Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
travelistaนักเดินทาง
•
ติดตาม
4 ส.ค. 2022 เวลา 10:09 • ท่องเที่ยว
วัฒนธรรมประเพณีมีค่าของไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ รักษาไว้ Colorful Culture
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลงานประเพณีที่มีสีสัน คึกคัก และมีชีวิตชีวาทั่วไทย สะท้อนถึงความคิดความเชื่อ ชาติพันธุ์ รวมถึงภูมิปัญญาที่สั่งสมส่งต่อสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างน่าภาคภูมิ
นี่คือส่วนหนึ่งใน E-Book สัมผัสเมืองไทย ต้องไปสักครั้ง 100 Best Places to Visit in Thailand ต้อนรับ ReOpen Thailand สัมผัสวัฒนธรรมและประเพณี มหัศจรรย์ธรรมชาติ หัตถศิลป์ถิ่นไทย ภูมิปัญญายั่งยืน เที่ยวเชิงอาหารและสุขภาพ เที่ยวตามเทรนด์ (Workation & BCG Go Green)
สนับสนุนการจัดทำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และพันธมิตรทั้ง ทิพยประกันภัย , BAM , บางกอกแอร์เวย์ส ,ฮาตาริ อิเลคทริค เนื้อเรื่องโดย 3 นักเขียนที่มีผลงานพ็อกเก็ตบุ๊คกว่า 130 เล่ม ดร.สุรศักดิ์ จิรวัสตร์มงคล สาธิตา โสรัสสะ และชาธร โชคภัทระ
10 วัฒนธรรมประเพณีได้แก่
1 งานนมัสการพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
ศูนย์รวมแห่งศรัทธา สมบัติล้ำค่าแดนอีสาน
สามที่สุด สู่สุขที่สุด สโลแกนที่ใครๆ ต่างถวิลหาที่จะไปเยือน จังหวัดนครพนม
หนึ่งในที่สุดนั้นคือ พระธาตุพนม ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์แดนอีสาน แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาของนครพนม มาแต่ครั้งโบราณกาล
สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธกาลประมาณ พ.ศ.8 ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรเจริญรุ่งเรือง เป็นที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุหรือกระดูกส่วนหน้าอกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวกันว่า ถ้าใครได้มานมัสการพระธาตุครบ 7 ครั้ง จะถือว่าเป็นลูกพระธาตุ หากใครที่เกิดปีวอก หรือเกิดวันอาทิตย์ การได้ไหว้พระธาตุพนม จะยิ่งเป็นสิ่งมงคลแก่ชีวิต
ทุกๆ ปีจะมีงานนมัสการพระธาตุพนม งานบุญประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจังหวัดนครพนม และพุทธศาสนิกชนถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 จนถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี รวม 9 วัน 9 คืน เพื่อเป็นพุทธบูชาถวายแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และองค์พระธาตุพนม โดยช่วงวันงานจะมีพิธีต่างๆ ทั้งพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากริมฝั่งแม่น้ำโขง การถวายผ้าห่มพระธาตุพนม ตักบาตรคู่อายุ ถวายข้าวพืชภาค พิธีเจริญพระพุทธมนต์ พิธีเวียนเทียน ฯลฯ
2 งานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช
มหากุศล และสิริมงคลแห่งชีวิต
หากจะนับประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยาวนานในประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือ การแห่ผ้าขึ้นธาตุเมืองนคร ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เนื่องในวันมาฆบูชา ที่เป็นประเพณีสืบทอดกันมากว่า 790 ปีเลยทีเดียว
