4 ส.ค. 2022 เวลา 10:26 • ประวัติศาสตร์
เปิดประวัติไต้หวัน เกาะเล็กๆ แต่เป็นหนามยอกอกชิ้นใหญ่ของจีน
8
จากสถานการณ์การเมืองโลกที่กำลังร้อนระอุและตึงเครียดเป็นอย่างมาก หลังจากที่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางเยือนเกาะไต้หวันอย่างเป็นทางการ ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อประเทศจีน ถึงขั้นมีการเร่งระดมกำลังทหารรวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์นานาชนิดประชิดใกล้ชายแดนของไต้หวัน จนอาจก่อให้เกิดสงครามขนาดใหญ่ขึ้นในภูมิภาคนี้ได้เลยทีเดียว
3
เหตุใดเกาะเล็กๆอย่างไต้หวันจึงสามารถทำให้พญามังกรอย่างจีนหัวเสียได้มากถึงเพียงนี้ และเหตุใดพญาอินทรีอย่างอเมริกาจึงยอมเสี่ยงและทุ่มเทเพื่อช่วยไต้หวันมากเช่นเดียวกัน เกาะแห่งนี้มีที่มาที่ไปและความสำคัญอย่างไร ต่อทั้งจีน สหรัฐ และการเมืองโลก ผมจะมาเล่าให้ฟังในบทความนี้กันครับ
1
ก่อนอื่นเราต้องเล่าย้อนกลับไปยาวนานพอสมควร เดิมทีนั้นไต้หวันยังเป็นเพียงเกาะเล็กๆกลางทะเลที่ไร้ซึ่งความสำคัญแต่อย่างใด
ถึงจะยังไม่ได้สำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเกาะแห่งนี้จะร้างซึ่งผู้คน บนเกาะยังมีประชากรพื้นเมืองเชื้อสายมาลาโย-โพลีเนเชียน หรือออสโตรเนเชียน โดยกลุ่มคนเชื้อสายนี้มักกระจายตัวอยู่ตามเกาะหรือพื้นที่ต่างๆในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก และแม้จะมีหลักฐานเกี่ยวกับพวกเขาหลงเหลืออยู่ไม่มาก แต่ก็สามารถยืนยันได้ว่าชนพื้นเมืองเหล่านี้ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่บนเกาะไต้หวันมาอย่างยาวนานแล้ว โดยแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มชาวพื้นเมืองพื้นราบ และ กลุ่มชาวพื้นเมืองภูเขา
5
ในปัจจุบันเรายังสามารถพบเห็นชนพื้นเมืองของเกาะไต้หวันได้อยู่นะครับ โดยหลักนั้นพวกเขามีอยู่ราว 16 ชนเผ่า ซึ่งแต่ละเผ่าก็มีวัฒนธรรมประเพณีหรือจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตน และพวกเขายังคงพยายามรักษามันเอาไว้สืบต่อกันมา เช่น เผ่าอาเหม่ย (Amis), เผ่าไท่หย่า (Atayal), เผ่าปู้หนง (Bunan) เป็นต้น
3
ชนพื้นเมืองเผ่าอาเหม่ย ภาพจาก http://itaiwanlovetaiwan.blogspot.com/2017/06/blog-post_18.html
เกาะแห่งนี้ก็ดำรงอยู่สืบต่อมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 16 ในปี ค.ศ. 1544 นักเดินเรือชาวโปรตุเกสได้เดินทางมาพบกับเกาะนี้เข้า และได้เรียกมันว่า “เกาะฟอร์โมซา” (Formosa หรือ Ilha Formosa) ซึ่งเป็นภาษาโปรตุเกสอันแปลว่า “เกาะอันสวยงาม” โปรตุเกสจึงถือเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่ค้นพบเกาะไต้หวัน อย่างไรก็ดีชาวโปรตุเกสก็ไม่ได้สนใจอะไรในเกาะแห่งนี้มากนัก เพียงแค่มาพบและก็จากไปเท่านั้น
4
ถึงโปรตุเกสจะมองข้ามไป ก็ยังมีอีกชาติหนึ่งที่ให้ความสนใจในเกาะฟอร์โมซานี้เป็นอย่างมาก นั่นคือฮอลันดา โดยในช่วงปี 1624 พวกเขาได้เข้ามาตั้งบริษัทดัตช์อินเดียตะวันออก (VOC) ขึ้นบนเกาะ นอกจากนี้ยังมีสเปนอีกชาตินึ่งที่สนใจจะเข้ามาที่เกาะแห่งนี้ด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก เนื่องจากถูกขัดขวางโดยฮอลันดาและชนพื้นเมืองบนเกาะ รวมถึงล้มตายด้วยโรคภัยต่างๆ ทำให้สเปนสามารถยึดครองได้เพียงตอนเหนือของเกาะ และก็ต้องเสียให้แก่ฮอลันดาไปในช่วงปี 1644 ทำให้ดัตช์มีอำนาจเต็มที่บนเกาะนี้
9
การเข้ามาของชาวฮอลันดานั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากให้กับเกาะฟอร์โมซา พวกเขาได้ลงทุนพัฒนาหลายอย่างและวางรากฐานทางเศรษฐกิจบนเกาะจากแบบเดิมที่ผลิตเพื่อยังชีพสู่การผลิตเพื่อค้าขาย และทำให้เกาะแห่งนี้เริ่มกลายเป็นที่รู้จักและมีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการค้าระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
