3 ส.ค. 2022 เวลา 16:33 • ความคิดเห็น
คดีประมาทร่วม......
ซึ่งไม่เคยมีในข้อบัญญัติของกฎหมาย
3
คำว่า “ประมาท” นั้นพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำนิยามไว้ว่า....
“[ปฺระหฺมาด] ก. ขาดความรอบคอบ ขาดความระมัดระวังเพราะทะนงตัว เช่น เวลาขับรถอย่าประมาท
2
ดูหมิ่น เช่น ประมาทฝีมือ. น. ความเลินเล่อ การขาดความระมัดระวัง เช่น ขับรถโดยประมาท”
ขณะเดียวกัน ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคสี่ ได้กำหนดนิยามของ “การกระทำโดยประมาท” เอาไว้ว่า... “ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”
ในมิติทางกฎหมาย การกระทำโดยประมาทถือเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่สามารถกระทำร่วมกันได้ กล่าวคือ การขับขี่รถยนต์โดยประมาท ถือเป็นการกระทำของ “ผู้ขับขี่” เพียงคนเดียว จะมีบุคคลอื่นอยู่ในรถยนต์คันนั้นด้วยหรือไม่ ไม่สำคัญถือว่าคนเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย
เราอาจจะเคยได้ยินบ่อยครั้งว่า ในกรณีเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนตำรวจมักจะตั้งข้อหาผู้ขับขี่รถยนต์ที่เกี่ยวข้องว่า “ประมาทร่วม” แล้วก็ทำการเปรียบเทียบปรับกันไปตามครรลอง
จริงๆแล้วข้อกล่าวหาว่า “ประมาทร่วม” ดังกล่าวนี้ไม่มีในสารบบของกฎหมายนะครับ ไม่มีกฎหมายข้อไหนบัญญัติถึงคำว่า “ประมาทร่วม” หรือ “ร่วมกันกระทำโดยประมาท” เพราะมันขัดกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง
ในกรณีที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างก็กระทำการโดยประมาท ก่อให้เกิดเหตุร้ายขึ้น ก็ต้องใช้คำว่า “ต่างฝ่ายต่างประมาท” ไม่ใช่ “ประมาทร่วม” หรือ “ร่วมกันกระทำโดยประมาท”
ในการพิจารณาคดี ศาลก็จะวินิจฉัยว่าฝ่ายใดกระทำการโดยประมาทมากกว่ากัน และจะพิจารณาโทษตามระดับของความประมาทที่ได้กระทำลงไป
การที่ “นายหนึ่ง”ขับรถยนต์ฝ่าฝืนสัญญาณไฟสีแดงขณะที่ “นายสอง”ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงกว่า 160 กิโลเมตรต่อช่วงโมงผ่านสัญญาณไฟสีเขียวมา และรถยนต์ทั้งสองคันชนกันกลางทางแยก ถือได้ว่าต่างฝ่ายต่างขับรถยนต์โดยประมาท... ไม่ใช่ประมาทร่วม
เมื่อไม่นานมานี้มีเหตุดราม่าในโลกโซเชียล กรณีหนุ่มไรเดอร์ขับขี่รถมากลางถนนและมีรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่ง เร่งเครื่องเข้ามาแทรกกลางชนกันจนล้ม หลังจากนั้นคนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์คันหลัง ได้ยังเหวี่ยงรถจักรยานยนต์ของหนุ่มไรเดอร์ไปโดนรถยนต์คันอื่นเสียหาย
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Yaya Pungpis
“ตำรวจชี้ว่าเป็นประมาทร่วม”
เป็นประเด็นให้บรรดา “เน็ตติเซ่น” วิพากษ์วิจารณ์กันกระหึ่มทีเดียว กล่าวหาว่าตำรวจไม่ให้ความเป็นธรรมกับหนุ่มไรเดอร์
ต่อมา พล.ต.ต. จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. แถลงถึงกรณีนี้ว่า เหตุที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ทั้งสองในข้อหา.... "ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายและมีผู้บาดเจ็บ"....นั้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ทั้งสอง มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4) ที่ระบุไว้ว่า
......"ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน".......
ในทางพิจารณาของตำรวจ การขับขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามช่องว่างของทางเดินรถที่เหลืออยู่ขณะที่มีรถยนต์คันหลายคันจอดรอเพราะการจราจรติดขัดนั้น ถือว่า....เป็นการขี่รถแซงขึ้นไปโดยขาดความระมัดระวัง.....ซึ่งเป็นการกระทำโดยประมาท จึงเปรียบเทียบปรับคนละ 500 บาท
นักกฎหมายและทนายความหลายคนให้ความเห็นว่า...เป็นการสมัครใจเข้าไปเสี่ยงภัย หากเกิดเหตุขึ้นก็จะต้องรับผิดในส่วนของการใช้ความระมัดระวังได้ไม่เต็ม 100% ส่วนรถจักรยานยนต์ที่ชนท้ายไรเดอร์ มีความผิดขับรถชนท้ายเพิ่มอีก 1 ข้อหา
อันที่จริงเรื่องนี้เป็นกรณีการเกิอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งพบเห็นกันเป็นปกติทุกวัน แต่กลายเป็นเรื่องดราม่าในโลกโซเชียลก็เพราะตำรวจไปตั้งข้อหากับคู่กรณีทั้งสองว่า “ประมาทร่วม” โดยแท้
เรื่องที่เป็นประเด็นน่าขบคิดในทางกฎหมายก็คือว่า การที่ตำรวจตั้งข้อหา “ประมาทร่วม” กับคู่กรณีทั้งสองแล้วเปรียบเทียบปรับไปตามบทบัญญัติของกฎหมายจราจรทางบกนั้น อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้างแรงแก่หนุ่มไรเดอร์คนนั้นก็ได้
เบื้องต้น....การเปรียบเทียบปรับคู่กรณีทั้งสองฝ่าย เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่สามารถทำได้และเมื่อคู่กรณียอมชำระค่าปรับไปแล้ว คดีก็เป็นอันเลิกกันตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 37
คดีนี้ไม่ได้มีผู้เสียหายเพียงแค่คู่กรณีที่ขับขี่รถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกัน แต่ยังมีรถยนต์อีก 2 คันที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าเจ้าของรถยนต์ทั้งสองคันจะต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทั้งสองคันอย่างแน่นอน
ปัญหาที่กลายเป็นประเด็นดรามาขึ้นมาก็คือว่า การที่หนุ่มไรเดอร์คนนั้นยอมเสียค่าปรับตามการเปรียบเทียบของพนักงานสอบสวนนั้น เท่ากับยอมรับว่าตนเองขับขี่รถจักรยานยนต์โดยประมาทจริง ซึ่งทำให้หนุ่มไรเดอร์ต้องร่วมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของรถยนต์ด้วย
บรรดาเน็ตติเซ่นที่ได้ดูคลิปวิดีโอเหตการณ์ทั้งหมดอย่างชัดเจน พากันประท้วงว่าเป็นความไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากภาพเหตุการณ์ในคลิปวิดีโอแสดงให้เห็นว่าเป็นความผิดของคนขับขี่จักรยานยนต์คู่กรณีของหนุ่มไรเดอร์แต่เพียงฝ่ายเดียว
หนุ่มไรเดอร์อาจทำผิดกฎหมายจราจรกรณีที่ไม่ขับรถชิดขอบทางด้านซ้าย แต่การที่คู่กรณีขับขี่รถจักรยานยนต์มาทางด้านหลังและพยายามเบียดแทรกจนเกิดการเฉี่ยวชนกันขึ้นนั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นความประมาทของคู่กรณีแต่เพียงฝ่ายเดียว
มีคำพิพากษาฎีกาที่น่าจะนำมาเทียบเคียงกับกรณีนี้ได้คือ ฎีกาที่ 4883/2553 ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางรถยนต์ แต่ก็มีข้อเท็จจริงหลายอย่างใกล้เคียงกันมาก
คำพิพากษาฎีกาที่ 4883/2553 ระบุว่า.....”แม้จำเลยจะขับรถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงด้วยความเร็วสูง แต่จำเลยขับรถในทางเดินรถของตนโดยถูกต้อง ส่วน ส. มิได้จอดรถเพื่อรถกลับรถในช่องกลับรถอย่างในภาวะปกติธรรมดา หากแต่เป็นเพราะรถที่ ส. ขับเกิดเสียการทรงตัว แล้วหมุนเข้าไปใน
ทางเดินรถของจำเลยและขวางรถที่จำเลยขับในระยะกระชั้นชิด...
....ในภาวะเช่นนั้นไม่ว่าจำเลยจะขับมาในลักษณะเช่นใดจำเลยย่อมไม่อาจจะหลบหลีกเพื่อมิให้ชนกับรถที่ ส.ขับได้ดังนั้น การที่จำเลยขับรถบรรทุกสิบล้อและรถพ่วงด้วยความเร็วสูงและไม่ขับให้อยู่ในช่องเดินรถด้านซ้าย จึงมิใช่เป็นผลโดยตรงที่ทำให้เกิดการเฉี่ยวชนกันจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทและกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย....”
โดยนัยแห่งคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้น การที่จำเลยขับรถยนต์สิบล้อและรถพ่วงด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้นเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกแน่นอน แต่เมื่อรถยนต์คู่กรณีเข้าไปขวางหน้าในระยะกระชั้นชิดย่อมทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
ในภาวะเช่นนั้นจะถือว่าจำเลยกระทำการโดยประมาทหาได้ไม่
ในกรณีของหนุ่มไรเดอร์ก็เช่นเดียวกัน เขาอาจจะทำผิดกฎหมายจราจรที่ไม่ขับขี่รถจักรยานยนต์ชิดขอบทางด้านซ้าย แต่จะถือว่าเขากระทำการโดยประมาทหาได้ไม่ เพราะเหตุเกิดจากการที่คู่กรณีขับขี่รถจักรยานยนต์แทรกเข้ามาชนจากทางด้านหลัง
ปัญหาที่จะก่อให้เกิดความปวดเศียรเวียนเกล้าในเรื่องนี้ก็คือว่า หนุ่มไรเดอร์ยอมรับการเปรียบเทียบปรับของตำรวจไปแล้ว ในส่วนของคดีอาญาจึงถือว่าเลิกกันไป แต่ในส่วนของคดีแพ่งนั้นกฎหมายให้ยึดถือพยานหลักฐานในคดีอาญาเป็นหลัก
ซึ่งหมายความว่าหนุ่มไรเดอร์จะต้องรับผิดทางแพ่งต่อเจ้าของรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายทั้งสองคันร่วมกับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง เพียงเพราะตำรวจไปตั้งข้อหาว่าเป็นการ “ประมาทร่วม”
@@@@@@@@@@@@
ปรึกษาปัญหากฎหมาย โทร. 0860400091
โฆษณา