Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สัพเพเหระ สาระค้าปลีก
•
ติดตาม
4 ส.ค. 2022 เวลา 13:49 • ธุรกิจ
หนี้นอกระบบในประเทศไทยเป็นอย่างไร
‘หนี้’ คำเล็กๆ สั้นๆ แต่ออกฤทธิ์เขย่าขวัญขั้นรุนแรง จนกลายเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของโรคนอนไม่หลับ ตลอดจนเป็นสาเหตุหลักของการฆ่าตัวตายในปัจจุบัน ยิ่งเป็นหนี้นอกระบบด้วยแล้ว ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงจนไม่สมเหตุสมผล และมักนำไปสู่อันตรายในชีวิตและทรัพย์สินของลูกหนี้
แต่หลาย ๆ ครัวเรือนก็ยังตัดสินใจกู้เงินนอกระบบจากเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ถูกกฎหมาย เนื่องด้วยมีความจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน หรือติดขัดเงื่อนไขของสถาบันการเงินในระบบ ในหลายกรณีครัวเรือนมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถปล่อยกู้ได้
ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นปัญหาที่มีมานานและไม่สามารถแก้ไขได้อย่างง่ายดายรวดเร็ว ทุกวันนี้จำนวนครัวเรือนไทยที่มีหนี้นอกระบบนั้น มากกว่า 800,000 ครัวเรือน ปัญหาของเรื่องนี้เกิดจากอะไร และครัวเรือนลักษณะใดบ้างที่มักเป็นหนี้นอกระบบ เรามาทำความเข้าใจกัน
ทำไมหลายคนจึงเลือกใช้เงินกู้นอกระบบ
เงินกู้นอกระบบ คือการที่ผู้ให้กู้เงินนั้นไม่ได้อยู่ในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งถือว่าไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง ว่าง่ายๆ คือเป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้ที่มาให้เงินคุณ แบบไม่มีระเบียบอะไรที่สามารถบังคับหรือควบคุมคนเหล่านั้นได้ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาตามมา
ทำไมหลายคนจึงเลือกใช้บริการเงินกู้นอกระบบทั้งที่ไม่น่าเชื่อถือ? เหตุผลหลักๆ คือเรื่อง “ความสะดวกและรวดเร็ว” เนื่องจากเงินกู้นอกระบบเป็นวิธีการที่สามารถหาแหล่งเงินได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยากหลายขั้นตอนเหมือนกับการกู้เงินกับสถาบันการเงินทั่วไป อีกทั้งยังไม่ต้องห่วงเรื่องเงื่อนไขเงินเดือนขั้นต่ำด้วยแต่ผลเสียที่ต้องแลกมาเพื่อให้ได้ซึ่งความง่ายคือ “ความเสี่ยง”
“หนี้นอกระบบ” เป็นหนี้ที่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ตกลงกันเอง เจ้าหนี้จึงต้องรับความเสี่ยงเต็มที่หากมีการเบี้ยวหนี้เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าหนี้ต้องปิดความเสี่ยงของตัวเองด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งหลักการปกติของการทำธุรกิจ แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าหนี้จำนวนไม่น้อยกลับใช้ช่องว่างทางกฎหมายทำเกินกว่าเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการคิดดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด มีทนายความหัวหมอเป็นคู่คิดคอยร่างสัญญาให้เจ้าหนี้ได้เปรียบ หรือมีนักเลงคอยข่มขู่-คุกคาม-บังคับลูกหนี้ให้คืนเงินตามสัญญา
และที่ร้ายกว่านั้นคือ เจ้าหนี้บางราย ตั้งใจยึดทรัพย์ลูกหนี้ตั้งแต่เริ่มปล่อยกู้ โดยการให้เซ็นเอกสารยินยอมต่าง ๆ เพื่อให้พร้อมยึดทรัพย์ไว้ล่วงหน้า และทำสารพัดวิธีเพื่อบีบให้ลูกหนี้ตกอยู่ในภาวะผิดนัดชำระหนี้ เพื่อให้มีข้ออ้างยึดทรัพย์ โดยเฉพาะกรณีขายฝาก จนลูกหนี้ต้องสูญเสียบ้าน ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน
ลักษณะบุคคลหรือครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบ
โดยความเข้าใจทั่วไป บุคคลหรือครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำมักจะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสสูงในการเข้าสู่กระบวนการกู้ยืมนอกระบบและมีหนี้นอกระบำสูงกว่าผู้มีรายได้สูง เนื่องมาจากรายได้ที่ได้รับต่อเดือนไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แต่จากงานวิจัยของ Pinitjitsamut and Suwanprasert (2022) ซึ่งศึกษาสถานการณ์หนี้นอกระบบในประเทศไทย โดยเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ โดยลงพื้นที่สัมภาษณ์ครัวเรือนโดยตรงกว่า 4,800 ครัวเรือน จาก 12 จังหวัด จาก 4,628 ตัวอย่าง
ผลการสำรวจ กลับพบว่า กลุ่มกลุ่มที่มีรายได้ 30,001–40,000 บาท มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยสูงที่136,000 บาท ในขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้ 10,000-20,000 บาทกลับมีหนี้นอกระบบน้อยกว่า เมื่อพิจารณาช่วงอายุ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีหนี้นอกระบบมากที่สุด และ - ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นกลุ่มอาชีพที่มีหนี้นอกระบบต่ำที่สุดแต่เป็นกลุ่มที่มีหนี้นอกระบบโดยเฉลี่ยสูงสุด ดังมีข้อสรุปดังนี้
- กลุ่มที่มีรายได้ 30,001–40,000 บาท มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยสูงที่136,000 บาท รองลงมา เป็นกลุ่มที่มีรายได้ 20,001–30,000 บาทมีหนี้นอกระบบเฉลี่ยอยู่ที่ 105,000 บาท ตามด้วย กลุ่มที่มีรายได้ 40,001–50,000 บาทมีหนี้นอกระบบเฉลี่ยอยู่ที่ 90,000 บาท และ กลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 100,000 บาท มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยอยู่ที่ 67,000 บาท
- กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีหนี้นอกระบบมากที่สุด อยู่ที่ 47% รองลงมากลุ่มอายุ 55–60 ปี มีหนี้นอกระบบอยู่ที่ 45% กลุ่มช่วงอายุ 20–24 ปี และ 25–29 ปี กลุ่มช่วงอายุที่มีหนี้นอกระบบน้อยที่สุด ซึ่งคิดเป็นเพียง 34%
- ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นกลุ่มอาชีพที่มีหนี้นอกระบบต่ำที่สุด ซึ่งมีเพียงประมาณ 30% เท่านั้น อย่างไรก็ตามสองกลุ่มอาชีพนี้เป็นกลุ่มที่มีหนี้นอกระบบโดยเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 118,000 บาท และ 158,000 บาท ตามลำดับ ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นอาชีพที่มีความน่าเชื่อถือในการกู้เงินนอกระบบมากกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ๆ
- กลุ่มอาชีพค้าขาย และกลุ่มอาชีพอิสระ เป็นกลุ่มอาชีพที่มีหนี้นอกระบบมากที่สุด คือ แต่ทั้งสองกลุ่มอาชีพนี้กลับมีหนี้นอกระบบโดยเฉลี่ยเพียง 33,000 บาท และ 19,000 บาท ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจเกือบ 5 เท่า
- กลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี มีมูลหนี้นอกระบบเฉลี่ยต่ำสุด (ที่ 6,500 บาทต่อคน) กลุ่มช่วงอายุ 20–24 ปี มีมูลหนี้เฉลี่ยที่ 11,000 บาทต่อคน และ กลุ่มช่วงอายุ 25–29 ปี มีมูลหนี้เฉลี่ยที่ ที่ 17,500 บาทต่อคน
- กลุ่มที่มีอายุมากกว่า 30ปีขึ้นไป มีมูลหนี้นอกระบบเฉลี่ยสูงสุด (ที่ 20,000 บาทต่อคน)
- สาเหตุของการกู้ยืมเงินออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. การลงทุนในการประกอบอาชีพ 2. ค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่ารักษาพยาบาล และค่าเล่าเรียน 3. ใช้คืนหนี้เก่าทั้งในระบบและนอกระบบ และ 4. ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ซื้อเครื่องประดับ และโทรศัพท์มือถือ
- โดยในภาพรวม 46.8% ของหนี้นอกระบบถูกนำมาใช้เพื่อค่าใช้จ่ายจำเป็นและ 41.5% ของหนี้นอกระบบถูกนำไปลงทุนในการประกอบอาชีพ มีเพียง 9.4% ของหนี้นอกระบบเท่านั้นที่ถูกกู้มาเพื่อใช้จ่ายหนี้อื่น ๆ และเพียง 2.3% ที่ถูกนำมาใช้สำหรับค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น
สาเหตุของหนี้นอกระบบ
งานวิจัยเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุของหนี้นอกระบบว่ามาจากสาเหตุสำคัญหลายประการ พอจะสรุปได้ดังนี้(สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, 2555: วันชัย มีชาติและคณะ,2556)
1. ข้อกำหนดของสถาบันการเงิน ยังมีส่วนให้ลูกหนี้เข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระดับปัจเจกบุคคล เนื่องจากสถาบันการเงินจะต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น สถาบันการเงินจ าเป็นที่จะต้องเรียกให้ลูกหนี้หาหลักทรัพย์มาค้ำประกัน หากเกิดกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สถาบันการเงินจะบังคับกับทรัพย์สินที่ลูกหนี้นำมาเป็นหลักประกัน สถาบันการเงินจึงไม่อนุมัติการกู้ยืมที่ปราศจากหลักประกัน
จึงทำให้ประชาชนที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือไม่สามารถหาผู้ค้ำประกันได้ ไม่สามารถเข้าสู่การกู้ยืมเงินในระบบได้ ประกอบกับรูปแบบของการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไม่สอดคล้องกับการใช้เงินของประชาชนระดับล่าง ทั้งในเรื่องวงเงินที่ให้กู้ ระยะเวลาการชำระหนี้ซึ่งลูกหนี้นอกระบบนั้น เป็นกลุ่มที่มีการกู้เงินบ่อยครั้ง และวงเงินไม่สูงนัก นอกจากนี้ ข้อกำหนดของสถาบันการเงิน ยังมีส่วนให้ลูกหนี้เข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบปัจจัยระดับปัจเจกบุคคล
2. ลักษณะนิสัยส่วนตัวของลูกหนี้ ได้แก่ ความฟุ่มเฟือย ใช้เงินเกินความสามารถที่ตนหามาได้ขาดวินัยทางการเงิน ไม่มีการวางแผนการใช้เงิน ทำให้ไม่สามารถจัดระบบควบคุมการใช้จ่ายของตนเองได้ การเน้นการบริโภคนิยม ลูกหนี้บางส่วนมีแนวคิดและค่านิยมที่ยึดติดกับวัตถุนิยม
3. เหตุฉุกเฉิน ความจำเป็นเร่งด่วนและเหตุฉุกเฉินของลูกหนี้ที่ไม่สามารถกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ ในระบบได้ เช่น การเจ็บป่วยของตัวลูกหนี้และคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้อง
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
ปัญหาหนี้นอกระบบถือเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจประการหนึ่ง ทั้งนี้ก็สืบเนื่องมาจากปัญหาความยากจน และเกิดจากการที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบสถาบันการเงินได้สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ
ปัญหาจากลักษณะนิสัยของลูกหนี้ในการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยไม่เหมาะสมกับฐานะของตน ปัญหาของสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นวัตถุนิยมมากยิ่งขึ้น ปัญหาการไม่สามารถกู้ยืมเงินในระบบสถาบันการเงินได้ และปัญหาด้านการศึกษาทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจในการวางแผนทางการเงิน
การแก้ปัญหาเจ้าหนี้นอกระบบจึงต้องพิจารณาถึงการแก้ปัญหาความยากจนพร้อม ๆ กับ การแก้ไขปัญหาความสะดวกในการเข้าถึงสถาบันการเงิน กล่าวคือ ภาครัฐควรนำหลัก “รายได้น้อย – เข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย – ฝึกเริ่มการลงทุน – เพิ่มรายได้– เพิ่มเงินออม – นำไปสู่การลงทุน - เพิ่มรายได้ยิ่งขึ้น” มาใช้สร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นไปอย่างยั่งยืน
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย