3 ส.ค. 2022 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
คลื่นความร้อนยุโรป วิกฤติภัยธรรมชาติ ความเสียหาย หลักล้านล้าน
“31 ล้านล้านบาท” คือตัวเลขคาดการณ์มูลค่าทางเศรษฐกิจของยุโรป ที่อาจหายไปจากวิกฤติคลื่นความร้อน
รู้หรือไม่ว่าตัวเลขดังกล่าว มีมูลค่ามากกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น จากเศรษฐกิจตอนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 เสียอีก
คลื่นความร้อนในยุโรปน่ากลัวขนาดไหน
แล้วทำไมจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ มากขนาดนี้ ?
คลื่นความร้อน จัดเป็นภัยธรรมชาติอย่างหนึ่ง
เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิในพื้นที่หนึ่ง ๆ สูงขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานาน
ซึ่งก็จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของโลก ทั้งแบบพัดพาหรือแบบเกิดขึ้นเอง
แต่สำหรับในยุโรปตอนนี้ กำลังเจอกับคลื่นความร้อนที่พัดพาความร้อนมาจากทะเลทราย
ซึ่งคลื่นความร้อนนี้เอง ส่งผลให้อุณหภูมิของยุโรปสูงขึ้น โดยในอังกฤษนับเป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิจากคลื่นความร้อน สูงถึง 40 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในสถานที่กลางแจ้งได้
หลายประเทศในยุโรป จึงเริ่มออกมาตรการหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น
พอเรื่องเป็นแบบนี้ คลื่นความร้อนจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทางอ้อม เพราะการหลีกเลี่ยงออกจากบ้าน ไม่ต่างอะไรกับมาตรการในช่วงวิกฤติโควิด 19 เลย แถมยังทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจกลางแจ้ง
เพราะผู้คนจะหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน หรือจะออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
คำถามที่ตามมา ก็คือ คลื่นความร้อนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปมากแค่ไหน ?
อ้างอิงจากข้อมูลวิจัย มีการคาดการณ์ว่า GDP ของยุโรปจะหายไปราว 0.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 31 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มประเทศใน “ยุโรปใต้” จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จะไม่ได้เท่ากันในทุกธุรกิจ
หากเรามาดูโครงสร้างทางเศรษฐกิจของยุโรป พบว่า
- ภาคเกษตรกรรมและประมง 1.7%
- ภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง 25.1%
- ภาคบริการ 73.2%
จะเห็นได้ว่า ยุโรปมีธุรกิจภาคบริการเป็นหลัก เช่น ร้านอาหารและการท่องเที่ยว
โดยธุรกิจกลุ่มนี้นอกจากจะเป็นสัดส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญแล้ว
ยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดด้วย
เพราะผู้คนจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงการออกจากที่พักโดยไม่จำเป็น
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรองลงมา ก็คือ ธุรกิจก่อสร้าง อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม
และด้วยราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นจากวิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
ทำให้คนยุโรปต้องเสียเงินให้กับค่าพลังงานมากขึ้น ทั้งค่าแก๊สธรรมชาติ และค่าไฟฟ้า
โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ที่แพงขึ้นจากปีก่อนถึง 10%
ณ ปัจจุบัน ราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในยุโรป สำหรับการใช้ในบ้านอยู่ที่ 0.24 ยูโรต่อกิโลวัตต์
โดยหากเทียบการใช้พลังงานทุกชนิดในแต่ละบ้าน
จะพบว่ามาจากแก๊สธรรมชาติ 37%
ตามมาด้วยพลังงานไฟฟ้า 25%
อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศในยุโรปใต้ เช่น สเปน จะมีการใช้พลังงานจากไฟฟ้ามากกว่า
โดยเฉลี่ยแล้วมากถึง 43% เป็นสัดส่วนมากที่สุด เมื่อเทียบกับพลังงานอื่น ๆ
ซึ่งในช่วงที่ความร้อนสูงเช่นนี้ อุปกรณ์อย่างหนึ่งที่ช่วยคลายร้อน
คงหนีไม่พ้นระบบทำความเย็น (Space Cooling) ซึ่งก็ยังต้องใช้พลังงานจากระบบไฟฟ้า
แม้จะมีสัดส่วนการใช้อุปกรณ์นี้ในแต่ละบ้านของยุโรปเพียง 0.4%
แต่กลุ่มประเทศในยุโรปใต้ เช่น โปรตุเกส อิตาลี กรีซ มีสัดส่วนมากกว่านี้เกือบเท่าตัว
นั่นเท่ากับว่า พลังงานไฟฟ้านอกจากจะถูกใช้ในการให้ความอบอุ่นแล้ว ยังต้องถูกใช้เพิ่มเติมไปกับระบบทำความเย็นมากขึ้น
สรุปก็คือ การใช้พลังงานของยุโรปกำลังเพิ่มขึ้น เพราะทั้งร้อนทั้งหนาวตลอดทั้งปี
แถมราคาพลังงานยังสูงขึ้น ปัญหาวิกฤติทางพลังงานจึงสาหัสมากขึ้นไปอีก
นอกจากผลกระทบต่อธุรกิจแล้ว
คลื่นความร้อนก็ส่งผลกระทบต่อการผลิตพลังงานทางเลือก
เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในอิตาลี ผลิตไฟฟ้าได้น้อยลงถึง 40%
หรือเขื่อนในโปรตุเกสก็ประสบปัญหาผลิตไฟฟ้าจากน้ำได้ลดลง
ปัญหาดังกล่าว ดูเหมือนว่าจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมากที่สุด
เนื่องจากการเข้าไม่ถึงระบบทำความเย็น และค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่แพงเกินกว่าค่าครองชีพ
ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าว คิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรยุโรป เลยทีเดียว
อีกทั้งคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดภัยแล้งในบางพื้นที่ของยุโรป เกิดความเสี่ยงในการเกิดไฟป่า และสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรกรรมอีกด้วย ซึ่งทางคณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์ว่าผลผลิตทางเกษตรกรรม อาจลดลงอีกราว 2.5% จากปีก่อน
และเมื่อผลผลิตทางเกษตรกรรมลดลง
จึงทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารในยุโรปเพิ่มสูงขึ้น
โดยเฉพาะข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ ที่มีราคาเพิ่มขึ้นกว่า 50%
และสิ่งเหล่านี้ก็จะสร้างผลกระทบเป็นโดมิโน ไปยังราคาอาหารหน้าร้านที่แพงขึ้นอีก
ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับยุโรป ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาคลื่นความร้อน
โดยผลกระทบที่เกิดขึ้น อาจทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจหายไปอย่างมหาศาล
ก็เรียกได้ว่าปัจจุบัน ยุโรปกำลังเผชิญกับความท้าทายจากหลายเหตุการณ์
ที่ต่างบังเอิญมาเกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งมันก็ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ
แต่ยังลามไปถึงชีวิตประจำวันของประชาชนทั้งทวีปเลยทีเดียว..
โฆษณา