดึก
เหมือนนักเรียนประถมในเรื่อง
พูดก็คือ เด็กเหล่านี้เรียน เรียน เรียน
เพื่ออะไรน่ะเหรอ?
ในเรื่องพูดไว้ชัดเจนเลยว่า
‘เพื่อเตรียมเข้าห้องกิฟต์ ห้องวิทย์คณิต ตั้งแต่ประถม’
เด็กบางคนผอมแห้งเพราะขาดสารอาหาร
อดหลับอดนอนเพื่อเรียน ติว อ่านหนังสือเตรียมสอบตั้งแต่ยังเด็ก
อีเซวอน เด็กประถมหนึ่งใน12 คนในรถบัสกำลังร้องไห้
ยองอูและจุนโฮเข้าไปถามสาเหตุ
เด็กๆตอบด้วยความเหนื่อยว่า พวกเขาทำภารกิจไม่สำเร็จทันเวลา
ภารกิจที่ว่าคือการแก้โจทย์คณิตแสนยาก เกินเนื้อหาเด็กประถมนั่นเอง
จนยองอูถึงกับเอ่ยปากออกมาว่าเป็นสิ่งที่เด็กประถมทำกันเหรอ?
˗ˏˋ ความคาดหวังจากครอบครัว ˎˊ˗
การเลี้ยงดูของพ่อแม่ส่วนมากโดยเฉพาะชาวเอเชีย
มักคิดว่าการให้ลูกได้เรียนรู้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
ลูกจะได้มีพื้นฐานวิชาการตั้งแต่เด็ก สามารถไปเรียนต่อหรือสอบแข่งขันได้
ผู้ปกครองในเรื่องกลัวว่าถ้าปล่อยลูกๆไปเล่นจนติดเป็นนิสัยจะเป็นเรื่องไม่ดี
สุดท้ายจะเปิดการ์ด ‘เพื่ออนาคตที่ดีของลูกชั้น’ แบบในเรื่อง
ที่ทำแบบนี้ เพื่อให้ลูกไปอยู่ในสังคมที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี ทำงานที่ก้าวหน้า
ถึงแม้จะไม่กล้ายอมรับได้เต็มปากว่า..
การเรียนที่สุดท้ายทำให้ลูกไม่มีความสุข = ทรมานลูก
เห็นได้ชัดเจนตอนที่ทนายจากฮันบาดาพยายามเจรจา
โดยใช้ ‘มหาวิทยาลัย’ และ อาชีพทนายจากบริษัทใหญ่ ล่อให้คุณแม่คล้อยตาม
เหล่าแม่ๆชื่นชมอาชีพที่ทำงานหนัก
ยิ่งไปกว่านั้น กล่าวถึง‘ความคาดหวัง’ แต่ละวิชาชีพของตัวเองต่อลูก
แต่หารู้ไหมว่า เขายังเป็นเพียง ‘เด็ก’
และการเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในตำรา
วัยพวกเขายังมีการใช้ชีวิตรออยู่
ไม่ใช่แค่แก้โจทย์คณิตทีละเลเวล ตอบคำถามครูในห้องเรียน
อ่านหนังสือวันละ 7 ชั่วโมง หรือเรียนจนเที่ยงคืน จะทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีได้
จะมีแต่ความเหนื่อยล้าที่สะสมไว้เท่านั้นแหละ
เมื่อ 7 ปีก่อน มีข้อมูลโดยทำการสำรวจผลคะแนน pisa
และรวบรวมความคิดเห็นในแต่ละประเทศที่สอบร่วมด้วย
เช่น ญี่ปุ่น สวีเดน ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ อเมริกา เป็นต้น
มีคำถามนึงวัดผลจาก 0–10 โดยถามว่านักเรียนพึงพอใจในการใช้ชีวิตไหม
ผลปรากฎว่านักเรียนฟินแลนด์พึงพอใจมากที่สุด
ตรงข้ามกับนักเรียนเกาหลีใต้ที่พึงพอใจน้อยที่สุด
Data from Atlaz on Quartz
🗞️ PISA, the world’s largest assessment of teenage students, suggests happiness is crucial to learning — Quartz
แน่นอนว่าเกาหลีใต้นับเป็นอีกประเทศที่มีเคสการศึกษาที่น่าสนใจ
ต่างจากประเทศฟินแลนด์ที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง
ปูพื้นสังคมด้วยการมีรัฐสวัสดิการที่พร้อมสำหรับทกุคน
การเรียนจึงไม่ใช่เพื่อถีบตัวเองไปยังยอดปีระมิด
แต่เป็นการเรียนเพื่อการเรียนรู้ของชีวิตที่มีความสุข
เมื่อหันกลับมามองประเทศไทยที่การศึกษาที่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำเยอะ
เราอาจจะมีส่วนเหมือนประเทศเขาไปแล้ว
ที่นักเรียนต้องพยายามเรียนเก่งตั้งแต่เด็ก เพื่อสอบเข้ามหาลัยหรือที่เรียนที่ดี
จะได้ ‘มีอนาคตที่ดี’ ตามแบบแผนของสังคมและพ่อแม่
ทำให้เวลาของพวกเขาหมดไปกับการเรียนในตำราอย่างเดียว
พวกเขาลืมการใช้ชีวิตหรือไม่มีสิ่งที่กูปงเรียกว่า ‘การเล่น’ ไปเสียแล้ว
˗ˏˋ HIGLIGHT ˎˊ˗
  • เด็กเรียนพิเศษกันเยอะจนเป็นเรื่องปกติ
  • ยิ่งเรียนเกินชั้นเรียน ยิ่งเยอะยิ่งดี
  • ครอบครัวคาดหวังให้ลูกมีอนาคต
  • สังคมมีการแข่งขันสูง
  • คนในสังคมเห็นด้วยกับค่านิยมเหล่านี้
  • เด็กไม่มีเวลามีความสุข
  • ทำให้เด็กเครียด
  • การเรียนไม่ใช่ความสุขของเด็กอีกต่อไป
  • การใช้ชีวิตสนุกตามช่วงวัยหายไป
  • การศึกษาล้มเหลว
「 ความพิเศษของตัวละคร 」
หากใครดูซีรี่ย์จะทราบกันดีว่า บังกูปง = ตดดังปุ๋งง💨
ซึ่งเจ้าตัวบอกไว้ว่าเพิ่งเปลี่ยนชื่อนี้มาไม่กี่ปีเอง
เขาเป็นลูกคนสุดท้องของผอ.กวดวิชามูจินที่สอนลูกตัวเองทั้งสามคนจนได้เรียนม.โซล (ม.อันดับ 1 ของเกาหลีใต้)
ในเรื่องไม่บอกความหลังแน่ชัดที่กระตุ้นให้เขาอยาก ‘ปลดแอดเด็ก’
เราจะจำได้ก็แต่คำพูดสารภาพความรู้สึกของคุณแม่เขา
บอกว่า เธอดูแลแต่ลูกคนอื่น จนลืมลูกตัวเอง (แต่ในแง่มองกูปงไม่ดี)
ส่วนคำพูดคำจาของเขาดูเหมือนเด็กที่ติดเล่นตลก
จนยองอูปวดหัวตอนขึ้นศาลครั้งแรก
แต่แปลกมาก ที่เขาเข้าใจความพิเศษในตัวยองอู
ถึงกับขอจับมือกับยองอูตอนต้น
ไม่มีการทักท้วงหรือกังขาต่อทนายของตนเอง
หมายความเขายอมรับในความหลากหลาย
เขาเข้าใจโลกใบนี้ได้ดีทีเดียว
Photo by NAMOO ACTORS
ถึงแม้เขาจะบอกต่อศาลตลอดว่าไม่สำนึก หรือมีสติดีกับสิ่งที่ทำลงไป
คุณแม่และฝ่ายทนายพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เขาไม่ต้องรับโทษ
หรือได้รับโทษน้อยที่สุด จนถึงกับให้หมอวินิจฉัยว่าเขาหลงผิด
แต่เขาเป็นแบบนั้นจริงๆเหรอ?
˗ˏˋ OVERVIEW ˎˊ˗
  • ความหมายของ ‘การเล่น’
  • ภารกิจ ‘ปลดแอกเด็ก’
  • สารที่สื่อเข้าหัวใจของเด็กๆ
  • อุดมการณ์ของเขา คือคดีการเมือง!