6
มีการส่งออกสินค้า เช่น น้ำตาล เนื้อกวาง เขากวาง พืชที่ใช้ทำเครื่องหวายต่างๆให้แก่จีน นอกจากนี้ชาวฮอลันดายังใช้เกาะแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเงินและทองคำกับญี่ปุ่น รวมถึงเครื่องเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย และเริ่มมีชาวจีนแผ่นดินใหญ่อพยพมาทำงานที่เกาะโดยการปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลและปลูกข้าว ทำให้พืชสองชนิดนี้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเกาะ
3
ป้อม Zeelandia ของชาวดัตช์และเป็นสำนักงานใหญ่ของ VOC บนเกาะไต้หวัน ภาพจาก https://notevenpast.org/how-taiwan-became-chinese-dutch-spanish-and-han-colonization-seventeenth-century/
ฮอลันดาปกครองเกาะอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เหตุการณ์บ้านเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ก็อยู่ในช่วงระส่ำระสายอย่างมาก เมื่อราชวงศ์ชิงของชาวแมนจูทำสงครามแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในแผ่นดินจีน ทำให้ราชวงศ์หมิงซึ่งเป็นชาวฮั่นที่ปกครองจีนอยู่นั้น เริ่มเสื่อมอำนาจ จนในที่สุดก็ล่มสลายลง ชาวจีนจำนวนไม่น้อยต่างหลบลี้หนีภัยไปที่ต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือไปที่เกาะฟอร์โมซา(จากนี้จะขอเรียกว่าเกาะไต้หวัน) หนึ่งในบุคคลสำคัญที่อพยพมายังที่แห่งนี้ด้วยคือ เจิ้ง เฉิงกง แม่ทัพคนสำคัญผู้พยายามกอบกู้ราชวงศ์หมิง
7
เจิ้ง เฉิงกง นำชาวจีนบางส่วนหนีมายังเกาะไต้หวัน ที่นั่นเขาได้ร่วมมือกับชาวจีนที่อพยพมาอยู่ก่อนหน้าและชนพื้นเมืองเดิมของเกาะ ที่กำลังไม่พอใจนโยบายการเก็บภาษีของฮอลันดา พวกเขาร่วมกันต่อสู้และสามารถกำจัดอิทธิพลของฮอลันดาออกไปจากเกาะได้สำเร็จในปี 1662
7
หลังสิ้นยุคของดัตช์ เจิ้ง เฉิงกง และครอบครัวก็ปกครองเกาะไต้หวันช่วงสั้นๆ แต่หลังจากที่ราชวงศ์ชิงของแมนจูสามารถยึดและรวมอำนาจบนแผ่นดินใหญ่ได้อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว พวกเขาก็หันสายตามาหาเกาะไต้หวันจนได้ ทำให้ในปี 1683 เกาะไต้หวันก็ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนภายใต้ราชวงศ์ชิง โดยให้ขึ้นอยู่กับมณฑลฝูเจี้ยน
4
เจิ้ง เฉิงกง ภาพจาก https://www.goteamjosh.com/blog/koxinga
การเข้ามาของราชวงศ์ชิงนั้น ตามมาด้วยกฎต่างๆมากมายสารพัด โดยในช่วงแรกนั้นมีการเรียกชายที่ยังเป็นโสดและยังไม่มีที่อยู่อาศัยกลับแผ่นดินใหญ่ คนที่ยังอยู่นั้นก็ต้องลงทะเบียนเพื่อใช้เก็บภาษี และในปี 1684 ได้มีการจำกัดให้แค่ชายชาวจีนที่ยังไม่มีครอบครัวเท่านั้นที่จะสามารถเดินทางมายังไต้หวันได้ และห้ามคนที่แต่งงานแล้วพาครอบครัวจากแผ่นดินใหญ่มาอยู่ที่นี่ เพื่อป้องกันการขยายตัวของชาวฮั่น โดยเฉพาะคนที่ยังภักดีกับราชวงศ์หมิงอยู่ ซึ่งคนที่ย้ายมาไต้หวันมักจะเป็นชาวฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน และชาวจีนแคะจากมณฑลกวางตง
8
ถึงจะคุมเข้ม แต่ทางการชิงก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจหรือเล็งเห็นถึงความสำคัญของเกาะไต้หวันแต่อย่างใด ยังคงมีการใช้นโยบายจัดเก็บภาษีและห้ามอพยพ ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อชาวจีนและชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนเกาะไต้หวัน จนเกิดการลุกฮือขึ้นก่อกบฏอยู่หลายครั้ง
2