หากจะย้อนอดีตไป เมื่อก่อนนั้น จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเมืองบริวารมากถึง 12 เมือง เรียกกันว่า เมือง 12 นักษัตร ตำนานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุมีอยู่ว่า ในสมัยที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราช กำลังสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์อยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบหรือพระบฏชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีลายเขียนเรื่องราวพุทธประวัติขึ้นที่ชายหาดปากพนัง มีผู้นำมาถวายพระองค์
โดยมีชาวพุทธกลุ่มหนึ่งจะเดินทางไปลังกา เพื่อนำผ้าแถบไปถวายเป็นพุทธบูชา แต่เรือถูกมรสุมซัดแตกที่ชายฝั่งเมืองนคร พระองค์จึงเห็นว่าควรจะนำขึ้นไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์ และกลายเป็นประเพณีประจำเมืองนครฯ สืบมาจนทุกวันนี้นั่นเอง
แต่เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุนั้นจะนัดหมายโดยพร้อมเพรียงกันเป็นขบวนใหญ่ แต่ในปัจจุบันการเดินทางสะดวกขึ้น ผู้ศรัทธาก็มาจากทุกทิศทุกทาง ใครจะตั้งขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุในเวลาใดก็สุดแต่ความสะดวก ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงมีได้ตลอดทั้งวันโดยไม่ขาดสาย
สำหรับงานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จะจัดปีละ 2 ครั้ง คือ ในวันเพ็ญเดือน 3 (วันมาฆบูชา) และในวันเพ็ญเดือน 6 (วันวิสาขบูชา) นับเป็นงานบุญใหญ่ได้มหากุศลอย่างมหาศาล และเป็นสิริมงคลต่อชีวิต
3 ประเพณีไหลเรือไฟ จังหวัดนครพนม
สีสันวันออกพรรษา รำลึกพระคุณพระแม่คงคา
เมืองที่ไปครั้งใด ก็ชื่นชมความสวยงามของทิวทัศน์ และมีความหลากหลายของวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ “นครพนม”
หนึ่งในประเพณีที่ชาวนครพนมภาคภูมิใจ เพราะบรรพบุรุษได้ยึดถือกันมานานตั้งแต่โบราณ โดยมีความเชื่อในประเพณีว่าเนื่องมาจากหลายกรณี เช่น การบูชารอยพระพุทธบาท การสักการะท้าวพกาพรหม การบวงสรวงพระธาตุจุฬามณี การรำลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา การขอฝน การเอาไฟเผาความทุกข์ และการบูชาพระพุทธเจ้า นั่นคือ ประเพณีไฟเรือไฟ ซึ่งจะนิยมปฏิบัติกันในเทศกาลออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1
เรือไฟ หรือ เฮือไฟ คือ เรือที่ทำด้วยท่อนกล้วย ไม้ไผ่ หรือวัสดุที่ลอยน้ำ มีโครงสร้างเป็นรูปต่างๆ ตามต้องการอยู่ส่วนบนของวัสดุที่ลอยน้ำ เมื่อจุดไฟใส่โครงสร้าง เปลวไฟจะลุกเป็นรูปร่างตามโครงสร้างนั้น
รูปทรงเรือไฟจะออกแบบแตกต่างกันออกไปตามความคิด ความเชื่อ ความรู้ ความสามารถของช่างในแต่ละกลุ่ม เช่น รูปเรือสุพรรณหงส์ รูปสิงห์ รูปพญานาค รูปมังกร รูปพญาครุฑ รูปม้าเทียมราชรถ รูปแม่ย่านาง รูปช้าง ฯลฯ ภายในเรือไฟจะประดับด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสว ก่อนจะปล่อยเรือไฟลงกลางลำน้ำโขง
4 มหาสงกรานต์ทั่วไทย
สนุกสนาน รื่นเริง ในเทศกาลแห่งน้ำ
หนึ่งในประเพณีไทยที่นักท่องเที่ยวทั่วโลก อยากมาสัมผัสสักครั้งในชีวิตคือ ประเพณีสงกรานต์หรือมหาสงกรานต์ ประเพณีเก่าแก่ของไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่เต็มไปด้วยความงดงาม ความสนุกสนาน รื่นเริง ความอบอุ่นในครอบครัว โดยใช้ “น้ำ” เป็นสื่อในการสร้างสัมพันธไมตรี และยังเป็นอีเวนต์ระดับโลก Water Festival หรือ เทศกาลแห่งน้ำ
วันสงกรานต์จะมีการเฉลิมฉลองเป็นเวลา 3 วัน วันแรกเรียกว่า วันมหาสงกรานต์ คือ วันที่พระอาทิตย์ เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ วันที่ 2 เป็นวันเนา และวันที่ 3 เป็นวันเถลิงศก (วันขึ้นปีใหม่เปลี่ยนจุลศักราช) คือวันที่ 13-14-15 เมษายน ของทุกปี
วันสงกรานต์เป็นวันรวมญาติมิตรเป็นวันรวมญาติหรือวันครอบครัว เป็นวันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย และส่งเสริมการละเล่นตามประเพณีไทย เช่น มีการทำบุญตักบาตร เล่นสาดน้ำ ชักเย่อ มอญซ่อนผ้า เล่นสะบ้า ฯลฯ และเป็นวันประกอบพิธีทางศาสนา เช่น มีการทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัว การสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ ขนทรายเข้าวัด ก่อพระเจดีย์ทราย และยังมีการประกวดนางสงกรานต์ในหลายพื้นที่ทั่วไทย ที่ถนนข้าวสารในกรุงเทพมหานคร ชาวต่างชาติและชาวไทยก็จะมารวมตัวกันเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน
5 ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย
ต้นกำเนิดประเพณีลอยกระทง แดนดินถิ่นมรดกโลก
เมื่อเดือนสิบสองมาถึง ความสนุกรื่นเริงมาเยือน คืนวันจันทร์เต็มดวงหรือคืนเดือนเพ็ญ กับประเพณีลอยกระทงบูชาขอขมาพระแม่คงคา นี่คือ จังหวัดสุโขทัย ต้นกำเนิดของประเพณีลอยกระทง กลายเป็นประเพณีระดับประเทศ และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกในชื่อ “งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย”
เดินเที่ยวงาน ชมกระทงทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ งานฝีมืออันวิจิตรที่สะท้อนความประณีตของช่างศิลป์เมืองสุโขทัย ตลาดโบราณ หรือตลาดแลกเบี้ย การจำลองบรรยากาศการซื้อขายแบบโบราณ การแสดงแสง สี เสียง สัมผัสเรื่องราว ประวัติศาสตร์มนต์เสน่ห์แห่งอารยธรรมเมืองมรดกโลก ชมขบวนแห่นางนพมาศ ตลอดจนการแสดงนาฏศิลป์ และมหรสพต่างๆ ณ บริเวณวัดมหาธาตุ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โดยกำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
6 งานประเพณีฟื้นฮีตฮอยเป็งปุ๊ด ไหว้สาอุปคุตเจ้า จังหวัดแพร่
ตักบาตรเที่ยงคืน สร้างทานบารมี
ประเพณีเก่าแก่ที่ถูกอนุรักษ์ไว้ไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา งานประเพณีฟื้นฮีตฮอยเป็งปุ๊ด ไหว้สาอุปคุตเจ้า หรือตักบาตรเที่ยงคืน ของจังหวัดแพร่
นี่คือ กิจกรรมการทำบุญตักบาตรสร้างทานบารมีในการเริ่มต้นวันใหม่ โดยมีประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนในวันเป็งปุ๊ด หรือวันเพ็ญพุธ(วันขึ้น15 ค่ำ ที่ตรงกับวันพุธ) ที่วัดสระบ่อแก้ว ตามความเชื่อของชาวเหนือที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันเป็นประเพณีมากว่า 400 ปี
