3 ส.ค. 2022 เวลา 06:57 • การศึกษา
“Colaborative Action หรือความร่วมมือเชิงรุกในการสร้างนวัตกรรมการศึกษา และบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรม ต้องการการสื่อสารระหว่างองค์กรที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ เด็กสตูลไม่ควรเสียเปรียบทางการศึกษากับเด็กในประเทศใกล้บ้าน ที่ภูมิสังคมประกอบด้วยทรัพยากรและความรู้ที่หลากหลาย”
สมาคมวัฒนพลเมือง
ศาสตราจารย์ จรัส สุวรรณมาลา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ร่วมประชุมวิพากษ์ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล กับ นายสมพงศ์ พละไชย ศึกษาธิการจังหวัดสตูล และคณะทีมวิจัยโครงการระบบบริหารจัดการตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ประจำปี 2565 เมื่อวันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมสมาคมวัฒนพลเมือง ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล
การประชุมวิพากษ์ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีการศึกษา 2565 - 2568 มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาร่างยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้มีความสมบูรณ์ ครบถ้วน สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลต่อไป
นายสมพงษ์ หลีเคราะห์ นายกสมาคมวัฒนพลเมือง
สาระสำคัญของยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีการศึกษา พ.ศ. 2565 -2568 มุ่งเน้นการสร้างจังหวัดสตูลสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต สู่การพัฒนาทักษะอนาคตของคนสตูล โดยนวัตกรรมการศึกษา “SATUN MODEL”
ที่มุ่งพัฒนา S : Skills หรือทักษะสำคัญที่เป็นสมรรถนะทางปัญญาและอาชีพ, สมรรถนะทางอารมณ์และสังคม, สมรรถนะทักษะทางร่างกายและจิตใจ ส่วน A : Active learning การเรียนรู้เชิงรุก T : Information Technology Skills ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี U : Unique ความมีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และ N : Network ความเป็นเครือข่ายความร่วมมือ
นายสุทธิ สายสุนีย์
พันธกิจหลักในการเพิ่มโอกาสให้คนสตูลทุกกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพ การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนเป็นผู้มีความรู้ คุณลักษณะ และทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สามารถพัฒนาศักยภาพและเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทั้งพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการบริหารจัดการศึกษาเชิงนวัตกรรมที่สอดคล้องบริบทพื้นที่ และรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21
รวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้สามารถบรรลุเป้าประสงค์ที่มุ่งให้ผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมายได้รับบริการทางการศึกษาอย่างเสมอภาค และเท่าเทียม มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาในแต่ละระดับ เป็นผู้มีความรู้ คุณลักษณะ และทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
ที่สามารถพัฒนาศักยภาพและเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยหน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษา มีระบบบริหารจัดการศึกษาและภาคีความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ สามารถสนองตอบและก้าวทันกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21
ทั้งนี้ ประเด็นการพัฒนาประกอบด้วย 1.) การพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน ที่มีเป้าหมายการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่อยู่ในสถานพัฒนาได้มีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาสมวัย อีกทั้งผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในแต่ละระดับชั้น มีความสามารถในการอ่าน การเขียนเพิ่มขึ้น ทั้งได้รับการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาที่ 2
และทักษะชีวิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งสามารถร่วมออกแบบกระบวนการเรียนรู้ตามความสนใจและความถนัดในทุกๆ กลุ่มสาระ รวมถึงวิชาภูมิสังคม Geopark และ ฐานการเรียนรู้ภัยพิบัติ
2.) สร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา มีเป้าหมายพัฒนาเด็กปฐมวัยในสถานศึกษานำร่อง ให้ได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยเฉพาะ ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการจากสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมีคุณภาพตามมาตราฐานสถานพัฒนาเด็กประถมวัยแห่งชาติ
รวมถึงประชากรวัยการศึกษาภาคบังคับทุกคนในสถานศึกษานำร่อง ได้รับการศึกษาจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาค ตามศักยภาพและความถนัด อีกทั้งเด็กและเยาวชนในสถานศึกษานำร่องที่มีความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับการป้องกันเฝ้าระวังการหลุดออกนอกระบบ รวมถึงเด็กที่หลุดออกนอกระบบไปแล้ว
สามารถกลับสู่ระบบหรือพัฒนาทักษะที่จำเป็นอย่างเหมาะสม ตลอดจนผู้เรียนในสถานศึกษานำร่องที่มีความสามารถพิเศษตามพหุปัญญาแต่ละประเภท ให้ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ ทั้งการช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนในด้านที่ตนต้องการพิเศษ
ศาสตราจารย์ จรัส สุวรรณมาลา
3.) พัฒนานวัตกรรมการศึกษาสู่โรงเรียนจัดการตนเอง ที่มีเป้าหมายการพัฒนาสถานศึกษาให้มีนวัตกรรมการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อปรับกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย มีการถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการศึกษา เพื่อค้นหารูปแบบการศึกษาที่เป็นเลิศ (Best Practices) เพื่อเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดประสบการณ์ รวมถึงการยกระดับครูผู้สอนให้มีศักยภาพทางการสอนให้สอดรับกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และมีการวิจัยเพื่อศึกษาการจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรม
ด้านประเด็นพัฒนาที่ 4.) การสร้างกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การศึกษา สู่การปฏิบัติและการเสริมสร้างความร่วมมือทางการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่มุ่งพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ให้มีกลไกหรือมาตรการในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การศึกษาไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีกลไกหรือมาตรการให้ ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
ได้ร่วมชี้ชวน ส่งเสริม สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการศึกษา รวมถึงการมีฐานข้อมูลสารสนเทศการบริหารจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หน่วยงานทางการศึกษา และสถานศึกษาที่ถูกต้องแม่นยำ ทันต่อเวลา มีความสมบูรณ์ครบถ้วน สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ และพิสูจน์ได้
สมาคมวัฒนพลเมือง
ด้านศาสตราจารย์ จรัส สุวรรณมาลา: สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชาวไทย อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2550, ศาตรตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อดีตคณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มองว่า “การศึกษาตกเป็นผลตามสภาพในระบบราชการ เราควรรวบรวมฐานข้อมูลครัวเรือนด้านการศึกษาให้มีความเป็นวิทยาศาตร์มากที่สุด หรือการรายงานให้เห็นภาพรวมเชิงระบบ ร่วมกับการทดลองการบริหารและการจัดการเรียนรู้ควบคู่กัน ตลอดจนต้องสามารถคัดเลือกผู้นำด้านการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล โดยมีสิทธิในการเลือกจัดระบบตนเอง อาทิ การบริหารแบบยกเว้นเชิงพื้นที่ (ด้านงบประมาณการศึกษาจังหวัด)
ซึ่งความร่วมมือแบบ Colaborative Action นั้นต้องการการสื่อสารระหว่างองค์กรที่เข้มแข็ง และจากหลากหลายภาคส่วน เพื่อให้เด็กสตูลไม่เสียเปรียบด้านการศึกษากับเด็กในประเทศใกล้บ้าน”
ส่วนอาจารย์ ดร.สุธาสินี บุญญาพิทักษ์ จากสาขาวิชาการประเมินและวิจัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และหัวหน้าโครงการการออกแบบวัดและประเมินผลตามหลักสูตรฐานสมรรถนะในโรเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ตั้งข้อสังเกตเรื่องวิธีการทำอย่างไรให้สามารถเห็นสมรรถนะ (ด้านทักษะ, 8 สาระ, ทัศนคติ) ของผู้เรียนในพื้นที่
นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ซึ่ง Objective Learning Space Evaluation (OLE) หรือ แนวทางการออกแบบการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ฐานสมรรถนะแบบมีส่วนร่วมนั้น ยังคงติดกับดักการวัดประเมินผล อีกทั้งเครื่องมือวัดและประเมินผล ที่สอดคล้องกับขั้นตอนการเรียนรู้นั้นควรมีเกณฑ์การประเมินผล และสำเร็จการศึกษา และการรายงานผลอย่างไร?
สมาคมวัฒนพลเมือง
ซึ่งนายสุทธิ สายสุนีย์ กรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ผู้ร่วมวิจัยโครงการระบบบริหารจัดการตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ประจำปี 2565 และอนุกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิคลองโต๊ะเหล็มอะคาเดมี
มองว่า “สถานการณ์ด้านการบริหารและจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ยังเหมือน “การให้ร่างกายแต่ไร้ซึ่งวิญญาน ซึ่ง Sandbox (พื้นที่ทดลองด้านการศึกษา) หรือพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล (Satun Education Sandbox) ที่มีชีวิตชีวานั้นควรมีลักษณะการตื่นตัวทั้งด้านการปรับใช้และพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการ, นวัตกรรมจัดการเรียนรู้ และภาคีความร่วมมือที่มีคุณภาพ”
สอดคล้องกับนายสมพงษ์ หลีเคราะห์: นายกสมาคมวัฒนพลเมือง, หัวหน้าโครงการระบบบริหารจัดการตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ประจำปี 2565 และอนุกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิคลองโต๊ะเหล็มอะคาเดมี
ที่ยืนยันว่า “การศึกษาเพื่อการดำรงชีพหรือ การศึกษาเพื่อการปลดปล่อยในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลนั้น ต้องมีพัฒนาการด้านคุณภาพนวัตกรรมทางการศึกษาที่เหมาะสมเป็นพลวัต และสอดคล้องกับวิถีคนสตูล ที่ควรบูรณาการการศึกษาตลอดชีวิต (การศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย) ให้สอดคล้องกลมกลืน และมีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างถาวรและมั่นคง”
เพราะเราเชื่อว่าการศึกษาเป็นเรื่องของทุกๆ ภาคส่วน ที่ต้องร่วมรับผิดชอบ ช่วยเหลือ สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ให้เด็กหรือผู้เรียนมีเสรีภาพที่จะได้เรียนรู้สมวัย และมีความพร้อมต่อการประกอบอาชีพ อีกทั้งการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม ได้อย่างมีความสุขที่แท้จริง
#โรงเรียนคือส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา #การวัดและประเมินผล #ฐานนิเวศการเรียนรู้สตูล #LearningSpace #พื้นที่เรียนรู้ #การศึกษาโลกในศตวรรษที่21 #ระบบยังเหลื่อมล้ำ #การเรียนรู้ยังวิกฤต #หลักสูตรฐานสมรรถนะ #CompetencyBasedApproach #วิธีการประเมินผลแบบฐานสมรรถนะ
#พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล #SatunEducationSandbox
#บพท.#สมาคมวัฒนพลเมือง #มูลนิธิคลองโต๊ะเหล็มอะคาเดมี
สมาคมวัฒนพลเมือง
นายสมพงศ์ พละไชย ศึกษาธิการจังหวัดสตูล
โฆษณา