ทางการชิงต้องใช้กำลังเข้าปราบปรามกบฏอยู่เรื่อย ๆ และได้เพิ่มทหารเข้าประจำการบนเกาะไต้หวัน จนก่อให้เกิดการข่มเหงรังแกคนที่อาศัยอยู่บนเกาะ การลุกฮือต่อต้านชิงก็ยังคงมีอยู่เรื่อย ๆ จนในที่สุดช่วงปี 1732-1740 ราชวงศ์ชิงก็ต้องมีการปรับนโยบายใหม่โดยอนุญาตให้มีการอพยพย้ายถิ่นไปยังเกาะไต้หวันได้ นี่ถือเป็นช่วงที่ประชากรจีนบนเกาะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการปรับการเก็บภาษีใหม่ โดยเก็บในอัตราต่ำ แต่เก็บทั่วถึงคนทั้งเกาะอีกด้วย
5
ถึงจะปรับนโยบายใหม่แล้ว แต่การบริหารเกาะไต้หวันของทางการชิงนั้นยังคงไม่มีประสิทธิภาพ การเก็บภาษียังคงสร้างความไม่พอใจให้กับคนบนเกาะและนำมาซึ่งการลุกฮืออยู่เรื่อยๆ บ่อยเสียจนเกาะไต้หวันนั้นได้รับฉายาว่า “เกาะแห่งการกบฏ” เลยทีเดียว
5
กระทั่งช่วงปี 1841-1842 จีนภายใต้ราชวงศ์ชิงได้พ่ายแพ้สงครามฝิ่น และบรรดาชาติตะวันตกทั้งหลายก็ให้ความสนใจอกสนใจในเกาะไต้หวันเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าอยู่ในทำเลทอง เหมาะแก่การใช้เป็นสถานีการค้าและท่าเรือ จนช่วงปี 1884-1885 จีนได้ทำการสู้รบกับฝรั่งเศสจากกรณีพิพาทเหนือดินแดนเวียดนาม จนถูกฝรั่งเศสทำการเข้าควบคุมเมืองจีหลงบนเกาะไต้หวัน เข้ายึดหมู่เกาะเปรสคาดอเรส และปิดกั้นเส้นทางเข้าเกาะเอาไว้
3
เมื่อสงครามจบลง ทางการชิงจึงมองเห็นถึงความสำคัญของเกาะไต้หวัน และได้ยกไต้หวันให้ขึ้นเป็นมณฑลที่ 22 ของจีนอย่างเต็มตัว มีการแต่งตั้งข้าหลวงประจำมณฑลคนแรกนามว่า หลิว หมิงฉวน
3
สงครามฝิ่น
กาลเวลาผ่านไป ก็ได้มีผู้มาเยือนเกาะไต้หวันรายใหม่ ซึ่งจะนำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งมาสู่เกาะแห่งนี้ นั่นคือญี่ปุ่นซึ่งความจริงมีประเด็นขัดแย้งกับจีนในเรื่องเกาะไต้หวันมาตั้งแต่ปี 1871 ช่วงยุคการปฏิวัติเมจิแล้ว
2
เรื่องมันเกิดมาจากมีเรือประมงจากหมู่เกาะริวกิวอับปาง ลูกเรือถูกพัดไปขึ้นฝั่งที่เกาะไต้หวัน แต่ก็ถูกชาวพื้นเมืองสังหารไปถึง 45 คน ทางการญี่ปุ่นต้องการให้จีนชดใช้ค่าเสียหาย แต่จีนปฏิเสธ เพราะจีนถือว่าหมู่เกาะริวกิวเป็นดินแดนของจีนไม่ใช่ญี่ปุ่น เนื่องด้วยทางผู้ปกครองริวกิวนั้นยังคงส่งบรรณาการให้แก่ราชวงศ์ชิงของจีนอยู่ตลอด
4
ความไม่ลงรอยกันระหว่างจีนและญี่ปุ่นดำเนินต่อมาเรื่อยๆ จนในที่สุดก็บานปลายกลายเป็นสงครามจีน-ญี่ปุ่นขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม 1894 ซึ่งจากการที่ญี่ปุ่นในยุคนั้นผ่านการปฏิวัติเมจิมา ทำให้มีความแข็งแกร่งและก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทำให้สามารถเอาชนะจีนลงได้อย่างไม่ยากเย็น และได้มีการลงนามในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ทำให้จีนนั้นต้องสูญเสียเกาะไต้หวันให้แก่ญี่ปุ่นไป
3
กองทัพญี่ปุ่นเข้าสู่ไทเป ภาพจาก https://www.gjtaiwan.com/new/?p=8509
ญี่ปุ่นนำความเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอย่างมาสู่เกาะไต้หวันทั้งในด้าน การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และแน่นอนว่าย่อมต้องมีการต่อต้าน บรรดาขุนนาง ปัญญาชนและเจ้าของที่ดินที่ได้ประโยชน์เมื่อครั้งที่เกาะไต้หวันอยู่ภายใต้จีนนั้น ได้ร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่นและสถาปนาสาธารณรัฐฟอร์โมซาขึ้นในวันที่ 25 พฤษภาคม 1895 โดยยังคงยึดโยงกับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็ถูกญี่ปุ่นปราบได้อย่างรวดเร็ว
5
ญี่ปุ่นได้ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลากหลายอย่างให้แก่ไต้หวัน เช่น ถนน ท่าเรือ รถไฟ มีการจัดสรรที่ดินและปรับระบบเศรษฐกิจของไต้หวันใหม่ วางระบบการปกครองให้ใหม่รวมไปถึงมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “กฎหมาย 63” โดยจะให้สัญชาติญี่ปุ่นแก่คนไต้หวัน และชาวไต้หวันต้องสรรเสริญองค์จักรพรรดิของญี่ปุ่น เพื่อปลูกฝังค่านิยมแบบญี่ปุ่น
6
นอกจากนี้ญี่ปุ่นได้เข้ามาวางระบบการศึกษาของไต้หวันใหม่ ให้ใช้ภาษาญี่ปุ่นในการ ฟัง พูด อ่าน เขียนเป็นหลัก และมีการจัดตั้งระบบการศึกษาในสายอาชีพต่าง ๆ เช่น แพทย์ การค้า การเกษตร เป็นต้น โดยสรุปนั้นญี่ปุ่นได้เข้ามาปฏิรูปเกาะไต้หวันขนานใหญ่และให้เปลี่ยนมาใช้ระบบของญี่ปุ่นแทบทั้งหมด นั่นส่งผลให้ระบบเดิมและวัฒนธรรมจีนบนเกาะนั้นเริ่มมีบทบาทน้อยลงไปมาก
5
กาลเวลาผ่านไป การเมืองโลกมีความผันผวนอย่างมาก แม้แต่ในจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อราชวงศ์ชิงถูกล้มล้างโดยคณะปฏิวัติที่นำโดนดอกเตอร์ซุนยัตเซ็นในปี 1912 เกิดการสถาปนาระบอบการปกครองใหม่แบบสาธารณรัฐภายใต้รัฐบาลพรรคชาตินิยมจีนหรือที่รู้จักกันในนามพรรคก๊กมินตั๋ง ในเวลานั้นเกาะไต้หวันก็ยังคงอยู่ภายใต้อำนาจของญี่ปุ่น จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2
7
ผลของสงครามเป็นอย่างที่ทุกคนรู้กัน ญี่ปุ่นประสบความพ่ายแพ้ และต้องสูญเสียอำนาจเหนือไต้หวันและดินแดนต่าง ๆที่ตนเคยยึดมาได้ไป ทำให้ไต้หวันได้กลับไปสู่อ้อมอกของจีนอีกครั้ง หลังจากตกอยู่ในความดูแลของญี่ปุ่นมานานกว่า 50 ปี
5
ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามอย่างเป็นทางการ ภาพจาก https://royal-naval-association.co.uk/news/anniversary-of-end-of-world-war-2/
หลังจากได้เกาะคืนมา ก๊กมินตั๋งก็ได้ส่งทหารเข้ามาประจำการยังไต้หวันที่นครไทเปราว 300,000 นายพร้อมกับปลดอาวุธและทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นได้ทิ้งไว้ และมีการแต่งตั้งผู้ว่าการมณฑลคนใหม่นาม เฉินอี๋
1
เฉินอี๋ได้รับอำนาจเต็มที่อย่างมากจากก๊กมินตั๋งเพื่อให้ดูแลไต้หวัน เขามีอำนาจทั้งในฝั่งพลเรือนและทหาร และจะเป็นผู้ที่ทำให้ไต้หวันต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอีกครั้ง
2
เฉินอี๋ดำเนินนโยบายที่เด็ดขาดหลากหลายอย่าง ซึ่งทำให้ชาวไต้หวันในขณะนั้นหลายคนไม่พอใจอย่างมาก เขายกเลิกการเลือกตั้งสภาท้องถิ่น และเปลี่ยนให้เป็นการแต่งตั้งจากผู้ว่าการแทน นอกจากนี้ยังไล่ปลดข้าราชการและเจ้าหน้าที่ไต้หวันเดิมไปเป็นจำนวนมาก
2
อีกหนึ่งผลงานที่สำคัญของเขาคือการนำภาษาจีนกลับมาใช้ในไต้หวันอีกครั้ง แม้ตัวเฉินอี๋นั้นจะสามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ก็ตาม ซึ่งปัญหามันดันมาเกิดตรงที่เขาไม่ได้ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เฉินอี๋กำหนดเส้นตายในการที่ไต้หวันจะกลับมาใช้ภาษาจีนคือ 1 ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าเร็วมาก กล่าวคือ ภายในปี 1946 อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับภาษาทุกอย่างในไต้หวันจะต้องกลับมาใช้ภาษาจีนทั้งหมด
5
พอเรื่องมันเป็นอย่างงี้ก็ทำเอาชาวไต้หวันลมจับไปตาม ๆกันเพราะอย่าลืมว่าไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นมากว่า 50 ปี ภาษาและระบบหลายอย่างแบบญี่ปุ่นมันเริ่มจะมั่นคงและลงตัวในไต้หวันแล้ว ชาวไต้หวันหลายคนก็เริ่มคุ้นชินกับระบบนี้มากขึ้น แต่พอวันดีคืนดีจะให้กลับมาใช้ของจีนอีกครั้ง แถมจะเอาให้ได้ภายใน 1 ปี เป็นใครก็คงเอามือก่ายหน้าผาก
3
เฉินอี๋
ถึงจะกลับสู่อ้อมกอดแผ่นดินแม่แล้ว แต่การบริหารเกาะไต้หวันของก๊กมินตั๋งในระยะแรกนั้นมีปัญหาหลายเรื่อง ทั้งการทุจริตคอรัปชั่น การบังคับใช้ภาษาจีนแมนดาริน การโยกย้านทรัพยากรของไต้หวันไปแผ่นดินใหญ่ รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง การแบ่งทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมระหว่างชาวไต้หวันเดิมและชาวจีนอพยพ สิ่งเหล่านี้นำมาสู่ความไม่พอใจอย่างมากของผู้คนบนเกาะจนก่อให้เกิดการจราจลขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1947 เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “อุบัติการณ์ 228”
2
หลังการจราจลสงบ ทางการจีนต้องมีการลดอำนาจของผู้ว่าการเกาะไต้หวันลง ให้มีอำนาจเพียงในฝ่ายพลเรือนเท่านั้น ส่วนทางทหารแผ่นดินใหญ่จะเป็นผู้ดูแล และชาวไต้หวันดั้งเดิมก็ได้รับโอกาสทำงานในแวดวงราชการมากขึ้น
2
ในเวลาต่อมาไต้หวันก็ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ขึ้นอีกครั้ง จากเหตุการณ์สงครามกลางเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ระอุมาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลับมาปะทุอีกครั้งหลังจากสงครามสิ้นสุดและญี่ปุ่นถอนทัพออกไป เป็นการต่อสู้ระหว่างชาวจีนฝ่ายชาตินิยมของก๊กมินตั๋งนำโดยเจียง ไคเช็ค กับจีนฝ่ายคอมมิวนิสต์นำโดยเหมาเจ๋อตุง นับเป็นสงครามที่นองเลือดมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ระหว่างชาวจีนด้วยกันเอง
7
ในช่วงท้ายของสงคราม เมื่อผลการรบนั้นมีทีท่าเริ่มจะชัดเจนแล้วว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์จะได้รับชัยชนะบนแผ่นดินใหญ่ เจียง ไคเช็กและพรรคก๊กมินตั๋งจึงต้องดำเนินการอพยพครั้งใหญ่ขึ้น และสถานที่ที่พวกเขาเลือกเป็นจุดหมายก็คือเกาะไต้หวัน
3
ปี 1949 เจียง ไคเช็กนำชาวจีนจำนวนหนึ่งพร้อมทรัพย์สินจำนวนมากเท่าที่จะนำไปได้ ลงเรือข้ามช่องแคบไปยังเกาะไต้หวัน พวกเขาถูกเรียกว่าชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งชาวจีนกลุ่มนี้แม้จะมีจำนวนคิดเป็นเพียง 14% ของสัดส่วนประชากรบนเกาะไต้หวัน แต่พวกเขาจะกุมอำนาจและมีบทบาททางการเมืองของไต้หวันในเวลาต่อมา
3
ผู้คนจำนวนมากเร่งลงเรือหนีไปยังไต้หวันในปี 1949 ภาพจาก http://www.taipeitimes.com/News/feat/archives/2016/12/04/2003660529
เจียง ไคเช็กและพรรคก๊กมินตั๋งประกาศตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่เกาะแห่งนี้ และทำให้ไต้หวันมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าสาธารณรัฐจีน ในขณะที่เหมาเจ๋อตุงและพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้สถาปนาอำนาจบนแผ่นดินใหญ่ในชื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เรารู้จักกัน
2
มาถึงตรงนี้ผมขออธิบายเพิ่มเติมว่า การที่พรรคก๊กมินตั๋งประกาศตั้งสาธารณรัฐจีนที่ไต้หวันนั้น ยังไม่ได้หมายความว่าพวกเขาประกาศแยกไต้หวันเป็นเอกราชจากจีนแต่อย่างใด ในตอนนั้นพวกเขาถือว่าตนรัฐบาลพลัดถิ่นที่ลี้ภัย และยังคงอ้างสิทธิ์อันชอบธรรมเหนือดินแดนจีนทั้งหมด ในขณะเดียวกันฝ่ายคอมมิวนิสต์ในแผ่นดินใหญ่ก็อ้างสิทธิ์เหนือเกาะไต้หวันเช่นเดียวกัน โดยสรุปคือทั้งฝ่ายถือว่าตนคือจีนหนึ่งเดียวและต่างอ้างสิทธิ์ในกันและกัน อีกทั้งนานาชาติในตอนนั้นยังคงให้การรับรองพรรคก๊กมินตั๋งเป็นจีนอันชอบธรรมเพียงผู้เดียว
13
หลังการย้ายเข้ามา ประชาธิปไตยยังไม่ได้เกิดขึ้นบนเกาะไต้หวัน ก๊กมินตั๋งได้รวบอำนาจบนเกาะ และประกาศกฎอัยการศึกบนไต้หวันนับตั้งแต่ปี 1949 มีการควบคุมกิจกรรมทางการเมืองอย่างเข้มงวด แต่ในระหว่างนั้นก็ได้พัฒนาหลายอย่างบนเกาะไปด้วย ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีการต่อต้านอยู่บ้างจากชาวไต้หวันเดิมหรือชาวไต้หวันที่อพยพไปอยู่ที่อื่น
7
เข้าสู่ปี 1970 ไต้หวันต้องเผชิญกับอุปสรรคใหญ่อีกครั้ง จากการสูญเสียการยอมรับและที่นั่งในองค์การสหประชาชาติ เนื่องจากประชาคมโลกได้ย้ายฝั่งไปให้การรับรองจีนแผ่นดินใหญ่โดยพรรคคอมมิวนิสต์ให้เป็นจีนที่ชอบธรรมแทนพรรคก๊กมินตั๋ง อีกทั้งยังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ และการถึงแก่อสัญกรรมของนายเจียง ไคเช็ก ผู้นำของก๊กมินตั๋งไปเมื่อปี 1975
5
หลังการตายของเจียงไคเช็ก นายเหยียน เจียกั้นได้ดำรงตำแหน่งแทนประธานเจียงจนครบวาระ แต่ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเป็นพิเศษ ผู้มีบทบาทสำคัญจริง ๆ คือนายเจียง จิงกว๋อ ลูกชายของเจียง ไคเช็ก ที่ขึ้นสืบทอดอำนาจของบิดาต่อมา
2
ไต้หวันในยุคสมัยของเจียง จิงกว๋อนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจที่มีการก่อสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมจำนวนมาก และด้านการเมืองที่เริ่มมีชาวไต้หวันต่อต้านการครองอำนาจอันยาวนานพรรคก๊กมินตั๋งมากขึ้นทุกขณะ และเรียกร้องให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นอย่างแท้จริง จนในที่สุดนายเจียง จิงกว๋อ ก็ต้องเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านและผ่อนปรนกฎต่างๆให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีการให้เสรีภาพแก่สื่อและเสรีภาพทางการเมือง
4
เมื่อสิ้นเจียง จิงกว๋อ กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยบนเกาะไต้หวันเกิดขึ้นอย่างล้นหลาม มีผู้คนจำนวนมากออกมารณรงค์เรียกร้องในไทเปจนเกิดเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า “การเคลื่อนไหวดอกลิลลี่ป่า” ผู้ที่ขึ้นมากุมอำนาจในไต้หวันช่วงนี้มีนามว่า หลี่ เติงฮุย ซึ่งยังคงเป็นคนของพรรคก๊กมินตั๋ง แต่เขาคนนี้ได้เข้ามาทำการวางรากฐานทางประชาธิปไตยให้แก่เกาะไต้หวันอย่างชัดเจน
5
ได้มีการแก้รัฐธรรมนูญและวางระบบการเมืองต่าง ๆ เป็นอย่างดี จนนำไปสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยในปี 1996 และเขาก็ได้รับเลือกตั้งตามเดิม ซึ่งถือเป็นประธานาธิบดีคนแรกของไต้หวันที่มาจากการเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้ทำให้นายหลี่ เติงฮุย ถูกจดจำต่อมาในฐานะ”บิดาแห่งประชาธิปไตย” ของไต้หวัน อีกทั้งยังถูกยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ จนกล่าวได้ว่าหากเจียง จิงกว๋อคือเผด็จการคนสุดท้าย หลี่เติงฮุยก็คือประชาธิปไตยคนแรกของไต้หวัน อีกทั้งเขายังมีแนวคิดสนับสนุนให้ไต้หวันเป็นเอกราชอีกด้วย
4
เจียง จิงกว๋อ (ซ้าย) หลี่ เติงฮุย (ขวา)
ถึงตรงนี้ขอเล่าย้อนกลับไปสักเล็กน้อย ในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน ได้มีกลุ่มทางการเมืองที่มีชื่อว่า “กลุ่มตั่งไว่” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการพัฒนาประชาธิปไตยบนเกาะไต้หวัน และเรียกร้องอำนาจการปกครองให้กับชาวไต้หวันดั้งเดิม พวกเขาได้ประกาศจัดตั้ง “พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า” (DPP) ขึ้นในวันที่ 28 กันยายน 1986 ซึ่งในเวลาต่อมาพรรคนี้จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเมืองของไต้หวันและในความตึงเครียดในภูมิภาคนี้กับจีนจนถึงปัจจุบัน
2
ในช่วงแรกพรรค DPP ยังไม่ได้รับการยอมรับแต่อย่างใด แต่หลังจากการยกเลิกกฎอัยการศึกโดยพรรคก๊กมินตั๋งในปี 1987 ทำให้พวกเขาได้รับสถานะเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังค่อนข้างไร้บทบาทในการเมืองของไต้หวันมาเรื่อย ๆ เนื่องจากอำนาจของพรรคก๊กมินตั๋งนั้นได้หยั่งรากลึกในสังคมไต้หวันมาอย่างช้านาน
1
พรรค DPP มีจุดยืนที่ที่ชูอัตลักษณ์ความเป็นชาวไต้หวัน โดยที่ไม่ต้องไปผูกติดหรือยึดโยงกับจีนแผ่นดินใหญ่ และเป็นพรรคที่สนับสนุนให้ไต้หวันแยกตัวเป็นรัฐเอกราชและปกครองตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับแนวคิดของฝ่ายก๊กมินตั๋งเป็นอย่างมากที่ยังคงผูกติดกับความเป็นจีนและเชื่อมโยงกับจีนแผ่นดินใหญ่
3
DPP ค่อยๆขยับขยายพื้นที่ทางการเมืองของตนขึ้นมาเรื่อย ๆจากการชูนโยบายความเป็นไต้หวัน และทวงถามความยุติธรรมจากความรุนแรงที่ก๊กมินตั๋งได้ทำกับชาวไต้หวัน ในการจราจลเมื่อปี 1947 หรืออุบัติการณ์ 228 ที่เคยได้เล่าไปข้างต้น รวมถึงสนับสนุนการแยกตัวของเกาะไต้หวัน ทำให้พวกเขาเริ่มได้รับแรงสนับสนุนจากชาวไต้หวันเดิมและกลุ่มคนรุ่นใหม่ จนเริ่มกลายเป็นฝ่ายค้านที่มีบทบาทมากขึ้นในสภา สามารถช่วงชิงเก้าอี้จากพรรคก๊กมินตั๋งได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
3
สัญลักษณ์พรรคก๊กมินตั๋ง (ซ้าย) พรรค DPP (ขวา)
และแล้วจุดเปลี่ยนก็มาถึงในปี 2000 หลังจากที่นายหลี่ เติงฮุย ลงจากตำแหน่งหลังหมดวาระ ได้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้ง และในครั้งนี้ผลมันต่างออกไป ผู้สมัครจากพรรค DPP นามว่า เฉิน สุยเปี่ยน สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง และกลายเป็นประธานาธิบดีแห่งเกาะไต้หวันคนแรกที่ไม่ได้มาจากพรรคก๊กมินตั๋ง เป็นอันปิดฉากการครองอำนาจต่อเนื่องของก๊กมินตั๋งที่มีมาอย่างยาวนานบนเกาะ
4
การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของพรรค DPP นั้นนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนหลายต่อหลายอย่าง เพราะต้องไม่ลืมว่า DPP มีจุดยืนที่แน่วแน่มาตลอด นั่นคือการสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน และปฏิเสธการรวมชาติกับจีน ซึ่งก็ทำให้จีนเริ่มไม่สบายอย่างมาก เพราะผลการเลือกตั้งครั้งนี้นั้น มันสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองและแนวคิดที่เปลี่ยนไปของคนบนเกาะไต้หวันว่าคิดเห็นอย่างไรต่อการรวมชาติ ซึ่งจีนมุ่งมั่นอยากให้เกิดขึ้น
2
นายเฉิน สุยเปี้ยน มักมีนโยบายที่แข็งกร้าวและพร้อมประจันหน้ากับจีน จนเริ่มก่อให้เกิดความตึงเครียดและรอยร้าวขึ้นระหว่างจีนและไต้หวัน เขาได้กำรงตำแหน่งอยู่ถึง 2 สมัยติดต่อกัน แต่ก็ต้องเจอกับข่าวฉาวในเรื่องการฟอกเงินและทุจริตขณะดำรงตำแหน่ง จนถูกตัดสินจำคุก และเมื่อเกิดการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้งในปี 2008 การเมืองไต้หวันก็เปลี่ยนมืออีกครั้ง เมื่อพรรคก๊กมินตั๋งสามารถกลับมาคว้าชัยและทวงเก้าอี้รัฐบาลคืนได้สำเร็จ โดยในครั้งนี้มีผู้นำที่ชื่อว่า หม่า อิ่งจิ่ว
4
ดังที่เล่าไปว่าพรรคก๊กมินตั๋งนั้นไม่ได้มีนโยบายแยกตัวจากจีนและแข็งกร้าวเหมือน DPP ทำให้ในยุคนี้ ความตึงเครียดได้ผ่อนคลายลงไปมาก จีนและไต้หวันกลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีการผ่อนปรนการเดินทางและค้าขายต่างๆ เพื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจกันและกัน เพราะพรรคก๊กมินตั๋งมองว่าจีนยังคงมีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อไต้หวัน และควรประนีประนอม ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมากกว่า
4
ทุกอย่างเหมือนจะสงบสุขเรียบร้อยดี แต่หลายฝ่ายโดยเฉพาะผู้สนับสนุนความเป็นเอกราชมองว่าแนวทางนี้จะเป็นการทำให้จีนเข้ามาใกล้ไต้หวันมากขึ้น และทำให้ไต้หวันถูกกลืนกินโดยจีนในที่สุด ซึ่งก็เห็นเค้าลางของการรวมชาติมากขึ้นในยุคของนายหม่า อิ่งจิ่ว
6
ดูเหมือนการรวมชาติเข้ากับจีนเริ่มจะไม่ได้เป็นทางเลือกเดียวที่ชาวไต้หวันมองเอาไว้อีกแล้ว เมื่อประธานาธิบดีหม่า อิ่งจิ่ว หมดวาระและมีการเลือกตั้ง อำนาจก็เปลี่ยนมือกลับไปที่พรรค DPP อีกครั้ง โดยในครั้งนี้ไต้หวันได้มีผู้นำหญิงเป็นคนแรกนับแต่การตั้งถิ่นฐานบนเกาะ เธอคนนั้นมีนามว่า ไช่ อิงเหวิน
3
ไช่ อิงเหวิน
ตามนโยบายของพรรค DPP และตัวไช่ อิงเหวินที่สนับสนุนเอกราชและอธิปไตยของไต้หวันอย่างเต็มที่ ทำให้ความตึงเครียดกับจีนกลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อนางไช่ อิงเหวิน และ พรรค DPP สามารถคว้าชัยในการเลือกตั้งได้อีกครั้งเป็นสมัยที่สอง เมื่อปี 2020 ด้วยคะแนนถล่มทลาย ตอกย้ำถึงแนวคิดการแยกตัวที่เพิ่มมากขึ้นของชาวไต้หวัน และทำให้จีนไม่พอใจอย่างมาก
5