ประโยคแรกหลังจากคำเตือนสปอยได้เขียนไว้ว่า
บังกูปงสื่อ ‘สาร’ เรื่องหนึ่งเข้าไปถึงหัวใจเหล่าเด็กๆสำเร็จ
สารนั่นคือ ความเข้าใจ
เขาเข้าใจโลกที่เด็กกำลังจะเติบโตจริงๆ
นั่นเป็นสาเหตุที่เขาบอกว่า ‘เด็กๆต้องเล่นเดี๋ยวนี้’
และคนที่อยากให้เข้าใจมากที่สุด ไม่ใช่เด็ก
แต่เป็นผู้ใหญ่ต่างหาก
“ผมขอพูดอะไรกับผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูเด็กๆสักนิดครับ
เด็กๆต้องเล่นเดี๋ยวนี้ครับ
หลังจากนี้มันสายไปครับ
หลังเข้าเรียนมหาลัย หลังได้งานทำ
และหลังแต่งงาน มันล้วนสายเกินไปเลย
การเล่นทอยหิน ซ่อนแอบ
โดดขี่หลัง โดดหนังยาง
หลังจากนี้มันสายไป
ในชีวิตที่เต็มไปด้วยความกังวล
มันสายเกินกว่าจะหาหนทางเดียวที่นำไปสู่ความสุข”
บังกูปง
เพราะการเรียน เรียน เรียน กดดันชีวิตวัยเยาว์เกินไป
กูปงถึงย้ำเสมอว่า ต้องเล่นไม่งั้นมันจะสายเกินกว่าจะหาหนทางไปสู่ความสุข
ยองอูเองที่เข้าใจลูกความตัวเองมากขึ้นหลังจากไปพบกับอีเซวอน
เพราะเด็กน้อยคนนี้พูดว่า
“ผมอยากเล่นกับเขาทุกวันเลย
ผมอยากปลดแอกครับ”
อีเซวอน
เธอรู้ทันทีว่ากูปงและเหล่าเด็กทั้ง 12 คน
เข้าใจความหมายที่สื่อถึงกันจากก้นบึ้งหัวใจ
“ความหมายของการปลดแอกที่คุณบังกูปงอ้างถึง
เด็กๆเข้าใจดีค่ะ
คนที่ไม่เข้าใจคุณบังกูปง
มีแค่พวกผู้ใหญ่นั่นแหละค่ะ”
อูยองอู
˗ˏˋ อุดมการณ์ของเขา คือคดีการเมือง! ˎˊ˗
สุดท้ายยองอูพยายามเปลี่ยนแนวทางการว่าความ
เธอเคารพในความหนักแน่นของกูปงจนเธอหาหนทางว่าความให้เขาได้
ซึ่ง ‘สง่างาม’ ในแบบที่เขาต้องการ
จากอาการหลงผิด เปลี่ยนเป็นคดีทางการเมือง
เพราะเธอรู้ว่ากูปงพยายามปฏิวัติสังคมที่เห็นเรื่องนี้เป็นสิ่งปกติ
ในเรื่องไม่บอกว่าจบลงอย่างไร
แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนรับสารได้คือเจตนาจาก ‘อุดมการณ์’ ของบังกูปง
(แต่การพาเด็กไปโดยไม่ขออนุญาตจากผู้ปกครอง ยังผิดกม. เรื่องพรากผู้เยาว์อยู่ดี)
ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่เขาทำไปเพราะอาจเคยเสียเวลาไปก็ได้
เคยเสียวัยเด็กที่ต้องเล่น ต้องสุขภาพดี และมีความสุขไป
เขาถึงพยายาม ‘ปลดแอกเด็ก’
เพราะไม่อยากให้เด็กเหล่านั้นเป็นแบบที่เขาเคยไป
เพราะคำว่าเล่น = การใช้ชีวิต
เขาอยากเห็นเด็กๆใช้ชีวิตตามช่วงวัย
ตอนนี้ ‘สาร’ ของบังกูปง สื่อถึงเด็กทั้ง12คน คุณแม่ของเขา
สุดท้ายยังสื่อถึงผู้ชมได้อีกด้วย
ลองมาทบทวนกันว่าไทยต้องปลดแอกเด็กได้หรือยัง
หรือจะปล่อยการศึกษาและสังคมให้เป็นแบบนี้ต่อไป
ภาคีนักเรียนKKC
“การศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และรองรับความหลากหลาย”
อันจะก่อให้เกิดผลเพื่อสังคมที่ดีกว่า
Reference
[1] Extraordinary Attorney Woo (EP.9), ENA.
[2] PISA, the world’s largest assessment of teenage students, suggests happiness is crucial to learning — Quartz
โฆษณา