6 ส.ค. 2022 เวลา 02:20 • ครอบครัว & เด็ก
ผู้ฟังที่ดี พ่อแม่...ได้ยินเสียงของลูกไหม?
การเป็นผู้ฟังที่ดีไม่ใช่เพียงแค่ใช้หูฟัง ไม่ใช่ยืนในตำแหน่งที่สูงกว่าลูก แต่มันคือ การฟังด้วยหัวใจ และการนั่งลงข้าง ๆ ลูก พร้อมกับมองนัยน์ตาของลูก
ผู้ฟังที่ดี พ่อแม่...ได้ยินเสียงของลูกไหม?
การเป็นผู้ฟังที่ดี เริ่มจาก...
1. อยู่กับลูกด้วยหัวใจ
หมายถึง การใช้เวลาร่วมกันกับลูกพร้อมกับความใส่ใจ ความตั้งใจ และสายตาที่เปี่ยมไปด้วยรัก วางทุกอย่างลงก่อน
หากคุณพ่อคุณแม่กำลังยุ่งอยู่ ให้บอกกับลูกให้ชัดเจนว่า “อีกกี่นาที หรือ กี่ชั่วโมง” ที่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถฟังลูกหรือให้เวลากับลูกได้ และที่สำคัญ เมื่อถึงเวลานั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องทำตามที่พูดนะคะ หรือถ้าหากงานที่กำลังทำอยู่นั้นใช้เวลานาน อาจปลีกเวลามาซัก 5-10 นาทีเพื่อฟังลูก สิ่งนี้จะทำให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ตั้งใจอยากฟังเขาจริง ๆ
2. ไม่ด่วนตัดสินลูกก่อน
ด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกมาตั้งแต่เล็ก จึงมักใช้ “ความคุ้นเคย” ตัดสินลูกไปก่อนที่ลูกจะพูดจบ ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คุณพ่อคุณแม่คิดเสมอไป ทางที่ดี ควรฟังลูกอธิบายจนจบ และมองนัยน์ตาของลูก เราจะเข้าใจลูกมากขึ้น
ที่สำคัญ การที่คุณพ่อคุณแม่ตัดสินลูกไปก่อนแล้ว อาจทำให้ลูกไม่อยากเล่าต่ออีก สิ่งนี้จะส่งผลให้ลูกไม่อยากเล่าอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ฟังอีกเลย
3. ไม่พูดแทรก
การไม่พูดแทรกระหว่างที่ลูกกำลังเล่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเด็กมักจะยังมีคำศัพท์ในหัวที่จะใช้ในการสื่อสารได้ไม่มากเท่าผู้ใหญ่ การพูดแทรกจะทำให้การเล่าของลูกหยุดชะงัก และอาจทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ตั้งใจฟังเขาอย่างจริงใจ
4. ฟังเพื่อแก้ปัญหา
เหตุการณ์ที่แม่โน้ตเพิ่งเจอ...
น้องมิน: “หนูไม่อยากไปโรงเรียน (พร้อมกับร้องไห้)”
แม่โน้ต: “ทำไมหนูถึงไม่อยากไปคะ?” (แม่โน้ตถามเพื่อต้องการรู้สาเหตุ)
น้องมิน: “คิดถึงหม่ะม้า”
แม่: “หม่ะม้าอยู่ตรงนี้กับหนูตลอดเวลาอยู่แล้วลูก แล้วมีเหตุผลอื่นอีกไหมคะ?”
(เราคิดว่าน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น เพราะเขาร้องไห้มากกว่าปกติ)
ลูก: .............
แม่: “มีอะไรให้หม่ะม้าช่วยได้น้า”
สุดท้ายลูกก็ยอมเล่าให้ฟังว่าเพราะอะไรเขาถึงไม่อยากไปโรงเรียนพร้อมกับทางออกที่เราแนะนำลูก และลูกก็นำไปใช้อย่างได้ผล กลับมาบ้านตอนเย็นน้องมินหัวเราะได้เหมือนเดิม
5. ค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่
การฟังด้วยหัวใจอาจไม่พอสำหรับการที่จะช่วยลูกแก้ปัญหา แต่การฟังไปด้วยพร้อมกับมองนัยน์ตาของลูกด้วยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสายตาของคนเราเก็บความลับไม่อยู่ สายตาจะสารภาพหมดค่ะ ว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร เช่น กังวล, เสียใจ หรือมีความลับซ่อนอยู่ เป็นต้น
6. รับฟังเพื่อระบาย
บางครั้งลูกก็ต้องการเพียงแค่คนรับฟังที่ดี ไม่ได้ต้องการการแก้ปัญหา (จริง ๆ แล้วข้อนี้ผู้ใหญ่ก็เป็นนะคะ) ต้องการพูดเพื่อการระบายเท่านั้น ซึ่งการเป็นผู้รับฟังที่ดีก็สามารถช่วยเยียวยาจิตใจลูกได้แล้วค่ะ
เสียงของลูกไม่ได้ออกมาจากปาก แต่ออกมาจาก “นัยน์ตา” หากคุณพ่อคุณแม่รับฟังลูกด้วย “หัวใจ” ไม่ด่วนตัดสินลูกก่อน ลูกก็จะรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่คือ เซฟโซน และเมื่อนั้นเราจะได้ยินเสียงลูกที่ชัดมาก พร้อมสารที่ลูกต้องการสื่ออย่างแท้จริง
วันนี้...คุณพ่อคุณแม่ได้ยินเสียงลูกชัดแค่ไหนคะ?
#ฟัง
โฆษณา