โดยมีแนวคิดที่ได้รับการผสมผสานวัฒนธรรมมาจากชาวพม่า และชาวไทลื้อ ที่เชื่อว่าพระอุปคุตซึ่งเป็นพระอรหันต์สาวกที่มีมหิทธิฤทธิ์ สามารถป้องกันแก้ไขปัญหาที่พญามารมารบกวนพิธีต่างๆ ได้
ภายในงานจะมีการอัญเชิญพระอุปคุตประทับแท่นหน้าองค์ใหญ่ จุดประทีปบูชาพระอุปคุต การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงดนตรีสะล้อซอ ซึง การแสดงประวัติความเป็นมาของพระอุปคุตเจ้า พิธีสรงน้ำพระอุปคุต ถวายดอกไม้เครื่องสักการะ พิธีตักบาตรพระอุปคุตเจ้า และพิธีตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแด่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร
7 ประเพณีวิ่งควาย จังหวัดชลบุรี
หนึ่งเดียวในไทย หนึ่งเดียวในโลก
ประเพณีที่แสนน่ารัก และเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น สะท้อนความเป็นประเทศเกษตรกรรมของไทย
ประเพณีวิ่งควาย งานประเพณีประจำจังหวัดชลบุรี เป็นหนึ่งในประเพณีที่มีการจัดมากว่า 100 ปีแล้ว ประเพณีวิ่งควาย เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 หรือก่อนออกพรรษา 1 วัน เพื่อเป็นการทำขวัญควาย และให้ควายได้พักผ่อนหลังจากการทำนามายาวนาน ประเพณีวิ่งควายยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของควาย สัตว์ที่มีบุญคุณต่อชาวนา และคนไทย อีกทั้งยังเพื่อให้ชาวบ้านได้มีโอกาสมาพบปะสังสรรค์กันในงานวิ่งควาย รวมถึงเป็นการอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมชุมชน
แรกเริ่มของงานประเพณีเกิดจากชาวบ้านนำผลผลิตของตนบรรทุกเกวียนมาขาย ต่างคนก็จูงควายเข้าเที่ยวตลาด จนกลายมาเป็นการแข่งขันวิ่งควายกันขึ้น และจากการที่ชาวไร่ ชาวนาต่างก็พากันตกแต่งประดับประดาควายของตนอย่างสวยงามนี่เอง ทำให้เกิดการประกวดประชันความสวยงามของควายกันขึ้น พร้อมๆ ไปกับการแข่งขันวิ่งควาย
8 ประเพณีตีคลีไฟ จังหวัดชัยภูมิ
สืบทอดประเพณีไทยจากภูมิปัญญาท้องถิ่น
ประเพณีของไทยที่สืบทอดมาแต่โบราณมีอยู่มากมาย ล้วนแต่เป็นประเพณีที่ดีงาม และสะท้อนภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ หนึ่งในนั้นคือ “ประเพณีตีคลีไฟ” ที่บ้านหนองเขื่อง จังหวัดชัยภูมิ
“ตีคลีไฟ” เป็นประเพณีในช่วงฤดูหนาวยามออกพรรษา เกิดจากการก่อกองไฟแก้หนาวในช่วงพลบค่ำ ระหว่างที่มีการเล่นตีคลี บังเอิญลูกคลีเกิดกลิ้งเข้าไปในกองไฟแล้วติดไฟ เมื่อนำมาทดลองตีจะเห็นเป็นแสงไฟชัดเจนสวยงาม จึงนิยมเล่นต่อๆ กันมา
การตีคลีไฟนอกจากเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้าน ยังได้สืบสานต่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่อนุรักษ์การตีคลีลูกไฟ ซึ่งจะเล่นกันในฤดูหนาว ช่วงพระอาทิตย์ลับฟ้า และเพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่น
9 ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ จังหวัดเลย
ประเพณียาวนานกว่า 400 ปี มหาศรัทธาในพุทธศาสนา
