4 ส.ค. 2022 เวลา 11:36
[ข่าวความยั่งยืน] ความเหลื่อมล้ำทางเพศกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สัมพันธ์กันอย่างไร
หากดูผิวเผิน ความเหลื่อมล้ำทางเพศกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจจะไม่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน แต่องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ได้เผยแพร่บทความที่อธิบายให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับความเหลื่อมล้ำทางเพศ โดยระบุว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมิได้เป็นปัญหาที่เป็นกลางทางเพศ (gender neutral) หากแต่มีความเชื่อมโยงและซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศให้ยิ่งรุนแรงมากขึ้น (threat multiplier)
บทความดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ภาคเกษตรกรรม ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งปัญหาภัยแล้ง ฝนตกไม่สม่ำเสมอ เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีการจ้างแรงงานหญิงเป็นหลัก โดยเฉพาะแรงงานหญิงในประเทศรายได้ต่ำ (low income countries) และประเทศรายได้ปานกลางในระดับต่ำ (lower-middle income countries)
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าวทำให้ผู้หญิงต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการเลี้ยงดูครอบครัว รวมทั้งหากครอบครัวมีลูกสาวในวัยเรียน ลูกสาวอาจจะต้องออกจากโรงเรียนเพื่อช่วยลดภาระของครอบครัวด้วย
นอกจากนี้ แต่เดิมผู้หญิงก็มีโอกาสน้อยกว่าผู้ชายอยู่แล้วในเรื่องการได้รับข้อมูลข่าวสาร การเข้าถึงทรัพยากร หรือการฝึกอบรมต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ผู้หญิงจึงมีโอกาสได้รับบาดเจ็บหรือมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงอาจไม่สามารถเข้าถึงการบรรเทาทุกข์หรือได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งยิ่งลดโอกาสในการฟื้นตัวและความเป็นอยู่ รวมถึงยิ่งทำให้เกิดความเปราะบางต่อการเผชิญภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
อีกประเด็นที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับความเหลื่อมล้ำทางเพศก็คือข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ และความเสี่ยงของแม่และทารกที่เพิ่มขึ้น งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้น ทำให้อัตราการคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ทำให้โรคระบาดที่เกิดจากพาหะนำโรค เช่น โรคมาลาเรีย โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ซิก้า มีการแพร่ระบาดที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งยิ่งทำให้ทารกที่อยู่ในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติทางร่างกายมากขึ้นด้วย
บทความของ UN Women ยังชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบที่เกิดกับผู้หญิงมีความแตกต่างกันในหลายระดับ หากเรามองปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านมุมมองของ intersectional feminism ซึ่งศาสตราจารย์ Kimberle Crenshaw ผู้บัญญัติศัพท์นี้ในปี 1989 อธิบายความหมายไว้ว่า คือ “มิติในการมองความเหลื่อมล้ำในรูปแบบต่าง ๆ ที่มักจะมีผลซึ่งกันและกัน และทำให้ความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงขึ้น”
จะพบว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในหลากหลายกลุ่ม อาทิ ชนพื้นเมือง ผู้พิการ ผู้อพยพ ผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชนบท/พื้นที่ห่างไกล/พื้นที่ที่เผชิญความขัดแย้งหรือภัยพิบัติ ตลอดจนกลุ่ม LGBTIQ+ ด้วย
กลุ่มคนเหล่านี้มักเป็นคนกลุ่มน้อยที่สังคมไม่ให้ความสำคัญหรือไม่กล่าวถึง พวกเขาจึงไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ คุณมัจฉา พรอินทร์ ผู้อำนวยการองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิของสตรี เด็กผู้หญิง และเยาวชนกลุ่ม LGBTIQ+ ที่ไร้สัญชาติและไร้ที่ดินในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก ชี้ให้เห็นว่า โครงการด้านมนุษยธรรมต่าง ๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางเพศ และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจำเป็นต้องสนับสนุนความเท่าเทียมกันในทุกรูปแบบ
ขณะที่ Dandara Rudsan ซึ่งเป็นผู้หญิงข้ามเพศผิวสี และเป็นนักกิจกรรม/ผู้เชี่ยวชาญด้านการเหยียดเชื้อชาติด้านสิ่งแวดล้อม (environmental racism specialist) ประเทศบราซิล ระบุว่า ในพื้นที่ป่าอเมซอน การปกป้องสิทธิมนุษยชน คือ การสนับสนุนทางการเงินให้แก่การเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อต่อสู้ให้ผืนป่าและชุมชนอยู่รอดได้ การรวบรวมประสบการณ์และความท้าทายที่กลุ่มต่าง ๆ เผชิญอยู่ ทำให้เห็นความเชื่อมโยงของความเคลื่อนไหวในภาพรวมได้
โฆษณา