จีนได้กดดันไต้หวันด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งทางทหาร โดยมีการนำเครื่องบินหรือเรือรบเข้าไปยังเขตของไต้หวันเพื่อเน้นย้ำว่าเกาะแห่งนี้เป็นของจีน รวมถึงจัดการซ้อมรบบริเวณช่องแคบไต้หวันอยู่บ่อยครั้ง ทางด้านไต้หวันเองก็ตอบโต้อย่างแข็งกร้าวด้วยการส่งเครื่องบินหรือเรือรบเข้าสกัดกั้น เพื่อแสดงจุดยืนของตัวเองเช่นกัน
3
สถานการณ์ยิ่งทวีความร้อนระอุมากขึ้นเมื่อประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาได้ให้การสนับสนุนไต้หวัน มีการขายอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากแก่ไต้หวัน รวมถึงมีการพบเห็นกองเรือรบของสหรัฐบริเวณช่องแคบไต้หวันอยู่บ่อยครั้ง ทางด้านไต้หวันเองก็พยายามเข้าหาและสานสัมพันธ์สหรัฐมากขึ้นเพื่อคานอำนาจกับจีน เพราะหากปราศจากความช่วยเหลือของอเมริกา ไต้หวันนั้นแทบจะไม่สามารถต่อกรกับจีนได้เลยทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ เนื่องด้วยขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรที่ตกเป็นรองจีนอยู่มาก
4
ทางด้านจีนนั้นก็มักออกประณามการเข้ามาของสหรัฐอเมริกาอยู่เสมอ โดยกล่าวว่าเป็นการแทรกแซงอธิปไตยของจีน และเรียกร้องให้เคารพนโยบายจีนเดียว ที่กล่าวว่าจีนนั้นมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นจะแบ่งแยกไม่ได้ ซึ่งนานาชาติเคยได้มีการลงนามรับรองเอาไว้
13
ถึงแม้นานาชาติจะรับรองให้จีนแผ่นดินใหญ่นั้นมีสิทธิ์อันชอบธรรม แต่ก็ใช่ว่าไต้หวันจะไร้ซึ่งผู้สนับสนุน ยังมีประเทศที่รับรองว่าไต้หวันนั้นคือประเทศเอกราชเช่นเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นประเทศขนาดเล็กที่ไม่มีอำนาจหรือบทบาทในเวทีโลกมากนัก และนับวันเริ่มจะมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆจากการถูกจีนชักชวนให้เลิกรับรองไต้หวันเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ โดยในปัจจุบันเหลือเพียงไม่ถึง 20 ประเทศที่ยังคงรับรองสถานะและมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอยู่
4
สถานการณ์ล่าสุด การเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี นั้นได้จุดชนวนความตึงเครียดอย่างหนักขึ้นระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐ เพราะตำแหน่งประธานสภานั้น ถือเป็นบุคคลผู้ทรงอำนาจอันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา เป็นรองเพียงประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีเพียงเท่านั้น ฉะนั้นการที่เบอร์ 3 ของอเมริกากล้ามาเยือนไต้หวันโดยไม่สนใจคำขู่ของทางการจีนนั้น ถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างรุนแรงต่อจีนถึงจุดยืนของอเมริกา และทำให้ทางการปักกิ่งไม่อาจนิ่งเฉยได้
5
จีนได้มีการระดมทหารตามแนวชายฝั่งที่ติดกับไต้หวัน และจัดการซ้อมรบขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณทะเลรอบเกาะ ส่งผลต่อเที่ยวบินและการเดินเรือของพลเรือนจำนวนมาก จนหลายฝ่ายต่างกังวัลว่านี่อาจบานปลายกลายเป็นสงครามขนาดใหญ่ได้เลยทีเดียว ส่วนในไต้หวันนั้นเสียงของผู้คนแตกออกเป็น 2 ฝ่าย มีทั้งกลุ่มที่ยินดีกับการมาของนางแนนซีและกลุ่มที่ต่อต้าน
3
แนนซี เพโลซี พบ ไช่ อิงเหวิน
ปัจจุบัน คำถามที่ว่าไต้หวันเป็นประเทศหรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน ซึ่งทุกฝ่ายต่างกระอักกระอ่วนใจที่จะตอบ คงต้องให้สุดแล้วแต่มุมมองของแต่ละคน แต่ไม่ว่าอย่างไรเชื่อว่าทุกฝ่ายต่างต้องการให้จีนและไต้หวัน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งมวล ร่วมมือกันหาคำตอบของคำถามนี้และสามารถอยู่ร่วมกันได้ อย่างสงบและสันติ
2
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
เครดิตพื้นหลังรูปภาพหน้าปก
Copyright © Free Vector Maps.com
โฆษณา