อีกประเพณีที่ยิ่งใหญ่ แสดงถึงความศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพุทธศาสนาคือ ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ ที่วัดศรีโพธิ์ชัย บ้านหัวนา ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ซึ่งเป็นวัดที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งที่สร้างมาพร้อมกับชุมชนหมู่บ้านแสงภา เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีอายุ 400 กว่าปีมาแล้ว ชาวบ้านได้สร้างวัดศรีโพธิ์ชัยขึ้น เป็นที่สักการะ และเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
ประเพณีการแห่ต้นดอกไม้ เริ่มจากวันสรงน้ำพระพุทธรูปในวันที่ 13 เมษายน และจะแห่ตั้งแต่วันที่ 13-16 เมษายน ติดต่อกัน การแห่ต้องแห่ตอนกลางคืนราว 1 ทุ่ม ถึง 3 ทุ่ม ต้องแห่รอบพระอุโบสถของวัดเท่านั้น และต้องแห่ให้ครบ 3 รอบ
รอบที่ 1 บูชาพระพุทธ รอบที่ 2 บูชาพระธรรม รอบที่ 3 บูชาพระสงฆ์ เมื่อแห่ครบทั้ง 3 รอบแล้ว ต้องวางต้นดอกไม้ทุกต้นไว้รอบพระอุโบสถ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยตลอดทั้งคืน รุ่งเช้านำต้นดอกไม้ออกจากวัด โดยชาวบ้านมีความเชื่อ และถือเป็นสิริมงคล ที่ได้นำดอกไม้มาบูชาพระรัตนตรัย ทำให้อยู่ดีมีสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองร่มเย็น ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
10 ผีตาโขน – ผีขนน้ำ จังหวัดเลย
ประเพณีริมฝั่งโขง การละเล่น และความสนุก
2 ประเพณีและความสนุกที่เชื้อเชิญให้ไปชมของจังหวัดเลย
งานประเพณีแรก “งานบุญหลวง” หรือที่เรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “บุญผะเหวด” โดยมีเอกลักษณ์คือ ผีตาโขน ซึ่งจะจัดขึ้นหลังวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ถึงต้นเดือนกรกฎาคม ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งงานจะจัดเป็นเวลา 3 วัน โดยมีวันโฮม ที่เป็นวันรวมตัว, วันแห่ที่มีการเดินขบวน และวันบุญ ผู้ที่แต่งกายเป็นผีตาโขนนั้น จะต้องสวมหน้ากากที่ทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียว แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส และออกเดินร่วมขบวนไปกับขบวนแห่งานบุญหลวง
ส่วนผีขนน้ำ หรือที่มีอีกชื่อเรียกว่า “แมงหน้างาม” เป็นงานประเพณีเดือน 6 ในวันแรม 1-3 ค่ำ นับว่าเป็นงานบุญประจำปีของชาวบ้าน ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โดยในอดีต เหล่าเกษตรกรได้จัดงานนี้เพื่อขอฝน หลังจบการละเล่นผีขน ฝนมักจะตก ชาวบ้านจึงพากันเปลี่ยนเรียกว่า “ผีขนน้ำ” เพราะขนน้ำมาจากฟ้า โดยจัดได้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลามากกว่า 300 ปี หน้ากากของผีขนน้ำ จะเป็นหน้ากากที่ทำมาจากไม้เนื้ออ่อน แล้วเขียนลวดลายต่างๆ ให้สวยงาม ส่วนเครื่องแต่งกายจะใช้เศษผ้ามาทำเป็นตัวเสื้อ
เรื่องและภาพโดย Travelista นักเดินทาง
ลายน้ำของภาพโดย Ghost Writer Ta
#สัมผัสเมืองไทยต้องไปสักครั้ง #100BestPlacestoVisitinThailand #ReOpenThailand #ททท #การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย #ทิพยประกันภัย #BAM #บางกอกแอร์เวย์ส #ฮาตาริ #MediaandBloggerclub
1 บันทึก
3
2
1
3
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย